การเสื่อมสลายของปราสาทขอมในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงจากการยึดถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ผสมผสานกับพุทธมหายานของขอม มาเป็นพุทธเถรวาทลังกา เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1800 ในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ตลอดจนบริเวณที่ราบสูงอีสาน เราจะพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนแปลงว่ายังคงยึดถือรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมดั่งเดิม นั่นคือ ปรางค์ประธาน ซึ่งเดิมใช้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพของพราหมณ์ เปลี่ยนมาเป็นรูปเคารพทางพุทธศาสนาเข้าแทนที่ ส่วนอื่นๆ ของ ปราสาทขอม เช่น มณฑป หรืออาคารด้านหน้าของปรางค์นั้น สามารถดัดแปลงมาเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาได้

ถึงแม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยได้โดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

ปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี สถาปัตยกรรม ปราสาทขอม
สภาพปูนฉาบผิวนอกของปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี ที่สึกกร่อนลงตามกาลเวลา เผยให้เห็นถึงโครงสร้างอิฐก่อชิดย่อมุม อันเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมปราสาทขอมในยุคแรกเริ่ม

ปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งพบว่ามีจำนวนไม่มากนัก ได้มีการใช้สอยอาคารอย่างต่อเนื่องมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะปล่อยทิ้งร้างไปในที่สุด และเป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงประโยชน์ใช้สอยดังกล่าวนี้ จะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในรูปโครงสร้าง ความทรุดโทรมจะถูกจำกัดเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น ส่วนปราสาทขอมที่สำคัญอื่นๆ ในบริเวณที่ราบสูงอีสานนั้น กลับไม่พบการใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง แต่เป็นการหยุดใช้งานลงโดยฉับพลันในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงศาสนาและการปกครอง จากพราหมณ์ฮินดูมาเป็นพุทธเถรวาทลังกาแทบทั้งสิ้น

ปราสาทขอมที่มิได้รับการดัดแปลงให้ใช้งานต่อเนื่องในบริเวณดังกล่าว จะถูกทิ้งร้างหรือทำลายลงด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งแยกโดยทั่วไปได้ดังนี้

1. อาคารถูกทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมลงตามสภาพธรรมชาติ

2. อาคารถูกทำลายลงโดยแรงกระทำของธรรม ชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำหลาก ฟ้าผ่า

3. อาคารถูกทำลายลงโดยอัคคีภัย

4. อาคารถูกทำลายลงโดยการเสื่อมสภาพของโครงสร้าง

5. อาคารถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

ในการพิจารณาการเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในดินแดนไทยนั้น จำต้องศึกษาโดยละเอียดในแต่ละอาคารถึงสภาพที่เป็นอยู่ในช่วงก่อนได้รับการบูรณะว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จากนั้นจึงเปรียบเทียบหลักฐานจากรายละเอียดของชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ขุดหรือค้นพบจากบริเวณโดยรอบอาคาร เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่ยังคงสภาพอยู่กับตัวอาคาร เราจะพบความแตกต่างที่บ่งบอกถึงระยะเวลาของการถูกทำลายลงและทิ้งร้างได้ว่ายาวนานไปเพียงไร เนื่องจากชิ้นส่วนของลวดลายต่างๆ มักแกะสลักจากหินทราย ซึ่งเมื่อถูกฝังกลบในชั้นดินแล้วจะคงสภาพเดิมตลอดไป ซึ่งแตกต่างกับลวดลายเหล่านั้นที่ยังคงอยู่บนตัวอาคาร ย่อมสลายตัวลงตามสภาวะการกัดกร่อนของธรรมชาติ

องค์ประกอบอีก 2 ประการ ที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการเสื่อมสลายของตัวอาคาร ได้แก่ รูปแบบหรือเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุที่นำมาใช้ว่ามีความคงทนต่อสภาพดินฟ้า หรือแรงกระทำอื่นๆ อย่างไร

ปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี ปราสาทขอม
ปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี

1. อาคารถูกทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมลงตามสภาพธรรมชาติ

สภาพดินฟ้าอากาศถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกัดกร่อนผิววัสดุอาคารปราสาทขอม ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยวัสดุหลัก 4 ประเภท ได้แก่ อิฐเปลือย อิฐฉาบปูน ศิลาแลง และหินทราย ความชื้นและความร้อนถือเป็นตัวการที่สำคัญในการทำลายวัสดุเหล่านี้ให้เสื่อมสภาพ ทุกครั้งที่อาคารเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน และถูกแผดเผาด้วยความร้อนระอุของแสงแดดในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งของอณูที่ยึดประกอบเป็นพื้นผิวของวัสดุจะแตกสลายลง ผิวอาคารประเภทก่ออิฐฉาบปูนจะเริ่มแตกร้าวและสลายตัวลงก่อนในชั่วอายุคน ส่วนผนังที่ก่ออิฐเผาเรียบจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึงหลายชั่วอายุคน

ปราสาทขอมที่ก่อสร้างด้วยวัสดุประเภทหินทรายขาว เช่น ปรางค์ประธานปราสาทพิมายนั้น จะมีอายุการใช้งานที่สูงมากนับพันปีขึ้นไปโดยไม่เสื่อมสลาย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบลวดลายแกะสลักหินทรายบริเวณเรือนธาตุของปรางค์ประธาน ยังคงสภาพความสมบูรณ์สูงมาก แสดงถึงความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศของวัสดุที่สถา ปนิกหรือวิศวกรผู้สร้างสรรค์เลือกนำมาใช้เป็นอย่างดี

2. อาคารถูกทำลายลงโดยแรงกระทำของธรรมชาติ

นอกจากการถูกกัดกร่อนโดยสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติแล้ว แรงกระทำโดยตรงจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำหลาก ฟ้าผ่า ลมพายุ หรือแม้ แต่การฝังรากลงในตัวอาคารของต้นไม้ใหญ่ ยังเป็นสาเหตุสำคัญในการพังทลายลงของอาคารโดยทั่วไป

สำหรับปราสาทขอมในไทย เราไม่พบการพังทลายโดยน้ำท่วมหรือน้ำหลาก อาจเป็นไปได้ว่าสถาปนิกจะเลือกชัยภูมิที่สูงจึงรอดพ้นสภาวะอันตรายนี้ได้ ส่วนกรณีลมพายุนั้นไม่มีผลต่ออาคารที่มีลักษณะการก่อสร้างมั่นคงด้วยอิฐและหินล้วนได้ สำหรับฟ้าผ่านั้นอาจก่อให้เกิดความร้อนต่อส่วนยอดสุดของปรางค์หรือกลศ มีตรีศูลเป็นโลหะ ทำหน้าที่เสมือนสายล่อฟ้า เป็นเหตุให้กลศอาจแตกสลายลงได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้อาคารพังทลายลงทั้งหลัง

สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างอาคารปราสาทขอมได้ก็คือแผ่นดินไหว ในขณะที่ผิวโลกเคลื่อนที่ไปมาในแนวราบ ร่วมกับการเคลื่อนไหวในแนวดิ่งเป็นการออสซิเลต (oscil-late) ยังผลให้เกิดความเครียดอย่างมหาศาลในวัสดุที่รองรับมวลน้ำหนักของโครงสร้างทั้งหมดที่อยู่เหนือขึ้นไป ผลก็คือวัสดุประเภทอิฐและหินที่มีความยืดหยุ่นตัวได้น้อย จะแตกร้าวไม่สามารถรับน้ำหนักได้อีกต่อไป และส่วนของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปจะพังทลายลงมากองกับพื้น โดยทั่วไปแล้วตำแหน่งของจุดเครียดของวัสดุจะอยู่ที่ระดับความสูง 2 ใน 5 ของอาคาร

จากการสำรวจโดยทั่วไปแล้ว ไม่พบข้อบ่งชี้การพังทลายของปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสานว่าเกิดจากแผ่นดินไหว ด้วยเหตุว่าหากแผ่นดินไหวเป็นสาเหตุจริง เราจะพบรอยแตกแยกของวัสดุในตำแหน่งดังกล่าวปรากฏอย่างชัดเจน และไม่เพียงแต่ปรางค์ประธานเท่านั้นที่ถูกทำลายลง แต่ปรางค์ข้างเคียงรวมทั้งอาคารส่วนประกอบอื่นๆ และกำแพงแก้วจะพังทลายลงในลักษณะเดียวกันและพร้อมกันอีกด้วย

ปราสาทขอม (ซ้าย) ปรางค์ด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย, (ขวา) ปรางค์ประธานปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร
(ซ้าย) ปรางค์ด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย, (ขวา) ปรางค์ประธานปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร

3. อาคารถูกทำลายลงโดยอัคคีภัย

ไฟไหม้จะเป็นด้วยอุบัติเหตุหรือจงใจก็ตาม สามารถทำลายอาคารทั้งหลังลงได้ แต่คงไม่ใช่ในกรณีปราสาทขอมในไทย ด้วยเหตุว่ามีชิ้นส่วนของโครง สร้างไม้ที่เป็นวัสดุติดไฟประกอบอยู่น้อยมากจะมีก็เพียงฝ้าเพดานขนาดเล็กในห้องโถงภายในของปรางค์หรือมณฑป และโครงสร้างหลังคาส่วนประกอบอื่นของปราสาท ที่มิใช่เป็นส่วนโครงสร้างหลัก ดังนั้นประเด็นอาคารพังทลายลงอันเนื่องมาจากอัคคีภัยจึงมิใช่ประเด็นของปราสาทขอมในไทย

4. อาคารถูกทำลายลงโดยการเสื่อมสภาพของโครงสร้าง

การเสื่อมสภาพของโครงสร้าง มักเป็นสาเหตุสำคัญของการพังทลายลงในอาคารต่างๆ ที่เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสื่อมสภาพของฐานราก หรือฐานรากทรุดตัวนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในอาคารยุคสมัยเกี่ยวกับปราสาทขอมในไทยคือ บุโรพุทโธ ของอินโดนีเซีย ที่พื้นฐานดาดฟ้าชั้นบนของอาคารทรุดตัวลงอันเนื่องมาจากฐานที่บดอัดไว้ทรุดตัว เป็นเหตุให้สิ่งก่อสร้างทั้งหมดในชั้นบนของอาคารพังทลายลงโดยสิ้นเชิง

แต่จากการตรวจสอบสภาพฐานรากอาคารปราสาทขอมในไทยโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุดังกล่าว วิศวกรปราสาทขอมคงตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ และก่อฐานอาคารโดยเฉพาะปรางค์ประธานที่จะสูงใหญ่เป็นพิเศษให้มีความคงทนตลอดไปได้เป็นอย่างดี สาเหตุหลักอีกประการที่พบเห็นเกิดจากการใช้หินทรายแดงเป็นวัสดุโครงสร้าง เนื่องจากหินทรายแดงมีคุณสมบัติที่สามารถกะเทาะร่อนได้ง่าย ดังนั้นการผุกร่อนของวัสดุชนิดนี้ อาจทำให้อาคารทรุดตัวและพังทลายลงได้

5. อาคารถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

เมื่อธรรมชาติมิใช่สาเหตุการพังทลายของปราสาทขอมในไทยแล้ว สาเหตุสุดท้ายซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักเพียงประการเดียวคือฝีมือของมนุษย์นั่นเอง การรื้อทำลายอาคารประเภทศาสนสถานโดยทั่วไปของมนุษย์ มักเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังนี้

1. ขุดค้นหาสมบัติ

2. ลักขโมยส่วนประกอบสถาปัตยกรรมของอาคาร

3. ศึกสงคราม

4. ความขัดแย้งทางศาสนา

เนื่องจากอาคารปราสาทขอมในไทยมีความแตกต่างจากพุทธสถานในสมัยอยุธยาที่มักจะบรรจุสิ่งสักการะหรือซุกซ่อนของมีค่าไว้ในเจดีย์ ปราสาทขอมจะไม่นิยมซุกซ่อนของมีค่าไว้ นอกจากมงคลวัตถุเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ดังนั้นการขุดค้นหาสมบัติจึงมิใช่ประเด็นสาเหตุการพังทลาย

การลักลอบขโมยชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น ทับหลัง หรือกลีบขนุน หรือส่วนประดับอื่นๆ นั้นมีพบเห็นทั่วไป เป็นเหตุให้อาคารมีลักษณะเว้าแหว่งเช่นที่ปรากฏ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้อาคารทั้งหลังพังทลายลง

การศึกสงครามดูเป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับอาคารพุทธสถานในสุโขทัย กำแพงเพชร หรืออยุธยา รวมทั้งเมืองต่างๆ ที่ไม่อาจรอดพ้นจากการทำลายล้างของศึกสงครามได้ แต่ดูเหมือนว่าศึกสงครามของกรุงสุโขทัยและของกรุงศรีอยุธยานั้น มิใช่สาเหตุที่เกิดกับปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสาน เนื่องจากปราสาทขอมเหล่านั้นได้หมดความสำคัญลงก่อนหน้านั้นนานแล้ว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรื้อทำลาย อาจเป็นด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ที่ปรางค์ขอมทั้งสามที่สุโขทัย 1 แห่ง และลพบุรีอีก 2 แห่งนั้นสามารถรอดพ้นการทำลายมาได้ ในขณะที่อาคารพุทธสถานแทบทั้งหมดถูกทำลายลง

ความขัดแย้งทางศาสนาดูจะเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันคนกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาหนึ่ง เมื่อความขัดแย้งหรือโกรธแค้นต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นับถืออีกศาสนาหนึ่งเข้ามาถึงจุดแตกหัก ก็จะยกพวกพากันเข้าไปรื้อถอนทุบทำลายศาสนสถานของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกศาสนา ทุกมุมโลกมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาจนจบปัจจุบัน และเมื่อความขัดแย้งนี้ขยายตัวเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ก็กลายเป็นสงครามศาสนา ดังนั้นทฤษฎีของความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนแปลงศาสนาจากพราหมณ์ฮินดูผสมผสานกับพุทธมหายาน มาเป็นพุทธเถรวาทลังกาที่เคร่งครัดในยุคปลดแอกอิทธิพลขอมนั้น ดูจะเป็นประเด็นหลักที่มีน้ำหนักมากและยากที่จะปฏิเสธได้

ข้อยืนยันจากหลักฐานโบราณวัตถุ ได้แก่ การพังทลายลงของปราสาทขอมในไทยนั้นเป็นอย่างมีระบบ นั่นคือปรางค์ประธาน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมขอมจะถูกรื้อทำลาย จากนั้นส่วนยอดของปรางค์บริวารและบางส่วนของโคปุระจะถูกทำลาย ที่เหลือคือส่วนประดับต่างๆ จะถูกทำลาย เช่น หลังคาระเบียงคด สะพานนาคราช และเสานางเรียง เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่าการพังทลายของปราสาทขอมแทบทั้งหมดในเขตอีสานสูง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ยกเว้นอาคารประเภทอโรคยศาล หรือธรรมศาลาต่างๆ ที่สร้างไว้ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ด้อยความสำคัญในแง่สัญลักษณ์ของศาสนา ยังคงสภาพโครงสร้างที่ชัดเจนและสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่มิได้ถูกรื้อทำลาย

ข้อสังเกตที่ชี้ชัดถึงการพังทลายของปราสาทขอมในไทยอีกประการหนึ่งว่าเป็นผลจากการกระทำของธรรมชาติหรือมนุษย์ อยู่ที่ลักษณะของเศษหรือชิ้นส่วนของโครงสร้างที่กองทับซ้อนอยู่กับที่ หรือกระจัด กระจายไปคนละทิศละทาง ในกรณีของการพังทลายโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะด้วยการเสื่อมสภาพของโครงสร้างหรือแรงกระทำอื่นๆ จากธรรมชาติ ชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคารซึ่งประกอบด้วยหินก็ดี อิฐก็ดี จะแยกตัวออกจากกันเมื่อแรงยึดเหนี่ยวของวัสดุหมดไป วัสดุเหล่านั้นจะตกลงมากองที่พื้นโดยแรงโน้มถ่วงของโลก วัสดุจะแตกหักอันเป็นผลมาจากการอัดกระแทกของชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ตกตามกันลงมา การกระจัดกระจายจะอยู่ในวงจำกัด และค่อนข้างจะมีระเบียบในทิศทางของการพังทลาย

ในทางตรงกันข้าม หากการพังทลายนั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว วิธีที่ง่ายและได้ผลที่สุดในยุคที่เครื่องจักรหรือระเบิดยังไม่ได้นำมาใช้ คือการใช้เชือกขนาดใหญ่คล้องส่วนต่างๆ ของยอดปรางค์ เช่น กลศ หรือกลีบขนุน และฉุดลากลงมาด้วยแรงมนุษย์หรือช้างงาน จากนั้นชิ้นส่วนที่เหลือจะเริ่มแยกตัวออกจากกันง่ายต่อการฉุดลากลงมา

ผลที่ปรากฏคือ เศษชิ้นส่วนจะกระจัดกระจายไร้ทิศทาง ไร้ระเบียบ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมของยอดปรางค์ที่ถูกชักรอกลงมาในลำดับต้นๆ นั้น อาจตกลงดินห่างจากอาคารพอสมควรและอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกของการบูรณะอาคารปราสาทหิน กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่อยู่ในสภาพดีและสามารถนำมาตกแต่งเข้าที่เดิมได้ ซึ่งหากการพังทลายเกิดจากแรงกระทำของธรรมชาติแล้ว โอกาสที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นจะอยู่รอดคงสภาพตามที่ปรากฏเห็นนั้นย่อมมีความเป็นไปได้น้อยมาก

ผลวิเคราะห์การเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในไทย

การเสื่อมสภาพและพังทลายลงของปราสาทขอมในไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะที่ชัดเจนคือ เกิดจากการทิ้งร้างและเกิดจากการทำลายโดยมนุษย์ จากการสำรวจพบว่ามีปราสาทขอมจำนวนน้อยที่รอดพ้นจากการทำลายของมนุษย์ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นฝีมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น

1. ในส่วนแรกที่เกิดจากการทิ้งร้างให้ผุกร่อนลงตามธรรมชาติ ได้แก่ ปราสาทขอมทั้ง 2 องค์ ในจังหวัดลพบุรี คือพระปรางค์สามยอดซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงฉาบด้วยปูนและหินทรายแกะลวดลายในส่วนประกอบสถาปัตยกรรม นักวิชาการเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากนั้นก็ได้รับการปฏิสังขรณ์และสร้างต่อเติมในสมัยพระนารายณ์มหาราชยุคกรุงศรีอยุธยา ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งคือปราสาทปรางค์แขก สร้างด้วยอิฐเผาขัดเรียบวางซ้อนกัน ผิวนอกฉาบปูน เชื่อว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 และได้รับการบูรณะต่อเติมภายหลังในสมัยอยุธยา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปราสาทขอมทั้ง 2 องค์นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นดินทับถมของผิวโลกมีความอ่อนตัวพอสมควร กับทั้งยังก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนไม่มากนัก คืออิฐและศิลาแลง ฉาบด้วยปูน แต่สภาพอาคารทั้งสองยังอยู่ในลักษณะสมบูรณ์ทางโครงสร้าง จากฐานถึงยอดอาคาร สภาพผิวของอาคาร ปราสาทปรางค์แขก ซึ่งมีอายุมากกว่าปรางค์สามยอด ไม่ต่ำกว่า 200 ปี จะอยู่ในสภาพที่สึกกร่อนมากกว่าตามธรรมชาติของวัสดุที่นำมาใช้ สิ่งที่น่าสนใจคือปราสาททั้งสองนี้ รอด พ้นจากการทำลายของมนุษย์ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของศึกสงครามตลอดระยะเวลา 400 ปีเต็ม ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่าอาคารปราสาทขอม ได้เลือกใช้เทคนิคและวัสดุการก่อสร้างที่สามารถยืนหยัดต้านภาวะการทำลายของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

อาคารปราสาทขอมอีก 2 องค์ที่รอดพ้นจากการทำลาย และคงสภาพโครงสร้างดั่งเดิมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ปรางค์ด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย และปรางค์ประธาน ปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร ซึ่งอาคารทั้งสองได้มีการใช้งานต่อเนื่องที่ยาวนาน สำหรับปราสาทนารายณ์เจงเวงเป็นศิลปะแบบบาปวน สร้างด้วยศิลาแลงเป็นฐาน จากเรือนธาตุขึ้นไปจนจบส่วนยอดเป็นหินทราย โครง สร้างหลักจากส่วนฐานอาคารจนถึงส่วนยอดยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนบนของมุมด้านหน้าพังทลายลง สำหรับปราสาทขอมด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวงนั้น ยังคงสภาพโครงสร้างที่ดี เชื่อว่ามีการใช้งานต่อเนื่องระยะหนึ่ง

ส่วนปรางค์ประธานองค์กลางนั้น ได้รับการดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารใหม่ที่สร้างต่อเติมเชื่อมเข้าหาจากด้านตะวันออก และสร้างพระพุทธรูปอิงอยู่บนผนังนั้น อาคารทั้งหลังรวมทั้งปรางค์ประธานถูกทำลายลงจากการศึกสงคราม ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือซากอาคารให้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจน ส่วนปรางค์ด้านทิศใต้ได้ถูกรื้อถอนทำลายลงก่อนหน้านั้นนานแล้ว ทั้ง 2 อาคารปราสาทขอมเป็นตัวอย่างที่ดีถึงความคงทนถาวรต่อสภาพดินฟ้าอากาศของการก่อสร้าง

2. ส่วนที่ 2 ของปราสาทขอมในไทย เป็นลักษณะของการเสื่อมสลายอันเนื่องมาจากการทำลายของมนุษย์ อาจเรียกได้ว่าอาคารปราสาทขอมแทบทุกอาคารในเขตอีสานสูง อันได้แก่ โคราช บุรีรัมย์ ศรีสะ เกษ สุรินทร์ พังทลายลงโดยฝีมือคน ยกเว้นอาคารประเภทธรรมศาลา หรืออโรคยศาล ซึ่งจำนวนหนึ่งยังคงสภาพโครงสร้างที่ดีและเสื่อมสลายลงตามสภาพธรรมชาติในส่วนที่เป็นรายละเอียดของผิวนอกอาคาร

ปราสาทขอม (ซ้าย) ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนการบูรณะ, (ขวา) ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย
(ซ้าย) ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนการบูรณะ, (ขวา) ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย

การพังทลายของปราสาทพิมาย

อาคารปราสาทขอมที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการพังทลายโดยฝีมือมนุษย์ ได้แก่ ปราสาทพิมาย อาคารที่โดดเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมขอมในไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมานั่นเอง

ภาพถ่ายของสิ่งก่อสร้างก่อนการบูรณะโดยกรมศิลปากร จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งมีศาสตรา จารย์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ผู้อำนวยการบูรณะ และนายแบว์นาร์ด ฟิลลิปป์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสร่วมอยู่ด้วย ในช่วงปี พ.ศ. 2507-12 เป็นหลักฐานที่ดี ภาพถ่ายได้แสดงถึงอาคารหลักที่สำคัญทั้งสาม ได้แก่ ปรางค์ประธาน ปรางค์หินแดง ปรางค์พรหมทัต ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าปรางค์ประธานนั้น ส่วนยอดจะขาดหายไป คงเหลือแต่เฉพาะชั้นล่างสุดของวิมานที่ยังปรากฏครบสมบูรณ์ทั้งนาคปักและบันแถลง รวมถึงรายละเอียดสถาปัตยกรรมอื่นๆ ส่วนปรางค์หินแดงนั้น โครงสร้าง พังทลายลงมาเป็นแนวตั้งส่วนหนึ่ง สำหรับปรางค์พรหมทัตยังสมบูรณ์ทางโครงสร้างหากรายละเอียดสถาปัตย กรรมนั้นไม่ปรากฏให้เห็น

ปราสาทขอม ปรางค์หินแดง ปราสาทพิมาย
ปรางค์หินแดง ปราสาทพิมาย

ในลักษณะโครงสร้างของอาคารทั้งสาม เป็นการก่อด้วยหินสกัดผิวเรียบวางซ้อนกันจากฐานถึงส่วนยอดของโครงสร้างในลักษณะเดียวกันหมด ส่วนวัสดุที่นำมาใช้นั้นแตกต่างกันออกไป ปรางค์ประธานใช้หินทรายขาว ปรางค์พรหมทัตใช้ศิลาแลง ส่วนปรางค์หินแดงใช้หินทรายแดง

ในแง่วัสดุนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศและกาลเวลาที่แตกต่างกันออกไป หิน ทรายขาวจะมีความคงทนสูงสุดต่อดินฟ้าอากาศและอายุใช้งานยาวนานหลายพันปีไม่เสื่อมสภาพ ส่วนหินทรายแดงจะมีจุดอ่อนตรงที่สามารถแตกล่อนได้เมื่อกระทบความชื้นและแสงแดดสลับกันไป และศิลาแลงนั้น ถึงแม้จะมีความแกร่งน้อยกว่าหินทรายแดง แต่ก็ไม่แตกล่อนได้ง่าย

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายดั่งเดิมก่อนการบูรณะกับคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาใช้แล้ว ภาพของปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัตดูจะสอดคล้องกันดี เนื่องจากการแตกตัวของหินทรายแดงจะทำให้บางส่วนของโครงสร้างอ่อนตัวไม่สามารถรับน้ำหนักตัวเองได้ และพังทลายลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกในแนวตั้ง ส่วนปรางค์พรหมทัตยังคงยืนหยัดต่อไปจากฐานถึงส่วนยอดอาคารอีกได้นานนับพันปี

ในส่วนของภาพถ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของคุณสมบัติของวัตถุ และค้านกับกรรมวิธีการก่อสร้าง นั่นคือ ปรางค์ประธานที่สร้างด้วยหินทรายขาวซึ่งในความเป็นจริงแล้วปรางค์ประธานควรจะมีสภาพที่สมบูรณ์แบบดังภาพถ่ายปัจจุบันหลังการบูรณะ มิใช่ภาพที่เห็นก่อนการบูรณะ เนื่องจากความแข็งแกร่งทนทานอันเป็นคุณสมบัติเด่นของหินทรายขาว จากการพิจารณาภาพถ่ายก่อนการบูรณะ เราจะพบเส้นแนวฐานอาคารที่ตรงไม่ทรุดเอียง แสดงว่าไม่มีปัญหาของฐานรากทรุดตัว

ในบริเวณโครงสร้างหลักที่รับน้ำหนักจากส่วนยอดอาคารหรือเรือนธาตุนั้น ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ราวกับเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน จากการสำรวจด้วยตาเปล่า ไม่พบรอยแตกอันเกิดจากแรงเค้นของแผ่นดินไหว แสดงให้เห็นว่าแรงกระทำของธรรมชาติมิใช่ปัญหา ดังนั้นคำตอบเดียวที่ยังคงเหลือก็คือฝีมือมนุษย์ ซึ่งหากไม่มีการกระทำของมนุษย์แล้วปรางค์ประธานจะอยู่ในสภาพโครงสร้างที่สมบูรณ์ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ปรางค์สีดา จังหวัดนครราชสีมา
ปรางค์สีดา จังหวัดนครราชสีมา

อาคารปราสาทพิมาย เป็นหนึ่งในจำนวน 37 อาคารสิ่งก่อสร้างแบบปราสาทขอมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทำเนียบโบราณสถานขอม ในเขตจังหวัดนครราชสีมา และเมื่อศึกษาดูจะพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำลายโดยฝีมือมนุษย์ ซึ่งในจำนวนนี้อาจมีแรงกระทำของธรรมชาติร่วมอยู่ด้วย เช่น ปรางค์บ้านสีดา ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เราจะพบรอยร้าวเริ่มจากฐานขึ้นไปและแยกตัวเพิ่มขึ้นจนถึงส่วนบนของโครงสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ อันเป็นหลักฐานของการทรุดตัวของฐานราก และเป็นสาเหตุหลักของการพังทลาย ปัญหาการทรุดตัวของฐานรากยังพบที่ปราสาทหินโนนกู่ และปราสาทหินเมืองเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่โดยภาพรวมแล้วปัญหาการพังทลายยังคงมาจากมนุษย์เป็นสาเหตุหลัก

นอกจากปราสาทขอมที่จังหวัดนครราชสีมาจำนวน 37 แห่งแล้ว ยังมีที่บุรีรัมย์อีก 50 แห่ง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือปราสาทพนมรุ้งที่รู้จักกันดี ส่วนที่สุรินทร์มีอยู่จำนวน 31 แห่ง จังหวัดชัยภูมิ 6 แห่ง จังหวัดร้อยเอ็ด 14 แห่ง จังหวัดศรีสะเกษ 11 แห่ง และจังหวัดอุบลราชธานีอีก 6 แห่ง รวมเป็นปราสาทขอมในอีสานสูงทั้งสิ้น 155 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทำเนียบโบราณสถานขอมในไทย ของกรมศิลปากร และยังคงทิ้งหลักฐานของการพังทลายให้ศึกษาต่อไปในอนาคต

ปราสาทขอม ปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมายระหว่างการบูรณะ

สรุปข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าอาคารปราสาทขอมที่สำคัญทั้งสองในลพบุรีและปรางค์วัดพระพายหลวงในสุโขทัยนั้นยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์รอดพ้นจากการถูกทำลาย แต่ส่วนที่ได้รับการต่อเติมของปรางค์ทั้งสามในสมัยอยุธยาเพื่อพิธีกรรมทางพุทธศาสนากลับถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงจากศึกสงคราม

ปราสาทขอม ปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมายหลังการบูรณะ

แต่ในทางกลับกันอาคารปราสาทขอมอีกจำนวนมากมายในบริเวณที่ราบสูงอีสานเกือบจะเรียกได้ว่าทั้งหมดของจำนวน 155 แห่งถูกทำลายลง ยกเว้น อโรคยศาลและธรรมศาลา จำนวนเพียง 3-4 แห่งที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มปราสาทตาเมือนทั้งสาม ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊จ และปราสาทตาเมือน ที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์นั้น ปรางค์ประธานของปราสาทตาเมือนธม อันเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ฮินดูที่มีความสำคัญมาก และเป็นที่ประดิษฐานของสวยัมภูลึงค์ หรือองค์ศิวลึงค์จากแท่งหินธรรมชาติ

สำหรับปรางค์ประธานและอาคารสิ่งก่อสร้างโดยรอบซึ่งสร้างขึ้นจากหินทราย เป็นวัสดุหลักได้ถูกรื้อทำลายลง ในขณะที่ปราสาทตาเมือนโต๊จและปราสาทตาเมือนซึ่งเป็นอโรคยศาลและธรรมศาลาที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ด้วยศิลาแลงอันเป็นวัสดุที่ด้อยคุณภาพและมีความคงทนน้อยกว่าหินทรายมาก เรากลับพบปรางค์ประธานปราสาทตาเมือนโต๊จยังคงสภาพเดิม ส่วนปราสาทตาเมือนนั้น เราพบด้านหน้าของอาคารพังทลายลงบางส่วนในแนวตั้ง เผยให้เห็นลักษณะโครงสร้างอาคารอย่างชัดเจนจากภาพถ่ายระหว่างการบูรณะ

ข้อสรุปพอจะกล่าวได้ว่า อาคาร ปราสาทขอม ในบริเวณที่ราบสูงอีสานโดยรวมมิได้เสื่อมสลายลงตามธรรมชาติหรือถูกทำลายลงด้วยพลังธรรมชาติอันได้แก่ พายุ น้ำท่วม เพลิงไหม้ หรือแผ่นดินไหว ส่วนการเสื่อมสลายของโครงสร้าง หรือการทรุดตัวของฐานอาคารก็มิใช่สาเหตุหลัก ซึ่งผลของการศึกษานี้กลับชี้ให้เห็นว่า การพังทลายของปราสาทขอมในบริเวณที่ราบสูงอีสาน เป็นการกระทำของมนุษย์นั่นเอง และหลักฐานจากตัวอย่างที่พบเห็นนั้นชัดเจนมาก แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีปรางค์ประธานของปราสาทขอมองค์ใดบริเวณที่ราบสูงอีสานที่รอดพ้นจากการทำลาย

ปราสาทขอม ปรางค์ประธาน ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์
ปรางค์ประธานปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า อาคารสถาปัตยกรรมหลักของปราสาทขอมที่มีความสำคัญมากในบริเวณที่ราบสูง อีสาน อันได้แก่ ปราสาทพิมาย ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเขาพระวิหาร ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษนั้น ปรางค์ประธานซึ่งเปรียบเหมือนหัวใจของปราสาทขอมจะถูกทำลายมากที่สุด จากนั้นส่วนที่มีความสำคัญรองลงมา เช่น ปรางค์บริวาร โคปุระ กำแพงแก้ว หรือบรรณาลัยจะถูกทำลายบางส่วนตามลำดับเหมือนกันหมด

ส่วนอาคารปราสาทขอมอื่นๆ ที่ด้อยความสำคัญลงมา ถูกทำลายด้วยความรุนแรงที่ไม่ด้อยลง ผลคืออาคารส่วนใหญ่ถูกทำลายลงจนแทบไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็น

หลักฐานของการทำลายล้างทั้งหมดคล้ายกับจะบอกคนรุ่นหลังถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่มาเยือนดินแดนแห่งนี้ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคน โดยไม่อาจหวนกลับมาใหม่ของวัฒน ธรรมขอมในดินแดนไทย

คงเป็นเรื่องที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ต้องขบคิดและขุดค้นหาหลักฐานเรื่องราวอีกมากว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนจากการนับถือพราหมณ์ฮินดู และพุทธมหายาน มาเป็นพุทธเถรวาทลังกา พร้อมกับการเปลี่ยนจากอารยธรรมขอมมาเป็นสยาม

ปราสาทขอม ธรรมศาลา ปราสาทตาเมือน
ธรรมศาลาปราสาทตาเมือน ระหว่างการบูรณะ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบรุนแรงและฉับพลันในบริเวณอีสานสูงนั้นมีความเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับสงครามปลดแอกของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวที่สุโขทัย และเหตุการณ์ที่มิอาจ มองข้ามไปได้คงเป็นเรื่องราวจากบันทึกจดหมายเหตุโจวต้ากวาน เลขาท่านทูตจีนผู้ไปเยือนกัมพูชาในปี พ.ศ. 1839 ที่กล่าวถึงกองทัพเสียมที่เข้าปิดล้อมพระนครหลวง มีการรบพุ่งกันจนหมู่บ้านกลายเป็นที่โล่ง และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงศาสนาและการปกครองในกัมพูชา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอิทธิพลอารย ธรรมขอมและพราหมณ์ฮินดู มาเป็นระบบกษัตริย์ ตามพุทธคติและการนับถือพุทธศาสนาในแบบฉบับของเถรวาทลังกาเป็นหลัก

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่บริเวณอีสานสูงอย่างไร คำถามต่างๆ คงไม่สิ้นสุดลงจนกว่าจะได้คำตอบว่าอะไรเป็นเหตุแห่งแรงบันดาลใจให้มีการปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ และใครเป็นแกนนำของขบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คำถามอาจเลยเถิดไปถึงว่าแกนนำที่สำคัญเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับแกนนำที่ไปปลดแอกสุโขทัย และกองทัพเสียมที่ไปปิดล้อมพระนครหลวงกัมพูชาตามคำบอกเล่าของ โจวต้ากวานอย่างไร เนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญทั้งสุโขทัยก็ดี ที่ราบสูงอีสานก็ดี และที่พระนครหลวงก็ดี ต่างมีความคาบเกี่ยวกันในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ตามมาจากการทำลายล้างอิทธิพลขอมในบริเวณที่ราบสูงอีสานได้ปิดฉากวัฒนธรรมขอมที่ฝังรากลึกไม่น้อยกว่า 400 ปีในดินแดนแห่งนี้ลงโดยสิ้นเชิง และเปิดศักราชใหม่ให้แก่วัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกาเป็นแบบฉบับและเจริญงอกงามมาจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


กิติกรรมประกาศ : ขอขอบคุณ

ดร. โสมสุดา ลียะวณิช รองอธิบดีกรมศิลปากร

อาจารย์รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

คุณไมเคิล ไรท (เมฆ มณีวาจา) ที่ปรึกษาศิลปวัฒนธรรม


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2560