ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ปวัตร์ นวะมะรัตน |
เผยแพร่ |
สำรวจ “วัดดุสิต” กว่า 50 ปีก่อน จุดที่เชื่อว่าเป็นวัดที่ “พระนม” ของสมเด็จพระนารายณ์ หรือ “เจ้าแม่วัดดุสิต” เคยมาพำนัก ?
วัดดุสิต ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองศรีอยุธยาด้านทิศตะวันออก ฟากคลองกระมังไผ่ลิงฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นคลองที่วางตัวในแนวเหนือใต้ เชื่อมระหว่างคลองบ้านบาตรกับคลองปากข้าวสาร พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาเหล็กและเจ้าพระยาโกษาปาน เสนาบดีคนสำคัญในสมัยนั้น ได้มาสร้างพระตำหนักอยู่ใกล้พระอารามวัดดุสิตแห่งนี้
ต่อมา หลังจากสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ. 2246 กรมพระเทพามาตย์ อัครมเหสี ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-2251) ก็กราบบังคมทูลลาพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ มาสร้างพระตำหนักอยู่ใกล้ๆ กับพระตำหนักของพระนม
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) พระองค์เจ้าดำ พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา ได้กระทำการกระด้างกระเดื่องต่อพระราชอำนาจ จึงมีรับสั่งให้พระอนุชาธิราช (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) กรมพระราชวังบวรฯ นำไปชำระความ เมื่อเห็นผิดเป็นมหันตโทษจึงโปรดให้นำพระองค์เจ้าดำไปสำเร็จโทษ ณ วัดโคกพระยา ตามราชประเพณี จากนั้น พระองค์เจ้าแก้ว ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระองค์เจ้าดำ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปผนวชเป็นรูปชีอยู่กับกรมพระเทพามาตย์ที่พระตำหนักวัดดุสิต
เมื่อ พ.ศ. 2510 อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ มาสำรวจที่วัดนี้ พบว่ามีพระพุทธรูปหินทรายขาวเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระเบื้องหลังคาชนิดลอนเคลือบสีเหลือง ทำให้ทราบว่า นอกจากวัดบรมพุทธารามในเกาะเมืองซึ่งสถาปนาขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาแล้ว ก็ยังมีวัดดุสิตอีกแห่งหนึ่งที่ใช้กระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงหลังคาด้วยเช่นกัน
เป็นไปได้ว่า วัดนี้น่าจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในช่วงนั้น เนื่องจากคงเป็นวัดที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกันมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์หรือก่อนหน้านั้น จนถึงกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
น่าเสียดายที่ปัจจุบัน วัดดุสิต เหลือไว้แต่โคกอิฐซึ่งเป็นส่วนขององค์เจดีย์ที่พังทับถมลงมา มีเศษซากพระพุทธรูปและเสมาที่หักเหลือแค่ครึ่งฐานกองรวมๆ กันอยู่ใต้ต้นไม้ พิจารณาจากลักษณะแล้ว น่าจะเป็นเสมาที่ทำด้วยหินทรายขาว ตรงตามที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เคยมาสำรวจพบและให้ทัศนะว่า น่าจะเป็นของที่ทำขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือก่อนหน้านั้น
ส่วนรอบๆ บริเวณก็มีสภาพไม่ต่างจากวัดร้างทั่วๆ ไปที่เหลือแต่โคก คือถูกรุกล้ำและล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนร้านค้า ข้างๆ เขตโบราณสถาน เป็นถนนเข้าซอยตรงไปบรรจบกับคลองกระมัง ส่วนบริเวณด้านหน้า ริมถนนที่จะไปวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งชาวบ้านทั่วไปให้ความเคารพนับถือมาก ศาลนี้แต่เดิมเป็นเพียงศาลเล็กๆ ต่อมาชาวบ้านที่มีจิตศรัทราได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลขึ้นใหม่ แล้วนำศาลเดิมที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาตั้งไว้ภายใน
เจ้าแม่วัดดุสิต พระราชพงศาวดารให้การยกย่องว่าเป็นเจ้าแม่ผู้เฒ่า เพราะความเป็นผู้หญิงเก่ง ที่เป็นทั้งแม่นมของพระมหากษัตริย์ และแม่ของเสนาบดีที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทุกคนจึงให้ความเคารพยำเกรง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังต้องทรงเชื่อฟัง
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่สตรีผู้นี้ จะเป็นบุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถกราบบังคมทูลให้สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานอภัยโทษแก่ขุนหลวงสรศักดิ์ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) กรณีไปชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางที่โปรดปราน และเรืองอำนาจที่สุดคนหนึ่งในสมัยนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี “เจ้า” หรือ “สามัญชน”???
- “หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก” พระราชดำริที่ทำให้พระนารายณ์ทรงงดโทษประหาร?
- ขุนหลวงสรศักดิ์ ดักชกหน้าฟอลคอน พร้อมกล่าว “ช่างฟ้องดีนัก ให้รู้ฤทธิ์คนไทยเสียบ้าง”
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2562