ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2525 |
---|---|
ผู้เขียน | ศรีศักร วัลลิโภดม |
เผยแพร่ |
หนังสือ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เล่มนี้ เป็นเรื่องที่เขียนต่อเนื่องกับ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ซึ่งตีพิมพ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว
การวิจารณ์หนังสือเล่มนี้จึงต้องเอ่ยภูมิหลังเสียก่อนว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมานั้น ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะแสดงออกในเรื่องความรู้สึกทางการเมืองหรือลัทธิการปกครองแต่อย่างใด หากเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบความคิดเห็นขัดแย้งในวงวิชาการไทยเกี่ยวกับคำว่า สยาม ไทย ลาว และขอม ซึ่งมีการถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยจิตรยังศึกษาอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“งานของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่องนี้มีความหมายต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก”
ในสมัยที่จิตรศึกษาอยู่นั้น วงวิชาการในเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยจำกัดอยู่ในวงแคบๆ มีนักวิชาการสองกลุ่มแสดงความขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มใหญ่ ประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมกองและมหาวิทยาลัย มีลูกศิษย์ลูกหามีผู้นับหน้าถือตามาก ท่านเหล่านี้เป็นผู้ยึดมั่นในเรื่องความคิดเห็นของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ อย่างมั่นคง มักแสวงหาข้อความหรือความคิดเห็นของนักวิชาการต่างประเทศที่สอดคล้องกับเกจิอาจารย์ทั้งสองท่านมาอ้างหรือเสริมอยู่เสมอ
ถ้าหากผู้ใดมีความเห็นตรงข้ามกับกลุ่มแรกนี้เป็นผิดเสมอ การแสดงออกของท่านเหล่านี้นั้น ไม่ได้เขียนบทความหรือหนังสือ แต่ชอบสอนหนังสือหรือไปแสดงปาฐกถาในที่ต่างๆ
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นอันที่จริงก็นับได้ว่าเป็นทั้งศิษย์และผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ว่ามักจะอยู่ปลายแถว และมีความเห็นที่ไม่คล้อยตามสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพและศาสตราจารย์เซเดส์ มักเป็นผู้ที่ชอบค้นคว้าหาข้อมูลดิบมาแสดงความคิดเห็นและเขียนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น ดังเช่น งานเขียนของ ปรีดา ศรีชลาลัย เป็นอาทิ
นักวิชาการกลุ่มแรกมักดูถูกว่ากลุ่มหลังไม่มีความรู้ ไม่ได้เล่าเรียนอย่างถูกวิธีและเป็นพวก “ชาตินิยม” เพราะเวลาเขียนอะไรขึ้นมาก็มักอ้างว่าไทยสำคัญเสมอโดยเฉพาะคำว่า “ขอม” ไม่ใช่ “เขมร” นั้นก็เพราะต้องการจะไม่ยอมรับว่าครั้งหนึ่งเขมรเคยมาปกครองเมืองไทยนั่นเอง
“เฉพาะคำว่า ‘ขอม’ ไม่ใช่ ‘เขมร’ นั้นก็เพราะต้องการจะไม่ยอมรับว่าครั้งหนึ่งเขมรเคยมาปกครองเมืองไทยนั่นเอง
นักวิชาการกลุ่มหลังจึงตอบโต้ไปในทำนองที่ว่ากลุ่มแรกมักเดินตามก้นฝรั่ง เมื่อฝรั่งว่าอะไรก็เชื่อหมด ไม่มีการค้นคว้าข้อมูลใหม่ๆ มาเสนอ
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดวงวิชาการนี้ เพราะศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตรเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกภาษาเขมรจึงมีความรู้เรื่องภาษาเขมรเป็นพิเศษกว่าภาษาอื่นๆ
จิตรให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้อย่างเงียบๆ เท่าที่อ่านบทความและหนังสือที่จิตรเขียนขึ้นนั้น จิตรติดตามผลงานของนักวิชาการทั้งสองกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็ค้นคว้าหาข้อมูลตามวิธีการที่ตนถนัด โดยเฉพาะในด้านนิรุกติศาสตร์ และการออกเสียงของคำ (phonetics) เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าจิตรได้เปรียบและมองกว้างกว่างานของนักวิชาการทั้งสองกลุ่มซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะการตีความเรื่องราวในศิลาจารึก ตำนาน และหลักฐานทางศิลปกรรมโบราณเป็นสำคัญ
เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ของจิตร ภูมิศักดิ์ แล้ว ก็พบว่าจิตรมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการรุ่นก่อนๆ ทั้ง 2 กลุ่ม ดังนี้
ในเรื่องของวิธีการค้นคว้าและการใช้ข้อมูล จิตรไม่จำกัดตัวเองเหมือนนักวิชาการกลุ่มแรกที่ยึดมั่นอยู่เฉพาะจารึกและหลักฐานทางศิลปกรรมโบราณ ในทางตรงข้าม จิตรให้ความสำคัญแก่การศึกษาตำนานเป็นอย่างมาก และขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญในการหาข้อมูลจากศิลาจารึกด้วย คือไม่เชื่อถือแต่เพียงผลการอ่านและการตีความของนักอ่านจารึกแต่เพียงอย่างเดียว หากต้องพยายามอ่านและสอบค้นเปรียบเทียบด้วยตนเองด้วย จิตรเขียนเอาไว้ว่า
“เราพากันดูถูกตำนานของเราเอง แล้วหันไปเรียนเรื่องของเราจากผลงานศึกษาที่พวกฝรั่งเศสและอังกฤษทำไว้ ขณะเดียวกันก็รับเชื่อถือเรื่องราวที่พวกนักเขียนประวัติศาสตร์ชาวยุโรปสันนิษฐานและวางแนวทางทั่วไปไว้ และถ้าหากจะค้นคว้ากันบ้างสักเล็กน้อย ก็ค้นคว้ากันไปตามแนวทางทั่วไปนั้น แต่ส่วนมากแล้วเราไม่ได้ศึกษาข้อมูลดิบด้วยตนเอง รับเชื่อเอาจากผลการวิเคราะห์ของฝรั่งเป็นบรรทัดฐานกันเป็นส่วนใหญ่”
ถึงแม้ว่าจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เห็นด้วยกับการเดินตามหลังฝรั่งในการค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยของนักวิชาการกลุ่มแรกตามที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจิตรจะเห็นด้วยกับแนวทางและข้อเสนอของนักวิชาการกลุ่มหลังที่ยึดถือตำนานพงศาวดารเป็นหลัก ดังจะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้จิตรแสดงความเห็นขัดแย้งกับนักวิชาการกลุ่มที่สองหลายๆ แห่ง
ตัวอย่าง เรื่องการวิเคราะห์ตำนานไทยล้านนาที่เกี่ยวกับพระเจ้ากัมโพชราช ศาสตราจารย์ยอรช เซเดส์ มีความเห็นว่ากษัตริย์องค์นี้คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของ กัมพูชา เพราะคำว่ากัมโพชราชนั้นน่าจะหมายความอย่างเดียวกันกับคำว่ากัมพุชราชของจารึกเขมร สิ่งสำคัญที่นำมาสนับสนุนข้อเสนอนี้ก็คือพบศิลาจารึกที่เอ่ยพระนามของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่เมืองละโว้ และในศิลาจารึกหลักนั้นมีคำว่า “กำตวน” ซึ่งศาสตราจารย์เซเดส์อ้างว่ามีรากมาจากคำว่า “ตวน” ในภาษามลายูซึ่งแปลว่า ย่า-ยาย ทำให้เข้ากันได้ดีกับเรื่องราวในตำนานที่ระบุว่ามีกษัตริย์จากนครศรีธรรมราชยกกองทัพขึ้นมารบกับกษัตริย์เมืองละโว้และเมืองหริภุญชัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 คงจะเป็นพระราชโอรสของเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชตามที่มีกล่าวในตำนานนั้น
จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้ศาสตราจารย์เซเดส์นำสมัยเวลาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์อยู่ระหว่างพ.ศ. 1545-1593 มาเป็นหลักในการกำหนดอายุของเหตุการณ์ในตำนาน
เรื่องราวของพระเจ้ากัมโพชราชในตำนานนั้น ระบุว่าเกิดขึ้นใน พ.ศ. 1470 ดังนั้นเมื่อนำมาปรับให้เข้ากันกับสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ในจารึกเขมรแล้วก็ต้องลดศักราชในตำนานของล้านนาลงไปราว 100 ปี
การกำหนดอายุตำนานของศาสตราจารย์เซเดส์ดังกล่าวนี้ ได้เป็นที่ยอมรับเชื่อถือกันเรื่อยมา แม้ว่าในระยะหลังนั้นศาสตราจารย์เซเดส์ได้ล้มเลิกข้อเสนอที่ว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงเป็นเชื้อสายกษัตริย์ทางนครศรีธรรมราชแล้วก็ตาม
เรื่องการลดศักราชนี้ได้มีนักวิชาการไทยในกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ชาตินิยม” ได้สอบสวนเรื่องราวและศักราชในตำนานไทยแล้วเขียนคัดค้านยืนยันว่าศักราชในตำนานเชื่อถือได้ อีกทั้งพระเจ้ากัมโพชราชในตำนานก็เป็นคนละองค์กับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และไม่มีเหตุผลที่จะไปทอนอายุให้ต่ำลง การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทอนลงหมดทั้งตำนานด้วย
จิตร ภูมิศักดิ์ เห็นพ้องด้วยกับนักโบราณคดีไทยฝ่ายคัดค้านที่เห็นว่ากัมโพชราชในตำนานล้านนาไทยเป็นคนละคนและคนละสมัยกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับทางฝ่ายนี้ที่ยังประนีประนอมเรื่องพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อยู่โดยการเสนอว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ทางนครศรีธรรมราชที่ครองเมืองละโว้สืบกันมาในร้อยปีหลัง โดยจิตรให้เหตุผลว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่าเมื่อปฏิเสธเรื่อศรีสุริยวรมันที่ 1 ไม่ใช่กัมโพชราชซึ่งเป็นโอรสซีวกราช พ.ศ. 1470 เสียแล้ว ก็ไม่มีพื้นฐานอะไรเหลืออยู่ให้ออมชอมว่าศรีสุริยวรมันองค์นี้เป็นเชื้อสายของชีวกราชที่เมืองละโว้ เหตุผลที่ศาสตราจารย์เซเดส์กล่าวว่า ศรีสุริยวรมันที่ 1 เป็นโอรสเจ้าเมืองละโว้นั้น มิใช่ได้มาจากศิลาจารึกเขมร หากเกิดขึ้นเพราะการตีความว่า กษัตริย์เขมรผู้นี้เป็นองค์เดียวกันกับกัมโพชราชในตำนานของไทยล้านนาเท่านั้น เมื่อเราปฏิเสธเรื่องนี้แล้ว ความเห็นที่ว่าศรีสุริยวรมันที่ 1 เกี่ยวดองกับชีวกราชและตั้งหัวหาดอยู่ที่เมืองละโว้ ก็ต้องพังไปหมดโดยปริยาย”
เท่าที่ยกตัวอย่างดังกล่าวมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการที่เป็นตัวของตัวเอง สามารถวิเคราะห์และวิจารณ์งานของนักวิชาการรุ่นก่อนๆ อย่างมีเหตุผล ซึ่งนับว่าหาตัวจับยากในวงวิชาการไทยสมัยนั้น ข้าพเจ้าประทับใจคำวิจารณ์ของจิตรที่กล่าวถึงศาสตราจารย์เซเดส์ว่า
“ตามที่ข้าพเจ้าตรวจดูวิธีคิดของท่านเซเดส์ จุดเริ่มสำคัญของท่านน่าจะเริ่มมาจากการตีความคำว่ากัมโพชราชในตำนาน ดูเหมือนท่านจะเข้าใจว่า กัมโพชราชในตำนานไทยมีความหมายเท่ากับกษัตริย์แห่งประเทศกัมพูชา (roi du Cambodge) ท่านเข้าใจคำว่า กัมโพชราชในตำนานไทยล้านนาในความหมายเดียวกันกับกัมพุชราชของจารึกเขมร จึงทำให้กษัตริย์ละโว้องค์นี้มีฐานะเป็นกษัตริย์เขมรนครธมขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาตำนานไทยของท่านย่อมดำเนินไปในลักษณะถือประวัติศาสตร์เขมรเป็นแกนกลางแล้วปรับความในตำนานไทยเข้าหา”
การวิพากษ์วิจารณ์วิธีการคิดการตีความของนักวิชาการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นจากผู้ใดในสถาบันที่จิตรศึกษาอยู่ในสมัยนั้น เพราะส่วนมากท่านมักอ่านหนังสือของศาสตราจารย์เซเดส์หรือของนักวิชาการนั้นๆ โดยไม่อ่านคำนำหรือวิพากษ์วิธีการและแนวการค้นคว้ากัน
นับได้ว่าจิตรเป็นผู้ที่ก้าวไปไกลกว่าบรรดาครูบาอาจารย์และเพื่อร่วมสมัยเดียวกันกับเขาอย่างแท้จริง
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับวิธีการศึกษาหาข้อเท็จจริงจากตำนานก็คือ
“ข้าพเจ้าเห็นว่าจามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานมูลศาสนาเป็นตำนานไทยล้านนาโบราณ เราต้องอ่านและตีความศัพท์ของตำนานด้วความหมายอย่างไทยล้านนาโบราณ”
ข้อความดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าจิตรพยายามมองเรื่องราวจากอดีตในสายตาของคนในอดีต ไม่ใช่สายตาของคนที่มองอดีตจากปัจจุบันซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาดในวงวิชาการไทยสมัยนี้
ในเรื่องการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอมในหนังสือเล่มนี้ จิตรใช้ตำนานเป็นตัวนำ คือตำนานเมืองสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนุวัติกุมาร เพราะในตำนานดังกล่าวนี้ได้เอ่ยชื่อชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กล๋อม กรอม และกะหลอม เป็นกลุ่มชนที่เคยครอบครองดินแดนในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนมาก่อนที่ชาวไทยจะอพยพเข้ามา
จิตรได้เปรียบเทียบคำเหล่านี้ในเรื่องการออกเสียงและทางนิรุกติศาสตร์แล้วให้ความเห็นว่าคำดังกล่าวนั้นตรงกับคำว่า “ขอม” นั่นเอง
จิตรพบหลักฐานว่าในปัจจุบันนี้คำว่า กล๋อมและกะหลอมนั้น ผู้คนทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนใช้เรียกคนไทยหรือชาวสยามที่อยู่ทางใต้
เมื่อได้ความดังนี้แล้วจึงหันมาสอบสวนเรื่องราวของบ้านเมืองและถิ่นฐานของกลุ่มชนที่เรียกว่ากรอมในตำนานสุวรรณโคมคำและตำนานสิงหนุวัติ จิตรได้วิเคราะห์บ้านเมืองของพวกกรอมออกเป็น ๓ ระยะเวลาด้วยกัน คือยุคเมืองโพธิสารหลวง ยุคเมืองอินทรปัตถ์และสุวรรณโคมคำ และยุคเมืองอุโมงคเสลา
ในการสอบสวนเรื่องนี้จิตรได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับหลักฐานทางเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วสรุปให้เห็นว่าพวกกรอมนั้นมีกระจายอยู่ตั้งแต่ปากแม่น้ำโขงไปถึงมณฑลยูนนานของประเทศจีน
ในยุคเมืองโพธิสารหลวงซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นคือพวกฟูหนานที่มีกล่าวถึงในจดหมายเหตุจีน ในตำนานไทยเรียกพวกกรอมพวกนี้ว่าพวกผีเสื้อ ส่วนยุคหลังคือยุคเมืองอินทปัตถ์นั้นตรงกับพวกเจิ้นลา เป็นยุคที่มีความขัดแย้งกัน ทำให้พวกกรอมบางกลุ่มอพยพจากเขตแม่น้ำโขงตอนล่างขึ้นมายังลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน พวกที่อพยพขึ้นมาทางเหนือนั้นได้สร้างเมืองสุวรรณโคมคำขึ้นที่เกาะใหญ่ริมแม่น้ำโขงทางฝั่งประเทศลาวซึ่งอยู่เยื้องกับปากแม่น้ำกกในเขตไทย
ส่วนพวกที่มีอำนาจอยู่ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้นั้น ในตำนานไทยเรียกว่าพวกนาค พวกนี้เป็นสายบรรพบุรุษโดยตรงของกลุ่มชนที่เรียกว่าชาว “เขมร” ในสมัยหลังๆ ลงมา ตามหลักฐานทางจารึกและโบราณคดีชนกลุ่มนี้เดิมตั้งบ้านเมืองอยู่ที่เมืองจัมปาสักในเขตประเทศลาว และกษัตริย์องค์สำคัญได้แก่พระเจ้าภววรรมัน ซึ่งได้แต่งงานกับพระนางกัมพุชราชลักษมี เรื่องกษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้สืบทอดต่อมาในนิยายปรัมปราเรื่องพระทองกับนางนาค
ในยุคที่สามคือสมัยเมืองอุโมงคเสลาเป็นยุคของพวกกรอมดำซึ่งเป็นพวกผีเสื้อที่อพยพจากปากแม่น้ำโขงรุ่นหลัง ได้สร้างเมืองอุโมงคเสลาขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำกก พวกกรอมในชั้นหลังนี้ยังได้แผ่ไปถึงดินแดนยูนนานใต้และรัฐฉานในประเทศพม่า
นอกจากการหาความเป็นมาของพวกขอมหรือกรอมในตำนานไทยล้านนาดังกล่าวแล้ว จิตรได้สอบค้นเรื่องราวของพวกขอมต่อในหลักฐานมอญและพม่า พบคำเรียกกลุ่มชนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า “โกฺรม” ในภาษามอญและคำว่า “คฺยวน” ในภาษาพม่า เมื่อเปรียบเทียบการออกเสียงและรากคำตลอดจนหลักฐานในตำนานแล้วจิตรเสนอว่าทั้ง “โกฺรม” และ “คฺยวน” หมายถึง “ขอม” นั่นเอง
จากหลักฐานดังกล่าวนี้ทำให้จิตรมองกว้างออกไปอีกว่าพวก “ขอม” หรือ “กรอม” นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำโขงเท่านั้น ยังมีกระจายอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
จากจุดนี้เองที่ทำให้จิตรต้องหันมาสอบค้นเรื่องราวจากตำนานพงศาวดารศิลาจารึกและหลักฐานทางโบราณคดีในเขตภาคกลางเพิ่มเติม ในเรื่องนี้จิตรสนใจคำว่า “กัมโพช” เป็นอย่างมาก เพราะคำนี้พบในการเรียกชื่อเมืองลพบุรีหรือละโว้ นักปราชญ์ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า “กัมโพช” หมายถึง “กัมพูชา” หรือเขมรจากเมืองนครธมซึ่งเข้ามาเป็นใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จิตรกลับพบว่าพวก “กัมโพช” หรือ “คฺยวน” ซึ่งหมายถึง “ขอม” นั้น ไม่ใช่พวกเดียวกันกับพวกเขมรทางเมืองนครธมแต่อย่างใดเพราะมีหลักฐานให้เห็นว่าคำที่เกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ของกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นคำว่า ออกพระ ออกญา นั้น ไม่เคยพบในจารึกเขมรสมัยนครหลวงเลย
จิตรเชื่อว่าคนไทยตั้งบ้านเมืองอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานานแล้ว จึงมีหลักฐานทางมอญและพม่ากล่าวถึงในพุทธศตวรรษที่ 16 หาได้เพิ่งย้ายลงมาสมัยหลังๆ ไม่
อย่างไรก็ตาม จิตรมีความเห็นว่า “ขอม” หรือ “เขมร” จากเมืองนครธมซึ่งในตำนานเรียกว่า “อินทปัตถนคร” นั้นได้เคยแผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ในระยะกลางพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะพบศิลาจารึกที่เอ่ยพระนามกษัตริย์ขอม เช่น ยโศวรรมันที่ 1 (พ.ศ. 1432-1443) ที่จันทบุรี และปราสาทหินของขอมที่วัดกำแพงแลงในเมืองเพชรบุรี
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่จิตรนำมาอ้างก็คือชื่อสถานที่หรือตำบลที่เป็นภาษาเขมรในท้องถิ่นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตัวอย่างเช่นเมืองพระประแดงเป็นคำที่แผลงมาจากยศขุนนางขอมที่เรียกว่า “แผดง” เป็นต้น
จากการที่ขอมหรือเขมรจากเมืองนครธมเคยมีอำนาจมาถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้เอง ทำให้ชาวล้านนาเรียกคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า “ขอม” และ “กัมโพช” ดังมีคำเหล่านี้อยู่ในตำนานของทางเหนือ โดยเฉพาะตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนาและจามเทวีวงศ์ซึ่งกล่าวไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยากับลำพูนในพุทธศตวรรษที่ 15 ตำนานเหล่านี้เขียนขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 จึงนับเป็นหลักฐานได้ดีอย่างหนึ่งว่า คนในสมัยดังกล่าวนี้ของล้านนาเรียกคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ว่ากัมโพชและขอม
ในทำนองเดียวกันในเขตล้านนาและล้านช้างซึ่งมีตำนานสุวรรณโคมคำและสิงหนุวัติกุมารกล่าวถึงว่าเคยเป็นดินแดนที่พวกกล๋อมหรือขอมเคยอยู่มาก่อนนั้น ชนกลุ่มอื่นซึ่งอยู่นอกเขตแดนนี้ก็มักเรียกผู้คนที่อยู่ภายในว่าเป็นพวกขอมหรือกัมโพชเช่นกัน
ในเรื่องนี้จิตรได้หาหลักฐานจากทางเอกสารและภาษาเรียกในปัจจุบันของท้องที่ในบริเวณดังกล่าวมาชี้ให้เห็น
อย่างไรก็ตาม ในความรู้สึกนึกคิดของคนในปัจจุบันโดยเฉพาะพวกลาวในเขตลุ่มแม่น้ำโขงนั้น คำว่าขอมในปัจจุบันนั้นหมายถึงพวกเขมรในประเทศกัมพูชาเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจิตรจึงสรุปผลการค้นคว้าเรื่องข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอมว่า ขอมในความหมายที่เป็นหลักแล้วหมายถึงคนกลุ่มที่อยู่ที่นครธมและปากแม่นำ้โขงเป็นสำคัญ แต่ถ้ามองดูอย่างกว้างๆ แล้วคำว่าขอมนั้นกินเลยไปถึงกลุ่มชนต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเช่นทางรัฐฉานด้วย
ตามความคิดของข้าพเจ้าในการวิจารณ์งานเรื่องนี้ของจิตร ภูมิศักดิ์ เห็นว่าเป็นงานที่มีคุณค่าในทางวิชาการอย่างมาก จิตรค้นคว้าอย่างกว้างขวางและให้รายละเอียดอย่างที่นักวิชาการในสมัยก่อน ๆ ทำไม่ได้ โดยเฉพาะการใช้แนวการศึกษาในด้านการออกเสียงและรากของคำ ตลอดจนการชี้ให้เห็นถึงความหมายของ “ขอม” ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
เรื่องชนชาติขอมนั้นยังไม่ยุติในที่นี้ แต่จะเป็นการเสนอข้อมูลและแนวความคิดเห็นใหม่ๆ ให้กว้างขวางออกไปเพื่อการค้นคว้าในลักษณะที่ลึกซึ้งและให้ข้อเท็จจริงมากกว่านี้ต่อไป
วิธีการทางวิทยาศาสตร์ของเสียงก็ดี หรือทางนิรุกติศาสตร์ก็ดี ที่จิตรนำมาใช้ในการศึกษาหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำว่าขอมนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายบรรดานักวิชาการที่ร่ำเรียนมาจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสมัยนี้เป็นอย่างมาก น่าจะได้มีการศึกษาพิสูจน์กันว่าวิธีการที่จริตรใช้นั้นมีความเชื่อถือได้แน่นอนแค่ไหน
ข้าพเจ้าคิดว่าบรรดานักประวัติศาสตร์คงอึดอัดไม่น้อย ถ้าจะต้องเอางานของจิตร ภูมิศักดิ์ไปอ้างอิงในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการที่จิตรหาข้อมูลมาให้อย่างกว้างขวาง
ในส่วนตัวข้าพเจ้าเห็นว่างานของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่องนี้มีความหมายต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะจิตรได้พยายามชี้ให้เห็นว่าคนในปัจจุบันในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละภูมิภาคมีความเห็นเกี่ยวกับขอมเป็นอย่างใด
การอ้างถึงเรื่องราวในตำนานทางเหนือเช่นชินกาลมาลีปกรณ์ จามเทวีวงศ์และมูลศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของคนสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 นั้นจัดอยู่ในลักษณะที่น่าเชื่อถือได้ แต่การอ้างถึงเรื่องราวในอดีตที่ห่างไกลเช่น เรื่องเมืองโพธิสารหลวง เมืองสุวรรณโคมคำ และอุโมงคเสลา จากตำนานสุวรรณโคมคำและสิงหนุวัติกุมารนั้นยังเป็นเรื่องนิยายปรัมปราหรือ Myth ที่คนในยุคที่มีการเขียนตำนานดังกล่าวได้ทราบมา ถึงแม้ว่าจิตรจะอ้างหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารจากภายนอกมาสนับสนุนก็ตาม ก็ยังไม่อาจประนีประนอมกันได้ โดยเฉพาะตำแหน่งเมืองสุวรรณโคมคำและอุโมงคเสลา
เมืองสุวรรณโคมคำที่จิตรอ้างถึงว่าอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำโขงทางฝั่งลาวเยื้องปากแม่น้ำกกนั้น ปรากฏจากภาพถ่ายทางอากาศว่ามีตำแหน่งเมืองจริง แต่ไม่ได้อยู่บนเกาะ หากอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงใกล้เนินเขา เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคูน้ำคันดิน แต่รูปแบบตลอดจนโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณเมืองนี้เป็นแบบเชียงแสนตอนปลายถึงราวพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมาเท่านั้นเอง
ส่วนเมืองอุโมงคเสลา ที่ว่าอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกนั้นก็พบว่ามีเมืองโบราณหลายแห่งในบริเวณนี้ แต่โบราณวัตถุที่พบเห็นก็ไม่มีอะไรมีอายุเกินพุทธศตวรรษที่ 19-20 ขึ้นไป
อนึ่งที่จิตรอ้างถึงอำนาจของเขมรจากนครธมระยะกลางพุทธศตวรรษที่ 15 คลุมบริเวณอ่าวไทยตั้งแต่จันทบุรีจนถึงเพชรบุรีโดยระบุว่าที่จันทบุรีพบศิลาจารึกของพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 และที่เมืองเพชรบุรีมีปราสาทหินที่วัดกำแพงแลงอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 นั้น ยังคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เพราะปราสาทศิลาแลงที่วัดกำแพงแลงนั้น ปัจจุบันนักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์มีความเห็นว่ามีอายุอยู่เพียงแค่พุทธศตวรรษที่ 181-9 เท่านั้นเอง และนักปราชญ์บางท่านก็ว่าเป็นของที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับจิตรในลักษณะที่คำว่า “ขอม” นั้นมีความหมายทั้ง “กว้าง” และ “แคบ”
ที่ว่า “แคบ” นั้นหมายถึงการเน้นความสำคัญที่พวกเขมรเมืองพระนคร ทั้งนี้เพราะในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีข้อความที่กล่าวว่า “ขอมแปรพักตร์” เป็นสิ่งที่ยืนยันอยู่แล้ว
ส่วนในความหมายที่ “กว้าง” นั้น คำว่าขอมไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่ประเทศกัมพูชา หากฟุ้งกระจายไปทั่ว รวมทั้งบ้านเมืองในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย แต่ว่าการแพร่กระจายของชาวขอมนี้ไม่ได้เน้นในเรื่องการเป็นชนชาติ แต่หากเน้นในรูปของวัฒนธรรม และการที่กลุ่มชนในดินแดนที่เกี่ยวข้องกันมีสิ่งร่วมกันในทางวัฒนธรรมเป็นสำคัญ
ช้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของวัฒนธรรมขอมนั้นก็คือศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่พัฒนาขึ้นในบ้านเมืองทางลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยเมืองพระนครเป็นสำคัญและอิทธิพลของวัฒนธรรมนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีพื้นฐานเป็น วัฒนธรรมทวารวดี (ชื่อสมมติ) อันมีพระพุทธศาสนาหีนยานเป็นหลักมาแต่เดิม
ข้าพเจ้าคิดว่าความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำอิรวดี และในคาบสมุทรมลายู อันเกิดจากการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 มานั้น ทำให้บ้านเมืองเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม ในระยะนี้พระพุทธศาสนาคติมหายานได้ค่อยๆ เข้ามาเป็นที่นับถือกันอย่างกว้างขวางในดินแดนไทย
ศิลาจารึกศาลสูงที่เอ่ยพระนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ก็ดี หรืออีกหลักหนึ่งที่พูดถึงการมีศาสนสถานทั้งของฮินดูและของพระพุทธศาสนา (มหายาน) ในเมืองละโว้ก็ดีล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรมทำนองนี้ระหว่างลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับเมืองพระนครทั้งสิ้น
สิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือศิลปกรรมทางกัมพูชาได้เข้ามาผสมผสานกับศิลปกรรมของท้องถิ่น ทำให้เกิดสกุลช่างศิลปแบบลพบุรีขึ้นในสมัยต่อมา
พระพุทธศาสนาคติมหายานจากเมืองพระนครได้เข้ามาแพร่หลายและเจริญถึงขีดสุดในดินแดนไทยโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา จึงเกิดมีการสร้างพุทธสถานในลัทธิมหายานแบบนครธมหรือเมืองพระนครแพร่หลายตามท้องถิ่นต่างๆ ในดินแดนไทยตามที่กล่าวมาแล้ว
ข้าพเจ้าคิดว่ากลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนาคติมหายานแบบเมืองพระนครนี่แหละคือผู้ที่ถูกเรียกว่าพวก “ขอม” โดยคนในสมัยหลังๆ ลงมาที่หันมารับนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าใคร่สรุปในที่นี้ทำนองที่คล้ายคลึงและแตกต่างจากจิตร ภูมิศักดิ์ว่า
พวกขอมนั้นถ้ามองอย่างแคบๆ ก็หมายถึงชาวเขมรสมัยเมืองพระนครที่นับถือศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาคติมหายาน แต่ในความหมายที่กว้างออกไปนั้นหมายรวมไปถึงกลุ่มชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนที่นับถือพระพุทธศาสนาคติมหายานแบบเมืองพระนครที่พัฒนาขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นต้นมา
ผู้ที่เรียกกลุ่มชนเหล่านี้ว่าขอมก็คือคนในรุ่นหลังที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์นั่นเอง
ชาวขอมและวัฒนธรรมขอมได้เปลี่ยนแปลงและสิ้นสุดลงเมืองหมดสมัยเมืองพระนคร
สิ่งที่หลงเหลือเกี่ยวกับขอมในทุกวันนี้ก็คืออักษรและภาษาขอม และที่สำคัญก็คือบรรดาซากศาสนสถานที่เป็นปรางค์หรือปราสาทซึ่งชาวบ้านทั่วไปล้วนแต่บอกว่าเป็นของขอมหรือขอมมาสร้างไว้ทั้งสิ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- อาจารย์คึกฤทธิ์ กับจิตร ภูมิศักดิ์ วินิจฉัย “ใครคือขอม”?
- “เขมร” ไม่เรียกตัวเองว่า “ขอม” ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า “ขอม” มาจากไหน?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2560