ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เราเรียก “ลูกองุ่น” ที่อบแห้งว่า “ลูกเกด” ทั้งที่เราเรียกต้นมันว่า “องุ่น” เรียกผล (องุ่น) สดว่า ลูกองุ่น แต่ทำไมเมื่อถูกทำให้แห้งจึงกลายเป็นลูกเกดไปเสียได้ อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องราวนี้?
องุ่นกับลูกเกด
องุ่นเป็นผลไม้ที่มีความเป็นมายาวนานร่วมหมื่นปี ถิ่นกำเนิดคือแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงทะเลสาบแคสเปียน ตั้งแต่ภูมิภาคคัปปาโดเคียในตุรกี จอร์เจีย เทือกเขาคอเคซัส ฝั่งตะวันออกของทะเลดำ ทั้งมีการพบร่องรอยที่เชื่อว่าเป็นโรงกลั่นไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดในอาร์เมเนีย มีอายุราว 6,000 ปีก่อน
พันธุ์องุ่นแพร่หลายไปสู่ดินแดนต่าง ๆ ผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หลากอารยธรรมทั้งตะวันออกและตะวันตก นอกจากผลองุ่นจะถูกนำมาใช้หมักไวน์แล้ว การอบแห้งเพื่อถนอมหรือยืดอายุการเก็บรักษาลูกองุ่นก็เป็นที่นิยมมาแต่ครั้งโบราณเช่นกัน ลูกเกดจึงเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการกินของหลายชาติ
วัฒนธรรมการทำลูกเกดแพร่หลายมากในตะวันออกกลางและอินเดีย พวกเขามักใช้ผสมข้าวหมก ขนม หรือรับประทานกับน้ำนม และนำเข้าลูกเกดมายังไทยพร้อม ๆ กับลูกอินทผลัมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างคึกคัก
สำหรับคำว่า “ลูกเกด” นั้นเชื่อว่าแผลงมาจากคำในภาษาเปอร์เซียว่า “กิชมิช” ซึ่งหมายถึงลูกองุ่นแห้ง พบร่องรอยอยู่ในตำราอาหาร “แม่ครัวหัวป่าก์” ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ท่านเรียกหนึ่งในวัตถุดิบปรุงแกงมัสมั่นว่า “ลูกกิจสะเหม็จ” บ้าง “ลูกกิดเสม็ด” บ้าง และเชื่อได้ว่าหมายถึงลูกเกด
อีกทฤษฎีหนึ่งคือมาจาก “เกรป” (grape) หรือลูกองุ่นสดในภาษาอังกฤษ ลูกเกรป จึงเพี้ยนเป็น ลูกเกด (raisin)
อนึ่ง คำว่า องุ่น ในภาษาไทยก็มาจากคำเปอร์เซียเช่นกัน นั่นคือ อังงูรฺ (Angur) และอีกหลายคำที่ไทยใช้โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซีย เช่น กุหลาบ สบู่ ฝรั่ง ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม :
- ทําไมองุ่นเป็นผลไม้ยอดนิยมของไฮโซในยุคสามก๊ก
- กำเนิดวัฒนธรรมพันปี เมื่อมนุษย์รู้จักดื่ม “ไวน์” แพร่หลายเข้าสู่ไทยเมื่อใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2551). อาหารไทย มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2567