ขุนหลวงสรศักดิ์ ดักชกหน้าฟอลคอน พร้อมกล่าว “ช่างฟ้องดีนัก ให้รู้ฤทธิ์คนไทยเสียบ้าง”

ฟอลคอน ออกญาวิไชเยนทร์
ฟอลคอน หมอบกราบอยู่ด้านพระที่นั่ง ในเหตุการณ์คณะราชทูตฝรั่งเศส นำโดยเชอวาลิเยร์ เดอ โชมอง (Chevalier de Chaumont) เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์แด่สมเด็จพระนารายณ์ ภาพพิมพ์ลายเส้นโดย Jean-Baptiste Nolin

พฤติกรรมและการกระทำของ คอนสแตนติน ฟอลคอน ก่อให้เกิดความเกลียดชังฝรั่งให้กับข้าราชการสยามเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ พระเพทราชา และ ขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเฝ้าจับตามองพฤติกรรมฟอลคอนด้วยความไม่ไว้วางใจมาตลอด และได้แสดงความเกลียดชังฟอลคอนอย่างเปิดเผย มีเหตุการณ์ระหว่าง ขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งกำลังเป็นหนุ่มเลือดร้อนกระทบกระทั่งกับฟอลคอนบ้างบางครั้ง

บาทหลวงเดอ แบส ได้บันทึกไว้ว่า “วันหนึ่งขุนหลวงสรศักดิ์สั่งให้จับคนอังกฤษสองคนซึ่งรู้ดีว่าทั้งสองเป็นเพื่อนฟอลคอน ฟอลคอนต้องไปกราบทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงปล่อยชาวอังกฤษทั้งสองออกจากที่คุมขัง ทำให้ขุนหลวงสรศักดิ์ไม่พอใจ พยายามที่จะหาเรื่องด่าว่าท้าทายฟอลคอนตลอดเวลาที่มีโอกาส เพื่อยั่วให้เขาโกรธและต่อสู้

ฟอลคอนพยายามใจเย็นและหลีกเลี่ยง เมืื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ โปรดให้มีการสอบสวนผลปรากฏว่า ขุนหลวงสรศักดิ์เป็นฝ่ายผิด จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาโบยขุนหลวงสรศักดิ์ ทำให้ขุนหลวงสรศักดิ์หาเรื่องจับผิดฟอลคอนมากขึ้น

กระทั่งมาถึงเรื่องที่ฟอลคอนสึกพระสงฆ์ ๒ รูป ออกมาจากวัด และบังคับให้ทำงานโยธา ขุนหลวงสรศักดิ์เข้าเฝ้ากราบทูลฟ้อง สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเพียงรับทราบ แต่มิทรงจัดการอย่างใด จึงเมื่อได้ประจันหน้ากับฟอลคอนท่ามกลางผู้คน โดยความตั้งใจขุนหลวงสรศักดิ์ได้ใช้กำปั้นชกโครมเข้าที่ใบหน้าฟอลคอน จนปากแตกฟันหลุดออกมาสองซี่”

ในบางบันทึก กล่าวถึงสาเหตุที่ขุนหลวงสรศักดิ์ชกหน้าฟอลคอนว่า เกิดจากการที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงล่วงรู้แผนการชิงสมบัติของพระเพทราชา จึงตรัสถามฟอลคอน ซึ่งเขาก็กราบทูลรับว่าที่ทรงทราบนั้นเป็นความจริง เรื่องนี้เมื่อล่วงรู้ไปถึงพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ ก็มีความโกรธเคืองมาก ขุนหลวงสรศักดิ์ จึงดักชกหน้าฟอลคอนพร้อมกับพูดว่า “ช่างฟ้องดีนัก ให้รู้ฤทธิ์คนไทยเสียบ้าง”

ฟอลคอนได้เข้าเฝ้าทูลฟ้องพร้อมกับพยานหลักฐานคือ เลือดปากและฟันที่หัก สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรับทราบเหตุการณ์ และขอร้องฟอลคอนมิให้เอาเรื่อง ส่วนขุนหลวงสรศักดิ์ซึ่งรู้ดีถึงความผิดของตนในครั้งนี้จึงได้หลบหนีไปหาเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งพระองค์ทรงให้ความเคารพอย่างสูง และได้ขอร้องให้พระนมเข้ามากราบทูลขอพระราชทานอภัยให้ เรื่องจึงสงบ

ฟอลคอนได้รับเพียงสิ่งของและมหรสพพระราชทานเพื่อทำขวัญ แต่ก็เท่ากับทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. สำนักพิมพ์มติชน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2566