อาจารย์คึกฤทธิ์ กับจิตร ภูมิศักดิ์ วินิจฉัย “ใครคือขอม”?

ขบวนแห่ของชาวสยามหรือ “เสียมก๊ก” สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยกล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่อยู่รัฐและบ้านเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดสนิทสนมของกษัตริย์กัมพูชาในยุคนั้น ไม่ใช่ “กองทัพเมืองขึ้นของขอม” ตามคำอธิบายของนักวิชาการเจ้าอาณานิคมตะวันตก

ขอม เป็นชื่อยกย่องที่คนไทยใช้เรียกคนกลุ่มหนึ่งมาแต่โบราณกาลก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่รู้แน่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน.

ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีเอกสาร เช่นกฎมณเฑียรบาลเรียกเขมร ว่า ขอม แล้วใช้เรียกสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน.

แต่น่าประหลาดที่เขมรไม่รู้จักขอมและไม่ยอมรับว่าตนคือขอม.

ผมถามชาวบ้านเขมรทั้งที่พนมเปญและที่เสียมเรียบ ทั้งที่นครวัดและที่นครธมก็ไม่มีใครรู้จักขอม มีแต่พวกเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยในพนมเปญเป็นบางกลุ่มเท่านั้นที่เคยได้ยินเรื่องขอม. แต่พวกเขาไม่ได้บอกว่าเขมรเป็นขอม เมื่อถูกถามก็มักหัวเราะอย่างเป็นสุขแล้วย้อนว่า;

“คนไทยอยากให้เขมรเป็นขอมใช่ไหม?”.

ผมเขียนเรื่องอาจารย์คึกฤทธิ์วินิจฉัย “ใครคือขอม?” ลงใน “สุดสัปดาห์” และ…แต่เกิดปัญหาทาง “เทคนิค” ทำให้ข้อความเกิดวิกฤตอยู่ผิดที่ผิดทางจนอ่านแล้วจับไม่ได้ใจความเรื่อง “ขอม” อันเป็นประเด็นทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั้งของประเทศไทยเองและของภูมิภาคอุษาคเนย์ จึงขอยกมาใหม่มีเรื่องราวความเป็นมาดังต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ. 2521 อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ “ขอมสบาดโขลญลำพง” ลงคอลัมน์ในสยามรัฐรายวัน

ชื่อ “ขอมสบาดโขลญลำพง” มีอยู่ในจารึกวัดศรีชุมสมัยสุโขทัย ตำราประวัติศาสตร์ไทยถือว่าคนผู้นี้เป็น “ผู้ร้าย” เพราะไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็น “เขมร” แท้ๆ ที่กษัตริย์เขมรส่งมาปกครองไทยอยู่เมืองลพบุรีแล้วยกทัพไปชิงเมืองสุโขทัย (รัฐในอุดมคติของคนไทย).

ช่วง พ.ศ. 2521 ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี (พ. ณ ประมวญมารค) “กวีนักวิชาการ” ทรงเห็นต่างออกไปว่า “ขอมสบาดฯ” ไม่ใช่ “ขอม” หรือ “เขมร” ที่ไหน, แต่เป็น “เครือญาติ” เชื้อสายราชวงศ์ศรีนาวนำถมที่สถาปนาแคว้นศรีสัชนาลัย-สุโขทัยนั้นแหละ, การไปชิงราชสมบัติที่สุโขทัยก็เป็นเรื่องแย่งราชสมบัติกันเองในหมู่ “เครือญาติ” เรื่องนี้เป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์กับนักโบราณคดีสมัยนั้นทักท้วงและถกเถียงเป็นการใหญ่.

อาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าร่วมวงด้วย, แต่ท่านไม่ได้เถียงกับใคร, หาก “ชี้ทางบรรเทาทุกข์” ให้นักวิชาการเก็บไปพิจารณา, โดยเขียนบทความตามลีลาลงคอลัมน์ข้างสังเวียนในสยามรัฐ, ฉบับประจำวันที่ 26 เมษายน 2521. ขอคัดตัดทอนมาเฉพาะตอนสำคัญดังต่อไปนี้

“ขอมคืออะไร?”

ความคิดหรือคติที่มีมาแต่โบราณนั้นเชื่อกันว่า ขอมเป็นเชื้อชาติ.

บางท่านก็ว่าขอมคือเขมร

บางท่านก็ว่าไม่ใช่ เป็นคนละเชื้อชาติกับเขมร.

เห็นไหมครับว่าขึ้นต้นก็ยุ่งกันเสียแล้ว ถ้าถือว่าขอมหมายถึงคนเชื้อชาติ หนึ่งก็ไม่รู้กันเสียแล้วว่าขอมเป็นคนเชื้อชาติใด.

คำว่าขอมนั้นมีใช้อีกที่หนึ่งคือหนังสือขอม.

หนังสือขอมนี้หน้าตาเหมือนหนังสือเขมร แต่ก็ไม่ใช่หนังสือเขมร ความจริงเป็นตัวหนังสือชนิดหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นตรงกับอักขรวิธีของหนังสือเทวนาครี แต่ผิดกันในรูปร่าง และได้ปรับปรุงมาใช้เขียนให้ออกเสียงชื่อต่างๆ หรือคำพูดต่างๆ ตามสำเนียงไทยได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือขอมนั้นปรากฏว่าใช้อยู่ในศิลาจารึกทางศาสนาพราหมณ์อยู่มาก และต่อมาในเมืองไทยก็ใช้เขียน หรือจารใบลานในคัมภีร์ศาสนา เรื่องทางโลกแล้วไม่ใช่หนังสือขอมเลย.

ผมจึงคิดว่าหนังสือและภาษาขอมเป็นตัวหนังสือกลางและภาษากลางของศาสนาใด ศาสนาหนึ่งในภูมิภาคนี้ของโลก ฝรั่งเรียกว่า Lingua France คือภาษาฝรั่ง ซึ่งใช้เป็นภาษากลางในยุโรปสมัยโบราณหรือภาษาละตินซึ่งเคยใช้เป็นภาษากลางของศาสนาคริสต์ในสมัยโบราณ.

ศาสนาซึ่งมีภาษาและหนังสือขอมเป็นสื่อกลางก็คือศาสนาฮินดู ซึ่งจะเรียกว่าศาสนาพราหมณ์ก็ได้ แต่ผมเห็นว่าออกจะไขว้เขวไป.

ในมหาอาณาจักรเขมรที่มีศูนย์อยู่ที่พระนครหลวงหรือนครธมนั้น ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาที่สำคัญมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินเขมรนั้น ได้รับสมมุติขึ้นเป็นพระเป็นเจ้าในศาสนาฮินดู คือ พระวิษณุบ้าง พระศิวะบ้าง หนังสือที่ใช้ในศาสนาฮินดูก็เป็นหนังสือขอมทั้งนั้น.

อีกศาสนาหนึ่งที่คู่เคียงกับศาสนาฮินดูจนเกือบจะเรียกว่าแยกกันไม่ออกก็คือ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน.

ศาสนานี้ก็ใช้หนังสือขอมเช่นเดียวกัน.

คนไทยเรานั้นเรียกคนตามศาสนามากกว่าเชื้อชาติมานานแล้ว.

เพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงเรียกกันตามเชื้อชาติเมื่อไม่นานมานี้.

สมัยก่อนคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามก็เรียกว่าแขก ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับ ไม่เดือดร้อน.

คนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ก็เรียกว่าฝรั่ง.

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ปิยมหาราช เสด็จพระราชดำเนินไปยังภาคใต้.

มีกระทาชายนายหนึ่งแต่งตัวสำหรับเข้าเฝ้าเจ้านายถูกธรรมเนียมไทย คือนุ่งผ้าโจงกระเบน คาดผ้ากราบใต้ราวนม ทะมัดทะแมง เข้ามาเฝ้าลงกราบถวายบังคมตามแบบไทย แล้วกราบบังคมทูลว่า.

“พ้มเป็นฝรั่ง”.

เพราะแกนับถือศาสนาคริสต์

ก็ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น คนในเมืองไทยคงจะยังมีที่นับถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์กันอยู่มาก เทวสถานนั้นมีอยู่ในเมืองหลวงใหญ่ๆ ทุกแห่ง เช่นที่ลพบุรี สุโขทัย ส่วนทางภาคอีสานนั้นเทวสถานต่างๆ ที่เรียกกันว่าปราสาทหินในปัจจุบันนี้ก็คงยังไม่ร้าง ยังคงเป็นศาสนาสถานที่มีชีวิตอยู่”

ขณะเดียวกัน คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธก็คงมีมาก จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงก็เห็นได้ว่าทรงส่งเสริมศาสนาพุทธนิกายหินยานจากลังกา.

เมื่อมีคนสองศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างนี้ คนไทยที่นับถือพุทธก็คงจะบัญญัติศัพท์เอาไว้เรียกคนที่นับถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ จะเรียกว่าฮินดูคงไม่ได้ เพราะเป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาภายหลัง จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ไม่ได้ เพราะคนที่อยู่ศาสนานั้นไม่ได้อยู่ในวรรณะพราหมณ์ไปทั้งหมด.

เมื่อไม่รู้จะเรียกว่าอะไรก็เลยเรียกว่าขอม ตามหนังสือที่ใช้ในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์มาก่อน.

คำว่าขอมจึงมิได้ใช้ตามเชื้อชาติ แต่ใช้ตามศาสนา.

ใครนับถือศาสนาพราหมณ์ก็เรียกว่าขอมนั่นขอมนี่.

ขอมวามเทพมุนี เอ้า! อยู่ที่เสาชิงช้านั่นปะไร เป็นไทยแท้ๆ ไม่ได้เป็นเขมรสักนิด.

ขอสบาดลำพง จึงอาจเป็นไทยก็ได้ แต่เป็นไทยที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเขมร.

ถ้าเราจะตกลงกันในความหมายของคำว่าขอมอย่างที่ผมเสนอมานี้.

แต่แกก็อาจเป็นเขมรก็ได้อีก เพราะไม่ถือเอาเชื้อชาติเป็นใหญ่ ถือกันตามศาสนาแล้ว ไทยหรือเขมรที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เราก็เรียกกันว่าขอมทั้งนั้น.

พระเจ้าอู่ทองท่านก็คงทรงใช้เกณฑ์ศาสนานี้ เมื่อตรัสว่า “ขอมแปรพักตร์” เพราะตอนนั้นพระเจ้าแผ่นดินเขมรยังนับถือศาสนาหมณ์.

ถ้าเราจะตกลงกันตามที่ผมเสนอมานี้ได้ ปัญหาที่ว่าขอมคืออะไรหรือใคร ก็คงจะหมดไป…”

———–

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์คึกฤทธิ์ชี้แนะไว้ก็คือ คำว่าขอมจึงมิได้ใช้ตามเชื้อชาติ แต่ใช้ตามศาสนา. เรื่องนี้อาจขยายให้กว้างออกไปอีกได้ว่า คำว่าขอมไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม, ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นอย่างยิ่ง มีหลักฐานสนับสนุนดังต่อไปนี้ :

หลักฐานเก่าสุดที่พูดถึง “ขอม” คือจารึกวัดศรีชุมสมัยสุโขทัยที่อ้างถึงข้างต้น. จารึกหลักนี้มีคำว่า “ขอม” สองแห่ง, แห่งหนึ่งคือ “ขอมสบาดโขลญลำพง”, ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ “ขอมเรียกพระธม” (เมื่อพรรณนาพระสถูปใหญ่ที่ปัจจุบันเรียก “พระปฐมเจดีย์”) ทั้งสองแห่งไม่ได้หมายถึงเขมร แต่หมายถึงคนในบ้านเมืองแห่งหนึ่งในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เข้าใจว่าหมายถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี).

ชาวละโว้โบราณไม่ใช่เขมร แต่ก็ไม่ใช่พวกสยามหรือพวกไทย. ภาพสลัก ที่นครวัดมี “กองทัพละโว้” อยู่หลัง “กองทัพสยาม” ซึ่งล้วนไม่ใช่เขมร แต่อาจมีชาวเขมรเป็นประชากรอยู่ในบ้านเมืองเหล่านี้ได้. แต่ราชสำนักละโว้โบราณเป็น “เครือญาติ” ที่ใกล้ชิดกับราชสำนักเขมรมาก, นอกจากจะเคยนับถือศาสนาฮินดูจากเขมรแล้ว, ยังเคยนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานที่แพร่มาจากเขมรด้วย, ดังมีพระปรางค์สามยอดเป็นพยาน, การนับถือฮินดูและพุทธมหายานย่อมได้รับยกย่องจากคนอื่นๆ ให้เป็น “ขอม” ได้. เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยตรวจสอบเอกสารมอญ-พะม่าแล้วพบว่าฝ่ายมอญ-พะม่าเรียกชาวละโว้เมื่อราว พ.ศ. 1600 ว่า “ขอม”.

ต่อมาเมื่อละโว้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แล้วเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ชื่อ “ขอม” ก็เลื่อนไปหมายถึงเขมร ดังมีชื่ออยู่ในกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ.

ผมอ่านบทความชิ้นนี้ครั้งแรกตั้งแต่ตอนสายวันที่ตีพิมพ์ในสยามรัฐเมื่อ วันที่ 26 เมษายน 2521. เมื่ออ่านจบก็ยกมือประนมขึ้นท่วมหัวถึงอาจารย์ คึกฤทธิ์, เพราะท่านช่วย “ชี้ทางบรรเทาทุกข์” อย่างยิ่งใหญ่ให้ผมเข้าใจปมสำคัญของประวัติศาสตร์, ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นประวัติศาสตร์ของภูมิภาคทีเดียว.

เพื่อน้อมรำลึกและอาลัยคุณูปการของอาจารย์คึกฤทธิ์ที่มีต่อสังคมสยาม จึงขอเผยแพร่เรื่องนี้ไว้เป็นหลักฐาน และขอเชิญชวนท่านที่สนใจช่วยกันศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางออกไปอีก.

ที่ผมอ้างถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เพราะได้อ่านงานค้นคว้าสำคัญอีก เล่มหนึ่งชื่อ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” (หนังสือบางๆ เล่มนี้จิตรเขียนต่อจากเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาวและขอมฯ”) เพิ่งพิมพ์ครั้งแรก (โดยสำนักพิมพ์ไม้งาม) เมื่อ พ.ศ. 2525. เมืองบ่อยาง (บรรณาธิการสำนักพิมพ์) เขียนอธิบายว่าต้นฉบับเรื่องนี้จิตรคงเขียนขึ้นในช่วงปลายของชีวิตที่ได้อาศัยอยู่ในเมือง (พ.ศ. 2507-2508) หลังออกจากคุกแล้ว?

อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเรื่องขอมลงในคอลัมน์สยามรัฐรายวันโดยไม่เคยรู้มาก่อนว่าจิตรเขียนไว้แล้ว และตอนนั้นก็ยังไม่เคยมีใครได้อ่านงานเรื่องนี้ของจิตร เพราะเพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นเวลา 4 ปีหลังจากอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนคอลัมน์เผยแพร่ไปแล้ว, เหตุที่ผมสนใจเรื่องช่วงเวลาตอนนี้ เพราะสาระสำคัญเรื่องขอมเกือบจะตรงกันทีเดียว.

จิตรบอกว่า “เขมรส่ายหน้าบอกว่าขอมไม่ใช่ชื่อของเขา, ไทยและลาวเอาไปยัดเยียดให้เขาต่างหาก; แต่ไทยและลาวผู้เรียกนั้นเองก็ถูกชาติอื่นเรียกตนว่าขอม (กะหลอม) เข้าให้อีกด้วย” จากนั้น จิตรก็อธิบายว่า

“การ กรอม หรือขอม มีความหมายหลายอย่างในหลายภาษานี้ เราไม่มีหน้าที่จะต้องไปพยายามทำให้มันมีความหมายตรงกันให้หมด, ไม่ต้องใช้อคติ หรืออุปาทานทางพงศาวดารกำหนดว่า ขึ้นชื่อว่าขอมแล้วจะต้องหมายถึงชนชาตินั้นหรือชนชาตินี้แต่เพียงชาติเดียวและตายตัว เราควรศึกษาไปตามความเป็นจริง, วิเคราะห์ข้อมูลในตำนานหรือพงศาวดารโดยให้สัมพันธ์กับพัฒนาการของสังคม, แล้วปัญหายุ่งยากสับสนทั้งปวงก็จะค่อยๆ คลี่คลายเผยคำตอบ ออกมาว่าเหตุใดมันจึงเป็นเช่นนั้นโดยไม่ยากนัก”.

จิตรยังอธิบายอีกว่า แกนความหมายของขอมและกัมโพชในตํานานล้านนา คงหมายถึงขอมพวกที่พูดภาษาเขมรเป็นหลัก รวมทั้งข่าด้วย. แต่เมื่อเรียกโดยทั่วไปแล้วก็คงจะเหมารวมคลุมไปถึงชนชาติอื่นๆ บรรดาที่มีอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนด้วย โดยเฉพาะพวกที่ผิวพรรณและวัฒนธรรมผสานกลืนกับขอม. ถึงคนไทยอโยธยาที่มีอยู่ใต้ละโว้ลงมาตลอดไปจนแถบตะวันตกคือสุพรรณภูมิ ก็คงจะถูกเรียกรวมๆ เป็นขอมไปด้วย. ข้อนี้คงจะเหมือนกับความเข้าใจทางมอญพะม่า ที่จดพงศาวดารและทำจารึกไว้ถึงเรื่องของกรอม/ คฺยวม จากอโยธยาซึ่งยกทัพไปตีเมืองสะเทิม ในระยะใกล้เคียงกัน, พวกนั้นก็ปรากฏตามพงศาวดารมอญว่าเป็น กองทัพไทยด้วย หรืออย่างน้อยก็มีแม่ทัพเป็นคนไทย. คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า กรอม/คฺยวม/กัมโพช (ขอม) หมด.

“นี่เราก็ต้องสรุปว่า ในปลายศตวรรษที่ 16 นั้น ชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนนี้ จะเป็นชนชาติอะไรบ้างก็ตามแต่ ตกว่าอยู่บริเวณละโว้-อโยธยาแล้ว พะม่า มอญ ไทยล้านนา เป็นเรียกเหมาว่า ขอมหมดทั้งสิ้น. แม้ไตลื้อและไทใหญ่ก็เชื่อว่าได้เรียกคนที่บริเวณนี้ ว่ากะหลอม (กรอม) มาแต่ครั้งนั้นแล้วเช่นกัน”

ทีนี้ท่านผู้อ่านคิดว่า “ใครคือขอม?” ล่ะ.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2565