เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์ที่แควน้อย ไม่ใช่ “ขอม” (เขมร) ?!?

ปราสาทเมืองสิงห์ ปราสาท เมืองสิงห์
ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

“เมืองสิงห์” และ “ปราสาทเมืองสิงห์” ที่แควน้อย ไม่ใช่ “ขอม” (เขมร) ?!?

บริเวณตอนปลายของแม่น้ำแควน้อย ก่อนที่จะมาบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดกาญจนบุรีนั้น เป็นบริเวณพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย

บริเวณแห่งนี้ จะเป็นที่สูงของขั้นบันไดอีกขั้นหนึ่ง ก่อนที่จะลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยที่ราบระหว่างเขา มีดินตะกอนที่ถูกพัดพามาจากต้นแม่น้ำทับถมบริเวณที่ราบเหล่านี้ให้มีคุณภาพดี เหมาะแก่การผลิตธัญญาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ทั่วไป

ดังนั้น บริเวณแถบนี้จึงได้พบร่องรอยหลักฐานของการเข้ามาอยู่อาศัย ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์นับเป็นหมื่นปีมาแล้ว

ปริมาณความหนาแน่นของมนุษย์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณแถบนี้ ปรากฏให้เห็นว่ามีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณ 3-4 พันปีเป็นต้นมา โดยมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ และอยู่ต่อๆ กันมาในสมัยที่รู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยโลหะเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน

มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณปลายแม่น้ำแควน้อยเหล่านี้มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีการติดต่อกับมนุษย์ในที่อื่นๆ ห่างไกลออกไป

ที่ใกล้ที่สุดคือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกลอง ของจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี บริเวณที่พบร่องรอยของชุมชนที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ในสมัยประวัติศาสตร์ และมีหลักฐานการติดต่อกับดินแดนอื่นที่อยู่ไกลโพ้นทะเลออกไป

เมื่อเป็นเช่นนี้บริเวณปลายแม่น้ำแควน้อยที่กล่าวถึง จึงเป็นสถานที่ที่มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมืองที่สำคัญในสมัยต่อๆ มาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระยะเวลาล่วงเลยเข้ามาสู่สมัยหลังมากๆ อย่างน้อยก็ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่หลักฐานลายลักษณ์อักษรได้ระบุอย่างชัดเจน ถึงการเป็นเส้นทางการติดต่อระหว่างดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย กับดินแดนประเทศพม่าภาคใต้ตามที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เส้นทางผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์

สภาพโดยทั่วไปของ “เมืองสิงห์” และ “ปราสาทเมืองสิงห์”

ความสำคัญของภูมิภาคแถบนี้ ในช่วงระยะเวลาสมัยประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานให้เห็นเป็นครั้งแรกคือ โบราณสถานที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปราสาทเมืองสิงห์ ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่เรียว่า เมืองสิงห์ ในเขตการปกครองท้องที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี อันมีบริเวณที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบระหว่างภูเขาที่มีปริมาณพื้นที่ราบยังกว้างอยู่ ก่อนที่จะมีพื้นที่ราบที่แคบลงจนกลายเป็นพื้นที่ภูเขาของต้นแม่น้ำแควน้อย ตามเส้นทางคมนาคมสมัยโบราณที่รู้จักกันในสมัยหลังว่า เส้นทางผ่านด้านพระเจดีย์สามองค์

สภาพโดยทั่วไปของเมืองสิงห์ ประกอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นกำแพงชั้นในสุด มีแผนผังเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างยาวประมาณ 810 x 1,000 เมตร โดยมีด้านยาวเป็นด้านทิศเหนือ ส่วนด้านใต้นั้นกำแพงศิลาแลงจะมีแนวคดโค้งไปตามลำน้ำแควน้อย อีกสามด้านเป็นแนวเส้นตรง

กำแพงที่มีแนวเส้นตรงทั้งสามด้านนี้ จะมีแนวกำแพงดินและคูเมืองชั้นนอกออกไปอีกด้านละ 7 ชั้น ขนานไปกับกำแพงศิลาแลงชั้นใน ซึ่งปัจจุบันกำแพงดินบางส่วนถูกทำลายไปบ้างแล้ว

ตรงเกือบกลางเมือง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกลางเมืองก็ได้จากการสังเกตด้วยตาจะเป็นที่ตั้งของศาสนสถานโบราณที่สำคัญ อันเป็นที่รู้จักโดบทั่วไปว่า ปราสาทเมืองสิงห์

องค์ประกอบโดยทั่วไปประกอบด้วยกำแพงศิลาแลงทั้งสี่ด้าน มีซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า ส่วนนี้เรียกว่ากำแพงแก้วซึ่งเหลือเพียงร่องรอยให้เห็นเท่านั้น

ผ่านตำแหน่งที่เป็นร่องรอยของซุ้มประตูเข้าไป เป็นระเบียงคดเชื่อมประตูทั้ง 4 ด้าน มีปรางค์ประธานอยู่ภายในตรงกลางที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ภายในบริเวณระเบียงคด เป็นฐานอาคารซึ่งตามสถาปัตยกรรมขอมจะเป็นตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย ทั้งหมดก่อสร้างด้วยศิลาแลง

บริเวณพื้นภายในระเบียงคด มีการถมระดับลานภายในสูงขึ้น จนถมฐานของระเบียงคดและปรางค์ประธานให้จมอยู่ใต้ดิน (โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ ได้ให้หมายเลขโบราณสถานแห่งนี้เป็นโบราณสถานหมายเลข 1)

ลักษณะแผนผังและรูปแบบการก่อสร้างที่เป็นปรางค์ เป็นลักษณะของศาสนสถานขอมอย่างไม่มีปัญหา

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดคือการย่อมุม ซึ่งไม่เป็นแบบมาตรฐานเหมือนศาสนสถานขอมในประเทศกัมพูชา หรือแม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ของประเทศไทย

ลักษณะของลวดลายปูนปั้นประดับ ซึ่งตกอยู่ให้เห็นโดยทั่วไปแสดงลักษณะพื้นเมืองอย่างชัดเจน คล้ายกับรูปแบบของประติมากรรมในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งพบตามเมืองใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มอยู่ต่ำไปอีกระดับหนึ่งจากพื้นที่ราบของปลายแม่น้ำแควน้อยอันเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์นั้น

แสดงให้เห็นว่า ศาสนสถานแห่งนี้สร้างโดยคนพื้นเมืองซึ่งพยายามเลียนแบบการสร้างศาสนสถานขอม

โบราณสถานหมายเลข 2 คือกลุ่มศาสนสถานสร้างด้วยศิลาแลงที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข 1 หรือปราสาทเมืองสิงห์

แต่เดิมโบราณสถานแห่งนี้เป็นเนินดินขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่ เมื่อมีการลอกดินออกจนหมด จึงพบร่องรอยของศาสนสถานศิลาแลง มีแผนผังประกอบด้วยปรางค์ประธานอยู่กลางมีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน เชื่อมด้วยระเบียงคดที่ปรากฏชัดเพียงด้านทิศตะวันตก ด้านทิศเหนือและทิศใต้เพียงครึ่งเดียว เพราะส่วนที่ควรจะเป็นระเบียงคดต่อจากซุ้มประตูด้านทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อเป็นแนวมาเชื่อมกับซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกนั้น เหลือร่องรอยเพียงเล็กน้อยเป็นแนวเพียงพื้นฐานเท่านั้น โดยมีแท่นประติมากรรมตั้งเรียงรายเป็นระยะ ในขณะที่ลอกดินออกได้พบว่าลักษณะทิศทางการตั้งของแท่นประติมากรรมเหล่านี้

แสดงว่าแท่นฐานเหล่านี้ยังคงตั้งอยู่ในลักษณะเดิมที่มิได้เคยถูกเคลื่อนย้ายมาก่อน

แผนผังของปรางค์ประธานและซุ้มประตูของโบราณสถานหมายเลข 2 นี้ แสดงอย่างชัดเจนถึงความไม่สันทัด หรือไม่คุ้นเคยกับการสร้างศาสนสถานประเภทนี้ ซึ่งอาจสังเกตได้จากการบิดเบี้ยวของแผนผัง รวมทั้งแนวระเบียงคดซึ่งเหลือร่องรอยเพียงฐานนั้นแสดงถึงการ “สร้างไม่เสร็จ” ซึ่งอาจถึงขั้นความล้มเหลวในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้

ในบริเวณเมืองสิงห์ นอกจากปราสาทเมืองสิงห์ซึ่งจัดเป็นโบราณสถานหมายเลข 1 กับศาสนสถานอยู่ติดกันที่ให้เป็นโบราณสถานหมายเลข 2 แล้ว ยังมีโบราณสถานอีก 2 หมายเลข คือหมายเลข 3 และ 4 อยู่ถัดจากปราสาทเมืองสิงห์ไปทางทิศใต้ใกล้กับกำแพงเมืองด้านแม่น้ำแควน้อย

โบราณสถานหมายเลข 3 เนื่องจากชำรุดมากไม่อาจทราบว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทใด

โบราณสถานหมายเลข 4 ก็ชำรุดมากเช่นกัน แต่ก็พอเห็นแผนผังเหมือนเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งเรียงชิดกัน 4 ห้อง ยังไม่อาจทราบหน้าที่ของโบราณสถานที่มีแผนผังเช่นนี้ได้อย่างแน่นอน

กล่าวโดยสรุป ลักษณะโดยทั่วไปของเมืองสิงห์ ซึ่งประกอบด้วยกำแพงและคูน้ำหลายชั้นล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีศาสนสถานคือตัวปราสาทเมืองสิงห์เป็นศูนย์กลางของตัวเมืองนั้น เป็นรูปแบบของเมืองที่เรียกว่า “ปุระ” หรือ “เมืองทางศาสนา” ซึ่งในสมัยโบราณระยะหนึ่งนิยมใช้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระดับเมือง อันเป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมขอมแห่งประเทศกัมพูชา ที่จำลองแบบของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยทวีปและมหาสมุทรต่างๆ ซึ่งแสดงออกโดยกำแพง และคูเมืองหลายๆ ชั้น

อายุสมัยการก่อสร้าง

แต่เดิมความสนใจของนักวิชาการอยู่ที่ตัวปราสาทเมืองสิงห์ หรือโบราณสถานหมายเลข 1 แต่การศึกษายังไม่สามารถทำได้โดยละเอียด เพราะมีต้นไม้ขึ้นครื้มรก ไม่สามารถเห็นสภาพของโบราณสถานได้อย่างชัดเจน

นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ผ่านมา ได้กำหนดอายุของปราสาทเมืองสิงห์ จากประติมากรรมรูปเคารพทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งพบโดยทั่วไปในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้ โดยเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม ซึ่งเป็นศิลปกรรมขอมกับประติมากรรมขอมที่พบในประเทศกัมพูชา ซึ่งได้มีการศึกษารูปแบบกำหนดอายุไว้แล้ว ปรากฏว่าเป็นประติมากรรมในศิลปะขอมแบบบายน มีอายุการก่อสร้างประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับสมัยการครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา

ปัจจุบัน เมื่อมีการขุดแต่งและปรับปรุงบริเวณทำให้สามารถเห็นร่องรอยของโบราณสถานแห่งนี้อย่างชัดเจน ก็ปรากฏว่าทั้งแผนผังและรูปแบบโดยส่วนรวม สามารถที่จะเปรียบเทียบได้กับสถาปัตยกรรมขอมแบบบายน เช่นเดียวกับการเปรียบเทียบประติมากรรมรูปเคารพ

การเปรียบเทียบทางสถาปัตยกรรมนี้ หมายรวมถึงโบราณสถานหมายเลข 2 ด้วยว่าได้รับการก่อสร้างในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้เมืองสิงห์ทางด้านกายภาพ คือกำแพงเมืองคูเมืองหลายๆ ชั้นนั้น จึงเป็นสิ่งก่อสร้างร่วมสมัยกับตัวศาสนสถานด้วย เพราะเป็นองค์ประกอบจากแนวคิดเนื่องในคติความเชื่อว่าเป็นขอบของจักรวาลดังกล่าวแล้ว

ในการขุดค้นตรวจสอบบริเวณกำแพงเมืองที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางตำแหน่ง ยังไม่มีหลักฐานที่จะให้ข้อมูลแตกต่างไปจากนี้

จากการศึกษาโดยการเปรียบเทียบแบบทางสถาปัตยกรรม และประติมากรรมกับศิลปะขอมแบบบายน ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความสอดคล้องกันนั้น ที่จริงแล้วยังมีปัญหาอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ

ในขณะที่ประติมากรรมรูปเคารพบางรูป โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี แสดงให้เห็นถึงการเป็นงานประติมากรรมขอมแบบบายนอย่างชัดเจน คือสร้างโดยประติมากรขอมแห่งกัมพูชาในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่งานทางสถาปัตยกรรม คือตัวศาสนสถานหรือที่เรียกว่าปราสาทรวมทั้งลวดลายปูนปั้นประดับ ถึงแม้ว่าจะแสดงให้เห็นถึงการพยายามลอกเลียนสถาปัตยกรรมขอมแบบบายนก็ตาม ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความไม่สันทัดของช่างพื้นเมืองต่องานสถาปัตยกรรมแบบนี้

โดยเฉพาะโบราณสถานหมายเลข 2 เมื่อพิจารณาจากแผนผังจะเห็นว่า ความไม่สันทัดจัดเจนในสถาปัตยกรรมแบบนี้จะมีอยู่ในงานช่างทุกระดับ ตั้งแต่ช่างก่อสร้างที่ไม่สามารถทำให้เกิดการสมดุลในปรางค์แต่ละองค์ ทั้งปรางค์ประธานและซุ้มประตู จนต้องมีการแก้ไขโดยการพอกปูนปรับรูปทรงขององค์ปรางค์ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้หมดดังจะเห็นจากการย่อมุมไม่เท่ากันแต่ละมุม

ช่องประตูของปรางค์แต่ละองค์ไม่ตรงกันทั้ง 4 ประตู

การควบคุมงานที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้การวางตำแหน่งของปรางค์ประธานและซุ้มประตูทั้ง 4 ซุ้ม คลาดเคลื่อนไปจากแนวแกนร่วม ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะไม่ปรากฏในงานสถาปัตยกรรมขอมแท้ๆ ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่กว่านี้หลายเท่า เช่น ปราสาทหินพิมาย หรือปราสาทนครวัด

ที่โบราณสถานหมายเลข 2 นี้เอง ได้พบตัวจารึกบนฐานประติมากรรมศิลา ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์อุไรศรี วรศริน แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อ่านและให้ความเห็นว่า เป็นอักษรและภาษาเขมรในสมัยหลังเมืองพระนคร อ่านว่า “พรญา”

จากหลักฐานเหล่านี้ประกอบกัน ทำให้มีการพิจารณาในแนวคิดใหม่ว่า โบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ ไม่น่าจะเป็นของร่วมสมัยกับศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่น่าจะเป็นการก่อสร้างที่เลียนแบบปราสาทขอมสมัยหลังจากนั้น เมื่ออาณาจักรขอมได้เสื่อมลงอย่างสุดขีดหลังจากสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 19) เนื่องจากการแตกแยกภายในราชวงศ์ขอม การทรุดโทรมทางเศรษฐกิจ และภัยรุกรานจากภายนอกอาณาจักรขอม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นศูนย์แห่งจักรวาลของภูมิภาคนี้ได้เสื่อมสลายลง จึงเกิดการเกาะกลุ่มรวมตัวกันใหม่ระหว่างบ้านเมืองในภูมิภาคนี้เป็นแว่นแคว้นต่างๆ

ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแข่งขันกันสร้างสมอำนาจชอบธรรมของบ้านเมืองเหล่านี้ขึ้นแทนที่ศูนย์เดิมแห่งอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งบางแห่งได้พยายามนำคติทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยานเข้ามาสร้างเสริม ดังจะเห็นได้จากความพยายามของแคว้นสุโขทัยเมื่อตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท และกรุงศรีอยุธยาที่พยายามสืบทอดคติเก่าบางอย่างจากอาณาจักรขอมกัมพูชา โดยนำมาผสมผสานกลมกลืนกับคติใหม่ทางพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน

ในที่สุดเราก็ได้พบว่ากรุงศรีอยุธยาจะพบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ในการสร้างอำนาจชอบธรรมขึ้นให้แก่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา

จากแนวคิดเช่นนี้ จึงอาจที่จะกำหนดอายุการก่อสร้างของเมืองสิงห์และศาสนสถานภายในเมืองได้อีกอย่างหนึ่งว่า ควรจะได้รับการก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เมื่อภายหลังอำนาจแห่งอาณาจักรขอมกัมพูชาได้เสื่อมสลายลง ในช่วงเวลาแห่งการแข่งขันกันสร้างสมอำนาจชอบธรรมของบ้านเมืองต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งต่างก็มองรูปแบบของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีตและนำมาลอกเลียนเป็นแบบอย่าง

ดังจะพบเห็นได้ในบรรดาสถาปัตยกรรมขอมที่สร้างด้วยฝีมือคนพื้นเมืองตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปรางค์วัดมหาธาตุที่ราชบุรี วัดกำแพงแลงที่เพชรบุรี ปรางค์วัดมหาธาตุที่ลพบุรี ปรางค์วัดพระพายหลวงที่สุโขทัย ก่อนสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท หรือแม้แต่ปราสาทหินศิลาแลงบางหลังในจังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม ที่ดูคล้ายกับปรางค์ขอม แต่สร้างด้วยฝีมือของคนพื้นเมือง ซึ่งบางครั้งก็สร้างด้วยฝีมือที่ไม่สันทัดอย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นโบราณสถานหมายเลข 2 ที่เมืองสิงห์ ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการก่อสร้าง จนต้องหันมาทำใหม่เป็นโบราณสถานหมายเลข 1 หรือ “ปราสาทเมืองสิงห์” ซึ่งทำให้ดูดีขึ้น

ส่วนประติมากรรมรูปเคารพที่เป็นฝีมือช่างขอมแท้ที่พบที่เมืองสิงห์หรือที่อื่นๆ นั้น เนื่องจากเป็นโบราณวัตถุที่เคลื่อนย้ายได้ จึงน่าจะเป็นของที่นำมาจากประเทศกัมพูชา หรือตามเมืองใหญ่ที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลขอมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายหลังจากที่อาณาจักรขอมได้เสื่อมสลายลง ซึ่งอาจจะเป็นการนำมาโดยนักบวชขอมเอง ที่กระจัดกระจายออกมาจากศูนย์กลางเดิมและเข้ามารวมกับราชสำนักใหม่ตามแคว้นต่างๆ ที่ยังมองอดีตอันรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมกัมพูชาเป็นแบบอย่าง จนกระทั่งอาณาจักรขอมกัมพูชาได้สิ้นสุดลงอย่างแท้จริง เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้ยึดเมืองพระนคร (เมืองหลวงของอาณาจักรขอมกัมพูชาเมื่อสมัยตอนต้นของกรุงศรีอยุธยา) รูปเคารพเหล่านี้ก็ได้ถูกขนย้ายออกจากอาณาจักรของกัมพูชาอย่างมากมาย ดังที่ได้มีการกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ

ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นคำอธิบายได้ดี ถึงหลักฐานที่เป็นประติมากรรมรูปเคารพขอมที่มาปรากฏอยู่ตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย

ประเด็นทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปราสาทเมืองสิงห์

ที่ประเทศกัมพูชา มีศิลาจารึกหลักหนึ่งพบที่ปราสาทพระขรรค์ ศาสนสถานแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงสร้างขึ้น ศิลาจารึกหลักนี้ทำขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมาร พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ข้อความในจารึกเป็นการสรรเสริญการกล่าวถึงอำนาจความกล้าหาญและการบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ส่วนที่สำคัญที่ทำให้คิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และบริเวณใกล้เคียงอยู่ที่บทที่ 115-121 ซึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ 23 แห่งว่าเป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

โดยเฉพาะบทที่ 116-117 มีชื่อเมือง 6 เมือง ซึ่งกล่าวว่าเป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถนั้น คือละโว้ทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงหบุรี และชัยวัชรบุรี

เมืองทั้ง 6 นี้ เชื่อกันแต่เดิมว่า อยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย

ละโว้ทยะปุระ คือ เมืองละโว้หรือลพบุรี

สุวรรณปุระ คือ เมืองสุพรรณบุรี

ศัมพูกะปัฏฏนะ ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่ก็ปรากฏชื่อนี้บนพระพุทธรูปหินแบบทวารวดี ว่า “ศามพูก” ซึ่งพบที่เมืองลพบุรี

ชัยราชบุรี คือ เมืองราชบุรี

ศรีชัยสิงห์บุรี คือ เมืองสิงห์อันเป็นที่ตั้งปราสาทเมืองสิงห์ที่กล่าวถึงอยู่นี้ และ

ชัยวัชรบุรี คือ เมืองเพชรบุรี

ยกเว้นเมืองศัมพูกะปัฏฏนะแล้ว ได้พบสถาปัตยกรรมเลียนแบบศิลปะขอมแบบบายนด้วยทุกแห่ง กล่าวคือเมืองลพบุรีมีปรางค์สามยอด ปรางค์วัดมหาธาตุ ฯลฯ เมืองสุพรรณบุรีคาดว่าจะเป็นซากโบราณสถานที่พบที่อำเภอสามชุก ที่ราชบุรีมีพระปรางค์ วัดมหาธาตุราชบุรี ที่เมืองสิงห์มีปราสาทเมืองสิงห์ และเมืองเพชรบุรีมีปราสาทวัดกำแพงแลง

จากหลักฐาน 2 อย่างประกอบกัน คือ ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ และโบราณสถานเลียนแบบศิลปะขอมแบบบายนที่พบตามที่ต่างๆ ซึ่งมีนามสอดคล้องกับชื่อเมืองในศิลาจารึกเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแปลความหมายทางประวัติศาสตร์แต่เดิมว่า ขอมกัมพูชาโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่อำนาจทางการเมืองมาครอบคลุมถึงดินแดนภาคกลางของประเทศไทย

อย่างไรก็ดียังมีแนวคิดที่แตกต่างไปจากข้อสมมติฐานข้างต้นเกี่ยวกับอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับตั้งแต่การอธิบาย อำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามแนวคิดข้างต้นนั้น น่าจะไม่สามารถอธิบายสภาวะทางการเมืองที่แท้จริงของบ้านเมืองในดินแดนแถบนี้ได้

หลักฐานที่สำคัญยังไม่อาจนำมาแสดงได้อย่างชัดเจน คือพระชัยพุทธมหานาถ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถค้นพบตามเมืองต่างๆ ที่กล่าวนาม เพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่าพระพุทธรูปที่กล่าวนี้จะต้องมีพุทธลักษณะเป็นเช่นไร

นอกจากนี้ ยังได้พบหลักฐานที่ปราสาทบายน ประเทศกัมพูชาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ชัดเจนว่าจะหมายความว่าอย่างไรแน่ คือที่ระเบียงคดของปราสาทบายนสองตำแหน่ง ได้พบคำจารึกบนผนังระเบียงคดแห่งหนึ่งว่า ตรงนั้นเป็นที่ไว้พระชัยพุทธมหานาถแห่งเมืองศรีชัยวัชรปุระ (เพชรบุรี) และบนผนังระเบียงคดอีกแห่งหนึ่งจารึกไว้ว่าตรงนั้นเป็นที่ไว้พระชัยพุทธมหานาถแห่งเมืองศรีชัยราชบุรี (ราชบุรี) ฯลฯ

โดยเฉพาะที่เมืองสิงห์ การศึกษาจากเอกสารลายลักษณ์อักษรพบว่า คำว่าเมืองสิงห์นี้เพิ่งมีปรากฏขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์ในทำเนียบศักดินาหัวเมือง คงมีแต่ชื่อเมืองศรีสวัสดิ์ เมืองปากแพรก (กาญจนบุรี) และเมืองไทรโยค รวม 3 เมืองที่อยู่ในละแวกเดียวกัน คงมีแต่ประวัติคำบอกเล่าที่เป็นปรัมปราคติเกี่ยวข้องกับท้าวอู่ทอง ผู้ทรงหนีภัยจากท้าวเวสสุวรรณโณ ไปเที่ยวสร้างเมืองหลบซ่อนตามที่ต่างๆ แถบนั้น เช่น เมืองกลอนโด่ เมืองครุฑ และเมืองสิงห์ ซึ่งคำบอกเล่าประเภทนี้ หากจะถือข้อเท็จจริงตามสาระเนื้อหา ก็จะแสดงให้เห็นได้เพียงการไม่มีความต่อเนื่องระหว่างผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวปรัมปรากับโบราณสถานแห่งนั้นๆ ชื่อเมืองที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นการตั้งขึ้นตามประสบการณ์ของผู้เล่า ที่จะอธิบายประวัติความเป็นมาของโบราณสถานแห่งนั้นตามแนวคิดของตน (เรื่องท้าวอู่ทอง) กับปรากฏการณ์ที่โบราณสถานนั้น เช่น ชื่อเมืองกลอนโด่ ก็เพราะสภาพโบราณสถานเหลือเพียงซากซึ่งผู้เล่าเห็นว่าเป็นกลอนประตูทิ้งอยู่ เมืองครุฑและเมืองสิงห์ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้เล่า ที่พบรูปครุฑและรูปสิงห์ถูกตั้งร้างอยู่ที่โบราณสถานแห่งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรจะเป็นชื่อที่เรียกขึ้นมาใหม่ มิใช่ชื่อดั้งเดิมซึ่งสืบทอดมาแต่สมัยโบราณที่เรียกว่า ศรีชัยสิงห์บุรี ดังปรากฎอยู่ในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์แต่อย่างใด นั่นคือ เมืองสิงห์ที่กล่าวถึงนี้มิใช่และไม่เกี่ยวข้องกันเลยทางประวัติศาสตร์กับเมืองศรีชัยสิงห์บุรี

แม้ว่าเรื่องของเมืองสิงห์จะมีแนวคิดทางประวัติศาสตร์แตกต่างกันออกเป็นสองแนว แต่ก็พอจะสรุปให้ทราบถึงอายุความเก่าแก่ของโบราณสถานแห่งนี้ไม่ต่างกันมากนัก กล่าวคือ เมืองสิงห์และซากศาสนสถานต่างๆ ภายในเมืองได้มีการก่อสร้างร่วมสมัยเดียวกัน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นเมืองที่สร้างขึ้นตามคติแบบขอมที่นิยมเอาศาสนสถานไว้กลางเมือง นับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองปากทางเข้าสู่เส้นทางที่จะติดต่อไปยังดินแดนในประเทศพม่าตอนใต้แถบบริเวณอ่าวเมาะตะมะ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์

และเนื่องจากสถานที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ ดังนั้นในระยะหลังเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างดินแดนต่างๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในยุทธวิธีการรบ การวิเคราะห์ในการจัดตั้งเมืองทางยุทธศาสตร์จึงเปลี่ยนไปด้วย ทำให้เกิดมีเมืองทางยุทธศาสตร์ในเส้นทางสายนี้ขึ้นใหม่ ดังเช่น เมืองไทรโยคทางเส้นทางแควน้อย เมืองศรีสวัสดิ์ทางเส้นทางแควใหญ่ โดยมีเมืองใหญ่กำกับอีกเมืองหนึ่ง ณ ที่ที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกันคือเมืองปากแพรกหรือกาญจนบุรีเก่า

จากจุดนี้เองที่น่าจะทำให้ เมืองสิงห์ ได้หมดความสำคัญ หรือหมดสภาพของฐานะการเป็นเมืองลงไป ศาสนสถานต่างๆ ภายในตัวเมืองจึงถูกปล่อยทิ้งร้างลงไปด้วย

จากแนวคิดใหม่ที่เสนอในเรื่องการกำหนดอายุ แม้จะเป็นการกำหนดอายุให้เมืองสิงห์ไม่เก่าเท่าการกำหนดอายุตามแนวคิดเดิม คือ จะมีอายุใหม่ขึ้นประมาณ 50 ปี แต่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และเพิ่มคุณค่าให้แก่ประวัติศาสตร์ของเมืองสิงห์ เพราะเวลาในช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในภูมิภาคแถบนี้

สำหรับประเทศไทย ช่วงระยะเวลานี้มีความหมายต่อการเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐ ที่มีการสืบเนื่องมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

ดังนั้น ความรู้ที่จะได้จากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุสถานแห่งนี้ จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคำอธิบายสำหรับประวัติศาสตร์ไทยได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2527 395 หน้า

ศรีศักร วัลลิโภดม. ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2524 104 หน้า

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. “ศิลาจารึก ปราสาทพระขรรค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ศิลปากร, ปีที่ 10, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2509). หน้า 52-59

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. “ปราสาทเมืองสิงห์” เมืองโบราณ, ปีที่ 4, ฉบับที่ 2 (เมษายน-กรกฎาคม 2526), หน้า 90-101, ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 (สิงหาคม-พฤศจิกายน 2506), หน้า 102-110.

สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. “ศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์”, หลักที่ 116 ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 4. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2513. หน้า 159-195.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์ ที่แควน้อย ไม่ใช่ ‘ขอม’ (เขมร)” เขียนโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2530


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2565