ญาติออกญาวิไชเยนทร์โผล่ โต้ประวัติ “ฟอลคอน” ร่อนเร่ แท้จริงสืบสายขุนนาง

ภาพเขียน ออกญาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนาง สมัย พระนารายณ์
ออกญาวิไชเยนทร์ (บ้างเรียกพระยาวิไชยเยนทร์) หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน

“ญาติออกญาวิชาเยนทร์โผล่ โต้ประวัติสายตระกูลเป็นขุนนาง แจงหลักฐานตั้งแต่สมัยพระนารายณ์” คือบทความในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2540 ของ อาจารย์ภูธร ภูมะธน เขียนเล่าประสบการณ์ที่ได้พบกับ “ญาติ” ของ ออกญาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางต่างชาติสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) ถึง 2 คราวด้วย

การพบทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นได้อย่างไร, มีหลักฐานหรือข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ ฯลฯ อาจารย์ภูธร ภูมะธน เล่าไว้ดังนี้ (เพิ่มหัวข้อย่อย จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

Advertisement

พบเครือญาติ ออกญาวิไชเยนทร์

ใครจะนึกว่าอยู่ดีๆ ในยุคสมัยนี้จะได้พบกับใครสักคนแล้วแนะนำตัวเองว่าข้าพเจ้า [อาจารย์ภูธร ภูมะธน] นั้นมีนามสกุลเดียวกับออกญาวิไชเยนทร์ และเป็นญาติกับออกญาวิไชเยนทร์ ฝรั่งตาน้ำข้าวผู้มีชีวิตโลดแล่นยิ่งนักเมื่อสามร้อยปีก่อน ในราชอาณาจักรสยาม

ครับเป็นเรื่องจริงที่ผมได้พบมาโดยไม่คาดฝัน และได้พบกับสิ่งไม่คาดฝันมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของเขา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

วันหนึ่งของ พ.ศ. 2533 ผมได้ไปธุระที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรี ได้พบกับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์โดยบังเอิญ ในขณะที่เธอเดินมากับฝรั่งผู้ชายคนหนึ่ง เธอได้แนะนำผมให้รู้จักโดยบอกว่า ฝรั่งผู้นี้มาสอบถามเรื่อง ออกญาวิไชเยนทร์ ขอให้ผมได้ช่วยรับไปอธิบายให้ฟังด้วย

ฝรั่งผู้นั้นได้แนะนำตนเองว่ามีนามสกุลเดียวกับออกญาวิไชเยนทร์ คือนามสกุล เยรากี (GERAKIS, GERACHI) บรรพบุรุษเป็นชาวกรีก แต่ปัจจุบันได้ย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ที่มาลพบุรีนี้เป็นการเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก อยากรู้เรื่องของออกญาวิไชเยนทร์ รวมทั้งสถานที่เกี่ยวข้องกับขุนนางฝรั่งผู้นี้

ผมเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ยินดังนั้นแทบขนหัวลุก เพราะยากนักที่จะทราบว่าบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยานั้นจะมีเชื้อสายตกหล่นตกทอดกันจนถึงปัจจุบัน อีกทั้ง “ออกญาวิไชเยนทร์” หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็เป็นคนที่มีประวัติน่าศึกษาติดตาม ซึ่งมีผู้เขียนเรื่องราวของท่านผู้นี้ไว้หลายเล่มด้วยกัน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่าอีกมุมหนึ่งของโลกยังมีญาติของท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่

หนังสือชื่อ เยรากี เหยี่ยวนกเขา โดย รศ.ศุภรัตน์ เลิศพานิชย์กุล ได้ให้ประวัติของท่านผู้นี้อย่างละเอียดซึ่งพอสรุปได้ว่า ออกญาวิไชเยนทร์ เมื่อเด็กมีชื่อว่า คอนสแตนติโน เยรากี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2190 ที่เมืองคัสโตด เกาะเซฟาโลเนีย ประเทศกรีซ พออายุได้ 13 ปี ก็อำลาบ้านเกิดออกมาผจญชีวิตแสวงหาโชคลาภตามลำพัง โดยสมัครเป็นเด็กรับใช้ในเรือสินค้าของอังกฤษ ตั้งแต่ขัดรองเท้า ยกอาหาร ล้างจาน มีโอกาสท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ และด้วยความเฉลียวฉลาดและเป็นคนตั้งใจ จึงทำให้พูดภาษาอังกฤษ และภาษาโปรตุเกสได้

ต่อมาได้ย้ายมาทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่เมืองบันตัม เกาะชวา ช่วงนี้ทำให้รู้ภาษามาเลย์อีกภาษา ต่อมาได้ลาออกจากบริษัทระยะหนึ่งเพื่อค้าขายส่วนตัวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับเข้าทำงานในบริษัทอีก จนถึง พ.ศ. 2221 จึงได้เดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออก ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันวันออกของอังกฤษ สาขากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับได้ลักลอบทำการค้าแสวงหาประโยชน์เข้าตัวด้วย

พ.ศ. 2223 ได้ลาออกจากบริษัทเข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้า ได้ทำงานหลายชนิดเป็นที่พอใจแก่ราชการ ได้รับตำแหน่งที่ ออกหลวงสุรสาคร เริ่มมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์และได้กราบบังคมทูลเรื่องราววิทยาการ และความเจริญของโลกตะวันตกแก่พระองค์

ใน พ.ศ. 2228 ได้รับการเลื่อนยศเป็น ออกพระฤทธิกำแหงภักดี และได้แอบแฝงค้าขายกับกรมพระคลังสินค้าเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวดังที่เคยชิน ทำให้ร่ำรวยมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถสร้างคฤหาสน์ได้ใหญ่โตโอ่อ่า ทั้งที่พระนครศรีอยุธยา และที่เมืองลพบุรี

ใน พ.ศ. 2228 ออกพระฤทธิกำแหงภักดี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ต้อนรับคณะทูตชุดแรก จากราชสำนักฝรั่งเศสและเป็นผู้แทนฝ่ายไทยเจรจาความเมือง จึงเป็นโอกาสทองสำหรับบุคคลอย่างเขาในการฉกฉวยประโยชน์นี้ ด้วยการสร้างความสนิทสนมและประทับใจกับคณะทูต รวมทั้งได้พยายามหาช่องทางให้เป็นที่โปรดปรานจากราชสำนักฝรั่งเศส เพื่อประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ หากเคราะห์ร้ายต้องถูกเนรเทศจากเมืองไทยก็สามารถอาศัยฝรั่งเศสเป็นที่พักพิง และอีกประการหนึ่งคือความคิดอันทะเยอทะยานอยากได้อำนาจมาเป็นของตนเอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต จึงได้วางแผนให้ฝรั่งเศสสนใจยึดครองอาณาจักรอยุธยา ด้วยการส่งกองทหารเข้ามา แล้วจะได้ใช้กองกำลังทหารนั้นเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจ

แผนชั่วร้ายนี้คงมิได้เป็นที่ระแคะระคายแก่สมเด็จพระนารายณ์ ตรงข้ามใน พ.ศ. 2230 เขากลับได้รับตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือนเป็นถึงที่ สมุหนายก ในราชทินนามว่า ออกญาวิไชเยนทร์ อย่างไรก็ตาม ขุนนางไทยกลุ่มหนึ่งที่มีพระเพทราชา (เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์) และอดีตเอกอัครราชทูตไทยที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสคือ ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) พอจะทราบแผนการร้ายนี้ และโชคก็ไม่เข้าข้างออกญาวิไชเยนทร์โดยตลอด เพราะในระยะนั้นเองสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก แกนนำกู้ชาติทั้งสองท่านดังกล่าวจึงได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจของสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังเมืองลพบุรี

ออกญาวิไชเยนทร์ถูกจับและถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่วัดซาก ข้างทะเลชุบศร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 เมื่อมีอายุเพียง 41 ปี เป็นการจบชีวิตนักผจญภัยผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกที่เริ่มชีวิตในวัยเยาว์ด้วยการร่อนเร่พเนจรตามท้องทะเลจนในที่สุดได้มาเป็นถึง สมุหนายก แห่งราชอาณาจักรสยาม พรั่งพร้อมด้วยเกียรติยศและเงินตรา แต่ในที่สุดต้องจบบทบาทของตนตั้งแต่อายุยังน้อยโดยถูกประหารชีวิต ถูกริบทรัพย์สมบัติ ครอบครัวล่มสลาย

ญาติของออกญาวิไชเยนทร์ผู้นี้ จะมีนิสัยเหมือนหรือไม่เหมือนบรรพบุรุษของเขาหรือไม่ก็ตาม ผมไม่ใคร่จะสนใจ คงคิดเพียงแต่ว่าน่าจะมีสิ่งอันเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์จากครอบครัวนี้ จึงสนใจรีบรับช่วงต่อจากหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ นำไปชมสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับออกญาวิไชเยนทร์ที่เมืองลพบุรี จากนั้นก็ร่ำลากันโดยไม่ลืมแลกเปลี่ยนนามบัตรกันไว้เป็นที่ระลึก

มาถึงปลาย พ.ศ. 2537 ผมได้รับทุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสให้ไปศึกษาค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงเรื่องนี้ จึงรื้อนามบัตรออกมาดู เขียนจดหมายนัดพบเพื่อว่าอาจจะมีแง่มุมอะไรดีๆ ที่เก็บรักษาอยู่กับครอบครัวของเขา และก็คาดไม่ผิดเลย

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 ผมออกจากบ้านพักชานกรุงปารีสตอนตี 5 เศษ ไปขึ้นเครื่องบินภายในประเทศจากกรุงปารีสไปยังเมืองมาร์ซายส์ ซึ่งใช้เวลาบินเพียงหนึ่งชั่วโมง ออกกรุงปารีสอากาศมืดครื้มและหนาว พอถึงมาร์ซายส์แดดออกสว่างจ้า อากาศอบอุ่นสมกับเป็นเขตย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

มาดามเยรากี

ที่สนามบินเมืองมาร์ซายส์ ภรรยาของเขาซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า มาดามเยรากี ก็ได้มาคอยต้อนรับ โดยบอกว่าสามีของเธอติดประชุมช่วงเช้า และได้มอบหมายให้มารับรองแทนโดยการพาเที่ยวชมสถานที่ที่น่าสนใจของเมืองมาร์ซายส์ก่อน จนถึงเวลาเที่ยงจึงจะกลับไปที่บ้านซึ่งสามีเธอจะคอยอยู่ที่นั่น และจะได้รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน

มาดามเยรากีเป็นผู้หญิงวัยกลางคนอายุไม่น่าจะเกิน 55 ปี ท่าทางคล่องแคล่ว พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จากนั้นจึงนำผมไปชมโบสถ์ที่สำคัญๆ ทิวทัศน์ย่านชายทะเล ภูเขาย่านเก่าแก่ของเมืองจนถึงเวลาเที่ยงจึงนำไปยังบ้านพัก

บ้านของเธอตั้งอยู่ที่เชิงเขา มองจากสวนหน้าบ้านจะเห็นตัวเมืองและอ่าว ทำเลสวยเหมือนภาพในปฏิทินไม่มีผิด ผมชมเชยว่าโชคดีของครอบครัวเยรากี ที่มีบ้านพักในทำเลอันวิเศษดังกล่าว เธอรีบพยักหน้ารับว่าเป็นความจริง แถมยังเสริมต่อไปว่า บรรยากาศแบบชนบทของเมดิเตอร์เรเนียนที่เธออยู่นี้ อีกเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถเดินทางสู่ความสมัยใหม่ของเมืองมาร์ซายส์ได้

เมื่อมาดามเยรากีนำผมไปถึงบ้านก็พบว่าญาติของออกญาวิไชเยนทร์ที่ผมเคยพบเมื่อ 4 ปีก่อน ยืนยิ้มคอยต้อนรับอยู่ที่ประตู ใส่สูทอย่างโก้ พร้อมบุตรสาวซึ่งเป็นด็อกเตอร์ทางประวัติศาสตร์และสนใจค้นคว้าประวัติของตระกูลเช่นกัน ผมนั้นลืมเลือนใบหน้าของแกเรียบร้อยแล้ว มาพบอีกทีก็เหมือนคนรู้จักใหม่

ได้คุยกันในเรื่องประวัติศาสตร์กันก่อนอาหารสักพักใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องความหมายของคำว่า “เยรากี” (GERAKIS) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ฟอลคอน (Falcon หรือ Hawk) อันแปลเป็นไทยว่า “เหยี่ยว” สำหรับออกญาวิไชเยนทร์นั้นในช่วงที่มารับราชการในราชสำนักสยาม ได้เปลี่ยนชื่อสกุลจากภาษากรีก เป็นภาษาอังกฤษโดยใช้คำว่า ฟอลคอน

ฉะนั้นในเอกสารของชาวตะวันตกมักจะเรียกจะชื่อบุคคลนี้ว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน

ญาติโต้ ฟอลคอนมีเชื้อสายขุนนาง ไม่ใช่ยากจนอย่างเรื่องเล่า

ญาติ ออกญาวิไชเยนทร์ ผู้ที่ผมได้พบนั้น มีชื่อเต็มว่า จอง โคลด เยรากี (Jean Claude GERAKIS) ซึ่งต่อไปนี้ผมจะขอเรียก เมอซิเออร์เยรากี ปัจจุบันมีอายุ 62 ปี มีปู่เป็นชาวกรีกและเป็นเจ้าของสายการเดินเรือระหว่างกรีกกับยุโรปเหนือ ปู่อพยพอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนบิดานั้นเกิดในฝรั่งเศส ในเวลานี้ครอบครัวเขาพูดภาษากรีกกันไม่ได้อีกแล้ว อาชีพในปัจจุบันคือประกอบธุรกิจค้าไม้ระหว่างตะวันออกกับยุโรป รวมทั้งค้าไม้สักจากประเทศไทยด้วย

ได้พูดคุยกันตั้งแต่ก่อนรับประทานอาหารกลางวันจนถึงบ่ายและย่ำค่ำเกือบสองทุ่ม ได้ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ คือ

เรื่องประวัติของออกญาวิไชเยนทร์ ซึ่งโดยทั่วไปจะรู้จักกันดีว่า มีกำเนิดจากครอบครัวยากจน เป็นลูกกำพร้า ออกร่อนเร่พเนจรเพื่อความอยู่รอดของชีวิต และในที่สุดได้มารับราชการในราชอาณาจักรสยาม เป็นขุนนางที่กษัตริย์สยามโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง จนได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นถึง “สมุหนายก”

ประเด็นประวัติครอบครัวออกญาวิไชเยนทร์ เมอซิเออร์เยรากีขอโต้แย้งพร้อมนำหลักฐานมายืนยันว่า เรื่องชาติกำเนิดของออกญาวิไชเยนทร์ที่รู้จักกันแพร่หลายนั้นผิดจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วตระกูลเยรากีเป็นตระกูลชั้นสูง สามารถสืบประวัติตระกูลไปได้ไกลจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16

บิดาของออกญาวิไชเยนทร์นั้นชื่อ ดอน จิออ จิโอ เยรากี (Don Giorgio GERACHI) เป็นถึงข้าหลวงของเกาะเซฟาโลเนีย ส่วนมารดานั้นชื่อ ซานเนตตา โฟกา ซูปีอานาโต (Zannetta-FOCA-SUPIANATO) เธอมาจากครอบครัวชั้นสูงเช่นกัน เคยมีสมาชิกทางตระกูลของมารดาเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซนทีนถึงสององค์

ชื่อสกุลเยรากีนี้ได้บันทึกในหนังสือสมุดทอง (Golden Book) ซึ่งเป็นหนังสือรวมชื่อสกุลชั้นสูงของเกาะเซฟาโลเนียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1593 เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว เมอซิเออร์เยรากีได้นำหนังสือที่มีชื่อประวัติของตระกูลนี้ที่พิมพ์ขึ้นใหม่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทำนองหนังสือ Who is Who ให้ผมดูหน้าแรกเริ่มจากภาพตราประจำตระกูลที่เป็นรูปเหยี่ยวยืนอยู่ใต้มงกุฎฝรั่ง ดูแล้วขึงขังสมเป็นตระกูลชั้นสูงจริงๆ ด้านล่างบรรยายประวัติของสมาชิกในตระกูลตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เรื่อยมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของออกญาวิไชเยนทร์

จากนั้นให้ผมดูภาพวาดสีน้ำมันเป็นรูปต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขาและมีชื่อบุคคลกำกับ ซึ่งฝรั่งจะเรียกว่า แฟมิลี่ ทรี (Family Tree) ด้านข้างของรูปต้นไม้เป็นรูปโบสถ์ขนาดเล็กหลังหนึ่ง ซึ่งเมอซิเออร์เยรากีได้อธิบายว่าเป็นโบสถ์ประจำตระกูลเยรากี บนเกาะเซฟาโลเนีย โบสถ์หลังดังกล่าวนี้ในปัจจุบันไม่เห็นแล้ว เพราะได้เกิดแผ่นดินไหวที่เกาะเซฟาโลเนีย ทำให้โบสถ์ต้องถล่มทลาย แต่ยังโชคดีที่มีรูปถ่ายของโบสถ์ก่อนเกิดแผ่นดินไหว และยังได้นำมาให้ผมชมด้วย

เรื่องของออกญาวิไชเยนทร์เป็นผู้ดีเก่า เป็นลูกข้าหลวงอะไรทำนองนั้น อาจจะเป็นเรื่องจริงตามหลักฐานที่เมอซิเออร์เยรากีนำมายืนยัน แต่เพื่อนนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งของผมเล่าว่า เมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อนพวกฝรั่งร่ำรวยพยายามสืบสาวประวัติเรื่องราวของตระกูลของตน โดยการจ้างค้นคว้า จ้างเขียน ผู้รับจ้างเหล่านี้ต่างก็พยายามค้นคว้าและลากโยงตระกูลนั้นๆ สำคัญให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นก็คือพยายามลากโยงให้เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญๆ ของประเทศ หรือกษัตริย์พระองค์ต่างๆ และแน่นอนที่สุดจะไม่พยายามลากโยงให้เกี่ยวข้องกับทาสหรือไพร่ผู้ใดผู้หนึ่ง ฉะนั้นเรื่องทำนองนี้ต้องเชื่อหูไว้หู

ผมจึงถามเมอซิเออร์เยรากีต่อไปว่า แล้วเหตุไฉนหลักฐานฝรั่งจำนวนมากจึงบรรยายว่าออกญาวิไชเยนทร์มาจากครอบครัวชั้นต่ำ มีความทะเยอทะยาน และเป็นจอมวางหมากกล จนในที่สุดตนเองต้องรับเคราะห์กรรม เมอซิเออร์เยรากีตอบว่า เป็นเพราะข้อเขียนของ เคานต์เดอ ฟอร์บัง ซึ่งอยากจะเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน แต่สู้ออกญาวิไชเยนทร์ไม่ได้ อิจฉาออกญาวิไชเยนทร์ เมื่อกลับมาฝรั่งเศสก็ได้เขียนเล่าเรื่องออกญาวิไชเยนทร์ เพื่อให้ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม

อีกทั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์โดยพระเพทราชาใน พ.ศ. 2231 นั้น ฝรั่งเศสต้องยอมแพ้กลับไป ออกญาวิไชเยนทร์ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ต่อการสร้างเงื่อนไขแห่งความสัมพันธ์ทั้งสอง จึงถูกตำหนิและทับถม แท้จริงแล้วออกญาวิไชเยนทร์มิใช่คนเลว และต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวมาก

ถึงเช่นนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่างหากที่ทรงไม่ฉลาดพอในการคัดเลือกคนมาปฏิบัติงานในสยาม คนเหล่านี้ต่างไม่ปรองดองกันและมาทะเลาะกันในสยาม ฝรั่งเศสจึงไม่สามารถบรรลุผลอันทะเยอทะยานยิ่งนั้นได้ พร้อมกับยังได้เหน็บต่อไปว่า ปราสาทของตระกูลเดอ ฟอร์บัง ก็อยู่ใกล้ๆ บ้านเขานี้เอง และเขาก็รู้จักบุคคลในตระกูลนี้ในปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่ก็ทราบมาว่าตระกูลนี้เพิ่งจะขายปราสาทไปเมื่อเร็วๆ นี้ “เจ้าของโรงงานผลิตไวน์ที่วางบนโต๊ะนี้ไงเป็นผู้ซื้อไป”

ผมฟังแล้วรู้สึกอัศจรรย์ในเรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่ง ว่าเหตุไฉนที่เหตุการณ์ก็ได้ผ่านพ้นไปถึงสามร้อยปีเศษแล้ว แต่ยังมีตะกอนแห่งเงื่อนงำเป็นสายใยให้ผู้คนได้ถกเถียง เหน็บแนมนานนับศตวรรษจนถึงบัดนี้ และไกลสุดไกลจนถึงอีกขอบหนึ่งของโลก

จากนั้นบุตรสาวเมอซิเออร์เยรากีได้นำเอกสารเกี่ยวกับออกญาวิไชเยนทร์ที่เธอได้รวบรวมมาจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสมาให้ดู และก็ใจดีอนุญาตให้ก๊อปปี้มาทั้งหมด บางเรื่องก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่นเรื่องบัญชีเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระนารายณ์ และพระราชธิดา รวมทั้งออกญาวิไชเยนทร์ได้พระราชทาน และให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญๆ ของรัฐบาลฝรั่งเศส

สิ่งมีค่ายิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้พบในครอบครัวญาติของออกญาวิไชเยนทร์ในครั้งนี้คือ ได้เห็นภาพเขียนสีน้ำมันขนาดสูง 110 ซม. กว้าง 75 ซม. เป็นภาพเขียนของเหตุการณ์คราวสมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคือ เมอซิเออร์ เชอวาเลีย เดอ โชมอง ทูลเกล้าฯ ถวายที่พระบรมมหาราชวังพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2228

ภาพนี้หากดูเผินๆ แล้วจะคล้ายกับภาพที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งจิตรกรเอกของไทยคนหนึ่งคือ “จำรัส เกียรติก้อง” ได้วาดไว้เมื่อ พ.ศ. 2509 โดยก๊อปปี้แบบจากภาพพิมพ์เก่าของฝรั่งเศส แต่หากได้พิจารณาในรายละเอียดแล้ว ภาพที่อยู่ในครอบครองของเมอซิเออร์เยรากีจะแตกต่างจากภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ นั่นก็คือท่านเอกอัครราชทูตถือพานถวายพระราชสาสน์โดยตรง มิใช่ถือพานที่มีด้ามยาว

ผมไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ ณ ที่ไหนมาก่อน และคิดว่าสำหรับประเทศไทยแล้วคงจะมีค่าควรเมือง ภาพดังกล่าวนี้แขวนอยู่ในห้องนั่งเล่นเหนือเปียโนในบ้านของเมอซิเออร์เยรากี

ผมได้ถามถึงประวัติที่มาของภาพดังกล่าว เมอซิเออร์เยรากีเล่าวว่า เป็นภาพที่ได้รับมรดกตกทอดจากบิดา ซึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าเป็นภาพที่บาทหลวงท่านหนึ่งได้เขียนขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา และเมื่อท่านเอกอัครราชทูตเชอวาเลีย เดอ โชมองเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ออกญาวิไชเยนทร์ได้ฝากภาพนี้ไปด้วย เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวของเขาที่เกาะเซฟาโลเนีย และได้เก็บรักษาอยู่ที่นั่น จนกระทั่งถึงรุ่นปู่ เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ก็ได้นำติดตัวมาด้วย

เมอซิเออร์เยรากีก็ได้ปลดรูปภาพจากผนังที่แขวนนำมาให้ผมถ่ายรูป ตอนที่ปลดลงมานั้นเกือบจะทำเอาแจกันกระเบื้องขนาดใหญ่โค่นล้ม เมื่อผมได้พิจารณาภาพอย่างใกล้ชิด ความรู้สึกแรกๆ ของผมซึ่งไม่ได้เป็นช่างเขียนภาพนั้นคือเป็นภาพเขียนที่เก่าแก่มาก แต่ฝีมือไม่ค่อยจัดจ้านนัก เมอซิเออร์เยรากีได้เล่าเสริมต่อไปอีกว่าเคยนำภาพนี้ไปให้ช่างซ่อมแซม ช่างบอกว่าเป็นภาพเก่า หากซ่อมและทำความสะอาดก็จะยิ่งทำให้ภาพเสียหายมากยิ่งขึ้น

ผมค่อนข้างเชื่อในเรื่องประวัติของภาพดังที่เมอซิเออร์เยรากีเล่า คือเป็นภาพที่มีอายุอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จริง พร้อมกับอยากจะเชื่อต่อไปอีกว่า ภาพของบุคคลต่างๆ น่าจะเป็นภาพเหมือนจริง เป็นต้นว่าภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนารายณ์ ภาพออกญาวิไชเยนทร์ที่แต่งกายแบบฝรั่ง แต่หมอบกราบตามธรรมเนียมขุนนางไทย ภาพเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคือ เมอซิเออร์เชอวาเลีย เดอ โชมอง ภาพบาทหลวงสังฆราชแห่งเมเตโลโปลิศ ผมกดชัตเตอร์ก๊อปปี้อย่างไม่ยั้งมือ ทั้งภาพสไลด์ ภาพสี และส่วนรายละเอียดต่าง ๆ

แต่อนิจจา เมื่อเดินทางกลับถึงดอนเมือง กระเป๋าซึ่งใส่ฟิล์มเอกสารที่ค้นหามาได้ กล้องถ่ายรูป ไม่ยอมตามลงมา กลับติดเครื่องไปยังไซ่ง่อน อีก 3 วันจึงกลับมาถึงดอนเมือง เมื่อรื้อออกดูปรากฏว่าถูกคุ้ยกระจาย กล้องถ่ายรูปหายไปรวมทั้งม้วนฟิล์มที่ถ่ายมาจำนวนหนึ่ง คงเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานไม่กี่ภาพ ผมนั้นเดินทางด้วยการรับทุนจึงต้องใช้บริการของสายการบินแอร์ฟร้านซ์ แต่จนบัดนี้ก็ยังหาผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียในการทำงานครั้งนี้ของผมไม่ได้

ผมก็ขอโชว์รูปจะที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมดในกระเป๋าที่ได้คืนมาให้ท่านผู้อ่านได้ชื่นชมมา ณ ที่นี้ และต้องขอแสดงความเสียใจที่ในจำนวนนี้ไม่มีรูปของเมอซิเออร์เยรากีอยู่ด้วย

ผมขอขอบคุณกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และโดยเฉพาะครอบครัวเยรากี ผู้มีส่วนทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมาบอกกล่าวกับทุกท่านได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565