โฆษณาชวนเชื่อนาซี เผยความเจ็บปวดของ “ฮิตเลอร์” อย่างไม่ตั้งใจ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ป่วย โรคพาร์กินสัน
ฮิตเลอร์พบปะนายทหาร, ภาพราว ค.ศ. 1936-1945 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อชิ้นหนึ่งของนาซี ซึ่งถูกเผยแพร่ก่อนจักรวรรดิไรซ์ที่ 3 ของ ฮิตเลอร์ จะล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝั่งยุโรปยุติลง ด้วยเหตุผลทางการเมือง วิดีโอนี้ควรถูกทำลายทิ้ง แต่มันกลับถูกเก็บไว้ เพราะฟุตเทจดังกล่าวได้เผยความลับบางอย่างที่ฟือเรอร์แห่งนาซีเยอรมันพยายามปกปิด นั่นคืออาการมือไม้สั่นอย่างชัดเจนของเขาเอง อันเชื่อว่าเป็นผลมาจาก “โรคพาร์กินสัน”

เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ใน YouTube โดย Smithsonian Channel :

Advertisement

งานวิจัยมากมายระบุว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รุมเร้า ทั้งอาการลำไส้แปรปรวน แผลที่ผิวหนัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจ ซิฟิลิส โรคบุคลิกภาพผิดปกติ รวมถึงการติดสารเสพติด ซึ่ง “พาร์กินสัน” ก็เป็นโรคที่ถูกพูดถึงกันมาก เพราะมีอาการแสดงออกชัดเจน สังเกตได้ไม่ยาก

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) คือโรคที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย มีอาการสั่นบริเวณมือ เคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ โดยเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง ทำให้การผลิตสาร “โดพามีน” ลดลง ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ หรือคนอายุ 50 ปี ขึ้นไป

ยังไม่แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุทำให้การผลิตสารโดพามีนลดลงได้บ้าง แต่พาร์กินสันอาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้ด้วย และมีปัจจัยกระตุ้นจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งคือยารักษาความผิดปกติทางจิต หรือยากล่อมประสาทต่าง ๆ สารเสพติดกลุ่ม “หลอนประสาท” จึงส่งผลต่อการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วย

มีข้อมูลว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีอาการของโรคพาร์กินสัน เนื่องจากเขาใช้สารเสพติดอย่าง แอมเฟตามีน (Amphetamine) หรือ “ยาบ้า” (ยาม้า) ทุกวันเพื่อกระตุ้นร่างกายให้ขยันทำงานมากกว่าคนปกติ จากบันทึกเอกสารสั่งจ่ายยาของแพทย์ประจำตัวเขา

นั่นทำให้ฮิตเลอร์ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคพาร์กินสันที่มีอาการสั่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น

บันทึกทางการแพทย์ระบุว่า ฮิตเลอร์ มีอาการสั่นอย่างชัดเจนใน ค.ศ. 1934 ขณะอายุ 45 ปี คนใกล้ตัวของเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ แม้แพทย์จะรู้ถึงอาการดังกล่าว แต่ไม่มีใครวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นพาร์กินสันโดยตรง เพียงบอกอาการดังกล่าวกับไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บัญชาการทหารคนสนิทของฮิตเลอร์เท่านั้น

ตอนแรก ฮิตเลอร์มักปกปิดอาการสั่นที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ด้วยการสอดมือไว้ในกระเป๋าเสื้อหรืออุปกรณ์ช่วยอย่างไม้เท้า แต่เมื่อโรคลุกลาม อาการชัดมากขึ้น เขาจึงปรากฏตัวต่อสาธารณชนน้อยลง และอนุญาตให้ถ่ายภาพตนเองจากมุมที่ไม่เผยให้เห็นมือซ้ายที่สั่นเทา ฮิตเลอร์ต้องการเก็บงำความเจ็บป่วยนี้ไว้ให้เป็นความลับมากที่สุด เพราะกังวลว่าชาวเยอรมันจะผูกอาการดังกล่าวกับความแก่ชราหรือความอ่อนแอของตน

อาการนี้จึงไม่ถูกกล่าวถึงในบันทึกความทรงจำคนสนิททุกคนที่ใกล้ชิดฮิตเลอร์ ยกเว้นอัลเบิร์ต สเปียร์ (Albert Speer) รัฐมนตรีกระทรวงคลังสรรพาวุธของเขา

มีความเป็นไปได้ว่า ฮิตเลอร์อาจติดเชื้อจากไวรัสที่ทำให้สมองหรือไขสันหลังบวม หรือโรคหลังไข้สมองอักเสบ (post-encephalitic Parkinsonism) จากอาการปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นของเขา นอกจากนี้ เขายังมีภาวะกล้ามเนื้อบนใบหน้ากระตุก อาการพูดซ้ำ ๆ และภาวะผิดปกติเรื่องการนอนหลับด้วย

บทความของ อับราฮัม ลีเบอร์แมน (Abraham Lieberman) แห่งสถาบันประสาทวิทยาและมูลนิธิโรคพาร์กินสันแห่งสหรัฐอเมริกา สันนิษฐานว่า เมื่อปี 1918 ฮิตเลอร์ในวัย 29 ปี อาจป่วยเป็นโรคหลังไข้สมองอักเสบขณะรักษาตัวและพักฟื้นจากก๊าซพิซอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งมันส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคมของเขาหลังจากนั้น ทั้งความหมกมุ่นและแรงผลักดันอันสุดโต่งในลัทธิฟาสซิสต์ ตลอดจนความโหดร้ายทารุณและความเกรี้ยวกราดของเขา

ฮิตเลอร์จึงอาจมีอาการของโรคนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 แล้ว ก่อนรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1934

น่าเสียดายที่ร่างของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในวันอัตวินิบาตกรรมของเขา เมื่อ 30 เมษายน 1945 ถูกทำลายแทบจะทันทีหลังเสียชีวิต การชันสูตรเพื่อศึกษาสมองของเขาจึงไม่เกิดขึ้นเพื่อไขความกระจ่างในเรื่องนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4683874/

https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/parkinsons-disease

https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=34&chap=8&page=t34-8-infodetail08.html

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/1353802096000053#:~:text=Adolf%20Hitler%20had%20Parkinson%20symptoms,encephalitic%20rather%20than%20idiopathic%20parkinsonism


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2567