เปิดบันทึก ศ.ปรีชา นักโบราณคดีบุกป่าฝ่ามาลาเรีย ล่า(ขุด)หามนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่กาญจนบุรี

ศ.ปรีชา กาญจนาคม (ภาพจาก มติชนออนไลน์) ด้านหลังเป็นภาพหลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก (เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2544)

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เว็บไซต์มติชนรายงานว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา กาญจนาคม อดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘โบราณคดีเบื้องต้น’ และ ‘โบราณคดีปฏิบัติ’ เสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ย้อนไปเมื่อปี 2544 ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา กาญจนาคม เขียนบทความชื่อ “ขุดอดีต ที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี” บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานที่แหล่งขุดค้น “บ้านเก่า” จ.กาญจนบุรี ทำงานกับชาวต่างชาติและคนท้องถิ่น มีเกร็ดข้อมูลหลายประการที่น่าสนใจ เป็นสิ่งบ่งบอกและสะท้อนสภาพสังคมและการทำงานโบราณคดีในยุคนั้นได้อย่างดี

ขอแสดงความเสียใจและอาลัยยิ่งต่อการสูญเสียครั้งนี้…เนื้อหาในบทความมีดังนี้


ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2505 ผมได้รับคำสั่งให้ไปร่วมงานขุดค้นกับคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์กที่บ้านเก่า คณะสำรวจดังกล่าวมีท่านอาจารย์ชิน อยู่ดี เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย และ ดร. ไอกิล นิลเซ่น (Dr.Eigil Nielsen) เป็นหัวหน้าฝ่ายเดนมาร์ก

เอาละซี ไปบ้านเก่าจะไปยังไง รู้แต่เพียงว่า บ้านเก่าเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งในตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น หลังจากได้รับคำสั่งก็นั่งงงอยู่พักหนึ่ง เพราะมีเวลาเตรียมตัวแค่วันเดียว นึกขึ้นได้ว่าต้องไปถามท่านอาจารย์ชินถึงเส้นทางที่จะไป

ท่านบอกว่า “ต้องขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยหรือสถานีรถไฟธนบุรี รถไฟจะออกราว 8 โมงเช้า เตรียมมุ่งไปด้วยนะ เพราะมาลาเรียชุม อ้อ ที่บ้านเก่ามีนายเปีย โซเร็นเซ่น (Mr.Per Sorensen) เป็นผู้ควบคุมการขุดค้น”

ผมได้ข้อมูลมาเท่านี้ แต่ใจอยากจะรู้มากกว่านั้นอีก ผมจึงนั่งเรือข้ามฟากไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย ถามเจ้าหน้าที่รถไฟถึงการไปที่บ้านเก่าเพิ่มเติม ก็ได้รับความกระจ่างมากขึ้น มีคนบอกว่าไปป่าต้องกินยาป้องกันไข้มาลาเรีย ผมก็ไปที่บางลำพูซื้อยามา 50 เม็ดจากหมอตี๋ ซึ่งแนะนำว่าให้กิน 2 เม็ดก่อนเดินทาง 1 วันและเมื่ออยู่ป่าให้กินวันละ 1 เม็ดก่อนนอน

ผมกลับบ้านพร้อมจดหมายแนะนำตัวที่จะต้องนำไปมอบให้นายเปีย จัดเตรียมเสื้อผ้า มุ้ง ไฟฉาย รองเท้าแตะ ยาแก้ปวดหัวปวดท้อง และของจำเป็นอีกเล็กน้อยใส่กระเป๋าเดินทางใบเล็กใบหนึ่ง

เดินทางด้วยรถไฟ

วันรุ่งขึ้นตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า ทำธุระส่วนตัวเสร็จก็นั่งรถเมล์มาลงที่ท่าพระจันทร์ นั่งเรือข้ามฟากไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เข้าแถวซื้อตั๋วรถไฟสายธนบุรี-น้ำตก ไปลงที่สถานีรถไฟบ้านเก่า จำได้ว่าค่ารถไฟ 8 บาท

รถไฟสายธนบุรี-น้ำตกมีอยู่ประมาณ 12 ตู้ เป็นผู้สําหรับ คนนั่งชั้น 3 จํานวน 2 โบกี้ เก้าอี้นั่งเป็นไม้ นอกนั้นเป็นตู้บรรทุกสินค้า หัวรถจักรเป็นแบบใช้ไอน้ำ มีคนคอยเต็มฟื้นเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำ

7 โมง 40 เสียงระฆังที่แก๊ง ๆ แก๊ง ๆ นายสถานีรถ ไฟยกธงเชียว รถไฟเปิดหวูดเสียงดังลั่น 2 ครั้ง แล้วก็ค่อยๆ กระดิกกระเดี้ยออกจากสถานีธนบุรี โบกี้สําหรับคนนั่ง 2 โบกี้นั้น มีคนโดยสารบางตาราว 30
คนได้ รถไฟแล่นมาเรื่อย ๆ ด้วยความเร็วไม่มากนัก หยุดตามสถานีรายทางทุกสถานี ได้แก่ บางระมาด บ้านฉิมพลี ศาลาธรรมสพน์ ศาลายา วัดสุวรรณ คลองมหาสวัสดิ์ วัดงิ้วราย นครชัยศรี ท่าแฉลบ ต้นสําโรง ซึ่งเป็นสถานีเล็ก รถไฟจะหยุดนานบ้าง ไม่นานบ้าง แล้วแต่จะมีสินค้าขึ้นลงมากหรือน้อย ส่วนคนโดยสารก็มีขึ้นและลงบ้าง

จากสถานีต้นสําโรงก็ถึงสถานีนครปฐมราว 9 โมงกว่า สถานีนครปฐมเป็นสถานีใหญ่ รถไฟจึงหยุดนานราว 30 นาที เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าขนสินค้าขึ้นลงได้โดยสะดวก ที่สถานีมีคนโดยสารที่นั่งมาจากกรุงเทพฯ และที่ขึ้นตามรายทางสงไปสิบกว่าคน สังเกตดูว่าเป็นคนมาทํางานที่นครปฐม แบบเช้ามาเย็นกลับ สองข้างทางรถไฟที่หยุดอยู่ มีแม่ค้าและเด็กชายหญิงมาขายของกินหลายอย่าง อาทิ ข้าวราดแกงใส่กระทงใบตองแห้ง อ้อย ควั่น ถั่วลิสงต้ม ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมถั่วแปบ ข้าวเกรียบ ว่าว โอยัวะ โอเลี้ยง และกาแฟเย็นใส่กระป๋องนมมีเชือกหิ้ว ผมและผู้โดยสารหลายคนต่างก็ซื้อหาอาหารเช้ากินกัน ตามที่ชอบ

เกือบ 10 โมงเช้า รถไฟก็ออกจากสถานีนครปฐม มุ่งสู่สถานีโพรงมะเดื่อ คลองบางตาล และชุมทางหนองปลาดุก ที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก รถไฟหยุดนานประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อเติมน้ำและขนฟื้นขึ้น
รถไฟออกจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก มุ่งสู่สถานีลูกแก ท่ามะกา ท่าเรือ บ้านหนองเสือ ท่าม่วง ทุ่งทอง เขาดิน กาญจนบุรี

ที่สถานีลูกแก ท่ามะกา ท่าเรือ และท่าม่วง รถไฟจะหยุดนาน เพื่อรับส่งสินค้าและผู้โดยสารขึ้นลง ช่วงที่รถไฟแล่นมานั้น ผู้โดยสารบางคนก็นั่งหลับบ้าง คุยกันบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์ หรือนั่งมองสองข้างทางรถไฟที่มีบ้านคนเป็นหย่อมๆ กับต้นไม้ที่เที่ยวแห้งและต้นมะม่วง ออกลูกเต็มต้นเป็นระยะๆ บางช่วงก็ต้องคอยหลบลูกไฟที่พ่นออกมาจากปล่องหัวรถจักรไอน้ำที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง

รถไฟแล่นเข้าหยุดที่สถานีกาญจนบุรีก็บ่ายโมงกว่าเข้าไปแล้ว สถานีกาญจนบุรี เป็นสถานีใหญ่สุดท้ายก่อนจะถึงสถานีปลายทาง รถไฟจึงหยุดเสียชั่วโมงกว่าเพื่อเพิ่มฟนเติมน้ำให้เต็มที่ เสียงพ่อค้าแม่ขายตะโกนโต้ตอบสั่งสินค้าขึ้นลงเป็นโกลาหล มีผู้โดยสารลงจากขบวนรถหลายคน แต่ที่ขึ้นจะมีมากกว่า จนที่นั่งเต็มต้องยืนทั้งสองโบกี้

การที่มีผู้โดยสารขึ้นมามากนั้น เป็นเพราะผู้โดยสารส่วนหนึ่งนั่งรถไฟจากสถานีปลายทางคือ สถานีน้ำตกและสถานีรายทางมากับขบวนรถเที่ยวกลับ คือ น้ำตก-ธนบุรี เข้ามาทําธุระและจับจ่ายสิ่งของในเมืองเมื่อตอนเช้าแล้วเดินทางกลับ กับคนที่เดินทางโดยรถยนต์โดยสารจากกรุงเทพฯ และตามรายทางมาขึ้นรถไฟ เพื่อไปทําธุระ ไปท่องเที่ยวและกลับบ้าน

สองข้างทางรถไฟมีของกินมาขายหลายอย่างเหมือนกับที่สถานีนครปฐมและชุมทางหนองปลาดุก ผมก็จัดการกับอาหารกลางวันที่มาขายตามความหิว เพราะต่อจากสถานีนี้ไปก็ไม่มีอาหารขายแล้ว
เมื่อยเต็มทีเพราะนั่งมานานตั้งแต่รถไฟออกจากสถานี ธนบุรี เลยลงไปเดินที่สถานีและซื้อหนังสือพิมพ์มาฉบับหนึ่ง

เดินเลยไปดูที่ตู้สินค้าที่จับกังกําลังขนสินค้าขึ้นลงอยู่เป็น พัลวันที่ตู้สินค้าตู้หนึ่ง แม่ค้าเช่าทําเป็นตลาดสดเคลื่อนที่ เปิดประตูทั้งสองข้างขายของประเภทเนื้อหมู เนื้อวัว ปลาดุก ปลาช่อน ปลาเค็ม ปลาทู ปูเค็ม กุ้งแห้ง กะปิ น้ำปลา น้ำตาล เกลือ พริก หอม กระเทียม ผักดองและผักสดต่างๆ ถ่าน ไฟฉาย ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะ ถั่วต้ม ยาทัมใจและของอย่างอื่นอีกหลายอย่าง

บ่ายสองโมงกว่า รถไฟก็แล่นออกจากสถานีกาญจนบุรีอย่างกระฉับกระเฉง รถไฟหยุตที่สถานีเขาปูน วังลาน วังเย็น วังตะเคียน บ้านโป่งเสี้ยว ตามสถานีที่ผ่านมา รถไฟจะหยุดไม่นานนักเพื่อขนสินค้า กับให้คนลงและชาวบ้านมาหาซื้อกับข้าวที่ตู้สินค้าคันดังกล่าว

รถไฟแล่นมาหยุดที่สถานีบ้านเก่าเอาเมื่อบ่ายสามโมงกว่า ทั้ง ๆ ที่ตามตารางเวลา รถไฟจะถึงสถานีบ้านเก่าเวลา 11.47 นาฬิกา คิดดูก็แล้วกันว่าเลยเวลาไปกี่ชั่วโมง ชาวบ้านเขาถึงเรียกรถไฟขบวนนี้ว่า “รถหวานเย็น”

สถานีรถไฟต่อจากบ้านเก่าไปก็ เป็นสถานีท่ากิเลน ลุ่มสุ่ม วังโพ และ สถานีน้ำตก อันเป็นสถานีปลายทาง ผมหิ้วกระเป๋าลงที่สถานีบ้านเก่า ยืนเก้ๆ กังๆ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนและจะไปอย่างไร คิดอยู่ในใจว่าจะมีคนมารับเรา หรือเปล่าหนอ

นึกขึ้นได้ว่าเรามานี่ก็ไม่ได้ติดต่อใครให้เขามารับ และก็ไม่รู้ว่าจะติดต่ออย่างไรด้วย ก็เลยเดินไปดูที่ตลาดสดเคลื่อนที่ เห็นชาวบ้านมาหาซื้อกับข้าวกันมากมาย ผมยืนดูเขาซื้อขายกับข้าวกันจนรถไฟออกก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน

สถานีรถไฟบ้านเก่าสร้างด้วยไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามุงกระเบื้อง กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 12 เมตร ส่วนหนึ่งเป็นที่ทํางานและขายตั๋ว อีกส่วนหนึ่ง เป็นที่พักคนโดยสาร มีม้านั่ง

ด้านหลังของสถานีรถไฟข้างหนึ่ง เป็นบ้านพักของนายสถานี อีกข้างหนึ่งเป็นเรือนแถวมี 3 ห้องเป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ระดับรองๆ ลงมา

หลังสถานีรถไฟเป็นทุ่งโล่งมองเห็นภูเขาอยู่ไกลลิบ ด้านหน้าสถานีมีห้องแถวไม้ชั้นเดียว 6 ห้อง หลังคามุงสังกะสี พื้นเป็นดิน ประตูทําด้วยไม้เป็นแผ่นๆ

ห้องแรกขายกาแฟ เหล้า และก๋วยเตี๋ยว ห้องที่สองขายของชําต่างๆ ห้องที่สามขายของใช้จิปาถะ เช่น ไฟฉาย ไม้ขีด รองเท้าแตะ มุ้ง ผ้าห่ม ยาทัมใจ ยาแก้ไอโยคี ยาธาตุน้ำแดง ยาหม่อง ยาแดง ทิงเจอร์ใส่แผล สําลี ยาแก้ปวด A.P.C. หนังสือพิมพ์รายวัน และหนังสือพิมพ์รายปักษ์

ห้องที่สี่ ห้าและหกเป็นที่อยู่อาศัย หน้าห้องแต่ละห้องมีแคร่ไม้ไผ่ตั้งอยู่ หลังห้องแถวดังกล่าวไกลออกไป มองเห็นบ้าน 2-3 หลัง ปลูกอยู่ในดงไม้

พบกับคณะ

รถไฟออกไปสักพัก ผมจึงเดินเข้าไปหานายสถานีที่กําลังม้วนธงสัญญาณสีเขียวเก็บ พร้อมทั้งแนะนําตัวเองว่าเราเป็นใครมาทําอะไรที่นี่

นายสถานีบอกว่ามีแม่ครัวของคณะสํารวจออกมาซื้อกับข้าวและมารับจดหมายของฝรั่งที่ส่งมากับรถไฟ นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟโน่น นายสถานีตะโกนเรียก “นวล นวล มานี่หน่อย”

คนชื่อนวลเดินเข้ามาหา นายสถานีแนะนํานวลให้รู้จักผม แล้วบอกว่า “อาจารย์จะมาทํางานกับฝรั่ง”
นวลยกมือไหว้ผม

หลังจากยืนคุยกันอีกสักพัก ผมและนวสก็ลานายสถานี เดินไปที่ร้านกาแฟ นวลสั่งโอเลี้ยงมาให้ผมแก้วหนึ่ง ผมดูดน้ำโอเลี้ยงทีเดียวหมดแก้วด้วยความกระหาย

นวลแนะนําเจ้าของร้านกาแฟและใครอีกหลายคนให้ผมรู้จัก รวมทั้งหมอเกษม และกัปตัน

หมอเกษมรูปร่างทะมัดทะแมง ผิวคล้ำสูงราวๆ ผมได้ เป็นผู้มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน เคยเป็นนายสิบเหล่าเสนารักษ์ จึงรู้เรื่องหยูกยาและการรักษาพยาบาล มีอาชีพทําไร่และซื้อขายพืชไร่ ขายยาและรับรักษาพยาบาลชาวบ้าน

กัปตันเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกทหารฝรั่งชาวฮอลันดา ผิวขาว ตัวเตี้ย ยศร้อยเอก กัปตันเป็นหนึ่งในทหารเชลยที่ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ ก็สายที่ผมนั่งมานี้แหละ เมื่อสงครามเลิกแกไม่ยอมกลับประเทศ เลยมีเมียเป็นสาวไทย มีลูกชายและลูกสาวอย่างละคน แกซื้อที่ทําไร่อยู่ที่บ้าน เก่านั่นเอง

ครอบครัวของกัปตันไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ทุกวันเวลาที่รถไฟจากกรุงเทพฯ หยุดที่สถานีบ้านเก่า แกจะแต่งตัวเรียบร้อย นุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน เสื้อเชิ้ตแขนยาวเอาชายเสื้อใส่ในกางเกง สวมถุงเท้าและรองเท้าผ้าใบผูกเชือก ยืนตัวตรงที่หน้าสถานีรถไฟเป็นประจํา

เมื่อรถไฟหยุดสนิทดีแล้ว แกจะเดินไปรับจดหมาย หนังสือพิมพ์และเอกสารต่างๆ ที่ส่งจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) ฝากมากับรถไฟขบวนนี้ทุกวัน บางวันก็มีขนมปังและอาหารส่งมาด้วย

นอกจากนั้นแต่ละเดือนแกก็จะได้รับเงินเดือนส่งเป็นธนาณัติจากสถานทูตเป็นประจํา สิ่งเหล่านั้นทําให้ผมชื่นชมรัฐบาลของเขามากที่ไม่ทอดทิ้งคนของเขา แม้จะอยู่แดนไกล และออกจากประจําการแล้ว

ผมหิ้วกระเป๋าเดินตามนวลและน้อยที่ช่วยกันหิ้วเข่งใส่กับข้าวกลับแคมป์ที่พัก

ระยะทางจากสถานีรถไฟถึงแคมป์ประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านบ้านเรือนชาวบ้าน 4-5 หลังแล้วก็เข้าเขตป่าที่ต้องเดินตามช่องทางที่ชาวบ้านใช้เดินกันเป็นประจํา

เดินพ้นบ้านหลังสุดท้ายไม่นานนักก็ถึงสะพานไม้ข้ามห้วย ขึ้นจากสะพานไม้ก็เป็นป่านุ่นที่ชาวบ้านปลูกไว้
จากป่านุ่นก็ต้องเดินลงห้วย ไต่จากห้วยขึ้นมาก็เป็นป่าไผ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เดินผ่านป่าไผ่อีกพักก็ถึงอีกห้วยหนึ่งที่ต้องเดินลงไปและไต่ขึ้นมา

พอพ้นลําห้วยขึ้นมาก็เป็นป่ายางลําต้นสูงใหญ่ที่ให้เงาร่มรื่น แต่ผมซีเหงื่อท่วมตัว อากาศก็ร้อนอบอ้าว กระเป๋าเสื้อผ้าใบเล็กที่หิ้วมาก็รู้สึกว่าหนักเหลือเกิน อยากจะโยนทิ้งเสียให้ได้

ผ่านป่ายางก็เข้าเขตป่ากล้วยที่ชาวบ้านปลูกไว้ ผ่านป่ากล้วยมาได้หน่อยหนึ่ง นวลและน้อยเดินเลี้ยวขวา เข้าไปในดงกล้วย ผมเลยหยุดเดิน เพราะคิดว่าเขาคงจะเข้าไปเก็บดอกไม้กันตามประสาผู้หญิง

นวลหยุดเดินหันมาบอกกับ ผมว่า “อาจารย์จวนจะถึงหลุมขุดแล้ว” และก็เดินนําผมเข้าไปในดงกล้วย ตอนนั้นเกือบบ่ายสี่โมงครึ่ง

เดินมาได้นิดเดียวก็ถึงบริเวณหลุมขุดค้นของคณะสํารวจที่เอาไม้ไผ่มาล้อมบริเวณขุดค้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวด้านละประมาณ 25 เมตร อยู่ติดห้วยแมงลัก

ด้านหนึ่งของรั้วเป็นที่ทํางาน โดยปลูกเป็นเพิ่งด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก มีผนัง 3 ด้าน ทําด้วยไม้ไผ่สับฟาก ด้านหน้าเปิดโล่ง มีโต๊ะเขียนหนังสือและม้านั่งทําด้วยไม้ไผ่สับฟากเหมือนกันอยู่ตรงกลาง ด้านหลัง ทําเป็นชั้น สําหรับวางของ ต่อจากที่ทํางานเป็นแคร่ ตากเศษภาชนะดินเผา ห่างจากด้านหลังที่ทํางานออกไปเล็กน้อย เป็นบ้านป้าแฉ่ง

นวลเดินไปหานายเปียซึ่งนั่งอยู่ที่ม้านั่งในเพิงแล้วพูดว่า “นายมีคนมาหา” นายเปียลุกขึ้นแล้วเดินมาเซย์ฮัลโหลจับมือกับผม ผมเอาจดหมายส่งตัวมอบให้นายเปีย

(นายเปีย โซเร็นเซ่น เป็นนักโบราณคดีชาวเดนมาร์ก เป็นหัวหน้าขุดค้นที่บ้านเก่า นายเปียเป็นฝรั่งเตี้ย สูงราว 950 เซนติเมตร รูปร่างท้วมขาว เป็นคนมีระเบียบ ท่าทางขี้เต๊ะ เชื่อในทฤษฎีที่ได้ค้นคว้ามาว่า แหล่งโบราณคดีที่บ้านเก่าเป็นสมัยหินใหม่ รับอิทธิพลวัฒนธรรมลุงชาน (Lung Shan Culture) จากจีน ไม่มีโลหะ แต่ตอนหลังก็หน้าแตกและต้องยอมรับความจริง)

เขารับไปเปิดอ่านจบแล้วพูดกับผมว่า “ยินดีต้อนรับที่จะมาทํางานด้วยกัน” แล้วก็เดินนําผมไปแนะนํากับคุณประพัฒน์ โยธาประเสริฐ ที่กําลังยืนวาดรูปโครงกระดูกอยู่ในหลุมขุดค้น

ผมยกมือไหว้คุณประพัฒน์ และพูดว่า “ผมขอมาร่วมทํางานด้วยคนครับ”

(คุณประพัฒน์เป็นรุ่นพี่จบจากจิตรกรรมฯ ส่วนผมจากโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งสองคน คุณประพัฒน์ทํางานที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร คุณประพัฒน์เป็นผู้ที่มีฝีมือในการวาดรูปดีมาก รูปวาดในหนังสือ Ban Kao ที่นายเปียเขียนเป็นฝีมือคุณประพัฒน์เกือบทั้งหมด น่าเสียดายที่คุณประพัฒน์ ถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี)

ต่อจากนั้นนายเปียก็พาผมไปแนะนําให้ผมรู้จักกับจ่าสนอง

จ่าสนองเป็นตํารวจที่ถูกส่งจากจังหวัดกาญจนบุรีให้มาอารักขาคณะขุดค้นที่บ้านเก่า

นายเปียเดินนําผมกลับไปที่เพิ่งสํานักงาน หยิบกระดาษ แผนผังหลุมขุดค้นขึ้นมาแล้วอธิบายถึงการวางผังหลุมขุดค้นให้ผมฟัง ผมรีบเอาสมุดดินสอมาจดตามที่นายเปียอธิบาย

ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มารู้ มาเห็นและมาร่วมทํางานขุดค้นกับนักโบราณคดีชาวต่างประเทศที่นําเอาแบบอย่างการขุดค้นตามหลักสากลมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก
หลุมขุดค้นที่บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ในระยะแรก

ณ ที่ทำงาน

ต่อจากนั้นก็พาเดินไปที่หลุมขุดค้น พาไปดูจุด Fix Point (จุดกําหนดตายตัวของแหล่งขุดค้น) ที่ตั้งกล้องส่องระดับ เพื่อวัดความลึกของโบราณวัตถุสําคัญและโครงกระดูกในหลุมขุดค้น

อธิบายถึงวิธีการขุดค้น การบันทึกประจําวัน การเขียน บัตรประจําโบราณวัตถุ การสังเกตร่องรอยในหลุมขุดค้น การล้าง การตาก การเก็บเศษภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุ ความแตกต่างของขวานหินขัดระหว่าง AXE กับ ADZE และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

แหล่งโบราณคดีนี้เรียกว่า Bang Site (แหล่งนายบาง) ตั้งชื่อ Site ตามชื่อของลุงบางซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อนุญาตให้ขุดค้น อยู่ใกล้หวยแมงลัก

นายเปียอธิบายเรื่องต่างๆ ดังกล่าวให้ผมฟังจนห้าโมงครึ่งกว่าจึงเลิก แล้วเดินกลับที่พักพร้อมกัน
เดินมาซัก 10 นาทีก็ถึงที่พัก

ที่พักปลูกอยู่ชายตงไผ่ริมแม่น้ำแควน้อย ปลูกเป็นกระต๊อบทําด้วยไม้ไผ่สับฟากทั้งพื้นเรือนและฝาผนัง หลังคามุงแฝก ใต้ถุนสูงพอคนเดินลอตได้ 4 หลังขนาด 4 x 5 เมตร ปลูกเป็น 2 แถวหันหน้าเข้าหากัน

เรือน 2 หลังแถวแรก เป็นเรือนที่ผมและคุณประพัฒน์พักหลังหนึ่ง ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นเรือนของจ่าสนองที่ปลูกเหมือนกัน คือมีฝา 3 ด้าน ด้านหน้าเปิดโล่ง ยกพื้นเป็น 2 ระดับ พื้นบนเป็นที่ตั้งเตียงนอน พื้นล่างเป็นที่นั่งเล่นมีราวไม้ไผ่กั้น มีบันไดขึ้นด้านข้าง

ส่วนเรือน 2 หลังอีกแถวหนึ่ง เป็นเรือนที่นายเปียพักอยู่กับเมียและลูกสาวอายุราว 2 ขวบหลังหนึ่ง ส่วนอีกหลังหนึ่งว่าง ทําเป็นเรือนรับรอง พื้นเรือนไม่ได้ยกระดับ ครึ่งหนึ่งของความยาวตัวเรือนกั้นเป็นห้อง ส่วนที่เหลือเป็นที่โล่ง มีบันไดทางขึ้นด้านข้างเช่นกัน

พื้นที่ตรงกลางระหว่างเรือน 2 แถวเป็นโต๊ะกินข้าวมีม้านั่ง 2 ข้าง ทําด้วยไม้ไผ่สับฟาก ด้านสกัดของแถวเรือนพักด้านหนึ่งปลูกเป็นโรงเก็บสัมภาระ ส่วนข้างหลังเป็นเรือนครัวและเป็นที่พักของแม่ครัว ห่างจากกลุ่มเรือนพักออกไปราว 90 เมตรเป็นส้วมหลุม

ก่อนจะแยกกันขึ้นเรือน นายเปียบอกผมว่า “เรากินข้าวพร้อมกันตอนทุ่มครึ่ง”

ผมหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นเรือนพัก บนเรือนมีเตียงผ้าใบ 2 เตียง เตียงหนึ่งมีมุ้งตลบอยู่ คงจะเป็นเตียงของคุณประพัฒน์ ส่วนอีกเตียงว่าง ผมจึงยึดเตียงนั้น ที่ระเบียงเรือนพัก คุณประพัฒน์นั่งพิงตุ่มน้ำใบย่อม ข้าง หน้ามีแม่โขง 1 ขวต แก้ว 2 ใบ และขันน้ำอะลูมิเนียมใบหนึ่ง

คุณประพัฒน์รินแม่โขงส่งให้ผมเกือบครึ่งแก้ว แล้วบอกให้ใช้น้ำตบตูด ผมก็ปฏิบัติตาม

ผมนั่งพิงราวไม้ไผ่ที่กันระเบียง เห็นพระอาทิตย์ลูกกลมโตสีแดงเหมือนสีแดงของไข่เต็มกําลังจะลับทิวเขา เป็นภาพที่สวยงามประทับตาประทับใจมาจนทุกวันนี้

ความอบอ้าวของอากาศเริ่มคลายลงบ้าง คุณประพัฒน์บอกให้ฟังว่า “มาทํางานที่นี่เมื่อกลางเดือน มกราคมแทนคุณอาภรณ์ ณ สงขลา ซึ่งกลับไปกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปต่างประเทศ มีกล้องโรไรเฟลกซ์ 1 ตัว ฟิล์ม 1 โหล เป็นของกรมศิลป์ แล้วบอกให้ผมเป็นคนถ่ายรูปให้ด้วยเพราะไม่มีเวลา”

ผมบอกคุณประพัฒน์ว่า “ผมถ่ายรูปไม่เป็น” คุณประพัฒน์ลุกขึ้นไปหยิบกล้องถ่ายรูปมาอธิบายให้ผมฟัง แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ลองดู เรานั่งคุยกันอีกพัก จนผมรู้สึกตัวร้อนวูบวาบเพราะแม่โขงกับน้ำตบตูด

คุณประพัฒน์บอกว่า “อยู่ป่าต้องกินไอ้นี่ มันกันมาลาเรีย ได้ดีกว่ายาป้องกัน” วิธีนี้น่าจะได้ผล เพราะก่อนหน้านี้อาจารย์จํารัส เกียรติก้อง ก็เคยบอกผมไว้อย่างนี้

เริ่มมืดแล้ว ผมเปลี่ยนเสื้อผ้า นุ่งผ้าขาวม้าถือขันและสบู่ ลงไปอาบน้ำพร้อมกับคุณประพัฒน์ ตรงที่เราอาบน้ำเป็นตลิ่งลาดยาวลงไปจดชายน้ำที่เป็นหาดทรายสีขาว บางตอนของแม่น้ำมีโขดหินโผล่พ้นน้ำที่ไหลเอื่อยๆ เพราะเป็นตอนหน้าแล้ง วางขันสบู่ลง ผมโดดลงไปในแม่น้ำ

คุณเอ๊ย น้ำเย็นเหมือนกับน้ำแช่น้ำแข็ง ขึ้นจากน้ำก็มาอวดกันต่ออีกนิด เพราะยังไม่ถึงเวลากินข้าว จ่าสนองขึ้นมาสมทบด้วย คุณประพัฒน์บอกว่า “ของที่เราดื่มกันอยู่นี่ถูกหลักอนามัยที่สุดเลย แม่โขงก็กลั่นมา น้ำตบตูดก็ต้ม” เออจริงแฮะ ผมนึกในใจ

ใกล้เวลากินข้าว แม่ครัว ก็ยกอาหารมาวางที่โต๊ะ ทุกคนลงมากินอาหารพร้อมกัน กับข้าวมื้อนั้นมี 3 อย่าง
แกงจืดผักกาดขาว ผัดถั่วฝักยาว เนื้อผัดใบกะเพรา แต่แม่ครัวตําน้ำพริกผักต้มเพิ่มเป็นพิเศษให้ผม นัยว่าเป็นการต้อนรับผู้มาใหม่ กินข้าวเสร็จก่อนจะลุกจากโต๊ะอาหาร นายเปียบอกถึงเวลาการทํางานว่า

“เข้าทํางาน 08.00 น. เลิกงาน 17.00 น. พักเที่ยง 1 ชั่วโมง พรุ่งนี้ให้ผมคุม Site (แหล่งโบราณคดี) แทนเขาและมากินข้าวกลางวันที่ที่พัก”

จากโต๊ะอาหารเราก็ขึ้นมาบนเรือน คุณประพัฒน์และจ่าสนองกรุณาบอกให้ผมทราบถึงเรื่องคนงานที่ทําการขุดค้นว่า มีคนงาน 30 คน อายุระหว่าง 20-50 ปี ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนจัดหาคนงานมาให้ มีอยู่ 5 คนที่เคยติดคุกมาแล้วในคดีลักขโมย ทําร้ายร่างกาย และฆ่าคนตาย

อากาศเริ่มเย็นลงพอสบาย คุยกันไปคุยกันมาก็งัดแม่โขงมาดวลกันต่อ คุณประพัฒน์บอกว่า “อากาศที่นี่กลางวันร้อน กลางคืนหลัง 4 ทุ่มไปแล้วจะหนาว ระวังจะไม่สบาย” ซัก 5 ทุ่มได้ จึงแยกย้ายกันเข้านอน

ทำงานที่แหล่งขุด

พวกเราตื่นนอนเกือบพร้อมกันราว 6 โมงเช้า ต่างก็นั่งรอคิวเข้าส้วมเพราะมีอยู่ที่เดียว บอกแล้วว่าเป็นส้วมหลุม ส้วมหลุมเป็นส้วมที่ขุดดินลึกลงไปราว 1 เมตร มีไม้พาดปากหลุม 2 แผ่นสําหรับนั่งยองๆ มีฝากั้น 3 ด้าน ด้านหน้าเป็นประตูเข้าออก หลังคามุงแฝก

เวลาเข้าส้วมของผมเป็นเวลาที่ทรมานที่สุด ต้องอดทนทั้งกลิ่นเก่ากลิ่นใหม่ ต้องหนได้ยินเสียงของสิ่งที่หลุดจากตัวเราลงไปกระทบสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว ในหลุมดังตุ๊บๆ

ที่ร้ายกาจมากคือ แมลงวันหัวเขียว ตัวโตเกือบเท่าแท่งดินสอดํา มันจะฮือกันขึ้นมาตอมเราเป็นฝูงเวลามีเสียงตุ๊บเกิดขึ้น

จากส้วมก็ไปอาบน้ำ และแต่งตัวลงไปกินข้าวที่โต๊ะเดิม กินข้าวเช้าที่โต๊ะอาหารกลางแดดตอนโมงเช้าก็แปลกดี

เรามาถึง Site เกือบ 8 โมงเช้า จ่าสนองเรียกคนงานทั้งหมดที่ยืนคอยเวลาทํางานอยู่นอกรั้วให้มารู้จักผม
คนงานที่นี่เข้างาน เลิกงานตรงเวลาเป๊ะ เพราะได้ค่าจ้างดีวันละตั้ง 12 บาท มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในขณะนั้นที่ให้วันละ 8 บาท แถมยังเป็นงานเบาอีกด้วย

8 โมงตรง คนงานทุกคนเข้าประจําที่ทํางานของตนต่อจากเมื่อวาน

ใช้มีดปลายแหลมแซะดินออกลึกครั้งละ 15 เซนติเมตร ในแนวราบ เป็นการขุดตามชั้นดินสมมติ (คือสมมติว่าชั้นดินบริเวณนั้นหนาชั้นละ 15 เซนติเมตร)

การขุดค้นอย่างนี้ในทางโบราณคดี เรียกว่า วิธีการขุดค้นแบบแนวนอน (Horizontal Method)
ดินบริเวณนั้นเป็นดินร่วนปนทรายจึงง่ายต่อการบี้ดินให้ละเอียด เพื่อหาโบราณวัตถุขนาดเล็ก เช่น ลูกปัด เศษภาชนะดินเผา ขวานหิน เป็นต้น

ดินที่ไม่ใช้แล้วกวาดใส่ปุ้งกี๋ก็นําไปเททิ้งที่กองดินนอกบริเวณที่ขุดค้น หลุมขุดค้นที่นี้ใช้ระบบหลุมขุดค้นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัส (Grid System) ขนาด 4 x 4 เมตร ระหว่างหลุมต่อหลุมเว้นเป็นช่องทางเดิน (Baulk) กว้าง 1 เมตร ใช้คนงานขุดค้น หลุมละ 3 คนบ้าง 4 คนบ้าง

วันแรกที่ผมคุม Site มีหลุมขุดต้นอยู่ 10 หลุม บางหลุมขุดเสร็จแล้ว มีโครงกระดูกที่ขุดพบ 5 โครง แต่ละโครงนอนหงายเหยียดยาว มีภาชนะดินเผาสีดําวางอยู่เหนือศีรษะบ้าง บนลําตัวบ้าง และที่ปลายเท้าบ้าง บางโครงมีขวานหินขัดวางข้างล่าตัว บางโครงมีลูกปัดทำด้วยเปลือกหอยลักษณะกลมแบนสวม อยู่ที่คอเป็นพวง

มีอยู่โครงหนึ่งที่แปลกคือ ที่หน้าอกมีลูกดอกทําด้วยกระดูกสัตว์หรือเขาสัตว์เสียบอยู่ที่หน้าอกด้านซ้าย คนนี้คงจะตายเพราะถูกลูกดอกยิงเข้าตรงหัวใจพอดี และใกล้กับต้นแขนข้างซ้ายมีขวานหินขัดขนาดเล็กวางอยู่เล่มหนึ่ง ที่ปลายเท้ามีภาชนะดินเผาสีดําวางอยู่หนึ่งใบ

ผมเดินไปเดินมาบนช่องทางเดินระหว่างหลุมต่าง ๆ เพื่อดูคนงานขุดค้น แดดเริ่มร้อนขึ้นๆ ตามลําดับ
คนงานแต่ละคนตั้งหน้าตั้งตาทํางานกันอย่างดี ไม่ค่อยมีการพูดคุยกันมากนัก

โครงกระดูกฝังนอนหงายเหยียดยาว มีขวานเหล็กวางอยู่ใกล้เข่าข้างซ้ายของโครงกระดูก

เวลาที่คนงานพบโบราณวัตถุขนาดเล็ก เช่น ลูกปัด ขวานหิน แหวนสําริด ใบหอกสําริดขนาดเล็กเท่าไม้ควักปูน เหล็กแท่งยาวคล้ายตะปู และอื่น ๆ ก็จะเรียกให้ผมไปรับ เพื่อจะได้บันทึกรายละเอียดลงในบัตรประจําโบราณวัตถุ แล้วนําไปมอบให้นายเปียบันทึกลงในสมุดทะเบียนโบราณวัตถุอีกทีหนึ่ง

ในช่วงแรกมีการประกาศให้รางวัลแก่คนงานที่ขุดพบโบราณวัตถุที่สําคัญ สวยงาม และสมบูรณ์ชิ้นละตั้ง 20 บาท ปรากฏว่านายเบียต้องจ่ายเงินรางวัลทุกวัน บางวันต้องจ่าย เกือบ 500 บาทก็มี

การให้เงินรางวัลเช่นนี้เป็นนโยบายในการป้องกันการยักยอกโบราณวัตถุจากหลุมขุดค้น ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียว แต่ต้องเสียเงินหลาย

ถึงเวลาเที่ยงคนงานตีจอบแก๊ง ๆ บอกเวลาพักกินข้าวกลางวัน คนงานหลายคนกลับไปกินข้าวกลางวันที่บ้าน แต่บางคนเอาข้าวมากินในดงกล้วยข้างรั้วบริเวณหลุมขุดค้น พวกเราเดินกลับมากินข้าวกลางวัน อาบน้ำและพักผ่อนที่แคมป์

เกือบบ่ายโมงจึงเดินไปที่ Site เห็นคนงาน 4-5 คน นั่งจับกลุ่มกันอยู่ในดงกล้วย ผมจึงเดินตรงเข้าไปสมทบด้วย เพราะอยากจะรู้จักคนงานทุกคนอยู่แล้ว

พอผมนั่งลงเรียบร้อย ผมก็แนะนําตัวเองว่าเป็นใคร มาจากไหน มาทําอะไรที่นี่ ต่อจากนั้นคนงานแต่ละคนในกลุ่มก็แนะนําตัวเองว่าชื่อแซ่อะไร บ้านอยู่ที่ไหน

ลุงคง ทิดหร่าย ติดชู ทองดี และประจวบ คือชื่อคน งานในกลุ่มนั้น ลุงคงบอกว่าทองดีเป็นแขกมาจากอินเดีย มาตั้งรกรากที่บ้านเก่านานแล้ว

ทองดีเล่าประวัติตัวเองให้ผมฟังว่า เขาเกิดที่บอมเบย์ ประเทศอินเดีย พอเป็นหนุ่มก็สมัครไปทํางานที่ประเทศสิงคโปร์ ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวเป็นเซลย ถูกส่งตัวมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ เช่นเดียวกับกัปตันนายทหารชาวฮอลันดาที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อสงครามเลิกก็ไม่รู้จะไปไหน เลยปักหลักอยู่ที่บ้านเก่านี่เอง

ขณะที่ผมนั่งฟังทองที่เล่าเรื่องของเขาอยู่นั้น ผมสังเกตดูชายคนหนึ่งรูปร่างผอม สูง ผิวดํา นั่งพิงต้นกล้วยอยู่คนเดียว ไม่ห่างจากที่ผมนั่งมากนัก ผมจึงถามลุงคงว่า “เขาชื่ออะไร เป็นคนบ้านเก่าหรือเปล่า”

ลุงคงบอกว่า “เขาชื่อประสิทธิ์ เพิ่งออกจากคุกที่ราชบุรี ข้อหาฆ่าคนตาย มาพักอยู่กับญาติที่นี่ เขาเป็นคนกินฝิ่น ไม่มีใครกล้าไปยุ่งกับเขา”

บ่ายโมงตรง เสียงคนงานตีจอบบอกเวลาเข้าทํางาน แดดในตอนบ่ายร้อนแรงมาก อากาศอบอ้าว นานๆ จึงจะมีลมพัดมาสักครั้ง ผมก็เดินตรวจงานอยู่บนช่องทางเดิน คอยเขียนบัตรประจําโบราณวัตถุและเปลี่ยนป้ายบอกระดับชั้นดินในหลุมขุดค้นแต่ละหลุมเมื่อขุดหมดชั้นดินสมมติ

ร้อนนักก็หลบเข้าไปคุยกับนายเปียที่เพิ่งสํานักงาน นายเปียถามผมว่า “เคยขุดค้นที่ไหนมาบ้าง” ผมบอกว่า “เคยขุดที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีมา 2 ครั้ง”

(การพูดค้นที่อู่ทองในครั้งนั้นของผมเป็นการฝึกงานขุดค้นประจําปีของนักศึกษา โดยไปฝึกกับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร เป็นการขุดแต่งโบราณสถาน ผู้ควบคุมก็มีลุงเมี้ยน ลุงติ่ง และคุณประสาน

แปดโมงครึ่งพวกเราไปถึงที่ พวกลุงๆ ทั้งหลายก็จะแจกจอบแจกเสียมให้คนละเล่ม พวกเราก็ลงลุยขุดไปกับคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างของกรม พอใครพบโบราณวัตถุ เช่น เศียรพระพุทธรูป ลายปูนปั้น พระหัตถ์พระพุทธรูป และอื่น ๆ ก็จะตะโกนบอกลุงที่ยืนคุมขุดอยู่ใกล้ ๆ ให้มาเก็บโบราณวัตถุนั้นขึ้นเพื่อเอาไปบันทึกลงสมุด ผมเคยตามไปดูการจดบันทึกในสมุดของพวกลุงๆ ปรากฏว่ามีการจดบันทึกดังนี้

“10.20 น. คนงานขุดพบเศียรพระพุทธรูปแกะสลัก จากหินทรายสีน้ำตาลอ่อน 1 เศียร สูงคืบเศษ เป็นเศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง พบทางทิศตะวันออกของเจดีย์หมายเลข 2 ห่างจากฐานเจดีย์ราว 1 วา 2 ศอก”)

ข้อความในวงเล็บทั้งหมดผมไม่ได้เล่าให้นายเปียฟัง เพราะรู้สึกเขิน ๆ ที่การขุดค้นและการจดบันทึกของเรากับของเขาเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

คุยกับนายเปียได้อีกสักพัก ผมก็ออกไปเดินตรวจหลุมขุดค้นและถือกล้องถ่ายรูปติดมือไปด้วย จัดการเปิดหน้ากล้อง ตั้งแสง ตั้งความเร็ว กะระยะสิ่งที่เราจะถ่าย กดชัตเตอร์เสียงดังแชะ

นี่เป็นการถ่ายรูปครั้งแรกในชีวิตของผมด้วยกล้องโรไรเฟลกซ์ ใช้ฟิล์มขาว-ดํา ขนาด 3 X 3 นิ้ว มี 12 รูปในฟิล์มม้วนหนึ่ง

ซักมันมือ คราวนี้ลงไปถ่ายรูปโครงกระดูกในหลุมขุดค้น ถ่ายมันทั้งสี่ทิศเลย ถ่ายรูปคนงานกําลังขุด ถ่ายรูปลูกปัดที่อยู่ที่คอโครงกระดูก ถ่ายรูปลูกดอกที่อยู่ตรงหน้าอกด้านซ้ายของ โครงกระดูก และถ่าย ๆ ๆ
ถ่ายจนฟิล์มหมดม้วน

จะเอาฟิล์มที่ถ่ายแล้วออก ก็เอาออกไม่เป็น ต้องไปหาคุณประพัฒน์ให้ช่วยสอน และใส่ฟิล์มม้วนใหม่แล้วก็ถ่ายต่ออีก มัวแต่ถ่ายเพลินจนเลยเวลาเลิกงาน

ผมกับคุณประพัฒน์เดินออกจาก Site มาได้นิดหนึ่ง ก็พบกับคนงาน 3-4 คนยืนรออยู่ หนึ่งในกลุ่มนั้นออกปากเชิญผม และคุณประพัฒน์ไปเลี้ยงรับผมที่บ้านเขา แต่ผมขอผลัดไปเป็นวันมะรืน วันเสาร์ เพราะรุ่งขึ้นวันอาทิตย์หยุดงาน

เดินมาถึงที่พักก็เกือบ 6 โมงเย็น นุ่งผ้าขาวม้ารับลมเย็น มองพระอาทิตย์กําลังลับยอดเขาเป็นภาพที่สวยงามมาก จ่าสนองยกอุปกรณ์ประกอบการคุยยามพระอาทิตย์ลับยอดเขามาตั้ง

เราคุยกันหลายเรื่องและเริ่มสนิทสนมกันมากขึ้น ผมสอบถามจ่าสนองถึงประวัติของคนงาน 3-4 คน ที่มา เชิญผมไปที่บ้านเขา จ่าสนองบอกว่าพวกนี้เป็นคนดี ช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงรักและเกรงใจพวกเขา เราคุยกันอีกพักจึงลงไปอาบน้ำ และแต่งตัวไปกินข้าว กินข้าวเสร็จ นายเปียขอคุยกับผมและคุณประพัฒน์ที่โต๊ะกินข้าว

นายเปียบอกว่า

“แหล่งโบราณคดีที่บ้านเก่าเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่ ได้รับอิทธิพลการทําภาชนะดินเผาสีดำจากประเทศจีน ไม่มีโลหะ และสงสัยว่าใบหอกสําริดขนาดเล็ก กําไลสําริด แท่งเหล็ก แหวนสําริด ที่คนงานพบและเอามาให้เพื่อรับเงินรางวัลนั้น คนงานน่าจะเอามาจากที่อื่น ไม่ใช่พบในหลุมขุดค้น จึงขอให้ผมช่วยดูด้วย และไม่ให้เก็บของเหล่านั้นอีก”

จากวันนั้นมา ผมก็จับตาดูคนงานที่พบโลหะดังกล่าว และภายหลังได้พูดคุยกับคนงานทุกคนในเรื่องนี้
คนงานทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ของเหล่านั้นพบในบริเวณหลุมขุดค้นตั้งแต่ผิวดินลึกลงไปประมาณ 60 เซนติเมตรจึงหมด

หลายวันต่อมา ผมก็เห็นด้วยตาตัวเอง จึงเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้นายเปียฟัง

นายเปียก็รับฟัง แต่เขาไม่เชื่อ

จากวันนั้นมา ผมก็สั่งคนงานให้เก็บโบราณวัตถุที่เป็นโลหะดังกล่าวให้ผม และผมได้บันทึกที่มาของวัตถุเหล่านั้น เก็บไว้ได้เกือบ 200 ชิ้น ต่อมาภายหลังนายเปียได้มีจดหมายมาขอสิ่งของเหล่านั้น ผมก็ส่งไปให้ที่ประเทศเดนมาร์กโดยผ่านทางสถานทูต

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564