พระเจ้าตาก กับหลักฐานหม่อมเจ้าคนโปรดเป็นชู้กับฝรั่ง ลงโทษหนักผ่าอก-ตัดแขน?

พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตาก พระราชวังเดิม
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในพระราชวังเดิม

พระเจ้าตาก ทรงชุบเลี้ยงเจ้านายฝ่ายในราชวงศ์เก่า เพื่อรักษาสัมพันธ์เอาไว้ให้แน่นแฟ้น หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไปแล้ว แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นไปตามพระประสงค์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่งเอ่ยถึงร่องรอยของข้อบ่งชี้เรื่องความประพฤติเสื่อมเสียเกียรติของเจ้านาย ในแง่หม่อมคนโปรด “เป็นชู้” กับชาวต่างชาติ จึงทรงลงโทษอย่างรุนแรง หลักฐานที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง

พระเจ้าตาก ทรงชุบเลี้ยง “เจ้านายราชวงศ์เก่า”

ช่วงหลังการกู้กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากสิน ทรงชุบเลี้ยงเจ้านายฝ่ายในของราชวงศ์เก่า และทรงรับเจ้าที่เป็นสตรีไว้ อาทิ หม่อมอุบล (ธิดาของกรมพมื่นเทพพิพิธ) และหม่อมฉิม (ธิดาของเจ้าฟ้าจีด) อย่างไรก็ตาม บันทึกทางประวัติศาสตร์ปรากฏการลงโทษเจ้านายฝ่ายในเหล่านั้นอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากความประพฤติที่เสื่อมเสีย

Advertisement

กรณีนี้มีผู้สนใจประวัติศาสตร์ค้นหาเปรียบเทียบหลักฐานหลายชิ้น บทความของ ไพโรจน์ โพธิไทร นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นมาเปรียบเทียบ และพบเห็นจุดที่สอดคล้องและความแตกต่างกัน

ข้อมูลที่เอ่ยถึงเหตุการณ์ในพระราชพงศาวดารพิสดาร เล่ม 3 พระบรมราชวงศ์ตาก แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 พระเจ้าตากสิน กรมศึกษาธิการ หนังสือพระราชพงศาวดารเล่ม 3 (ร.ศ. 118 พ.ศ. 2442) หน้า 40 บรรยายว่า

“ถึงวัน 2 9/1 7 ค่ำ ลุศักราช 1131 (1131-1181 พ.ศ. 2312) ปีฉลู เอกศก หม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจิตร์ กับนางลคอน 4 คน เปนชู้กับฝรั่งมหาดเล็ก 2 คน

พิจารณาเปนสัตย์แล้ว สั่งให้ฝีพายทนายเลือกไปทำชำเราประจาน แล้วตัดแขน ตัดศีษะ ผ่าอกเสียทั้งชายทั้งหญิง อย่าให้ใครดูเยี่ยงกันสืบต่อไป…”

ด้านหนังสือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้านิกรเทวัญ เทวกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 15 มีนาคม พ.ศ. 2520 หน้า 1-2 บรรายว่า

(หน้า 1) “ณ ปีชวดสำเรทธิศก (2311) ไปตีเมืองนครหนังราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าศรีสังข์ ไปอยู่ภิมาย ต่อสู้รบประจัญ จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธ บุตรชาย 2 บุตรหญิง 1 กับเจ้าศรีสังข์

กรมหมื่นเทพพิพิธ ท่านให้สำเร็จโทษเสีย เจ้าศรีสังข์หนีไปเมืองขอม บุตรกรมหมื่นสุนทรเทพหม่อมประยง โปรดให้เปนเจ้าอนุรุทเทวา บุตรกรมหมื่นจิตรสุนทร หม่อมกระจาด ให้ชื่อบุษบา

(หน้า 2) บุตรกรมพระราชวัง หม่อมเจ้ามิต ประทานชื่อประทุม บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพี่ควม (พิกุล) พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจิตรเลี้ยงเสมอกันทั้งสี่คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง

วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย ในที่ด้วย เจ้าประทุมทูลว่า ฝรั่งเป็นชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำสี่คน เป็นหกคนด้วยกัน

รับสั่งถามหม่อมอุบลไม่รับ หม่อมฉิมว่ายังจะเป็นมเหษีคี่ซ้อนฤา มาตายตามพ่อเจ้าเถิดรับเป็นสัตย์หมด

ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือรด ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิต ผ่าอกเอาเกลือทา ตัดมือ-ตัดเท้า สำเร็จโทษเสร็จแล้ว ไม่สบายพระทัย คิดถึงหม่อมอุบลมีครรภ์อยู่สองเดือน

ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทร์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบา จะตามเสด็จด้วย

ประทานเงินคนละ … ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ … ให้ทำพระแล้วให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล แล้วจะประหารชีวิตคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อนแล้วท่านจะแทงพระองค์ตามไปอยู่ด้วยกัน

เจ้าข้าพระสติฟั่นเฟือน เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาร กับเตี่ยหม่อมจันท์นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพร ขออย่าให้ทำ หาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตไว้

ได้พระสติคืนสมประดี ประทานเงินเติมให้แก่ผู้ตามเสด็จนั้น

เจ้าหอกลางประสูตร์เจ้าเป็นพระราชกุมาร แผ่นดินไหว ฉลูต้นปี โปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้น หมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อยแล้วเสด็จไปตีเมืองนคร เสด็จเป็นทัพเรือ ทรงพระที่นั่ง ศรีสักกระหลาดเข้าปากน้ำ เมืองนคร ณ วัน… 7 10 ค่ำ…”

ฝรั่งจับหนู

ความตามบรรยายนี้ คือในช่วงที่มีหนูจากทุ่งนาเข้ามาหาอาหารในบ้านสามัญชนไปจนถึงพระราชวัง กัดพระวิสูตร (ม่านหรือมุ้ง) พระเจ้าตาก ทรงรับสั่งให้ ชิดภูบาล กับ ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดเข้ามาจับหนู หม่อมประทุมกราบทูลว่า มีผู้เป็นชู้กับฝรั่ง เมื่อพระองค์ไต่ถาม หม่อมอุบลไม่ยอมรับ หม่อมฉิมยังกล่าวประชดประชันว่าเป็นเรื่องจริง

การเป็นชู้กับฝรั่ง ซึ่งไพโรจน์คาดว่า เป็นคนเชื้อสายโปรตุเกส อาจเป็นคนบ้านกุฎีจีน หรือบ้านโปรตุเกส-เขมร วัดคอนเซ็ปชัญ จากหลักฐานที่บรรยายนั้น พระเจ้าตากสินทรงผิดหวังต่อกรณีนี้ โดยเฉพาะเมื่อทรงทราบว่ามีครรภ์ 2 เดือน อันทำให้ทรงเสียพระทัยมากยิ่งขึ้น ถึงขั้นตรัสว่า “จะตายตาม” 

หลักฐานข้างต้นทั้งคู่นี้สอดคล้องกัน แต่เมื่อดูหลักฐาน จดหมายเหตุโหร ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8 พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเปลื้อง อินทรทูต ณ วัดมงกุฎฯ 7 กุมภาพันธ์ 2507 หน้า 8 บรรยายว่า เรื่องราวในปี จ.ศ. 1137 (พ.ศ. 2318) ศักราชมากกว่า 2 ปี ความว่า

“ข้างในเป็นโทษ ลงพระอาญาตระลาการ ประหารชีวิตนายประตูคนหนึ่ง…”

ซึ่งเนื้อหาแตกต่างจากการบรรยายของพระราชพงศาวดารฯ และจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทร์ฯ อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักฐานจดหมายเหตุโหรไว้ว่า เป็นเอกสารที่เขียนรวบรวมเป็นจดหมายเหตุในภายหลัง โดยมักรวบรวมขึ้นจากปูมโหร ซึ่งจดกันในเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง อาจารย์นิธิอ้างอิงข้อมูลคำอธิบายจากจดหมายเหตุโหรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8 หน้า (8)-(9)

ลักษณะการจดรายการต่างๆ ก็เป็นแบบย่อ เลี่ยงไม่จดเนื้อความที่อาจเป็นข้อฉกรรจ์แก่พระมหากษัตริย์

หลังจากเหตุการณ์นี้ จดหมายเหตุโหรยังบันทึกเหตุการณ์ในปีเดียวกัน วันอังคารขึ้น 2 ค่ำ เดือนตุลาคม ว่า มีการเฆี่ยนบาทหลวง 3 คน คนละ 100 ครั้ง ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และผู้สนใจประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยมักมองว่า เหตุการณ์ที่สืบเนื่องต่อกันดังว่านี้เป็นจุดเริ่มต้นพระอาการผิดเพี้ยนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่จะตามมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ไพโรจน์ โพธิไทร. “ปัจฉิมกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กับสมุดข่อยวัดรัชฎาธิษฐานราชวิหาร (วัดเงิน), ” ใน ศิลปวัฒนธรรม (กรกฎาคม 2528).

นิธิ เอียวศรีวงศ์. “จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม (พฤษภาคม 2528).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2562