เบียร์-ไวน์-เหล้า-กาแฟ-ชา-โคลา: เครื่องดื่มเล่าประวัติศาสตร์

เครื่องดื่ม งานเลี้ยงฉลอง
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพ Hip, Hip, Hurrah! วาดโดย Peder Severin Krøyer

เครื่องดื่มเล่าประวัติศาสตร์ “เบียร์-ไวน์-เหล้า-กาแฟ-ชา-โคลา” ของเหลว 6 ชนิด ที่มีส่วนรังสรรค์โลกใหม่

ความกระหายน้ำเป็นเรื่องคอขาดบาดตายยิ่งกว่าความหิวโหย หากขาดอาหารคุณอาจมีชีวิตรอดได้นานนับสัปดาห์ แต่ถ้าขาดของเหลวมาดับกระหายเสียแล้ว ก็นับเป็นบุญโขหากคุณรอดชีวิตได้อีก 2-3 วัน มีเพียงการหายใจเท่านั้นที่สําคัญกว่าการหาของเหลวมาดับกระหาย

เมื่อนับหมื่นปีที่แล้ว มนุษย์สมัยแรกยังท่องไปเป็นกลุ่มเล็กๆ เนื่องจากไม่รู้จักการเก็บน้ำ พวกเขาจึงต้องแวะพักตามเขตใกล้ แม่น้ำ บ่อน้ำ หรือทะเลสาบ เพื่อให้มั่นใจว่ายังมีแหล่งน้ำจืดให้ดื่มกินได้ต่อไป แหล่งน้ำจึงเป็นข้อจํากัดและตัวชี้นําความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

Advertisement

เครื่องดื่ม ก็ได้กําหนดโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมานับแต่นั้น

ในช่วงหมื่นปีที่แล้วนี่เองที่เครื่องดื่มอื่นๆ ได้เข้ามาท้าทายความสําคัญของน้ำ เครื่องดื่มเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการจงใจทําขึ้น นอกจากจะเป็นทางเลือกสําหรับดับกระหายแทนน้ำที่มักจะปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค

เครื่องดื่มใหม่ๆ เหล่านี้ยังมีบทบาทแตกต่างกันไป บ้างถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ใช้ในพิธีกรรมทาง ศาสนาบ้างเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เป็นแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างปรัชญาและงานศิลปะ เครื่องดื่มบางอย่างทําหน้าที่ป่าวประกาศ อํานาจและสถานะผู้นํา บางอย่างช่วยควบคุมหรือสร้างความพึงใจแก่ ผู้ถูกกดขี่มีการใช้เครื่องดื่มเพื่อเฉลิมฉลองในวาระการกําเนิด เพื่อการระลึกถึงการตายจาก และเชื่อมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น เครื่องดื่มยังมีบทบาทผูกมัดข้อตกลงและสัญญาทางธุรกิจ ช่วยลับสมองที่อ่อนล้า เป็นทั้งยากู้ชีวิตหรือเป็นยาพิษมรณะ

ตลอดสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนาน เครื่องดื่มต่างๆ ได้เข้า มามีบทบาทโดดเด่นตามแต่ยุคสมัย สถานที่ และวัฒนธรรมต่างๆ นับจากหมู่บ้านยุคหิน ถึงห้องกินอาหารค่ำของชาวกรีกโบราณ หรือร้านกาแฟในยุคแห่งความสว่างไสวทางปัญญา เครื่องดื่มแต่ละชนิดได้รับความนิยมเมื่อมันสอดคล้องกับความต้องการหรือกระแสทางประวัติศาสตร์อย่างเหมาะเจาะ

บางกรณี เครื่องดื่มเองก็ส่งอิทธิพลชี้นําประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปสู่หนทางที่คาดไม่ถึง เมื่อนักโบราณคดีแบ่งยุคสมัยต่างๆ ตามวัตถุที่ใช้ออกเป็น ยุคหิน ยุคสําริด ยุคเหล็ก และอื่น ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะลองแบ่งประวัติศาสตร์โลกออกเป็นช่วงๆ ตาม

ยุคสมัยที่เครื่องดื่มแต่ละชนิดเล่นบทบาทเด่น จนสามารถลําดับพัฒนาการของประวัติศาสตร์โลกผ่านเครื่องดื่มหกชนิด ได้แก่ เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และโคลา

ในจํานวนนี้ เครื่องดื่มสามชนิดมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ส่วนอีกสามชนิดมีกาเฟอีน ทว่าทั้งหมดล้วนแต่เป็นเครื่องดื่มที่โดดเด่นในยุคสมัยที่สําคัญ ๆ นับแต่ยุคดึกดําบรรพ์จนถึงสมัยปัจจุบันทั้งสิ้น

เบียร์

เหตุการณ์ที่นํามนุษย์ก้าวย่างมาสู่เส้นทางแห่งความเป็นสมัยใหม่คือการเพาะปลูก เริ่มจากการเพาะปลูกธัญพืชที่ให้เมล็ด ซึ่งเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในตะวันออกกลางเมื่อราวหมื่นปีที่แล้ว ตามมาด้วยกําเนิดของเบียร์แบบง่าย ๆ และในอีก 5,000 ปีต่อมา อารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ก็ปรากฏขึ้นในเขตเมโสโปเตเมียและอียิปต์ สองวัฒนธรรมซึ่งพัฒนาคู่ขนานกันไปนี้ มีรากฐานอยู่บนผลิตผลเมล็ดพืชส่วนเกิน อันเป็นผลจากการทําเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นระบบผลผลิตส่วนเกิน ช่วยให้ประชากรจํานวนหยิบมือมีอาหารกินโดยไม่ต้องลงแรงทํางาน ในไร่นา และได้เข้าไปเป็นนักบวช นักบริหาร อาลักษณ์ และนายช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

เบียร์ไม่เพียงบํารุงผู้พํานักอาศัยในเมืองแห่งแรกและผู้ประพันธ์เอกสารชิ้นแรกเท่านั้น แต่เมื่อธัญพืชคือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ ค่าจ้างและการปันส่วนก็ถูกจ่ายในรูปของขนมปังและเบียร์

ไวน์

วัฒนธรรมอันรุ่งโรจน์ที่พัฒนาขึ้นตามนครรัฐของชาวกรีกโบราณ ในช่วงสหัสวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราช ได้สร้างสมความก้าวหน้าด้าน ปรัชญา รัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวรรณกรรม ซึ่งยังคงเป็นรากฐานทางความคิดของสังคมตะวันตกสมัยใหม่ ไวน์นั้นเปรียบได้กับเส้นเลือด คอยหล่อเลี้ยงอารยธรรมในย่านเมดิเตอร์เรเนียน และเป็นรากฐานของเครือข่ายการค้ามหึมา ที่ช่วยแพร่ความคิดของชาวกรีกออกไปทั่วบริเวณกว้าง

ในงานสังสรรค์อันเป็นทางการ หรือซิมโพเซียน ซึ่งผู้คนต่างถกเถียง กันในหัวข้อทางรัฐศาสตร์ กวีนิพนธ์ และปรัชญา โดยผู้เข้าร่วมงานต่างดื่มไวน์เจือจางจากชามใบเดียวกัน ครั้นถึงสมัยโรมัน ไวน์ก็ยังแพร่หลายออกไป ภาพโครงสร้างสังคมที่มีการจัดลําดับชั้นของชาวโรมันสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านลําดับขั้นและรูปแบบของไวน์

สองศาสนาหลักของโลกเคยออกประกาศเกี่ยวกับการดื่มไวน์ที่มีเนื้อความตรงกันข้าม พิธีกรรมแบบคริสต์ของพวกยูคาริสต์มีไวน์เป็นศูนย์กลาง แต่หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายและศาสนาอิสลามเจริญขึ้น ไวน์ก็กลับกลายเป็น สิ่งผิดกฎหมายภายในดินแดนต้นกําเนิดของมัน

หลังจากกรุงโรมล่มสลายไปราวหนึ่งพันปี กระแสความคิดตะวันตกก็ก้าวรุดหน้าไปอีกครั้ง อันเป็นผลจากการกลับไปค้นพบความรู้สมัยกรีกและโรมัน ซึ่งส่วนมากได้รับการพิทักษ์และพัฒนาขึ้นโดยปราชญ์จากโลกอาหรับ ในสมัยดังกล่าว นักสํารวจชาวยุโรปที่ต้องการจะหลุดพ้นจากชาวอาหรับซึ่งผูกขาดการค้ากับโลกตะวันออก ก็ตัดสินใจล่องเรือ ไปทางตะวันตกสู่ทวีปอเมริกา และทางตะวันออกสู่อินเดียและจีน จนเกิดเส้นทางการเดินเรือทางทะเลรอบโลก

(ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2538)

เหล้า

ชาติยุโรปต่างก็แก่งแย่งกัน อ้างสิทธิเหนือดินแดนส่วนต่าง ๆ ในยุคแห่งการค้นพบนี้ เครื่องดื่มชนิดใหม่ก็เกิดจากการกลั่น อันเป็นกระบวนการของนักเล่นแร่แปรธาตุที่รู้จักกันมาแต่ครั้งโบราณ แต่ชาวอาหรับได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น การกลั่นทําให้ได้เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นและเก็บไว้ได้นาน เหมาะสําหรับนําติดตัวไปกับการท่องทะเล เครื่องดื่มที่ว่านี้ได้แก่บรั่นดี เหล้ารัม และ วิสกี้ ซึ่งต่างถูกใช้แทนเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนกับทาส และกลายเป็นที่นิยมมากในอาณานิคมแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งมันจะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองจนมีส่วนสําคัญในการสถาปนาสหรัฐอเมริกา

กาแฟ

การขยายตัวทางภูมิศาสตร์สู่ดินแดนใหม่ ๆ ปรากฏควบคู่ไปกับความผลิบานทางภูมิปัญญา ครั้นนักคิดตะวันตกมองออกไปนอกกรอบ ความเชื่อโบราณที่ได้รับมาจากชาวกรีก พวกเขาก็เริ่มคิดค้นทฤษฎีใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ กาแฟคือเครื่องดื่มที่โดดเด่นของยุคแห่งเหตุผล

เครื่องดื่มลี้ลับซึ่งนิยมกันทั่วยุโรปนี้มีกําเนิดจากตะวันออกกลาง ร้านรวงที่เกิดขึ้นเพื่อเสิร์ฟกาแฟนั้นมีคุณลักษณะแตกต่างจากร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้กลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข่าวสารเรื่องการค้า การเมือง และภูมิปัญญา กาแฟช่วยให้สมองปลอดโปร่ง มันจึงเป็นเครื่องดื่มในอุดมคติของนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ และนักปรัชญา บทสนทนาในร้านกาแฟนําไปสู่การก่อตั้งสมาคมเพื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ การก่อตั้งหนังสือพิมพ์ การสถาปนาสถาบันการเงิน และเป็นเชื้อความคิดปฏิวัติ โดยเฉพาะในกรณีของฝรั่งเศส

บรรยากาศภายในร้านกาแฟในจักรวรรดิออตโตมัน ช่วงศตวรรษที่ ๑๙

ชา

แต่ไม่นาน ชาวยุโรปโดยเฉพาะชาวอังกฤษซึ่งเคยโปรดปรานกาแฟก็เริ่มหันหลงใหลชาซึ่งนำเข้ามาจากจีน ความนิยมดื่ชาในยุโรปมีส่วนเร่งให้ต้องเปิดเส้นทางการค้ากับโลกตะวันออก และปูทางสู่ลัทธิจักรวรรดิ์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ชายังช่วยให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลกเป็นประเทศแรก ครั้นชาเข้ามาครองใจชางอังกฤษเรียบร้อยแล้ว  ความปรารถนาที่ได้ชามาบริโภคไม่ขาดสายก็ส่งผลใหญ่หลวงต่อนโยบายต่างประเทศของ อังกฤษ ทั้งยังมีส่วนช่วยให้อเมริกาได้รับเอกราช โค่นล้มอารยธรรมเก่าแก่ของจีน และทำให้อินเดียกลายเป็นแหล่งผลิตชาที่สำคัญไป

โคคา

แม้เครื่องดื่มอัดก๊าซหรือน้ำอัดลมจะกำเนิดในยุโรปตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แต่เคื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์เหล่านี้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแท้จริงเมื่อมีการคิดค้นโคคา-โคลา ในอีกร้อยปีให้หลัง จากเครื่องดื่มที่เภสัชกรชาวแอตแลนต้าพัฒนามันขึ้นเป็นยาให้ใครต่อใครสามารถซื้อหากัน โคคา-โคลา ได้เกลายเป็นเครื่องดื่มประจำชาติอเมริกา เป็นสิ่งชี้วัดถึงลัทธิบริโภคนิยม ที่ผลักดันอเมริกาสู่สถานะมหาอำนาจของโลก

โคคา-โคลาเดินทางไปกับทหารอเมริกันซึ่งทำการรบในสมรภูมิทั่วโลกในศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นสินค้าที่รู้จักกันดีที่สุดและกระจายไปยังประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก มายัดนี้ มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกที่กลายสภาพเป็นตลาดเดียวเสียแล้ว

เครื่องดื่มนั้นเกี่ยวพันกับสายธารประวัติศาสตร์อย่างแนบแน่นกว่าที่เราคิดกันมาก ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อโฉมหน้าประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย การจะเข้าถึงความซับซ้อนว่าใครดื่มอะไร เพราะอะไร และพวกเขาได้มันมาจากไหน จําต้องอาศัยการสํารวจพรมแดนความรู้ของสาขาวิชาซึ่งดูแทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ดังเช่น ประวัติศาสตร์ ของการเกษตร ปรัชญา ศาสนา เภสัชศาสตร์ เทคโนโลยี และการค้า

เครื่องดื่มทั้ง 6 ชนิดที่กล่าวถึงนี้ แสดงให้เห็นว่า อารยธรรม และวัฒนธรรมต่างๆ ของโลกต่างเกี่ยวโยงกัน และไม่อาจแยกจากกันได้ เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และโคลาในบ้าน คือสิ่งเตือนให้เราหันมาหวนคิดถึงบทบาทของพวกมันในอดีต มันคือของเหลวที่ตอกย้ำถึงพลัง ซึ่งมีส่วนรังสรรค์โลกใหม่ หากลองได้เข้าขุดคุ้ยหาต้นตอของพวกมันดูแล้ว รับรองว่าคุณะจะไม่มีวันมองเครื่องดื่มในแก้วของคุณในมุมเดิมอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Tom Standage (เขียน), คุณากร วาณิชย์วิณุฬห์ (แปล). ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว, สำนักพิมพ์มติชน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2562