“เจ้าฟ้ากุ้ง” ประชวรด้วยโรค “ซิฟิลิส” จริงหรือ?

พม่า ศัตรู ไทย ประกอบ บทความ เจ้าฟ้ากุ้ง
ภาพจิตรกรรมสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์

เคยสงสัยไหมว่า “เจ้าฟ้ากุ้ง” หรือพระนามว่า “พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์” หรือ “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์” พระราชโอรสพระองค์โตในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไปในสมัยอยุธยา แม้ท้ายที่สุดจะไม่ได้ครอบครองบัลลังก์ ประชวรด้วย “โรค” อะไร?

จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ปรากฏ เช่น ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไว้ว่า พระองค์ประชวรด้วย “โรค” สำหรับบุรุษ กลายไปเป็นพระโรคคชราช 

ในบันทึกของฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง นักเขียนชาวฝรั่งเศส สมัยอยุธยา ระบุว่า “ประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ” ส่วน นิโคลัส แบงค์ พ่อค้าใหญ่ของ VOC ประจำกรุงศรีอยุธยา ก็บันทึกไว้ว่า พระองค์ “ประชวรด้วยโรค MORBUS GALLICUS กามโรคชนิดหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า FRENCH POX (ภาษาไทยคือซิฟิลิส-ผู้เขียน)”

แล้วท้ายที่สุดพระองค์ประชวรด้วยโรคนี้ จริงหรือ?

เรื่องนี้ น.พ. วิชัย โชควิวัฒน นำเสนอไว้ในบทความ “เจ้าฟ้ากุ้ง ประชวรด้วยพระโรคใดกันแน่” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ ว่า…

น.พ. วิชัย คาดว่า เจ้าฟ้ากุ้ง น่าจะประชวรด้วย “โรคคุดทะราด” หรือ “คชราช” โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อกลุ่มสไปโรขีต (Spirochete) ชื่อ ทรีโปนีมา พัลลิคุม ชนิดเปอร์ทีนิว (Treponema subspecies pertenue) มักติดต่อได้จากการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ผ่านแผลถลอกหรือรอยขีดข่วน หรือติดต่อทางอ้อมจากแมลงหวี่ 

อ้างอิงจากหลักฐานประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จำกัด ซึ่งกล่าวถึงแค่ชื่อโรคและลักษณะอาการของโรค โดยเจ้าของบทความให้เหตุผลออกมาเป็น 5 ข้อใหญ่ ๆ ว่า

“1. น่าเชื่อว่าโรคคชราช หรือคชราด และคุดทะราด เป็นโรคเดียวกัน

2. หลักฐานในพระราชพงศาวดารระบุชัดเจนว่าทรงประชวรด้วยพระโรคคชราช ซึ่งแพทย์แผนไทยในขณะนั้นน่าจะรู้จักโรคนี้ดี

3. พระอาการที่ประชวรจน ‘ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ’ น่าจะเป็นผลมาจากคุดทะราดมากกว่าซิฟิลิส เพราะซิฟิลิสระยะแรก ระยะที่สอง และระยะแฝงมีอาการน้อยมาก และมักไม่ปรากฏอาการให้คนทั่วไปได้เห็นอย่างชัดแจ้ง เว้นแต่ระยะที่สองที่อาจมีอาการ ‘ออกดอก’ แต่ก็มักเป็นระยะเวลาไม่นานและคล้ายคลึงกับโรคที่มีผื่นตามตัวได้หลายโรค 

โดยผื่น ‘ออกดอก’ ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ อาการตุ่ม Condyloma lata ถ้ามีก็มักเป็นในร่มผ้า ไม่เจ็บ ไม่คัน แผลตื้นๆ ในปากถ้ามีก็ไม่มีอาการ ผมร่วงถ้ามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นอาการของโรคได้มากมายหลายโรค อาการทั่วไป เช่น ไข้ ก็มักเป็นต่ำๆ ไม่รุนแรง ดังนั้นแม้จะทรงมีพระอาการทุกอย่าง (ซึ่งน้อยรายที่จะเป็นเช่นนั้น) ก็คงไม่รุนแรงจน ‘ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ’

อนึ่ง ตามประวัติ ระยะแรกที่ซิฟิลิสระบาดในยุโรป เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่สองอาการมักรุนแรงมาก จนผู้ป่วยเสียชีวิตได้บ่อยๆ แต่หลังจากนั้นไม่นานเชื้อโรคได้มีการปรับตัวลดความรุนแรงลง กลายเป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง และคงลักษณะดังกล่าวมาจนทุกวันนี้ ซึ่งความร้ายแรงของโรคมักเกิดในระยะที่สามเมื่อมีการทำลายหัวใจและหลอดเลือดแดงใหญ่ หรือมีการทำลายระบบประสาท หรือทำให้ทารกในครรภ์ตายหลังคลอด 

มีผู้หญิงจำนวนมากที่ติดโรค แต่อาการระยะแรกและระยะที่สองมีน้อยมากจนแทบไม่รู้ตัวเมื่อโรคเข้าสู่ระยะแฝง ในการควบคุมโรคนี้จึงต้องมีการตรวจเลือดหญิงมีครรภ์ทุกรายถ้าพบเลือด ‘บวก’ จะได้รักษา และป้องกันการแพร่เชื้อเข้าสู่ลูกในท้อง

ในสมัยเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นระยะเวลากว่า 500 ปี หลังการระบาดครั้งแรกของซิฟิลิสในยุโรป ขณะนั้นซิฟิลิสได้มีการปรับตัวลดความรุนแรงลงไปเป็นเวลานานแล้ว

ตรงกันข้าม อาการของโรคคุดทะราดระยะแรกแม้ไม่รุนแรง แต่ก็มักเป็นบริเวณนอกร่มผ้าให้คนเห็นได้โดยง่าย เมื่อเข้าสู่ระยะที่สองก็จะเป็นกระจายไปกว้าง ถ้าเป็นที่ฝ่าเท้าก็จะทำให้เดินลำบาก เพราะทำให้เจ็บได้มาก นอกจากนั้นยังมีอาการคันมาก เมื่อเกาก็อาจติดเชื้อโรคอื่น ทำให้เจ็บปวดหรือแผลมีกลิ่นเหม็น ระยะที่สองนี้กินเวลานานถึง 3-4 ปี จึงเข้าได้กับการที่ ‘ไม่ได้เสด็จเข้ามาเฝ้าถึงสามปีเศษ’

4. การที่ทั้งพระราชพงศาวดารได้เขียนไว้ว่า ‘ทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ’ กับ ตุรแปง บันทึกว่า ‘ทรงปฏิบัติพระองค์ลงไปในทางต่ำ… และประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ’ และ นิโคลัส แบงค์ เขียนว่าทรง ‘ประชวรด้วย…กามโรคชนิดหนึ่ง’ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในสมัยนั้นคงไม่มีใครทราบว่า คุดทะราด หรือซิฟิลิส มีการติดต่ออย่างไรแน่

และแน่นอนว่ายังไม่มีการจัดว่า ซิฟิลิสเป็นกามโรค หรือที่แพทย์แผนไทยเรียกว่า ‘โรคบุรุษ’ แต่คุดทะราดไม่ใช่กามโรค การที่คุดทะราดมักเป็นกับคนในชนบทที่ยากจน การอนามัยส่วนบุคคลไม่ดี 

แต่เมื่อเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งทรงเป็นรัชทายาท ประชวรด้วยโรคนี้ จึงไม่แปลกที่จะเป็นที่เข้าใจว่า ทรง ‘ปฏิบัติพระองค์ลงไปในทางที่ต่ำ’ และ ‘ทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ’ หรือ ‘โรคที่สังคมรังเกียจ’ หรือเป็น ‘กามโรคชนิดหนึ่ง’

ในยุโรปเองกว่าจะทราบว่าซิฟิลิสเกิดจากเชื้ออะไรแน่ ก็ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2448 เป็นเวลาถึง 400 ปีเศษ หลังการระบาดของโรคครั้งแรกในยุโรป

5. จดหมายของ นิโคลัส แบงค์ พ่อค้าใหญ่ชาวฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น เขียนว่า ทรงประชวรด้วยโรค FRENCH POX หรือซิฟิลิส นั้น เป็นไปได้ไหมว่า สมัยนั้นชาวยุโรปส่วนมากไม่รู้จักโรคคุดทะราด เพราะไม่มีหลักฐานว่าพบโรคนี้ในยุโรป ซึ่งเป็นเมืองหนาว 

เพราะโรคนี้เป็นโรคในประเทศแถบร้อนชื้น ในขณะที่ FRENCH POX หรือซิฟิลิส เป็นโรคที่รู้จักกันแพร่หลายในยุโรป ทำให้ นิโคลัส แบงค์ สับสนว่า พระอาการของเจ้าฟ้ากุ้งคือ โรคซิฟิลิส และเขียนจดหมายไปเช่นนั้น

ช่วงสมัยของเจ้าฟ้ากุ้ง นับเป็นเวลาประมาณ 240 ปี หลังการแพร่ระบาดครั้งแรกของโรคซิฟิลิสในยุโรป ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานมาก แต่โดยที่การคมนาคมติดต่อกันสมัยก่อน มีค่อนข้างจำกัด ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าโรคนี้ได้แพร่ระบาดเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา หรือไม่ ถ้ามี-มีมากน้อยเพียงใด ได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญกามโรคหลายท่านก็ไม่มีผู้ใดตอบได้”

ด้วยข้อมูลหลักฐานที่มีจำนวนจำกัด และเนื้อหาที่ปรากฏในหลักฐานนั้น ก็ไม่ได้ระบุชัด การจะ “สรุป” ว่าเจ้าฟ้ากุ้งประชวรด้วยโรคใดแบบชัดเจน จึงอาจเป็นการทึกทักจนเกินไป สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการคาดถึงความเป็นไปได้ จากร่องรอยที่หลักฐานทิ้งไว้ แต่หากอนาคตปรากฏหลักฐานเพิ่มเติม ก็อาจทำให้เรารู้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2567