ชันสูตรประวัติศาสตร์ แผนปลงพระชนม์ “พระนารายณ์” สวรรคตเพราะ “ยาพิษ” !?

สมเด็จพระนารายณ์ ละคร พรหมลิขิต ช่อง 3 ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง พระนารายณ์ ถูกวาง ยาพิษ สวรรคต
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในละครพรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 รับบทโดย ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง (ภาพจาก เฟซบุ๊ก Ch3Thailand)

“พระนารายณ์” แห่ง “กรุงศรีอยุธยา” สวรรคตเพราะเสวย “ยาพิษ” ที่ถูกจัดถวายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งในแผนการชิงบัลลังก์ของ “พระเพทราชา”

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในยุคที่ติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ จนสยามเจริญรุ่งเรืองสุดขีด กระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตด้วยสาเหตุอันเป็นปริศนา เกิดบทวิเคราะห์ และทฤษฎีมากมาย เกี่ยวกับสาเหตุการสวรรคตที่แท้จริง โดยบันทึกของชาวต่างชาติ และพระราชพงศาวดารของไทยให้ข้อมูลคล้ายกันว่า พระนารายณ์ ทรงมีอาการประชวรต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนพระอาการจะทรุดลง จนเสด็จสวรรคตในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231

เอกสารชั้นต้นที่กล่าวถึงอาการประชวรของสมเด็จพระนารายณ์คือ บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน (คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์) ตอนหนึ่งว่า

“…สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามนั้นทรงมีพระสุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์ โดยประชวรด้วยโรคไอหืดมาได้ 4-5 ปีแล้ว ได้ล้มประชวรหนักกว่าปรกติในเดือนกุมภาพันธ์ (ค.ศ. 1688)

…ในตอนหลัง ๆ เพทราชาได้รับมอบหมายให้มาติดต่อกับกระผม (บาทหลวง เดอะ แบส) เพื่อให้รายงานพระอาการประชวรของในหลวง และอาการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทรุดดังที่พระองค์ทรงได้รับความทรมานมา 4-5 ปีแล้วนั้น”

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระพนรัตน์ บรรยายว่า หลังจากที่ พระปีย์ พระราชบุตรบุญธรรมในพระนารายณ์ถูกสังหาร ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าว เป็นเหตุให้ตกพระทัยด้วยความอาลัย จนอาการทรุดหนัก และสวรรคตในที่สุด ดังความว่า

“…ครั้นรุ่งเพลาเช้าพระปีย์ลุกออกมาบ้วนปากล้างหน้า ณ ประตูกำแพงแก้ว จึงหลวงสรศักดิ์ผู้สำเร็จราชการ ณ ที่มหาอุปราชสั่งให้ขุนพิพิธรักษาที่ผลักพรปีย์ตกลงไปจากประตูกำแพงแก้ว และพระปีย์ร้องขึ้นได้คำเดียวว่า ‘ทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย’ พอขาดคำลงคนทั้งหลายก็กุมเอาตัวประปีย์ไปประหารชีวิตตาย

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังเรื่องพระปีย์ร้องขึ้นมาดังนั้นก็ตกพระทัย ความอาลัยในพระปีย์ดำรัสว่า ‘ใครทำอะไรอ้ายเตี้ยเล่า’ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคตในเพลาวันนั้น เป็นวันพฤหัส เดือน 5 แรม 3 ค่ำ ศักราช 1044 ปีจอ จัตวาศก…”

แต่เมื่อศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม ทำให้พบว่า มัจจุราชที่พรากพระชนมชีพของพระองค์ อาจเป็น “ยาพิษ” เพราะมีเอกสารชิ้นหนึ่ง ที่กล่าวต่างจากงานอื่น ๆ เป็นข้อมูลที่ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งบรรยายไว้ว่า

“พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ว่าพร้อมหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วันเสาร์ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เพลา 10 ทุ่ม เสด็จพระนิพพาน…”

เป็นที่น่าสงสัยว่า การถามว่า “พร้อมหรือยัง” พร้อมแล้ว พร้อมอะไร? พระเพทราชา กับ หลวงสรศักดิ์ เตรียมการทำอะไรอยู่ และอีกจุดหนึ่งคือ ขุนองค์ถอนนิ้วจากพระองค์พระนารายณ์ ขุนองค์ทำอะไรกับพระนารายณ์กันแน่…

ธโนทัย สุขทิศ วิเคราะห์ว่า พงศาวดารน่าจะมีการคัดลอกผิดพลาด ในส่วนประโยคที่ว่า ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจาก “พระองค์” น่าจะเป็นการถอนนิ้วจาก “พระโอษฐ์” มากกว่า แล้วจากนั้น พระโอษฐ์จึงงับนิ่งไป โดยมีความเห็นว่า ขุนองค์บีบพระโอษฐ์หรือปากของพระนารายณ์ เพื่อถวายพระโอสถบางอย่าง ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นยาพิษที่มีฤทธิ์แรงมาก ถึงขนาดทำให้พระองค์เสด็จสวรรคตทันที 

อย่างไรก็ตาม วิบูล วิจิตรวาทการ มีความเห็นว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควร พระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์คงสั่งให้ขุนองค์เค้นคอพระนารายณ์ นัยว่าบีบคอจนขาดอาการหายใจ แล้วจึงเสด็จสวรรคต

เรื่องนี้เป็นไปได้สองกรณีคือ หนึ่ง ขุนองค์เค้นปาก กรอกยาพิษชนิดรุนแรง เพื่อปลิดชีพพระนารายณ์ และสอง ขุนองค์เค้นคอพระนารายณ์ จนถึงแก่พระชนมชีพ

แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เมื่อประมวลจากหลักฐานและลำดับเหตุการณ์ เชื่อได้ว่า แผนการวางยาพิษพระนารายณ์น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะมีหนังสือชื่อ Witness to a Revolution: Siam 1688 เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่เล่าถึงยาพิษข้างต้นเช่นกัน โดยมีตอนหนึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า

“…ในที่สุดพระองค์สวรรคตในอีก 2 วันต่อมา เมื่อเวลา 11 โมงเช้า จากการทรงพระประชวรหรือโดยโอสถบางอย่างที่เร่งการสวรรคตของพระองค์…”

แล้วยาพิษมาจากไหน? หนังสือดังกล่าวยังเล่าด้วยว่า ศัลยแพทย์ชาวดัตช์ ชื่อว่า หมอดาเนียล คือผู้สมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ ลอบปลงพระชนม์พระนารายณ์ โดยหมอผู้นี้จะจัดหายาพิษที่ออกฤทธิ์อย่างช้า ๆ มาให้ และพระโอสถพิษนั้นจะถูกนำไปถวายให้พระนารายณ์ ผ่านออกหมื่นศรีหมื่นชัย ซึ่งเป็นพวกเดียวกับหลวงสรศักดิ์ ซึ่ง ธโนทัย สุขทิศ แปลตอนหนึ่งไว้ว่า

“…พวกดัตช์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการปฏิวัติ โดยเฉพาะนายดาเนียล ศัลยแพทย์ ซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่เซดานและเป็นผู้ที่ประกาศตนเป็นศัตรูต่อศาสนาคาทอลิกและชาวฝรั่งเศส แหล่งข่าวเดียวกันบอกว่ามีคำให้การว่าได้มีการผสมยาพิษลงในพระโอสถที่ถวายพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งในการเร่งให้สวรรคต…

วันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1688 ขณะอยู่ที่ละโว้ ที่บ้านของออกพระเพทราชา กัปตันชาวดัตช์และหมอข้าหลวงดาเนียลได้มาที่บ้านของออกพระเพทราชาเวลากลางคืน และปิดประตูประชุมกันในห้องโดยให้ข้าอยู่ในห้องใกล้ประตู และออกหลวงสรศักดิ์ ลูกออกพระเพทราชาถามกัปตันชาวดัตช์ว่า ‘เราจะดำเนินการอย่างไรสำหรับการครั้งนี้’ กัปตันชาวดัตช์ตอบผ่านดาเนียลซึ่งทำหน้าที่ล่ามว่า ‘ท่านต้องให้ยาพิษที่แสดงผลช้าๆ ต่อพระเจ้าอยู่หัว’

โดยดาเนียลจะเตรียมให้และออกหมื่นศรีหมื่นชัยซึ่งอยู่เฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวเสมอจะเป็นผู้ถวาย…”

หมอดาเนียลยังสนิทกับพระสนมคนหนึ่งของพระนารายณ์ ที่ต่อมาถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกจากวังไปไหนอีก จึงอาจมีความไม่พอใจบางอย่างระหว่างเขากับพระเจ้าแผ่นดินสยาม ยิ่งความเป็นชาวฮอลันดา ชนชาติที่เป็นศัตรูกับฝรั่งเศส มิตรของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว การสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวดูจะมีมูลอยู่ไม่น้อย

หากเป็นจริงตามนี้ แผนปลงพระชนม์พระนารายณ์ ย่อมดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง คือตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2231 เป็นต้นมา จนพระพลานามัยของพระองค์ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ สอดคล้องกับบันทึกของ บาทหลวง เดอะ แบส ผู้ติดตามมากับคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดที่ 2 ซึ่งบันทึกถึงพระนารายณ์ว่า ทรงมีพระอาการแย่ลงอย่างชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ก่อนจะมีพระวรกายซูบผอมจนแทบจะเหลือแต่กระดูกในเดือนมีนาคม จากบันทึกของ นายพลเดส์ฟาร์จ ชาวฝรั่งเศส และเสด็จสวรรคตในอีก 4 เดือนต่อมา

นี่จึงเป็นแผนการอันแนบเนียน ในการขึ้นสู่บัลลังก์กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระเพทราชา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

รศ. (พิเศษ) นพ. เอกชัย โควาวิสารัช. (2563). ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2566