ทําไมองุ่นเป็นผลไม้ยอดนิยมของไฮโซในยุคสามก๊ก

องุ่น แดง เหลือง เขียว ม่วง ในบทความ สามก๊ก
ภาพประกอบเนื้อหา - องุ่น (ภาพจาก https://pixabay.com/)

ในเอกสารยุค ราชวงศ์ฮั่น และถังมีการบันทึกถึง “องุ่น” ผลไม้ ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลสาบแคสเปียน องุ่นก็ค่อยๆ แพร่ไปทางตะวันออก เนื่องตามการย้ายถิ่นของมนุษย์ในเอเชียตะวันตกและเอเชียกลางตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์จนถึงยุคโบราณ  

พงศาวดารสื่อจี้เล่ม 123 บทประวัติแคว้นต้ายวน บันทึกไว้ว่า ยุคราชวงศ์ฮั่น ดินแดนแถบแคว้นต้ายวนใช้องุ่นทำเหล้า (ไวน์) คนรวยมีเหล้าองุ่นเก็บถึงหมื่นกว่าต้าน (ถังใหญ่) เก็บนานนับสิบปีก็ไม่เสีย คนชอบกินเหล้าองุ่น ม้าชอบกินต้นถั่วมู่ชีว์ ทูตราชวงศ์ฮั่นได้เมล็ดพันธุ์มา ฮ่องเต้จึงได้เริ่มปลูกองุ่นและถั่วมู่ซีว์ในที่ซึ่งดินดี…แม้ในถิ่นที่ห่างวังก็ปลูกองุ่นและมู่ซีว์ไปสุดสายตา แต่ในยุคราชวงศ์ฮั่น องุ่นส่วนมากปลูกในอุทยานหลวง ไม่ปรากฏบันทึกเรื่องการปลูกองุ่นนอกวังอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ถึงยุค สามก๊ก องุ่นยังเป็นของโปรดชนิดหนึ่งในอุทยานหลวง แต่มิได้มีเฉพาะในวังเท่านั้น หากแพร่พันธุ์ไปนอกวัง มีปลูกในหมู่บ้านเช่นกัน บันทึกเรื่องสังคมในยุคราชวงศ์วุ่ย-จิ้น และราชวงศ์เหนือ-ใต้ ปลูกองุ่นมีอยู่ไม่น้อย เช่น

หนังสือไท่ผิงอี้ว์หล่าน เล่ม 972 บทว่าด้วยผลไม้ ตอนที่ 9 ยกข้อความจากบันทึกฉินโจวมาว่า “ทุ่งเมืองฉินโจวปลูกองุ่นมาก” เมืองฉินโจว (ที่ว่าการอยู่ที่เมืองเทียนสุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ปลูกกันมาก, หนังสือคัมภีร์สมุนไพรกล่าวว่า “องุ่นปลูกที่เมืองอู่หยวน หล่งซี ตุนหวง บำรุงพลังและจิตใจ ทำให้สมบูรณ์แข็งแรงคล่องแคล่ว”

หลังจากราชวงศ์ฮั่นองุ่นแพร่ออกจากอุทยานหลวงไปสู่ชาวบ้านย่านเมืองหลวงในเขตกวนจง (ในด่าน) ก่อน ในยุคราชวงศ์วุ่ยและจิ้น การปลูกองุ่นขยายไปภาคตะวันออกอยู่ตลอดเวลา ในยุคราชวงศ์วุ่ยแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนล่างทางภาคตะวันออก พวกขุนนางและผู้ดีเริ่มปลูกองุ่นกันแล้ว

ในยุคสามก๊กถึงราชวงศ์เหนือใต้ ไวน์องุ่นแพร่หลาย เรื่องนี้ต้องขอบคุณพระเจ้าวุ่ยเหวินตี้ หรือโจผี

โจผีน่าจะเป็นกษัตริย์ผู้โปรดองุ่นมากที่สุดในโลก มากถึงขนาดเขียนพระราชโองการเรียกประชุมขุนนางเป็นร้อยแก้วพรรณนาองุ่นและไวน์องุ่น ดังความตอนหนึ่งว่า

“ผู้ดีสามชั่วคนจึงจะรู้เรื่องเสื้อผ้า ผู้ดีห้าชั่วคนจึงจะรู้เรื่องดื่มกิน นั่นก็คือเรื่องเสื้อผ้าดื่มกินนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ดีจะแยกแยะไม่ออก…ผลไม้ของจีนมีมาก

แต่ขอพูดถึงองุ่น จากฤดูร้อนเข้าฤดูใบไม้ร่วง เมานอนไม่แจ่มใส บังน้ำค้างพลางกิน หวานแต่ไม่เป็นน้ำเชื่อม เปรี้ยวแต่ไม่จี๊ด เย็นแต่ไม่หนาว รสฉ่ำน้ำมาก ดับร้อนลดกระหาย หากหมักเป็นเหล้า หวานกว่าจิ๋ว์ป๋อ เมาสบายสร่างง่าย

แค่พูดถึง ก็น้ำลายไหล แล้วได้กินจะขนาดไหน ผลไม้อื่นจะมีอะไรเทียบได้?”

เมื่อบุคคลระดับจักรพรรดิเช่นโจผีสนับสนุนและโฆษณาให้ การปลูกองุ่นและการทำเหล้าองุ่นในยุคราชวงศ์วุ่ย-จิ้น ก็รุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่องุ่นและเหล้าองุ่นจะเป็นของโปรดที่สุดของชนชั้นสูง และองุ่นได้รับยกย่องเป็นผลไม้ชั้นสูง

แต่ไม่เพียงโจผีเท่านั้นที่มีคุณูปการต่อองุ่นและเหล้าองุ่น วัฒนธรรมพุทธศาสนาก็มีส่วนช่วยเสริมให้องุ่นและเหล้าองุ่นแพร่หลาย

แม้องุ่นจะแพร่เข้าสู่จีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่น แต่การแพร่กระจายและความนิยมแพร่หลายได้รับแรงสนับสนุนจากพุทธศาสนาอย่างมิอาจแยกออกจากกันได้ ในพุทธศาสนายกย่องลายเครือเถาองุ่นเป็นลายมงคล ในคัมภีร์ธรรมคุปตวินัย เล่ม 50 กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

ใช้ลายเครือเถาองุ่นประดับสถูปเจดีย์และกุฏิพระสงฆ์จะช่วยเพิ่มความขรึมขลัง ที่ถ้ำอชันตาคูหาวิหารรุ่นแรกของอินเดีย…ลายเครือเถาองุ่นมักประดับอยู่บนพระเศียรหรือข้างพระวรกายของพระพุทธรูป สืบเนื่องไปตามความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในยุคราชวงศ์วุ่ย-จิ้น จนถึงราชวงศ์สุยและถัง ลายเครือเถาองุ่นก็ได้เข้าไปอยู่ที่ถ้ำตุนหวง อวิ๋นกัง หลงเหมิน อันเป็นถ้ำทางพุทธศาสนาของจีน

ในบันทึกแดนตะวันตก ของพระถังซำจั๋งเล่ม 2 บันทึกว่า ในอินเดียโบราณยกย่องเหล้าองุ่น ไม่ให้ความสำคัญแก่เหล้าที่ทำจากข้าว ดังข้อความว่า “สุรามีวรรณะสูงต่ำและรสชาติต่างกัน สุราองุ่นและสุราอ้อยเป็นเครื่องดื่มของวรรณะกษัตริย์ สุราที่ร้อนแรงนั้นพวกวรรณะแพศย์ดื่ม” ส่วนพวกพราหมณ์และนักบวชไม่ดื่มสุรา ดื่มแต่น้ำผลไม้คั้น นิยมน้ำองุ่นมากที่สุด

ค.ศ. 630 พระถังซำจั๋งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อิเดีย แว่นแค้นตลอดจนเส้นทางแถบตะวันตกของจีน เช่น กุยจือ (คุจี) และเมืองซู่เย่สุ่ย (ซูยับ) ขอพวกเติร์ก ล้วนใช้องุ่นทำน้ำปานะถวายพระภิกษุ

สรุปความได้ว่า องุ่น ผลไม้ ชนิดนี้ เป็นผลไม้ไฮโซในสมัย สามก๊ก ก็ด้วยเหตุดังนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก หลี่ฉวนจวินและคณะ-เขียน, ถาวร สิกขโกศล-แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์แรก กรกฎาคม 2556. เรียบเรียงโดย เสมียนนารี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2565