มะพร้าวอ่อน-มะพร้าวน้ำหอม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มะพร้าว
ภาพประกอบจาก กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน

มะพร้าวอ่อน และ มะพร้าวน้ำหอม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ในการโยกย้ายถิ่นฐานของคนสมัยก่อน พืชพรรณที่ต้องนำติดตัวไปด้วย มักพบเห็นกล้วย อ้อย มะพร้าว พืชเหล่านี้ นอกจากจำเป็นต่อชีวิตประจำวันแล้ว ยังพบเห็นการใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ยกเสาเอกบ้านต้องใช้ต้นกล้วย งานแต่งต้องมีต้นอ้อย

เคยมีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับทางราชการในการปักปันเขตแดน ทางราชการบอกว่า ชาวบ้านรุกที่ป่าสงวนฯ ชาวบ้านบอกว่า เขาอยู่มานาน อยู่ก่อนทางการจะเข้ามาเสียอีก โดยให้ดูต้นมะพร้าว อายุ 70-80 ปี

มะพร้าว เป็นพืชอยู่คู่กับคนไทย ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะประโยชน์มีมากมายเหลือเกิน

รู้จัก “มะพร้าว” 

รากมะพร้าว…เป็นสมุนไพรใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาแก้ท้องเสีย

ลำต้น…เมื่ออายุ 40-50 ปีขึ้นไป เลื่อยมาทำเป็นสิ่งก่อสร้าง อย่างโรงเรือนเลี้ยงไก่ หรือทำพื้นบ้าน แต่มีข้อควรระวังอย่าให้ถูกแดดถูกฝน…ชาวบ้านที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เดิมใช้ไม้ตาลมากลึงเป็นของที่ระลึก ของใช้ ต่อมาต้นตาลหายากจึงหันมาใช้ต้นมะพร้าวแทน

ทางมะพร้าวหรือก้านใบ…ที่แห้งแล้ว นิยมนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาเครื่องปั้นดินเผา พบมีใช้มากแถวเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ใบสดของมะพร้าวนำมาสานเป็นชะลอมใส่ผลไม้ ลดโรคร้อนได้ดี เส้นกลางใบ นำมาทำไว้กวาด ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ที่อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี

เปลือกมะพร้าว…เปลือกแห้ง นำมาทำกาบมะพร้าวสับ เป็นวัสดุปลูกต้นไม้…ขุยมะพร้าวก็นิยมใช้กัน เขาปั่นละเอียด อุ้มน้ำได้ดี นอกจากใช้กันในเมืองไทยแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้เปลือกมะพร้าวยังนำไปทำที่นอน…ยังมีเปลือกมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอม ที่ปอกกันสดๆ เมื่อก่อนแถบจังหวัดราชบุรี ถูกทิ้งเกิดมลภาวะ เพราะย่อยสลายช้า ปัจจุบันเขามีเครื่องปั่นให้ชิ้นเล็กลง แล้วนำไปทำไฟฟ้า เรียกกันว่าไฟฟ้าชีวมวล ทำกันจริงจังระดับมหาชน

กะลา…กะลาอ่อน ทางใต้นำมาแกง เรียกกันว่ามะพร้าวเหมง ส่วนกะลามะพร้าวแก่นำมาทำของใช้ ของที่ระลึก หากนำมาเผาถ่านได้ไฟแรง

เนื้อมะพร้าว…หากเป็นมะพร้าวแกง จุดเริ่มต้นของการแปรรูป คือการทำกะทิ จากกะทิ ก็นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ชีวิตประจำวันของคนไทย วันหนึ่งตื่นขึ้นมา จนกระทั่งเข้านอน ต้องกินอาหารหรือขนมที่ทำจากกะทิ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตกะทิสำเร็จรูปพร้อมปรุงอาหารจำหน่าย จึงสะดวกสบาย…

เรื่องกะทิบางคราวก็เกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม จังหวัดเหล่านี้ปลูกมะพร้าวแกงกันมาก โดยทั่วไป หากฝนฟ้าอากาศปกติ ผลผลิตกับความต้องการของผู้บริโภคจะสมดุลกัน

แต่ปีใดฝนแล้ง แมลงระบาด ผลผลิตจะลดลง ทางโรงงานจะขาดแคลนผลผลิต จึงจำเป็นต้องนำเข้าผลมะพร้าวจากประเทศที่มีมาก อย่างศรีลังกา ฟิลิปปินส์ บางปีอาจจะมีการนำเข้ามามากเกิน แล้วซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในประเทศน้อย ส่งผลให้ราคามะพร้าวแถบอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขายได้ราคาต่ำ

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเดินขบวนเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียกร้องกับรัฐบาล เรื่องราวทำนองนี้เป็นมานานแล้ว หลังๆ การนำเข้าของบริษัทผู้ผลิตกะทิ นอกจากนำเข้าผลมะพร้าวแล้ว ยังนำกะทิสดเข้ามาโดยตรง

มะพร้าวอ่อน VS มะพร้าวน้ำหอม

เนื้อมะพร้าวอ่อน…เป็นของคู่กันกับน้ำมะพร้าวอ่อน

การบริโภคเนื้อมะพร้าวกับน้ำ เดิมเรียกกันว่า “มะพร้าวอ่อน” หลังๆ มักเรียกว่า “มะพร้าวน้ำหอม”  ซึ่งอย่างหลังถูกเรียกมากกว่า

เข้าใจกันว่า การบริโภคมะพร้าวอ่อน คงมีมาพร้อมๆ กับการรู้จักใช้ประโยชน์จากมะพร้าวแกง ทั้งนี้เพราะน้ำมะพร้าวบางต้นมีรสหวาน เนื้ออ่อนนุ่ม ชวนให้กินเล่น จึงกินติดต่อกันมา

ก่อนหน้านี้ เริ่มมีการปลูกและจำหน่ายมะพร้าวอ่อนในเมืองใหญ่ ราว พ.ศ. 2512-14 ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง เพลงแม่ค้ามะพร้าวอ่อน ต้นฉบับขับร้องโดย เรียม ดาราน้อย ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “สวนสน” นำแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ ยอดชาย เมฆสุวรรณ ช้องมาศ ภุมรา เวอร์ชั่นปัจจุบัน ขับร้องโดย คัฑลียา มารศรี เนื้อเพลงสนุกสนานมาก โดยเฉพาะท่อนที่ว่า…ผัวกินเมียหวาน…ปัจจุบันยังมีคนนำคำนี้มาใช้กับการขายของในสินค้าบางชนิด

เนื้อเพลง บางตอน แม่ค้ามะพร้าวอ่อน

มาแล้วจ้า มาแล้วจ้า

แม่ค้าขายมะพร้าวอ่อน

อากาศร้อนๆ

น้ำมะพร้าวอ่อนกินแล้วชื่นใจ

มะพร้าวน้ำหอม

รสชาติหวานกล่อม

ซาบซ่านหวานใน

ผัวกินเมียหวาน

ไม่ต้องใส่น้ำตาลกินได้

เชิญซิคะ คุณขา

ไม่ซื้อไม่หา ไม่ว่าอะไร

การนำมะพร้าวอ่อนมาบริโภคพร้อมเนื้อ สมัยก่อนคงไม่ได้พิถีพิถันแยกแยะ มีอย่างไหนก็กินกันอย่างนั้น มาระยะหลังได้ค้นพบลักษณะเฉพาะ จึงมีการขยายต่อ โดยเฉพาะมะพร้าวอ่อน ที่มีลักษณะก้นจีบ

มะพร้าวอ่อน ที่มีลักษณะก้นจีบ (ภาพจาก กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน)

ราว พ.ศ. 2500 เป็นที่ฮือฮามาก ที่ฟาร์มอ่างทอง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ปลูกมะพร้าวลักษณะโดดเด่น เจ้าของฟาร์มคือ คุณเทพ ทองคำใส นายช่างชลประทาน มะพร้าวที่ว่า ลักษณะของผล เด่นตรงที่ก้นจีบ ผลขนาดใหญ่ ติดผลเร็ว ดก น้ำหอม หวาน เนื้อนุ่ม จากนั้นจึงขยายไปยังบริเวณใกล้เคียง อย่างอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี

ขณะเดียวกัน มะพร้าวที่นำมากินผลอ่อน โดยทั่วไป ยังพบลักษณะก้นผลกลม แต่น้ำไม่หอม ความนิยมจึงสู้ลักษณะก้นจีบไม่ได้

ปัจจุบันฟาร์มอ่างทองไม่ได้ปลูกมะพร้าวแล้ว แต่ได้เปลี่ยนเป็นร้านอาหาร ชื่อ “ฟาร์มอ่างทอง”

คุณปิยาภรณ์ ทองคำใส ลูกสะใภ้ของ คุณเทพ ทองคำใส บอกว่า ปัจจุบันคุณเทพเสียชีวิตแล้ว หากยังอยู่ จะมีอายุราว 100 ปี

“คุณพ่อได้พันธุ์มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำมาปลูกและเผยแพร่ บริเวณที่ปลูกเรียกกันว่าประตูน้ำอ่างทอง เชื่อมระหว่างคลองภาษีเจริญกับแม่น้ำท่าจีน…คนมาซื้อไปปลูกเยอะ ในหลายพื้นที่ ทุกวันนี้ไม่ได้ปลูกมะพร้าว แต่ทำร้านอาหาร เป็นอาหารไทย อาหารพื้นบ้าน อยู่ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน” คุณปิยาภรณ์บอก

เพราะคุณสมบัติโดดเด่นของมะพร้าวก้นจีบ จึงมีเกษตรกรปลูกจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศ อย่างเวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา ปีหนึ่งนำเงินเข้าประเทศมากมายมหาศาล ใครที่เดินทางไปท่องเที่ยวแถวอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร สิ่งที่พบเห็นคือแปลงปลูกมะพร้าว เต็มสองข้างทาง รวมทั้งล้งแปรรูปมะพร้าวเพื่อการส่งออก

อาจารย์ประทีป กุณาศล ที่ปรึกษาของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่า จากการเดินทางไปดูงานเกษตรหลายประเทศ เช่น บราซิล ที่ผลิตน้ำมะพร้าวอ่อนจำหน่ายรายใหญ่ ไม่พบลักษณะมะพร้าวอ่อนที่ให้กลิ่นหอม ประเทศอื่นก็ไม่พบเช่นกันอย่างฟิลิปปินส์และศรีลังกา ที่เวียดนามปลูกก็ไม่หอม

“มะพร้าวน้ำหอมบ้านเราหนึ่งเดียวในโลก เจ้าของฟาร์มอ่างทองปลูกแล้วก็คัดพันธุ์ เป็นแปลงใหญ่ ดังมาก เขาทำร้านอาหารด้วย นำมะพร้าวมาทำไอศกรีม วันเสาร์และอาทิตย์คนเต็ม สมัยที่ผมเป็นเด็กๆ ที่บ้านก็ไปซื้อมาปลูก เจ้าของฟาร์มอ่างทองคนรุ่นพ่อผม มะพร้าวก้นจีบมีความหอมชัดเจน เวลานำมาควั่นเป็นทรงเพชร ไม่แตกง่าย” อาจารย์ประทีป คนบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ให้ข้อมูล

ความหอมของมะพร้าวเกิดจากยีนในมะพร้าว ปัจจัยอื่นที่ช่วยให้หอมมากน้อยคือพื้นที่ปลูก อย่างพื้นที่ปลูกเป็นดินเหนียว น้ำทะเลขึ้นถึงเป็นบางช่วง ดินลักจืดลักเค็ม ผลผลิตในพื้นที่จะมีน้ำหวาน มีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น

มีการนำมะพร้าวก้นจีบไปปลูกหลายที่ ทุกภาคของไทย ส่วนหนึ่งมะพร้าวก้นจีบที่ปลูกยังคงมีลักษณะเดิมคือน้ำหวาน มีกลิ่นหอม…มีไม่น้อยที่กลิ่นหอมลดลง แต่ความหวานยังคงอยู่

มะพร้าวเพื่อการค้าทุกวันนี้ หากปลูกแล้วได้ผลขนาดที่พอเหมาะ รสชาติหวาน ก็สามารถจำหน่ายได้

แต่คนก็เรียกมะพร้าวอ่อน ที่นำผลมากินน้ำและเนื้อว่า “มะพร้าวน้ำหอม” มากกว่าที่จะเรียกว่ามะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหวาน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2565