“ยุทธการเซกิงาฮาระ” สมรภูมิชี้ขาด “อิเอยาสุ” ครองอำนาจเหนือญี่ปุ่น

ภาพวาด ยุทธการเซกิงาฮาระ เกาะฮอนชู ปี 1600 โทกุงาวะ อิเอยาสุ ชนะ
ภาพวาดยุทธการเซกิงาฮาระ วาดขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ. 1854 โดยอิงจากภาพต้นฉบับที่วาดในทศวรรษ 1620 โดย ซาดะโนบุ คาโนะ (Sadanobu Kanō) (ภาพ : Wikimedia Commons)

ยุทธการเซกิงาฮาระ เกิดขึ้นใน “ยุคเซ็นโกคุ” เมื่อ ค.ศ. 1600 ช่วงที่เหล่าไดเมียวนักรบต่างรวบรวมขุมกำลังแย่งชิงอำนาจปกครองญี่ปุ่น กระทั่งเกิดยุทธการเซกิงาฮาระ ที่เกาะฮอนชู ซึ่งเป็นศึกชี้ขาดสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทำให้ โทกุงาวะ อิเอยาสุ ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จแบบไม่มีใครต้านทานได้อีก

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น “ยุคเซ็นโกคุ” มีผู้นำเด่น 3 คน คือ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga ค.ศ. 1534-1582) โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi ค.ศ. 1536/1537-1598) และ โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu ค.ศ. 1543-1616)

Advertisement

ทั้งหมดมีบทบาทในการรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น และต่างเกี่ยวข้องกัน เพราะทั้งฮิเดโยชิและอิเอยาสุต่างเคยเป็นขุนพลของโนบุนากะมาก่อน

หลังจากโนบุนากะเสียชีวิต ฮิเดโยชิก็ขึ้นสู่อำนาจ ปราบปรามไดเมียวแคว้นต่าง ๆ ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้ โดยมีอิเอยาสุเป็นขุนพลมือต้น จนฮิเดโยชิแผ่อำนาจกว้างไกล ทั้งยังบุกไปทำศึกที่คาบสมุทรเกาหลีถึง 2 ครั้ง แม้ต้องถอยทัพออกมาภายหลังก็ตาม

เมื่อฮิเดโยชิใกล้ถึงวาระสุดท้าย เขาได้ตั้ง “สภาทั้งห้า” ประกอบด้วยไดเมียวเปี่ยมอำนาจ 5 คน หนึ่งในนั้นคือ อิเอยาสุ เพื่อดูแลบ้านเมือง และเพื่อดูแล โทโยโทมิ ฮิเดโยริ (Toyotomi Hideyori) บุตรของฮิเดโยชิ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 5 ขวบ ให้เติบโตขึ้นมาบริหารดินแดนต่าง ๆ ในญี่ปุ่นต่อไป

ภาพวาด โทกุงาวะ อิเอยาสุ ช่วงต้น ยุคเอโดะ
ภาพวาด โทกุงาวะ อิเอยาสุ ในช่วงต้นยุคเอโดะ วาดโดย Kanō Tannyū (ภาพจาก wikimedia.org/public domain)

อิเอยาสุไม่ได้ต้องการตำแหน่งในสภาทั้งห้า เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือแผ่นดินญี่ปุ่นเท่านั้น

อิชิดะ มิตสึนาริ (Ishida Mitsunari) ขุนพลที่จงรักภักดีกับฮิเดโยชิไม่เสื่อมคลาย รู้ทันอิเอยาสุ จึงรวบรวมกำลังเพื่อต่อต้าน มิตสึนาริยกพลบุก “ปราสาทฟุชิมิ” (Fushimi Castle) ฐานที่ตั้งของอิเอยาสุ โดยมี โทริ โมโตตาดะ (Torii Mototada) ไดเมียวขุนศึก เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของอิเอยาสุ รับหน้าที่ต้านกองกำลังของมิตสึนาริ เพื่อยื้อเวลาให้อิเอยาสุมุ่งหน้าไปรวบรวมกำลังพลกลับมารบ

แม้ฝ่ายตนจะเสียเปรียบเพราะมีทหารน้อยกว่าถึง 20 เท่า แต่โมโตตาดะก็ยืนหยัดรบอย่างองอาจ เมื่อรู้ว่าต้องพ่ายแพ้เป็นแน่แล้ว เขาก็กระทำเซ็ปปุกุ เป็นตำนานเล่าขานถึงเกียรติซามูไรมาถึงปัจจุบัน และสมรเลือดที่ปราสาทฟุชิมิครั้งนี้ก็นับเป็นศึกป้องกันปราสาทที่เกรียงไกรที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

การตายของโมโตตาดะไม่สูญเปล่า เพราะอิเอยาสุสามารถรวบรวมกำลังกลับมารบกับมิตสึนาริได้สำเร็จ นำสู่ ยุทธการเซกิงาฮาระ (Battle of Sekigahara) ที่เกาะฮอนชู ในเดือนตุลาคม ปี 1600 พลิกโฉมหน้าญี่ปุ่นไปตลอดกาล

อิเอยาสุเตรียมรบกับมิตสึนาริ แต่มิตสึนาริไม่ยอมตกเป็นรอง จึงตัดสินใจเดินทัพไปยังจุดที่เขาคาดว่าจะได้เปรียบที่สุด คือ พื้นที่หมู่บ้าน “เซกิงาฮาระ” ที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูขา

อิชิดะ มิตสึนาริ แพ้ โทกุงาวะ อิเอยาสุ ยุทธการเซกิงาฮาระ เกาะฮอนชู
ภาพวาด อิชิดะ มิตสึนาริ วาดในศตวรรษที่ 17 (ภาพ : Wikimedia Commons)

เช้าตรู่วันที่ 21 ตุลาคม ปี 1600 กองทัพตะวันออกนำโดยอิเอยาสุมาถึงที่ราบของเซกิงาฮาระ ท่ามกลางหมอกที่ปกคลุมหนาแน่น โดยมีขุนพลหลายนายแห่งกองทัพตะวันตก พร้อมด้วยกำลังพลมากมายภายใต้การคุมทัพของมิตสึนาริ ตั้งตารอการมาถึงอยู่ที่เนินเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของหุบเขา ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบ

ถึงอย่างนั้น มิตสึนาริกลับเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสียเอง เพราะเหล่าขุนพลไม่ได้นับถือมิตสึนาริมากพอ ทำให้ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ขุนพลหลายนายเริ่มลังเลใจว่าควรจะรบเพื่อมิตสึนาริหรือไม่

สถานการณ์ฝ่ายกองทัพตะวันตกเลวร้ายมากขึ้น เมื่ออิเอยาสุส่งสาส์นลับไปถึงบรรดาขุนพลฝ่ายตรงข้าม เสนอดินแดนและตำแหน่งให้ หากจะเปลี่ยนใจมาร่วมรบกับฝ่ายเขา

พอถึง 8 โมงเช้า หมอกค่อย ๆ จางลง ทั้งสองฝ่ายมองเห็นกันและกันได้อย่างชัดเจน และการรบที่จะชี้ชะตากรรมของญี่ปุ่นก็เริ่มต้นขึ้น

ตอนแรก ทุกอย่างดูเอื้อกับฝ่ายกองทัพตะวันตก แต่เพราะมิตสึนาริไม่ได้รับการยอมรับจากเหล่าขุนพล ทำให้เมื่อถึงเวลาต้องรบจริง ๆ มิตสึนาริไม่สามารถควบคุมกองกำลังทั้งหมดได้ เวลาล่วงเลยไปถึง 11 โมง การสู้รบยิ่งหนักหน่วง มิตสึนาริจุดพลุส่งสัญญาณให้กองทัพฝ่ายตะวันตกยกพลมาโจมตี

สิ่งที่มิตสึนาริไม่เคยล่วงรู้เลยก็คือ โคบายากาวะ ฮิเดอากิ (Kobayakawa Hideaki) วัย 19 ปี แม่ทัพฝ่ายตนที่คุมกำลังอยู่บนเขามัตสุโอะ (Mount Matsuo) ตัดสินใจแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับอิเอยาสุ เพราะตอนบุกเกาหลีช่วงฮิเดโยชิเรืองอำนาจ มิตสึนาริทำให้เขาถูกฮิเดโยชิริบสิทธิต่าง ๆ เนื่องจากผลงานไม่เข้าเป้า

แม้ฮิเดอากิเจรจาลับ ๆ กับอิเอยาสุแล้วก่อนหน้า แต่เมื่อถึงคราวรบใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ” ท่าทีของฮิเดอากิที่ไม่ยอมยกพลสู้กับมิตสึนาริ ทำให้อิเอยาสุเริ่มสงสัยว่านี่คือแผนลวงหรือไม่ จึงยิงปืนเข้าใส่เพื่อให้เลือกข้าง (เสียที)

ผลคือฮิเดอากิตัดสินใจยกพลเข้าตีทัพของมิตสึนาริ กลายเป็นความสับสนอลหม่าน ประกอบกับมิตสึนาริค่อนข้างเสียเปรียบในเชิงทักษะการรบ เมื่อเทียบกับอิเอยาสุที่เป็นไดเมียวนักรบออกสมรภูมิมานับไม่ถ้วน ท้ายสุดมิตสึนาริก็เป็นฝ่ายปราชัย

ยุทธการเซกิงาฮาระ ที่สันนิษฐานว่ามีซามูไรเสียชีวิตถึง 30,000 นาย ทำให้อิเอยาสุทะยานขึ้นสู่ผู้นำสูงสุดของแว่นแคว้นทั้งหลาย เขาสั่งประหารมิตสึนาริในเวลาต่อมา เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า บัดนี้ โทกุงาวะ อิเอยาสุ คือผู้นำที่ไม่ได้อยู่ใต้เงื้อมเงาของฮิเดโยชิผู้วายชนม์อีกต่อไป ก่อนจะขึ้นเป็น “โชกุน” ในปี 1603 

หมายเหตุ : ยุทธการเซกิงาฮาระ ยังมีแม่ทัพอีกหลายนายที่มีบทบาททั้งฝ่ายอิเอยาสุ และฝ่ายมิตสึนาริ และมีเหตุการณ์ปลีกย่อยระหว่างการรบ บทความนี้ขอนำเสนอบุคคลหลัก ๆ ในเหตุการณ์เพื่อความกระชับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Hudson, Myles. “Battle of Sekigahara”. Encyclopedia Britannica, 14 Oct. 2023, https://www.britannica.com/event/Battle-of-Sekigahara. Accessed 17 March 2024.

“The History of the Battle of Sekigahara”. https://visitgifu.com/sekigahara/sekigahara-01/. Accessed 18 March 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2567