ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ประเทศไทยมี ถนน, สะพาน ฯลฯ ที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานเกินคาดอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ “อนุสาวรีย์” ที่ต้องใช้เวลาสร้างยาวนานหลายทศวรรษคงมีไม่มากนัก และในจำนวนนั้นต้องนับรวม “อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่วงเวียนใหญ่ไว้ด้วย 1 แห่ง เพราะใช้เวลาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จถึง 32 ปี
หากในเวลา 32 ปี มี “นายทองอยู่” เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม, ติดตาม, ท้วงถาม ฯลฯ จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ
นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ. 2442-2500) คนอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ครูนักประชาธิปไตย ที่ภายหลังได้เป็น สส. คนแรก ของจังหวัดธนบุรี เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มและติดตามการก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ ที่แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
ระยะแรก
พ.ศ. 2465 นายทองอยู่มีความคิดเรื่อง “อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช” ตั้งแต่เป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ ด้วยต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ เขาจึงตรวจหาข้อเท็จจริงจากเอกสารและพงศาวดาร โดยเฉพาะแผ่นดินพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเสนอความคิดดังกล่าวกับเพื่อนครูก็ถูกมองว่า ใครขืนอุตริกระทำขึ้นก็หมายถึงการนำภัยเข้ามาสู่ตัวเอง ด้วยขณะนั้นยังปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บ้างก็มองเป็นเรื่องขบขัน
พ.ศ. 2477 นายทองอยู่ สส. จังหวัดธนบุรี เชิญผู้แทนตำบลของจังหวัดธนบุรีทั้งหมด 126 คน และผู้มีเกียรติแห่งสมาคมธนบุรีอีก 10 คน มาประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรก เรื่อง การจัดสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่หอประชุมโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทั้งเสนอเรื่องต่อไปยังรัฐบาล
เมื่อเวลาผ่านก็ทำหนังสือท้วงถาม ถึง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า “ถ้ารัฐบาลเพิกเฉยในเรื่องนี้แล้ว ประชาชนผู้ใฝ่ใจทั้งหลายจะได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นเอง”
ที่สุดนายทองอยู่จัดตั้ง “คณะกรรมการ” เรื่องนี้ขึ้น และพากันเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เข้าพบนายกฯ และรัฐมนตรีอื่นๆ อีกหลายท่าน ซึ่งทั้งหมดต่างก็เห็นชอบด้วย และรับเรื่องมาดำเนินการต่อ
ระยะที่ 2
รัฐบาล พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา มีมติแต่งตั้งกรรมการ ซึ่งมีนายทองอยู่รวมอยู่ด้วย และเป็นผู้ยืนกรานจนเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกสร้างเป็น “อนุสาวรีย์” แทนที่ “ถาวรวัตถุ” อื่นใด ต่อมากรมศิลปากรที่รับผิดชอบเรื่องการออกแบบ ก็นำแบบจำลองต่างๆ มานำเสนอ มีการลงคะแนนเลือก “พระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบสถิตอยู่บนยอดสูง” เช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พ.ศ. 2482 นายทองอยู่จัดงานหาทุนสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดอินทาราม รวม 5 วัน 5 คืน
วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา และสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมาประกอบกับมีการสลับสับเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งหลายหนระหว่าง พ.ศ. 2484-2490 โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชจึงต้องหยุดชะงักลงชั่วขณะ
ระยะที่ 3
เมื่อสงครามยุติ ก็เกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 และการรัฐประหาร 2490 จน พ.ศ. 2491 นายทองอยู่ กับ นายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี ร่วมมือกันฟื้นฟูการสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. 2492 นายเพทาย ได้เป็น สส. ธนบุรี นายทองอยู่ก็กระตุ้นเตือนเขา จนได้ขอแปรญัตติทุนริ่มแรกในการสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ จำนวน 200,000 บาท จากงบประมาณแผ่นดิน
วันที่ 22 มีนาคม 2493 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่งตั้งคณะอำนวยการเพื่อการนี้ ซึ่งมีรายชื่อนายทองอยู่ในนั้น เริ่มการหารือที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรก (4 เมษายน 2493) มีมติว่า พระบรมรูปจะต้องขยายขนาดเป็น 2 เท่าครึ่งของตัวคน, ประเมินค่าใช้จ่ายเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท, กรมศิลปากร โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ฯลฯ
นายทองอยู่ได้รับมติจากกรรมการให้กำหนดวันพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียร ร.อ.ท. สงัด จูฑะศร นักโหราศาสตร์ ซึ่งเจ้าใหญ่นายโตยกย่องนับถือเป็นผู้กำหนดฤกษ์ (30 พฤศจิกายน 2494)
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. รัฐประหารตัวเอง ซึ่งขณะนั้นนายทองอยู่วิ่งรอกจัดการงานนี้ ต้องอยู่ภายใต้ความอารักขาจากตำรวจชั่วคราว
หลังจากพิธีข้างต้น การดำเนินการก่อสร้างดำเนินลุล่วงเป็นเวลา 2 ปีเศษ สรุปค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ทั้งหมดราว 5 ล้านบาทเศษ ส่วนพิธีฉลองสมโภช “อนุสารีย์พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่วงเวียนใหญ่ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 17-18 เมษายน 2497
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ชีวิตอุทิศแด่ ‘พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน’ ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ. 2442-2514) ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2567