“ขุนนาย” ยศเมียใหญ่ในอดีต ต้นกำเนิด “คุณนาย” ในปัจจุบัน

ขุนนาง ขุนนาย
ภาพขุนนาง

หลังจากที่อธิบายคำว่า “ขุนนาง” ไปแล้วในบทความก่อน (อ่านต่อได้ที่นี่) ครั้งนี้จะมาพูดถึง “ขุนนาย” อีกยศหนึ่งที่เคยปรากฏในอดีต แต่ปัจจุบันแปรเปลี่ยนไปใช้ในบริบทอื่น ๆ แล้ว

ขุนนายยศนี้เกิดขึ้นมาคล้ายคลึงกับที่มาของขุนนาง เพราะคนที่จะใช้คำว่าขุนนางได้ จะต้องมีอำนาจมาก ซึ่งรวมถึงมีผู้หญิงอยู่ในการดูแลมากมาย ถึงจะสมกับเป็นผู้มีวาสนาสูง

Advertisement

ขุนนายก็เช่นกัน เพราะยศนี้มักใช้เรียกภรรยาใหญ่ หรือ เมียหลวง เนื่องจาก เมียหลวง มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้ชาย เพราะผู้หญิง สามีเอาไปเลี้ยงดูหมดแล้ว 

อย่างที่ในหนังสือ “ขุนนางสยาม” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ ส.พลายน้อย ที่ได้ยกคำอธิบายของหลวงวิจิตรวาทการ ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ของไทย ไว้ว่า…

“ผู้มีบุญวาสนาที่มีข้ามาก ๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเลือกเอาข้าผู้หญิงไว้ช่วงใช้ใกล้ตัว จึงเกิดมีเมียนับเป็นสิบๆ คน ชนิดนี้ก็เรียกว่า ขุนนาง เพราะเอานางมาเลี้ยงไว้มากๆ เมื่อครอบครัวใหญ่โตมีผู้คนมากมายก็จำต้องมีคนหนึ่งซึ่งตั้งอำนาจเด่นขึ้นมา ได้แก่เมียใหญ่เมียหลวง

เมียคนนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูผู้คน และการเลี้ยงดูในหน้าที่ของเมียใหญ่นี้ ก็มักต้องเลี้ยงดูผู้ชายเป็นส่วนมาก เพราะผู้หญิงนั้นผัวก็เก็บเอาไปเลี้ยงหมดแล้ว

หน้าที่การเลี้ยงดูผู้ชายทำให้เมียใหญ่ได้รับตำแหน่งเป็น ขุนนาย ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดมีคำสองคำคือผัวเป็น ขุนนาง เมีย ขุนนาย…”

ก่อนที่ต่อมา คำว่าขุนนาย จะได้เลือนหายไป กลายเป็นคำว่า “คุณนาย” ที่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติความหมายไว้ว่าคำยกย่อง ใช้เรียกภรรยาข้าราชการชั้นสัญญาบัตรที่ยังมิได้เป็นคุณหญิง, ในปัจจุบันใช้เรียกยกย่องสตรีทั่ว ๆ ไปที่ผู้เรียกนับถือ.”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ส. พลายน้อย. ขุนนางสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 21 พฤษภาคม 2567