
เผยแพร่ |
---|
บันทึกของจดหมายเหตุลาลูแบร์พูดถึงเจ้าแม่วัดดุสิตว่าเป็นมารดาของทูตโกษาปานในบันทึกกล่าวไว้ว่า “มารดาของท่านเอกอัครราชทูตที่เราเห็นตัวกันที่นี้(ในประเทศฝรั่งเศส) เป็นพระนมเหมือนกัน” (จดหมายเหตุลาลูแบร์์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม ๑. ก้าวหน้า, ๒๕๑๐, น. ๓๙๘)
เหตุที่ลาลูแบร์เรียกเจ้าแม่วัดดุสิตมารดาโกษาปานว่าเป็น “พระนม” ก็เพราะท่านเป็นพระนมสมเด็จพระนารายณ์ ในส่วนที่ว่า “เป็นพระนมเหมืิอนกัน” เนื่องจากตามกฏมนเทียรบาลได้กำหนดตำแหน่ง “พระนม” ไว้ ๓ ตำแหน่ง คือ แม่นมเอก แม่นมโท แม่นมตรี กล่าวกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นเป็นพระนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์
หนังสือเรื่องอิศรางกูร(อิศรางกูร. จัดพิมพ์ในงานฌาปนกิจ หม่อมหลวงปุย อิศรางกูร. ๒๕๑๗) ให้ข้อมูลเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ ๑ สอดคล้องกับหนังสือเรื่องปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “หม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน” รัชสมัยของพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ ๓ พระเจ้าปราสาททอง เจ้าแม่วัดดุสิตได้วิวาห์ มงคลกับลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติขุนนางมอญ
โดยบันทึกพงศาวดารไทย จดหมายเหตุเจ้าแม่วัดดุสิตในสมัยกรุงศรีอยุทธยา เล่าถึงเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า “พระเจ้าแม่วัดดุสิต” หรือ “หม่อมเจ้าบัว” ทรงอภิเษกสมรสกับ “หม่อมเจ้าอำไพ”๑ ซึ่งไม่ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์สายใด ต่อมาเจ้าแม่วัดดุสิตได้ถวายตัวเป็น “พระนมเอก” ในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๖ (สมเด็จพระนารายณ์)
บันทึกนี้ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือเรื่องโครงกระดูกในตู้ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช คัดมาจากหนังสือเรื่องราชินิกุลบางช้าง ซึ่งพิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า
“แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกศาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย”๒
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ปรากฏในพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์ (แก้ว) ข้อความหนึ่งที่สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่าพระมารดา ทรงดำรัสถามความว่า “พระมารดาขึ้นมาด้วยธุระสิ่งใด”
ในจดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวียเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักสยามใน พ.ศ. ๒๒๓๓ ยังกล่าวถึงเรื่องนี้อีกว่า
“…ชาวสยามเรียกแม่นมของตนว่า แม่ ด้วยเหมือนกัน และผู้ที่ได้ร่วมนมกันก็นับถือกันเหมือนอย่างพี่น้อง…”๓
อ้างอิง
บทความ “ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี “เจ้า” หรือ สามมัญชน”???. ปรามินทร์ เครือทอง. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ๒๕๔๘
บทความ “ตามรอยสืบหาบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี”. สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน. ๒๕๕๒
จดหมายเหตุลาลูแบร์์ ฉบับสมบูรณ์ เล่ม ๑. ก้าวหน้า, ๒๕๑๐, น. ๓๙๘
ส. พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. (กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, ๒๕๓๕), น. ๖. และ พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, ๒๕๒๓), น. ๑๑๐.
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า ๒๐๐๐, ๒๕๔๘), น. ๒๑.
เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๕), น. ๒๙
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ.2561