เผยแพร่ |
---|
มนุษย์รู้จักองุ่นมานานกว่าหมื่นปีที่แล้ว นำมาใช้ประโยช์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกินผลสด ตากแห้งเป็นลูกเกด คั้นเป็นน้ำองุ่นสำหรับดื่ม กระทั่งเรียนรู้นำองุ่นมาหมักจนเกิดเป็นเหล้าองุ่นหรือ “ไวน์”
ต้นกำเนิดขององุ่นย้อนไปราว 9,000 ปีก่อนคริสตกาล ในแถบคัปปาโดเคีย (Cappadocia) บนที่ราบสูงอนาโตเลียในประเทศตุรกีปัจจุบัน และในแถบจอร์เจีย บนฝั่งตะวันออกของทะเลดำ ใกล้กับเทือกเขาคอเคซัส และมีการค้นพบโรงกลั่นไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดในอาร์เมเนียซึ่งมีอายุราว 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อราว 6,000 ปีก่อน
พืชพันธุ์องุ่นขยายตัวไปยังดินแดนต่าง ๆ พร้อมกับการอพยพตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนคริสตกาล ในยุคอียิปต์โบราณ เมื่อครั้งยกกองทัพขึ้นมาทางเหนือจนถึงดินแดนคานาอัน ได้กวาดต้อนชาวยิวไปเป็นทาส ในครั้งนี้เองที่องุ่นได้แพร่หลายสู่ดินแดนไอยคุปต์ มีการผลิตไวน์ขึ้นที่นั่นจนกลายเป็นเครื่องดื่มสำคัญของอียิปต์ โดยเฉพาะพวกชนชั้นสูงซึ่งนิยมดื่มไวน์ ในขณะที่ชนชั้นล่างนิยมดื่มเบียร์
ที่ดินแดนอียิปต์นี้เองที่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงองุ่นเป็นครั้งแรก เอกสารจารึกบนกระดาษปาปิรุสเมื่อ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาลระบุไว้ว่ามีการใช้ไวน์เป็นยารักษาโรค นอกจากนี้ยังมีบันทึกการขึ้นทะเบียนไวน์ไว้ด้วย เช่น มีการระบุชื่อไร่ ชื่อเจ้าของไร่ และชื่อผู้ดูแลรักษาคลังไวน์ของไร่นั้น ขาดแต่เพียงการระบุพันธุ์องุ่นเท่านั้น
ต่อมาไวน์ก็แพร่หลายไปสู่อารยธรรมต่าง ๆ ไปสู่ดินแดนอื่น ๆ ทั้งในลุ่มแม่น้ำสินธุ และในอารยธรรมกรีก ความนิยมไวน์สูงมากแค่ไหน ก็ดูได้จากการเคารพบูชาเทพเจ้าไดโอนิซุส ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์ เรื่อยมาจนถึงอารยธรรมโรมัน อันเป็นยุคที่การทำไร่องุ่นได้ขยายไปทั่วทวีปยุโรป นั่นเพื่อให้ทหารโรมันมีไวน์สำหรับดื่มในทุกพื้นที่ที่โรมันเข้าปกครอง
จวบจนถึงการถือกำเนิดของศาสนาคริสต์ ในเวลาที่จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจ โดยช่วงก่อนที่พระเยซูจะทรงถูกจับไปตรึงกางเขนนั้น พระองค์ทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย อยู่กับพระอัครสาวกทั้ง 13 คน
ในอาหารมื้อนี้เอง ที่พระองค์ทรงหยิบขนมปังขึ้นมา ขอพระพรให้กับทุกคน ๆ พร้อมกับตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่คือกายของเรา” จากนั้นก็ทรงหยิบแก้วไวน์ขึ้น เมื่อขอบพระคุณแล้วก็ส่งไปให้อัครสาวกทั้งหลาย พร้อมกับตรัสว่า “จงรับไปดื่มทุกคนเถิด เพราะว่านี่คือโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ที่หลังออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก”
ไวน์จึงเพิ่มความสำคัญสำหรับผู้นับถือคริสต์ศาสนา และได้กลายเป็นที่มาของการกินขนมปังและจิบไวน์ในพิธีศีลมหาสนิท
กระทั่งเมื่ออารยธรรมของมนุษย์วัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ไวน์ก็เติบโตและแทรกซึมเข้าสู่ดินแดน ทุกอารยธรรม ทุกแห่งทุกหน กระโจนข้ามสมุทรสู่นานาทวีป จนกลายเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดหนึ่งที่มนุษย์ทั่วโลกนิยมดื่มจนถึงปัจจุบัน
ไวน์เข้ามาสู่ไทยตั้งแต่เมื่อใด?
องุ่นแพร่เข้าสู่สุวรรณทวีปเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่หากลองพิจารณาคำว่า “องุ่น” ในภาษาไทยนั้น พบว่ามีที่มาจากภาษาเปอร์เซียว่า อังกรุ (Anggur) และแม้แต่ภาษามลายูและภาษาฮินดีก็รับเอาคำนี้มาเช่นกัน โดยภาษามลายูเรียกองุ่นว่า อักกุร (Anggor และ Anggur) ส่วนภาษาฮินดีเรียกองุ่นว่า อํคุระ แปลว่า ลูก
ดังนั้น องุ่นจึงอาจแพร่เข้าสู่ดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นยังรัฐโบราณ เก่ากว่าสมัยสุโขทัยขึ้นไป
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยามี “สวนองุ่น” อันเป็นแหล่งปลูกองุ่น ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชวังหลวง และยังปลูกองุ่นที่พระราชวังที่ลพบุรีอีกด้วย
ลา ลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกถึงไวน์ไว้ว่า “ชาวสยามไม่ยึดเอาการดื่มชาเป็นหลักนัก เขาชอบดื่มเหล้าองุ่นมากกว่าถ้ามีให้ดื่ม แม้ว่าเครื่องดื่มดองของมึนเมาทั้งหลายนั้นจะเป็นสิ่งต้องห้ามตามทางพระศาสนาก็ตาม”
แม้จะมีการปลูกองุ่น แต่การหมักองุ่นทำไวน์ในสมัยนี้หรือไม่ สันนิษฐานว่าองุ่นที่ปลูกในท้องถิ่นไม่สามารถนำไปทำไวน์ชั้นเลิศได้ ดังที่ ลา ลูแบร์ กล่าวถึงองุ่นในกรุงศรีอยุธยาว่าไม่สามารถนำพันธุ์ชั้นดีจากยุโรปมาปลูกให้งอกงามได้ สุดท้ายก็จะเสื่อมพันธุ์ลงจนกลายเป็นองุ่นธรรมดาสามัญ “แต่ในสยามซึ่งภูมิอากาศยิ่งร้อนจัดกว่านั้น ก็ไม่มีองุ่นดีได้เหมือนกันเถาองุ่นน้อยต้นที่ปลูกขึ้นได้ที่เมืองละโว้ในพระราชอุทยานนั้นก็ได้ผลเป็นพวงองุ่นชนิดเลว เมล็ดในเล็กและมีรสขม”
ฉะนั้น จึงไม่เป็นการสงสัยว่าจะต้องมีการซื้อขายไวน์เกิดขึ้น ลา ลูแบร์ กล่าวว่า พวกอังกฤษและดัตช์นำเหล้าองุ่นหรือไวน์จากเปอร์เซียหรือยุโรปมาขาย แม้จะต้องผ่านเขตสภาพอากาศร้อนแต่ก็ยังรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีเหล้าองุ่นจากญี่ปุ่นและจีนอีกด้วย แต่คุณภาพด้อยกว่า ลา ลูแบร์ กล่าวว่าเป็นแต่เพียงเบียร์ที่ผสมให้มีรสแรงขึ้นเท่านั้น แต่ก็น่าดื่มไม่แพ้กัน
แน่นอนว่าคนที่ต้องบริโภคไวน์มากที่สุดในพระราชอาณาจักรคงหนีไม่พ้น เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน โดยได้สั่งไวน์มาทางเรือไว้บ้าง แม้แต่ที่ลพบุรีก็มีถ้ำสำหรับเก็บรักษาไวน์
คนไทยคงคุ้นเคยกับไวน์ในสมัยนี้พอควร โดยเฉพาะพวกที่เปลี่ยนศาสนาหันไปเข้ารีตก็คงมีโอกาสได้ดื่มไวน์จากการเข้าพิธีศีลมหาสนิท แต่คนไทยที่ (ต้อง) คุ้นเคยกับไวน์แน่ ๆ คือ บรรดาคณะราชทูตอย่าง โกษาปาน รวมถึง หม่อมราโชทัย ที่เดินทางไปอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4
ในนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย ได้บันทึกถึงไวน์ไว้ว่า “โปรดให้นำไทยทั้งสิ้นไปกินเลี้ยง มีของเคียงคาวหวานใส่จานตั้ง อีกชำเปนน้ำองุ่นหนุนประดัง ขุนนางทั้งภรรยาก็มากิน” และ “เวลาเที่ยงเลี้ยงน้ำชาผลาผล กินออกจนมิได้หยุดช่างสุดแสน ขนมจืดขนมหวานจานแบนแบน อีกเหล้าแวนเบียดำทั้งชำเปน“ ซึ่งคำว่า “ชำเปน” ก็คือ “แชมเปญ” เป็น Sparkling Wine ที่มาจากแคว้น Champagne ประเทศฝรั่งเศส นั่นเอง
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไวน์คงแพร่หลายและมีการซื้อขายทั่วไปในพระนคร ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 การดื่มไวน์ในหมู่ชนชั้นสูง ทั้งเจ้านายในพระราชวงศ์ และขุนนางโดยเฉพาะที่ทำงานด้านการทูต ก็คงดื่มไวน์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว
อ้างอิง :
นพพร สุวรรณพินิช. (พฤศจิกายน, 2538). ไวน์กับเจ้าขุนมูลนายสยาม. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 : ฉบับที่ 1.
พิชัย วาศนาส่ง. (มิถุนายน, 2546). วัฒนธรรมไวน์. สารคดี. ปีที่ 19 : ฉบับที่ 220.
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. (2562). คติขนมปังกับไวน์ คือเรือนร่างและเลือดพระเยซูของชาวคริสต์ มาจากวัฒนธรรมการกินขนมปังกับเบียร์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย. มติชนสุดสัปดาห์. ฉบับวันที่ 19-25 กรกฎาคม 2562. เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564, จาก www.matichonweekly.com/column/article_213821
หม่อมราโชทัย. (ออนไลน์). นิราศลอนดอน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564, จาก vajirayana.org/นิราศลอนดอน
JAMES OWEN. (2011). Earliest Known Winery Found in Armenian Cave. Access 31 March 2021, from www.nationalgeographic.com/culture/article/110111-oldest-wine-press-making-winery-armenia-science-ucla
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2564