ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ “พระเจ้ากรุงธนบุรี” รับราชการเป็นเจ้าเมืองอยู่ที่ “เมืองตาก” ก่อนเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้วจึงสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี
แต่หากดูตามประวัติเมืองตาก จะพบว่า พื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารของเทศบาลเมืองตากในปัจจุบันมีชื่อเดิมว่า “บ้านระแหง” ส่วนเมืองตาก (เก่า) หรือบ้านตาก อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือราว 25 กิโลเมตร นั่นคือบริเวณอำเภอบ้านตาก
แล้ว “เมืองตาก” ของพระเจ้าตาก คือเมืองใดกันแน่?
เมืองตาก คือ “บ้านตาก” “บ้านระแหง” ?
ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนบทความ “เมืองตากของพระเจ้าตาก คือ บ้านตาก” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2561 ชี้ว่า ประวัติเมืองตากฉบับราชการมหาดไทย มีเค้าโครงและเนื้อหาจากพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใน “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ซึ่งเป็นบันทึกการเสด็จจากเมืองเชียงใหม่กลับกรุงเทพฯ โดยล่องเรือตามแม่น้ำปิง และทรงแวะสำรวจบ้านตากกับเมืองตากใหม่ (บ้านระแหง) เมื่อ พ.ศ. 2464
กรมพระยาดำรงฯ ทรงกำหนดภูมิหลังของบ้านตากไว้ว่า “เมืองตากเก่านี้พวกมอญเข้ามาตั้งเป็นแน่ไม่มีที่สงสัยเพราะอยู่ฝั่งตะวันตก และอยู่ตรงปากวังทางไปเมืองนครลำปางออกลำน้ำพิง”
ส่วนเมืองตากใหม่ ทรงสรุปว่า “ตั้งที่บ้านระแหงทางฝั่งตะวันออก จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองระแหง”
ทรงสันนิษฐานว่า เมืองตากเก่าย้ายลงมาตั้งที่บ้านระแหง “ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อเป็นประเทศราชขึ้นพระเจ้าหงสาวดี เพราะเหตุที่ทางคมนาคมกับเมืองมอญมาลงตรงท่าบ้านระแหงนี้เป็นใกล้กว่าที่อื่น จนทุกวันนี้พวกคนค้าขายไปมากับเมืองมอญขึ้นลงที่ท่าระแหง เมืองตากเก่าตั้งเหนือขึ้นไปไม่เหมาะแก่การคมนาคมกับเมืองมอญจึงย้ายลงมา”
ทั้งระบุว่า “(เมืองตากใหม่) แต่เดิมมาตั้งทางฝั่งตะวันตก เห็นจะย้ายมาฝั่งตะวันออกเมื่อรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์”
ทั้งทรงให้ความเห็นว่า เมืองตากของพระยาตากคือบ้านระแหง เพราะ “จวน” ของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่ที่บ้านระแหง แม้จะไม่พบจวนดังกล่าวในระหว่างการเที่ยวชมเมืองก็ตาม
ประวัติเมืองตากของกรมพระยาดำรงฯ เป็นฐานให้การตั้งศูนย์กลางการบริหาร (ในชื่อจังหวัดตาก) ที่บ้านระแหงตั้งแต่ปี 2435 หรือยุคสร้างจังหวัดและมณฑลเทศาภิบาล รวมถึงชุดความเชื่อที่ว่าบ้านระแหงคือ “เมืองตาก” ของพระเจ้าตาก และมองข้ามบ้านตากหรือเมืองตากเก่าไป
แต่ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทมาศ (เจิม) งานนิพนธ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากมหาราชเอง ซึ่งชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้บันทึกการยกทัพหลวงกลับจากการปราบเมืองเชียงใหม่ของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2317 (นับศักราชแบบเก่า) ลำดับการเดินทางครั้งนั้นเผยให้เห็นว่า “บ้านตาก” คือเมืองตากในสมัยกรุงธนบุรีรวมถึงสมัยอยุธยาด้วย
โดยเล่าว่า ในเดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ “ถึงพระตำหนักเมืองตาก… เพลาย่ำฆ้องค่ำ เสด็จฯ มาประทับอยู่ ณ หาดทราย ‘บ้านตาก’ ” เวลา 2 ยาม “ลงเรือหมื่นจง กรมวัง ล่องลงมา หลวงรักษ์โกษาลงท้ายที่นั่งมาด้วย” ระหว่างทาง “เรือพระที่นั่งกระทบตอไม้ล่มลง” จึง “เสด็จฯ มาโดยทางสถลมารค” ถึง “พระตำหนักสวนมะม่วง ‘บ้านระแหง’” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (ตรงข้ามบ้านระแหง) ประทับอยู่ที่นั่น 6 คืน แล้วจึงเสด็จออกจากบ้านระแหงโดยทางเรือ
จะเห็นว่า “เมืองตาก” ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีคือบ้านตาก ไม่ใช่บ้านระแหง
รวมถึง พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ระบุว่าพระเจ้าตาก “เสด็จดำเนินทัพหลวงรีบลงมาถึงเมืองตาก วันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3” เมื่อทรงทราบข่าวว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา จึงมีดำรัสสั่งราชการจากเมืองตากให้ข้าราชการคนหนึ่ง “ลงเรือรีบลงไปบอกพระยาคำแหงวิชิต ซึ่งตั้งทัพ ณ บ้านระแหง ใต้เมืองตากนั้น” และเหตุที่พระเจ้าตากต้องทรงลงเรือล่องจากเมืองตากมาบ้านระแหงจนเรือกระทบตอล่มนั้น เพราะ “ในขณะนั้นเรือพระที่นั่งยังจอดอยู่ ณ ท่าสวนมะม่วง บ้านระแหง หาทันขึ้นไปรับเสด็จถึงเมืองตากไม่”
จึงค่อนข้างชัดเจนในเรื่องที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ตามลำน้ำปิง และพิกัดของ 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านตาก (เมืองตาก) บ้านระแหง และตำหนักสวนมะม่วง
หรือแม้แต่ มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ซึ่งเล่าถึงการยกทัพของฝ่ายพม่าลงมาจากเชียงใหม่-ลำปาง เพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยา ในบรรดาเมืองรายทางที่พม่าเคลื่อนทัพผ่าน “เมืองบ้านตาก” คือหน้าด่านแรกถัดลงมาจากเมืองลำปางและเมืองเถิน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของบ้านตาก เมื่อบ้านตากถูกยึดครอง ผู้นำบ้านระแหงทางใต้จึงสวามิภักดิ์แต่โดยดี ความเสียหายต่าง ๆ ย่อมน้อยกว่า แนวโน้มที่เมืองจะเติบโตหลังสงครามก็มีมากกว่าตามไปด้วย
ชื่อเมืองบ้านตากยังปรากฏในหนังสือ ราชอาณาจักรสยาม ของ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า เมืองแรกทางเหนือสุดของอยุธยาที่ตั้งอยู่ตามลำน้ำปิง คือ แม่ตาก (Me-Tac) และได้อธิบายถึงไว้ ดังนี้
“เมือง แม่ตาก… เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก อันหมายความว่าเจ้าแห่ง(เมือง) ตาก… เมืองพิษณุโลก…เมื่อก่อนนี้ก็มีเจ้าผู้ครองสืบวงศ์เหมือนกัน เช่นเดียวกับเมืองแม่ตาก…”
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมืองแม่ตาก หรือบ้านตาก จึงเป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวทางเหนือของเมืองกำแพงเพชร ตามลำน้ำปิงขึ้นไป ส่วนที่เหลือเป็นชุมชนตามรายทาง ส่วนเมืองระแหงคงค่อย ๆ เติบโตหลังจากนั้น จนมีความสำคัญและเป็นเมืองขนาดใหญ่กว่าบ้านตากในสมัยกรุงธนบุรี
ดังหลักฐานในท้องตราเรียกระดมทัพจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อไปปราบเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2317 ความว่า “ไปเข้ากองทัพรับเสด็จฯ ณ เมืองตากบ้านระแหงเป็นการเร็ว” หรือ “ให้พร้อมกัน ณ บ้านระแหงเมืองตาก”
คือให้ความสำคัญกับชื่อเมืองตากซึ่งเป็นเมืองที่พระเจ้าตากทรงเคยเป็นเจ้าเมือง แต่ความสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่บ้านระแหง
ยิ่งพิจารณาจากการเดินทัพกลับจากเชียงใหม่ของพระเจ้าตากในตอนต้น การที่ทรงประทับ ณ บ้านตากไม่ทันข้ามคืนก็เสด็จมายังบ้านระแหง และประทับที่พระตำหนักสวนมะม่วงถึง 6 คืน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าบ้านระแหงในยุคกรุงธนบุรีมีความสำคัญหรือโดดเด่นกว่าบ้านตากอย่างแน่นอน
ต่อมาเมื่อมีการจัดการปกครองแบบเทศาภิบาลในกลางสมัยรัชกาลที่ 5 อาณาบริเวณบ้านตาก-บ้านระแหงจึงถูกเรียกรวม ๆ ว่า “เมืองตาก” แต่มีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่บ้านระแหง กระทั่งได้ยกฐานะเป็น “จังหวัดตาก” มีศูนย์กลางการบริหารในเขตเทศบาลเมืองตาก (บ้านระแหง) มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วน “บ้านตาก” ที่เป็น “เมืองตาก” ของ “พระเจ้าตาก” ก็ถูกลืมเลือนไปด้วยข้อมูลชุดใหม่จากประวัติเมืองตากฉบับราชการ อันมีพื้นฐานจากบันทึกการเดินทางล่องแม่น้ำปิงของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก” ฉากสุดท้ายกรุงธนบุรี
- ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา
- พระเจ้าตาก กับหลักฐานหม่อมเจ้าคนโปรดเป็นชู้กับฝรั่ง ลงโทษหนักผ่าอก-ตัดแขน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2567