เปิดประเพณีอันซีน “นาคมอญ” ทำไมต้องแต่งตัวสวยเป็นผู้หญิงก่อนบวช?

นาคมอญ บวชนาค นาค มอญ การแต่งสวยก่อนบวช
(ซ้าย) ชุดแต่งกายนาคเณร (บวชลูกแก้ว) ในงานปอยส่างลองของชาวไตชุมชนวัดกู่เต้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2551,(ขวา) ชุดแต่งกายนาคมอญบ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราว พ.ศ. 2550

พุทธศาสนิกชนชาวไทยคงคุ้นกับการ “บวชนาค” อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละชุมชนก็มีรายละเอียดต่างกันไป เช่น การบวชแบบมอญในชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ “นาคมอญ” จะต้องแต่งตัวให้สวยก่อนบวช ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่ามีแบบนี้มาก่อน

การลงมือแต่งตัวนาคมอญ ให้สวยก่อนบวช เริ่มในเช้าวันสุกดิบ (วันก่อนที่จะบวช 1 วัน) ญาติมิตรโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง จะรุมกุมตัวนาคเข้าสู่พิธีกรรมทีละขั้นทีละตอน เริ่มตั้งแต่ “ว่าที่นาค” จะถูกจับนั่งกลางลานบ้าน อาบน้ำ มีคนล้อมหน้าล้อมหลัง ญาติมิตรเข้ามาแย่งกันอาบน้ำ ถูตัว ฟอกสบู่ ลงขมิ้นจนผิวเหลือง โดยยังไม่ต้องปลงผม

Advertisement

จากนั้นก็ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่องให้เป็น “นาค” เรียบร้อยแล้วจึงแห่แหนกันไปลาศาลเจ้าที่ประจำวัด ศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน และขอขมาญาติผู้ใหญ่จนทั่วหมู่บ้าน ตกเย็นก็จะเป็นพิธี “บะอะยัง” หรือทำขวัญนาค เมื่อถึงเวลา เพื่อนฝูงญาติผู้ใหญ่จะอุ้มแหนนาคมาสู่ปะรำพิธี ให้นาคนั่งหมอบพับเพียบต่อหน้า “อาจาบะ” หรือหมอทำขวัญ ห้อมล้อมด้วยพ่อแม่พี่น้องและผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหมู่บ้าน

เหตุใด “นาคมอญ” จึงต้องแต่งตัวสวยก่อนบวชเหมือนผู้หญิง

คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกงานบวชพระหรือบวชเณรว่า “ปะล็องปะยัง” หรือ “ส่งนาค (เข้าโบสถ์)” ด้วยผู้หญิงทำได้เพียงเท่านั้น ไม่อาจก้าวล่วงพ้นธรณีประตูโบสถ์ร่วมพิธีอุปสมบทในอุโบสถอย่างผู้ชายได้ เข้าใกล้พิธีได้มากที่สุดเพียงหน้าประตูอุโบสถเท่านั้น

นับเป็นการร่วมบุญตามประสาที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ในอดีตวัดมอญหลายแห่งจึงเจาะรูขนาดเล็กไว้ที่ผนังด้านหน้าอุโบสถ สำหรับให้ผู้หญิงได้จับสายสิญจน์และกรวดน้ำระหว่างทำพิธีอุปสมบท

การทำพิธีภายในอุโบสถจะเข้าได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงได้แต่ส่งนาคเข้าประตู แล้วนั่งรออยู่หน้าโบสถ์ ด้วยว่าสตรีเป็นศัตรูของเพศพรหมจรรย์ การที่คิดเช่นนี้ น่าจะเป็นด้วยเพศชายเองที่รู้ตัวว่าตนนั้นมีจิตอ่อนก็ได้ หากเห็นอะไรวอมแวม จิตใจวอกแวก จะร้อนผ้าเหลืองสึกหาลาเพศออกมาเสียเท่านั้น

พุทธศาสนาจึงแบ่งวัดออกเป็นเขตพุทธาวาสที่คนทั่วไปเข้าได้ เช่น วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนเขตสังฆาวาสนั้นห้ามผู้หญิงเข้า แม้แต่ผู้ชายถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเข้า เช่น กุฏิสงฆ์ อุโบสถ

การแต่งตัวให้นาคมอญที่จะบวชเณร-บวชพระ แต่ละท้องถิ่นก็จะจัดเต็มต่างกันไป แต่ชุมชนมอญที่นาคแต่งกายกระเดียดไปทางผู้หญิงอย่างมากคือ ชุมชนมอญพระประแดง ที่สมุทรปราการ

นาคชุมชนพระประแดง ผ้านุ่งจะเป็นผ้าม่วงหรือผ้ายกดอกปักเลื่อมอย่างดี นุ่งแบบจีบหน้านาง มีชายพก ส่วนผ้าห่มนิยมใช้สไบจีบของผู้หญิงและห่มแบบผู้หญิง ทิ้งชายด้านหนึ่งไปข้างหลัง การแต่งนาคเช่นนี้ น่าจะเกิดจากผู้หญิงเข้าทำหน้าที่จัดหาเครื่องแต่งกายและช่วยแต่งกายให้

บางคนเชื่อว่าเป็นการแต่งกายนาคที่จงใจให้คล้ายพุทธลักษณะของพระพุทธรูป ที่มีความงามละม้ายผู้หญิง พักตร์อิ่ม คิ้วโก่ง อกผาย เอวกิ่ว แขนขาเรียว ดังนั้นความงามของนาคจึงทับซ้อนกับพระพุทธรูปที่มีความงามแบบผู้หญิง

ขณะที่บางคนให้คำอธิบายใหม่ว่า เป็นเพราะผู้หญิงไม่สามารถอุปสมบทและเข้าร่วมพิธีในอุโบสถได้ โดยเฉพาะอุโบสถของวัดมอญนั้นห้ามผู้หญิงเข้าอย่างเด็ดขาด (ปัจจุบันวัดมอญในเมืองไทยยังคงธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้เป็นเพียงบางวัด) ด้วยเหตุนี้ ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจึงจงใจแต่งกายให้ “นาคมอญ” เป็นผู้หญิง เหมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายหญิงในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาเพื่อพบนิพพานเช่นเดียวกับฝ่ายชาย

คติเดิมนั้น เหตุที่ “นาคมอญ” แต่งกายอย่างวิจิตรพิสดาร มาจากความเชื่อที่อิงอยู่กับพุทธประวัติว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกทรงผนวช หรือปุถุชนที่ครองเพศฆราวาส แม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมายเพียงใด เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้น

คนมอญจึงนำเอาพุทธประวัติมาเล่าผ่านพิธีบวชนาค ถือเป็นคติในการบวชนาค นาคมอญจึงถูกแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยเหตุนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก องค์ บรรจุน. “ธรรมเนียมแต่งสวยก่อนบวช” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2567