“หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก” พระราชดำริที่ทำให้พระนารายณ์ทรงงดโทษประหาร?

หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก
(ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)

“หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก” พระราชดำริที่ทำให้พระนารายณ์ทรงงดโทษประหาร?

บทความเรื่องนี้ผู้เขียนเก็บความมาจากจดหมายเหตุจ้าวแม่วัดดุสิตกรุงเก่า ที่เป็นบันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ยาวและละเอียดที่สุด จดหมายเหตุนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสารสยามประเภท ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เล่มที่ 6 ตอนที่ 36 วันที่ 19 ธันวาคม ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448 – ผู้เขียน) ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เขียนคำนำของจดหมายเหตุนี้ไว้ว่า

ว่าด้วยพระราชประวัติกรุงเก่า มีข้อความพิสดารแปลกประหลาดดียิ่งกว่าข้อความมีในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าที่ตีพิมพ์แล้วนั้นหลายพันส่วน แต่งโดยจ้าวแม่วัดดุสิต เมื่อจุฬศักราช 992 ปี (พ.ศ. 2173 – ผู้เขียน) ท่านสมาชิกผู้ดีมีบรรดาศักดิ์หลายท่านส่งคำขอร้องมายังเรา (สยามประเภท) ว่า ขอให้ลงข่าวเรื่องราวตามจดหมายเหตุของจ้าวแม่วัดดุสิตตามต้นฉบับเดิม มีข้อความดังจะกล่าวโดยพิสดารวิตถารต่อไปดังนี้คือ (น. 804)

Advertisement

เรื่องมีว่า

วันหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์เสด็จมาที่ท้องสนามตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมง มีพระราชประสงค์จะทรงม้าพระที่นั่งที่มีชื่อว่า เจ้าพญากระหนกเลขา (เป็นม้าด่าง) ขณะนั้นเจ้าพนักงานยังไม่ได้นำม้าพระที่นั่งเข้ามาเทียบที่เกย ท้าวศรีสัจจาจึงออกไปเร่งหลวงทรงพลให้รีบนำม้าเข้ามา เมื่อประทับม้าพระที่นั่งเรียบร้อยแล้วทรงยื่นพระแสงดาบให้หม่อมแช่มพนักงานอยู่งาน (เข้าใจว่าเป็นพนักงานพระแสง) หม่อมแช่มผู้นี้เป็นธิดาของพระราชโกษา (บุญเลี้ยง) หม่อมแช่มรับพระแสงจากพระหัตถ์แล้ว อัญเชิญมาพาดบ่าหมอบอยู่หน้าพระที่นั่ง ฝั่งตรงข้ามกับพลับพลาเป็นที่นั่งของพวกทหารเลือก (ผู้ชำนาญในทางหมัดมวย เป็นทหารองครักษ์) และหนึ่งในจำนวนนั้นมีจมื่นราชามาตย์ (เผื่อน) คอยเฝ้าอยู่ด้วย

ทั้งสองได้สบตากันนับแต่นั้น เมื่อเวลาเสด็จออกเพื่อทรงรำทวนพนักงานฝ่ายในมีโอกาสตามเสด็จด้วย หม่อมแช่มได้วาน “อีซ่ม” โขลนศาลา นำห่อหมากดิบ พลูเหลือง แอบไปให้จมื่นราชามาตย์ๆ ก็ส่งดอกไม้ตอบกลับมาจนมีจดหมายโต้ตอบกัน เมื่อถึงเวรจมื่นราชามาตย์เข้ามานอนเวรที่ทิมดาบตำรวจในพระราชวังบวร “อีซ่ม” โขลนศาลาคบคิดกับ “อีเพียน” ทาสหม่อมแช่ม เป็นแม่สื่อพาหม่อมแช่มซึ่งปลอมเป็นไพร่ ออกมาหาฝ่ายชายที่หน้าพระที่นั่งไชย นับแต่นั้นหม่อมแช่มไม่ขึ้นเฝ้า อ้างว่าป่วยตลอดมา

ความลับถูกเปิดขึ้น เมื่ออีบู่ อีน้อย ซึ่งอยู่ในเรือนหม่อมแช่ม เห็นหม่อมแช่มพาจมื่นราชามาตย์ (เผื่อน) เข้ามาในพระราชสถานหลายครั้ง เกรงว่าความผิดจะมาถึงตน จึงนำความไปปรึกษากับหมื่นปราบไพรินทร์ผู้เป็นลุงๆ แต่งหนังสือให้แก่นางทาสทั้งสอง นางจึงยื่นหนังสือให้แก่หลวงแม่เจ้าๆ จึงไปแจ้งต่อท้าวศรีสัจจาและท้าววรจันทร์ และเรื่องถูกส่งต่อไปถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์และจ้าวแม่วัดดุสิต

สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ไต่สวนพยานทั้งหลาย ซึ่งรับสารภาพแต่โดยดี อีเพียน อีซ่ม ถูกจำ 5 ประการ และถูกขังไว้ที่ห้องระเบียงศาลาดิน จากนั้นโปรดให้เจ้าพระยาธรรมา พระยาบำเรอภักดิ จมื่นจงรักษาองค์ เป็นตระลาการฝ่ายหน้าสอบหม่อมแช่ม ส่วนฝ่ายในมี จ้าวแม่วัดดุสิต ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ท้าวสมศักดิ์ ท้าวราชกัลยา ท้าวอินทรกัลยา ท้าววรจันทร์ และท้าวศรีสัจจา เป็นผู้กำกับตระลาการฝ่ายหน้า หม่อมแช่มรับสารภาพทุกข้อหา จึงถูกคุมขังไว้ที่ศาลาดินใน

ภาพเขียน กรุงศรีอยุธยา
ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวตะวันตก

การสอบสวนจมื่นราชามาตย์

ตระลาการทั้ง 5 อันประกอบด้วย พระมหาเทพ พระมหามนตรี พระอินทรเทพ จมื่นสาระเพชญ์ภักดี (คัดลอกตามต้นฉบับ) และจมื่นศรีสรรักษ์ เข้าร่วมพิจารณาความ จมื่นราชามาตย์รับสารภาพว่า

ข้าพระพุทธเจ้าจมื่นราชามาตย์ ขอพระราชทานให้การสาระภาพรับผิดพระราชอาญาเปนล้นเกล้าล้นกระหม่อม เดิมข้าพระพุทธเจ้ามีความบังอาจล่วงพระราชอาญา คบหาสู่สมัคสังวาศด้วยหม่อมแช่มนางอยู่งาน แล้วข้าพระพุทธเจ้ามีจิตรอะหังการกำเริบ ลักลอบเข้าไปนอนกับหม่อมแช่มในพระราชสถานนั้นตกเปนผู้มีความผิดเปนมหันตะโทษ พระราชอาญาเปนล้นเกล้าล้นกระหม่อมควรมิควรสุดแท้แต่จะทรงพระมหากรุณาโปรฎเกล้าฯ ขอเดชะ (น. 923)

ตระลาการทั้งห้าส่งคำพิจารณาไปยังขุนหลวงพระไกรสีห์ ผู้จะปรับโทษตามพระอัยการ

ผลมีดังนี้

ข้อ 1 จมื่นราชามาตย์มีความผิด บังอาจล่วงพระราชอาชญาคบหามาสู่เป็นชู้กับหม่อมแช่ม ชาวพนักงาน ตั้งอยู่ในศักดิ์สูง ฝ่ายพระสนมในพระราชสถานที่ต้องห้าม จะว่านางเทพีก็ว่าได้

ข้อ 2 จมื่นราชามาตย์คิดการโอหังบังอาจละลาบละล้วงเข้าไปนอนด้วยกันกับหม่อมแช่ม ถึงที่อยู่แห่งหม่อมแช่มในพระราชสถานชั้นในดังนั้น พบพระราชกฤษฎีกามาตราหนึ่ง ท่านวางไว้ว่าดังนี้ “ผู้ใดฝ่ายสูง (ใฝ่สูง – ผู้เขียน) เกินศักดิ์ไปร่วมพระราชอาศน์ด้วยราชภูมินทร์ ท่านว่าโทษผู้นั้นถึงอุกฤษฐ์โทษ พระอัยการบทนี้ได้แก่โทษจมื่นราชามาตย์”

ข้อ 3 อนึ่งหม่อมแช่มลงใจออกหากจากราชการดั่งนี้ พบพระราชกฤษฎีกามาตราหนึ่ง ท่านวางไว้ว่า “พระสนมนางกำนันต้องห้ามไม่อยู่ในที่ห้าม เอานามไว้ในเอาใจไว้นอกคิดทุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ท่านว่าโทษผู้นั้นถึงอุกฤษฐ์โทษ พระอัยการบทนี้ได้แก่หม่อมแช่ม”

ข้อ 4 อนึ่งอีเพียน อีซ่ม ผู้ชักสื่อนั้น มิได้เกรงกลัวพระราชอาชญา บังอาจนำคำพูดแห่งผู้หญิงไปบอกกับผู้ชายฟัง แล้วนำคำพูดแห่งผู้ชายมาบอกให้ผู้หญิงฟัง และบังอาจพาหม่อมแช่มออกมานอกพระราชสถานชั้นใน พาไปให้พบปะถึงตัวกันกับจมื่นราชามาตย์ จนได้เสียกันที่ศาลาน่าพระที่นั่งพระไชยในพระราชสถานชั้นกลางดั่งนั้น พบพระราชกฤษฎีกามาตราหนึ่ง ท่านวางบทไว้ว่าดังนี้

“ผู้ใดบังอาจสามารถชักนำคำชายเข้าไปในพระราชสถานชั้นในและชักนำคำหญิงออกมานอกพระราชสถาน หรือส่งข่าวสนสื่อโดยเหตุทุจริตประการใดเล่าไซร้ ท่านว่าผู้ชักสื่อนั้นถึงอุกฤษฐ์โทษ พระอัยการบทนี้ได้แก่โทษอีเพียน อีซ่ม ผู้ชักสื่อ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า โทษหมื่นราชามาตย์ หม่อมแช่ม อีเพียน อีซ่ม ทั้งสี่คนเป็นอุกฤษฐ์โทษ ดุจดั่งพระราชกฤษฎีกาบทพระอัยการที่ท่านวางไว้นั้นแล้ว ขอพระราชทานให้ถอดหมื่นราชามาตย์และหม่อมแช่มทั้งสองออกจากถานานุศักดิ์ ให้ลดยศลงเปนอ้ายอีมีชื่อตามเดิม แล้วให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนหลัง จมื่นราชามาตย์ หม่อมแช่ม อีเพียน อีซ่ม ทั้งสี่คน สามยกเก้าสิบที แล้วให้ราชมัญนำคนทั้งสี่นี้ ไปประหารชีวิตร์ตัดศีร์ษะเสียบประจานไว้ณะหัวตะแลงแกง อย่าให้คนทำเยี่ยงอย่างสืบต่อไปภายน่า แล้วให้เจ้าพนักงานทุกกระทรวงไปริบราชบาทว์จมื่นราชามาตย์ เก็บบุตร ภรรยา ค่าทาสชายหญิง มาเปนไพร่หลวงในโรงสีวิเศษทั้งสิ้น อีกทั้งเคหะสถาน บ้านเรือน เรือแพนาวา แลเรือกสวนไร่นา ช้างม้าโคกระบือซึ่งเปนวิญญาณกะทรัพย์ กับพัศดุเงินทองสิ่งของเครื่องอันมุนี ซึ่งเปนอะวิญญาณกะทรัพย์ของจมื่นราชามาตย์นั้น ให้ริบราชบาทว์เป็นของแผ่นดินทั้งสิ้น” (น. 926-928)

พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อจมื่นราชามาตย์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงอาลัยรักจมื่นราชามาตย์เพราะทรงชุบเลี้ยงมาแต่ยังเยาว์วัย จมื่นราชามาตย์เป็นข้าหลวงเดิม หนึ่งในบรรดาเก้าคนที่พระราชทานพรว่า หากไม่ทำขบถจะไม่ทรงประหารชีวิต ทรงรำลึกถึงบทบาทของจมื่นราชามาตย์ที่เคยทำความชอบไว้แก่พระองค์ถึง 2 ครั้ง คือครั้งแรกเป็นผู้อาสาจับเจ้าฟ้าไชยที่พระที่นั่งวิหารสมเด็จมหาปราสาท และครั้งที่ 2 ได้จับพระศรีสุธรรมราชามาถวาย

พระองค์มีพระราชดำรัสให้ขุนหลวงพระไกรสีห์ทบทวนตัวบทกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะมีข้อใดที่สามารถลบล้างความผิดของ จมื่นราชามาตย์ได้หรือไม่ เพราะเป็นผู้มีความชอบอย่างยิ่ง

 ผลการพิจารณาของขุนหลวงพระไกรสีห์ที่แก้พระราชกระทู้ย้อนสัตย์คำปฤกษาโทษ

ขุนหลวงพระไกรสีห์ได้ทำความเห็นของตนขึ้นกราบบังคมทูลว่า

ข้าพระพุทธเจ้าตรวจพบพระราชกฤษฎีกามาตราหนึ่ง พระอัยการท่านว่าไว้มีดังนี้ ถ้าผู้ใดมีความชอบใหญ่หลวงสักเท่าใดๆ จะยกมากลบลบล้างอุกฤษฐ์โทษ (หมายถึงโทษสูงสุด – ผู้เขียน) และมะหันตะโทษ (โทษร้ายแรง – ผู้เขียน) ไม่ได้เปนอันขาด ดุจครั้งนี้ที่จมื่นราชามาตย์กระทำความผิดล่วงพระราชอาชญาคบหาเปนชู้สู่หาหม่อมแช่มชาวพนักงานนางอยู่งานฝ่ายใน ต้องถึงอุกฤษฐ์โทษทั้งหญิงชาย แต่จมื่นราชามาตย์ได้ทำความชอบไว้แต่หลังมีมากนั้นก็จริงอยู่ แต่จะกลบลบล้างความผิดอุกฤษฐ์โทษครั้งนี้ไม่ได้ต้องด้วยบทพระอัยการ ให้นำจมื่นราชามาตย์ไปประหารชีวิตร์ตัดศีร์ษะเสียบประจานไว้ณะหัวตะแลงแกงอย่าให้ผู้ที่ความชอบทำเยี่ยงอย่างต่อไป พบในพระราชกฤษฎีกาดังนี้ ควรมิควรสุดแท้แต่จะทรงพระมหากรุณาโปรฎเกล้าฯ ขอเดชะ (น. 933)

คำพิพากษาลูกขุนศาลาใน

คณะลูกขุนศาลาในอันประกอบด้วยข้าราชการ 25 คน ดังนี้ เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาโกษา เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยาสุรสงคราม เจ้าพระยาราชวังสันเสนี เจ้าพระยาเศียรขันธ์ เจ้าพระยาหุเซงขาร เจ้าพระยารามจัตุรงค์ เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ เจ้าพระยาราชภักดี พระยาเพชรพิไชย พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยารามเดโช พระยาเพทธราชา พระยาอภัยโนริด พระยาอนุชิตราชา พระยามหาอำมาตย์ พระยาราชนิกุล พระยาเทพวรชุน และ พระยาสุรเสนา เห็นสมควรให้ประหารชีวิตจมื่นราชามาตย์ เพื่อ

จะได้เปนตัวอย่างในทางราชการแก่ผู้มีความชอบมากและน้อยต่อไปในภายน่า ด้วยธรรมดาแบบอย่างโบราณท่านว่าไว้ว่า “นิ้วไหนเปนแผลร้ายรักษาไม่หายควรที่จะตัดนิ้วร้ายนั้นเสีย ถ้าขืนเอานิ้วร้ายนั้นไว้แผลนั้นก็จะลามกินนิ้วดีที่อื่นๆ ด้วย ภายหลังก็จะเสียไปเปนหลายนิ้วดังนั้น” (น. 936)

ซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

คำขอครั้งสุดท้ายของนักโทษประหาร

จมื่นราชามาตย์รับสารภาพทุกข้อหา และขอรับพระราชอาชญาตามตัวบทกฎหมายทุกประการ แต่ขอไว้ชีวิตบุตร ภรรยา ครอบครัว ญาติมิตร เพราะบุคคลเหล่านี้มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของตนแต่อย่างใด ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาต

โทษที่ได้รับ

นักโทษประหารทั้ง 3 คน คือ อีแช่ม อายุ 18 ปี (ถูกลดสถานภาพแล้ว) อีเพียน ทาสอายุ 26 ปี และ อีซ่ม โขลนอายุ 46 ปี ถูกเฆี่ยน 3 ยก 90 ที และนำไปประหารชีวิตตัดศีรษะเสียบไว้ที่หัวตะแลงแกง

ฝ่ายอ้ายเผื่อนราชามาตย์ อายุ 21 ปี ยังไม่ได้อุปสมบท ถูกนำตัวไปที่คอกช้างพะเนียด เพื่อให้กระบือเปลี่ยวขวิดให้ตาย แต่ไม่สำเร็จเพราะอ้ายเผื่อนมีวิชาฝังเข็มทองคำไว้ในร่าง ซึ่งเถรคงพระอาจารย์ทำไว้ให้ ทุกครั้งที่กระบือพุ่งและขวิดเข็มทองคำจะเคลื่อนมาตามร่างรับเขากระบือไว้ ไม่เป็นอันตรายแต่ร่างกลิ้งไปมาหลายทอด อ้ายเผื่อนราชามาตย์เห็นว่าตนจะต้องตาย แต่เพื่อไม่ให้เป็นการตายอย่างลำบาก จึงจะขอถอนคุณไสยออกจากร่างของตน โดยร้องขอยอดผักปลัง 5 ยอด ผลมะเฟือง และน้ำขันหนึ่ง ประสมกันแล้วเคี้ยวกลืนไป เข็มทองคำและเลขยันต์ก็กระเด็นออกจากร่าง

คำประกาศของชายชาติทหาร

อ้ายเผื่อนราชามาตย์ ทหารเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ร้องประกาศในท่ามกลางผู้ชมพิธีสำคัญ ซึ่งรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมากว่า

เทพยดาจ้าวทั้งหลาย จงตั้งโสตประสาทฟังคำประกาศของข้าพเจ้า แล้วขอเปนทิพยานในการที่จะตายนี้ด้วย ข้าพเจ้าผู้ละสุจริตธรรมสามัคคี แล้วประพฤติทุจริตคิดมิชอบ ลักลอบล่วงพระราชอาชญาพระจ้าวอยู่หัวของข้าพเจ้าๆ มีความผิดจึงสู้ยอมถวายชีวิตร์ ให้เปนตัวอย่างในทางราชการต่อไปในภายน่า เทพยะดาทั้งหลายซึ่งมีทิพยเนตร ทิพยโสตประสาท ได้ฟังประกาศฉนี้แล้ว ขอจงช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพระเกียรติยศสมเด็จพระจ้าวอยู่หัวของข้าพเจ้า ให้ทรงพระเจริญพระชนมายุศม์ยืนยาวยิ่งขึ้นไป ทั้งพระบารมีให้ผ่องใสให้ปราศจากสรรพภยันตราย ข้าพเจ้าจะขอกราบถวายบังคมลาตายในวันนี้ ค่า (ข้า) กับเจ้าจะไม่ได้เห็นกันสืบต่อไปอีกแล้ว ทำไมแก่โทษข้าพเจ้าที่จะถึงที่ตายครั้งนี้ ถ้าจะคิดหนีก็จะหายตัวหลบหลีกหนีหายไป ก็จะพ้นราชไภย์ให้ชีวิตร์รอดได้ ผู้ใดใครเล่าจะกล้าสามารถไปติดตามจับข้าพเจ้ามาได้ก็ไม่มีตัวแล้ว ครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้ศึกตัวว่ามีความผิดจึงยอมถวายชีวิตร์ให้เปนตัวอย่างในทางราชการสืบต่อไปในภายน่า โดยความกระตัญญูต่อจ้าวข้าวแดง ถ้าจะหายตัวหนีไป ก็กลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศสมเด็จพระจ้าวอยู่หัวอันมีพระคุณยิ่งใหญ่ ขอเทพยะดาจงได้เปนทิพยานของข้าพเจ้า โดยความกระตัญญูด้วยเทอญ (น. 945)

หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก

ชะตาชีวิตของอ้ายเผื่อนราชามาตย์ คงไม่โชคร้ายเหมือนนางวันทอง ภรรยาขุนแผน ที่ได้รับอภัยโทษแล้ว แต่เกิดความเข้าใจผิด นางจึงถูกประหารชีวิตในที่สุด แต่ในกรณีอ้ายเผื่อนนี้ จมื่นเสมอใจราช พนักงานรายงานกำกับกรมพระนครบาลนำคดีขึ้นกราบบังคมทูลในทันที สมเด็จพระนารายณ์ผู้โปรดทหารหาญเหนือสิ่งอื่นใด พระราชดำริที่ว่า “ชายที่มีฝีมือหายาก แต่หญิงรูปงามนั้นหาง่าย” นั้นดังกังวานอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดเวลา มีพระราชโองการให้งดเว้นการประหารชีวิตอ้ายเผื่อนและให้นำมาเฝ้าในทันที โปรดให้อ้ายเผื่อนอุปสมบทในสำนักพระสังฆราช

หลังจากอุปสมบทได้ไม่นานนัก ทรงพระกรุณาโปรดให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กนำพระเผื่อนราชามาตย์ไปฝากแขกพ่อค้าขายผ้าไปส่งยังเกาะลังกา ไปอาศัยอยู่ในพระอารามวัดหน้าพระธาตุในเมืองศิริวัฒน์ เวลาผ่านไปเมื่อคุณปานเป็นราชทูตจำทูลพระราชสารไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2229 คุณปานได้แวะนมัสการพระทาฒธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) และได้พบกับพระเผื่อนราชามาตย์ซึ่งขอลาสิกขาออกตามคุณปานไปยังประเทศฝรั่งเศสด้วย คุณปานได้พานายราชามาตย์กลับมายังกรุงศรีอยุธยาด้วย และนายราชามาตย์ก็มีโอกาสรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนารายณ์ไปตามลำดับ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยานครราชสีมาแทนท่านบิดาผู้วายชนม์ นายราชามาตย์ถึงแก่กรรมในสมัยพระเพทราชา

ชะตากรรมของครอบครัวจมื่นราชามาตย์

สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์รับตัว แฉล้ม ภรรยาพระราชทานของจมื่นราชามาตย์ ไปอุปถัมภ์ไว้ พร้อมกับบุตรชายอายุ 2 ขวบ ต่อมาพระราชทานนามว่า บัวผัน นอกจากนี้ได้พระราชทานเงิน 50 ชั่ง แก่เจ้าพระยานครราชสีมา ผู้เป็นบิดาของจมื่นราชามาตย์

บทสรุป

เรื่องราวของจมื่นราชามาตย์และหม่อมแช่ม เป็นเรื่องธรรมดาระหว่างชายหนุ่มวัย 21 ปี กับหญิงสาววัย 18 ปี ที่ผูกสมัครรักใคร่กัน แต่ที่พิเศษก็คือฝ่ายหญิงเป็นนางใน ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามอย่างยิ่ง เรื่องทำนองนี้คงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และชะตาของหญิงชายก็หลีกเลี่ยงพระอัยการสูงสุดไปไม่ได้ จมื่นราชามาตย์เป็นคนพิเศษที่รอดพ้นจากโทษทัณฑ์ประหารชีวิต เพราะ “เจ้าชีวิต” ที่ทรงเห็นคุณค่าของฝีมือนักรบ อีกทั้งสัจจะของนักโทษ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พระยากลาโหม (ทองอิน) ที่มีเรื่องลอบสมัครรักใคร่กับหม่อมวันทา ด้วยเหตุผลที่ว่า “หญิงงามหาง่าย แต่ชายมีฝีมือหายาก” เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ก.ศ.ร. กุหลาบ. สยามประเภท เล่ม 4.

______.  สยามประเภท เล่ม 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2562