พระเจ้าตาก ยึดฮาเตียน (พุทไธมาศ) “แบ่ง” เขมรกับอ๋องตระกูลเหงวียน

สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จตีเมืองพุทไธมาศ หรือ ฮาเตียน ปัจจุบันอยู่ใน เวียดนาม โคลงภาพพระราชพงศาวดาร โดย นายอ่อน
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จตีเมืองพุทไธมาศ” โคลงภาพพระราชพงศาวดารเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายอ่อน

สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2314 เกิดสงครามยึด “ฮาเตียน” เมืองท่าสำคัญปลายคาบสมุทรอินโดจีน ส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การแผ่ขยายอำนาจของ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ท่ามกลางสภาวการณ์ความขัดแย้งระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงเว้ ของอ๋องตระกูล “เหงวียน” ผู้ปกครอง เวียดนาม “ตอนใต้” ในขณะนั้น โดยมี ฮาเตียน กับ เขมร เป็นสนามประลองยุทธ์

ทำไมต้องยึด “ฮาเตียน” เมืองนี้สำคัญอย่างไร? สมเด็จพระเจ้าตากสินถึงเสด็จไปพิชิต ทั้งที่เพิ่งสถาปนากรุงธนบุรีได้เพียงไม่กี่ปี

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น หลังกองทัพอังวะตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. 2310 สถานการณ์บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มไปด้วยความโกลาหล กระทั่ง “พระยาตาก” ระดมพลกองทัพลูกผสมไทย-จีน จากหัวเมืองภาคตะวันออก เข้ากอบกู้บ้านเมืองในภาคกลาง สถาปนาศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ คือ กรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อสร้างอำนาจให้กรุงธนบุรีสามารถรับศึกอังวะ โดยไม่ต้องอาศัยราชธานีเป็นปราการด่านสุดท้าย นั่นคือการขยายอำนาจออกไปให้ไกล เพื่อสร้างหัวเมืองหน้าด่านรับศึกภายนอก

นโยบายดังกล่าวส่งผลให้สยามเร่งส่งกองทัพออกไปพิชิตดินแดนต่าง ๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาดังเดิม เพิ่มเติมคือออกไปไกลถึงดินแดนปากแม่น้ำโขง (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประเทศเวียดนาม) ซึ่งอยุธยาในยุครุ่งเรืองก็มิได้ให้ความสำคัญหรือแผ่อำนาจไปถึงมาก่อน

นโยบายของสมเด็จพระเจ้าตากสินปะทะกับแนวทางที่ตระกูลเหงวียนวางเอาไว้เต็ม ๆ เพราะญวนก็ตั้งใจจะแผ่อิทธิพลใน เขมร และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเช่นกัน

กำเนิดเมืองท่า “ฮาเตียน”

ฮาเตียน อยู่บริเวณริมสุดทางตะวันตกเฉียงใต้ของแผนที่เวียดนามในปัจจุบัน ตะวันตกติดอ่าวไทย ตะวันออกติดดินแดนบริเวณปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม เมืองแห่งนี้เติบโตจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญภายใต้ตระกูล “หมัก” ชาวจีนกวางตุ้ง โดยผู้นำชื่อ หมักกื๋ว เขาคือผู้ก่อร่างสร้างฮาเตียนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ภายใต้พระบรมราชานุญาตของพระเจ้ากรุงกัมพูชา ตรงกับช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เดิมฮาเตียนมีชื่อว่า “เฟืองแถ่งห์” เป็นเมืองท่าที่มีเครือข่ายทางบกเชื่อมต่อกับเมืองบาสัก ลึกเข้าไปในแผ่นดินเขมร เฟืองแถ่งห์คือหน้าด่านทางทะเล “ปากทาง” สู่กรุงอุดงค์มีชัย ราชธานีของกัมพูชา ช่วงที่เฟืองแถ่งห์เติบโตขึ้นนั้น ชาวเวียดนามเริ่มเคลื่อนย้ายลงมาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำโขงและบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น ตามนโยบายแผ่อำนาจลงใต้ของอ๋องตระกูลเหงวียน ส่วนสยามคือเจ้าอธิราชผู้มีบทบาทในการชี้นำผู้สืบราชบัลลังก์กัมพูชา

หมักกื๋วตระหนักดีว่า เมืองของเขาจะอยู่รอดได้ ต้องถ่วงดุลอำนาจกับ 3 อาณาจักร ทั้งกัมพูชา เวียดนาม และสยาม แต่ปัญหาคือ เมื่อตระกูลเหงวียนเริ่มแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชา สงครามสืบราชบัลลังก์ที่ดึงเอาสยามเข้ามาพัวพันกับการจัดสรรอำนาจของดินแดนเขมรอยู่บ่อยครั้ง แม้ความวุ่นวายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ฮาเตียนเติบโตอย่างอิสระ แต่เมืองแห่งนี้ต้องพลอยถูกโจมตีบ่อยครั้ง เพราะเป็นทางผ่านของกองทัพสยามไปยังอุดงค์มีชัย

ท้ายที่สุด หมักกื๋วหันไปสวามิภักดิ์ต่อญวน อ๋องตระกูลเหงวียนตอบรับอย่างกระตือรือร้น และมอบตำแหน่งขุนนางให้เขา รวมถึงเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองเสียใหม่ จากเฟืองแถ่งห์เป็น ฮาเตียน (Hà Tiên) หมายถึง “เทพแห่งลำน้ำ”

ฮาเตียนยังคงส่งบรรณาการไปยังราชสำนักอุดงค์มีชัยอยู่เนือง ๆ แต่บารมีของญวนดูจะแผ่อิทธิพลเหนือเมืองท่าแห่งนี้ชัดเจนกว่าฝ่ายเขมร ซึ่งแสดงออกเช่นกันว่าไม่ชอบใจนัก ยิ่งในยุคของ หมักเทียนตื๋อ ทายาทของหมักกื๋ว ฮาเตียนเติบโตอย่างแข็งกล้ายิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถรักษาเมืองจากการโจมตีของกองทัพเขมรที่พยายามยืนยันอำนาจเหนือฮาเตียนใน พ.ศ. 2282

ฮาเตียนยังเคยเป็นที่พึ่งของนักองค์สงวน กษัตริย์กัมพูชาผู้เสด็จลี้ภัยมาที่นี่เพราะสงครามกับอ๋องตระกูลเหงวียนในปี 2296 หมักเทียนตื๋ออาสาเจรจากับญวนให้ และได้ข้อสรุปว่า ญวนยอมให้นักองค์สงวนกลับไปครองกัมพูชาได้ แต่ต้องมอบหัวเมืองบางส่วนบริเวณปากแม่น้ำโขงแก่พวกเขา นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เขมร ค่อย ๆ สูญเสียอิทธิพลเหนือดินแดนปากแม่น้ำโขงแก่ตระกูลเหงวียน ทศวรรษถัดมา สยามยังสูญสิ้นอำนาจเหนือกัมพูชาช่วงสั้น ๆ เพราะเหตุการณ์เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ด้วย

ความเป็นปฏิปักษ์ของ “ฮาเตียน” ต่อกรุงธนบุรี

ปลายปี 2310 หลังปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ปรารถนาจะแผ่อำนาจของสยามไปยังดินแดนตะวันออก ตั้งแต่ลาว กัมพูชา ถึงปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม เพื่อสะสมทรัพยากร ไพร่พล และสินค้า รองรับศึกกับอังวะ

ฮาเตียนเวลานั้นมีเชื้อพระวงศ์จากกรุงศรีอยุธยา 2 พระองค์ เสด็จลี้ภัยอยู่ นั่นคือ “เจ้าจุ้ย” และ “เจ้าศรีสังข์” อาคันตุกะระดับพระราชวงศ์เดิมนี้ทำให้ฮาเตียนเข้าไปเกี่ยวพัวพันกับการเมืองภายในราชอาณาจักรสยาม

จดหมายของบาทหลวงฝรั่งเศสนาม Fr. Morvan ระบุว่า เชื้อพระวงศ์อยุธยามาถึงฮาเตียนในเดือนพฤศจิกายน ปี 2310 ช่วงเวลาเดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขับไล่กองทัพอังวะที่ประจำการอยู่บริเวณกรุงศรีอยุธยา หมักเทียนตื๋อประเมินว่า การให้ความช่วยเหลือพระราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะทำให้ฮาเตียนได้ประโยชน์มากกว่าการสนับสนุนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผู้มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว เพราะพวกเขาคือจีนกวางตุ้ง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินเองมองว่า เชื้อพระวงศ์อยุธยาที่ฮาเตียนคือภัยคุกคามของพระองค์ผู้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์สยาม และเป็นต้นราชวงศ์ใหม่

มีหลักฐานว่า เจ้าจุ้ยและเจ้าศรีสังข์ขอให้หมักเทียนตื๋อช่วยกู้ราชบัลลังก์คืนจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฝ่ายหมักเทียนตื้อตอบรับ และรายงานสถานการณ์ไปยังกรุงเว้ ฝ่ายญวนจึงมอบหมายให้ผู้ว่าราชการเมืองซาดิ่งห์ (ต่อมาคือไซ่ง่อนหรือนครโฮจิมินห์) กองบัญชาการทหารญวนที่ใกล้ฮาเตียนที่สุดคอยรับข่าวสาร เพื่อสนับสนุนหมักเทียนตื้อทำศึกกับสยาม

พ.ศ. 2312 ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินทำสงครามกับก๊กเจ้าพิมาย ฮาเตียนอาศัยจังหวะดังกล่าวยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองจันทบุรี บันทึกตระกูลหมัก เล่าว่า กองทัพฮาเตียนนำโดยบุตรเขยของหมักเทียนตื๋อ มีเจ้าจุ้ยติดตามไปด้วย แต่เผชิญการต่อต้านอย่างขันแข็งจากเมืองจันทบุรี โรคภัยไข้เจ็บ และซ้ำเติมด้วยการก่อกวนของโจรสลัดในน่านน้ำบริเวณนั้น ทัพฮาเตียนจึงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในศึกนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า ทั้งอ๋องตระกูลเหงวียนและหมักเทียนตื๋อเอาจริงเอาจังในการแทรกแซงการเมืองภายในสยามในระดับหนึ่งทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตอบโต้ฮาเตียน ด้วยการโจมตีเมืองท่าแห่งนี้ในปี 2314

จิตรกรรมพระราชประวัติ “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากการศึกษาหลักฐานหลากหลาย ทั้งของไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน สุเจน กรรพฤทธิ์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เวียดนาม วิเคราะห์ว่า การรุกรานฮาเตียนของสยามในยุคธนบุรีมีแรงจูงใจมากมาย

นอกจากความเป็นเมืองท่าของชาวจีนกวางตุ้ง แหล่งกบดานของพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง และพฤติกรรมการแทรกแซงการเมืองภายในของสยามแล้ว อย่าลืมว่าฮาเตียนคือหน้าด่านสู่แผ่นดินเขมรจากทางทะเล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชาเวลานั้นยังไม่ยอมรับอำนาจของกรุงธนบุรี มองว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินไร้สิทธิ์อันชอบธรรมในฐานะพระเจ้าแผ่นดินสยาม เพราะไม่ใช่และไม่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์บ้านพลูหลวง

อนึ่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงต้องการสถาปนา “นักองค์ราม” (บางหลักฐานเรียก นักองค์นนท์ นักองค์โนน) ผู้ลี้ภัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนเสียกรุงฯ และติดตามพระองค์ตีฝ่ากองทัพอังวะออกจากกรุงศรีอยุธยา ให้กลับไปครองราชสมบัติใน เขมร

หรือย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ฮาเตียนยังให้ความช่วยเหลือ “พระยาจันทบุรี” ผู้เคยต่อต้านอำนาจสมเด็จพระเจ้าตากสิน เหล่านี้ล้วนเป็น “สัญญาณ” บ่งชี้ว่า ฮาเตียนยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างโจ่งแจ้ง

ยิ่งไปกว่านั้น หมักเทียนตื๋อยังเคยพยายามดำเนินการ “ขัดขาทางการทูต” ขณะสมเด็จพระเจ้าตากสินพยายามติดต่อกับราชวงศ์ชิงของจีน เพื่อขอทำการค้าและ “จิ้มก้อง” กับราชสำนักจีน ดังที่เคยปฏิบัติมาในสมัยอยุธยา โดยมีรายงานจากฮาเตียนแจ้งไปยังกรุงปักกิ่งว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมิใช่ทายาทราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นแต่เพียงข้าแผ่นดินที่ตั้งตนเป็นใหญ่ ทำให้กรุงธนบุรีพลาดโอกาสในการทำรายได้จากจีน 

แม้ท่าทีของราชสำนักชิงต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินจะแข็งกร้าวในช่วงแรก แต่โอนอ่อนลงเมื่อพระองค์พยายามอย่างต่อเนื่องในการแสดงออกถึงความอ่อนน้อม โดยเฉพาะการส่งเชลยศึกอังวะให้แก่จีน ระหว่างที่จีนกับอังวะกำลังขับเคี่ยวทำสงครามกันอยู่ ฮาเตียนจึงล้มเหลวในการขัดขวางสมเด็จพระเจ้าตากสินจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ไปโดยปริยาย

พระเจ้าตากฯ พิชิตฮาเตียน

ศึกฮาเตียนเมื่อ พ.ศ. 2314 ปรากฏข้อมูลตรงกันทั้งในหลักฐานไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในบันทึกตระกูลหมัก เล่าว่าสงครามนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม หลังสมเด็จพระเจ้าตากสินปราบก๊กเจ้าพระฝางแห่งสวางคบุรีสำเร็จ กองทัพสยามยกมาด้วยเรือรบ 200 ลำ เรือกำปั่น 100 ลำ เป็นกองกำลังผสมของทหารไทย-จีน และชาวตะวันตก 15,000 คน โดยมีทัพบกอีกสายใช้เส้นทางปราจีนบุรีลำเลียงสนับสนุน กองทัพเรือใช้เวลา 5 วันเลาะตามชายฝั่งอ่าวไทย หยุดพักที่เมืองจันทบุรี และใช้เวลาอีก 6 วัน ถึงน่านน้ำเมืองฮาเตียนในวันที่ 14 พฤศจิกายน

สมเด็จพระเจ้าตากสินแจ้งแก่หมักเทียนตื๋อให้ยอมแพ้ ไม่เช่นนั้นก็รบกันสถานเดียว โดยแจ้งพระประสงค์ว่าต้องการสถาปนานักองค์รามเป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา และขอให้ส่งตัวเจ้าจุ้ยกับเจ้าศรีสังข์พร้อมผู้ติดตามทั้งหมดแก่พระองค์ แต่หมักเทียนตื๋อรั้งรอไม่ยอมตอบพระราชสาส์น กระทั่ง 2 วันหลังข้อเสนอถูกยื่นไป กองทัพสยามทั้งทัพบกและทัพเรือจึงเริ่มบุกโจมตีฮาเตียน ด้วยการยึดชัยภูมิสำคัญโดยรอบทันที

เวลา 2 ยาม วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314 ทัพสยามตีหักเอาเมืองฮาเตียน ตั้งค่ายล้อมทุกจุดยุทธศาสตร์ ทั้งทิศตะวันตก ตะวันออก เกาะกลางแม่น้ำ และบนฝั่งแม่น้ำซางแถ่งห์ทางทิศใต้ ด้านตรงข้ามแม่น้ำที่ไหลผ่าเมืองฮาเตียน โดยใช้กำลังพล 2,400 คน บุกตีเอาค่ายหน้าเมืองพร้อมกันทั้งทางบกทางเรือได้ในเที่ยงคืนนั้น พร้อม “จุดไฟเผาบ้านเรือนเป็นอันมาก”

เช้าตรู่วันที่ 17 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพิชิตฮาเตียนได้ จับได้เจ้าจุ้ย แต่เจ้าศรีสังข์หนีไปอยู่กับพระอุทัยราชา กษัตริย์กัมพูชาที่ประทับอยู่กับอ๋องตระกูลเหงวียน หมักเทียนตื๋อหลบหนีไปได้เช่นกัน

ไม่มีความช่วยเหลือจากกองทัพฝ่ายตระกูลเหงวียนมายังฮาเตียน… เอกสารเวียดนามระบุว่า กองทัพญวนมาไม่ทัน เพราะมีความระหองระแหงเกิดขึ้นระหว่างเจ้าเมืองฮาเตียนกับราชสำนักเหงวียน โดยเฉพาะแม่ทัพที่ประจำอยู่ที่ซาดิ่งห์ ความหวังที่ใกล้เคียงที่สุดหากหมักเทียนตื๋อต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอกมาช่วยรับศึกสยามจริง ๆ แต่ไม่เกิดขึ้น เมื่อฮาเตียนถูกปล่อยให้รับศึกสยามเพียงลำพัง สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงยึดเมืองแห่งนี้ได้โดยง่าย

สมเด็จพระเจ้าตากสินแต่งตั้งขุนนางแต้จิ๋วคนสนิทของพระองค์ปกครองฮาเตียน เพื่อควบคุมโดยง่ายด้วยคนที่วางพระทัย และเพื่อกวาดล้างอิทธิพลของชาวจีนกวางตุ้งจากฮาเตียน บันทึกตระกูลหมัก กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า “จิ่งห์เติน (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) เคลื่อนย้ายคนของเราไปยังเขตทุรกันดาร รับสั่งให้เจิ๊ดตรี (เจ้าพระยาจักรี) และน้องคือโซซี (เจ้าพระยาสุรสีห์) ไปรบกัมพูชา… บุตรหลานและข้าราชบริพาร (ของหมักเทียนตื๋อ) 36 คน ตกป็นเหยื่อและถูกสังหาร”

ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ทรงคิดทำลายฮาเตียน พระองค์มีประกาศมิให้ทหารข่มเหงราษฎร ปล่อยให้พ่อค้าวาณิชทั้งหลายทำการค้าขายต่อไปได้ตามปกติ และคาดโทษผู้ฝืนพระบัญชาดังกล่าวอย่างเด็ดขาด

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2314 หลังจัดแจงกิจการต่าง ๆ ภายในฮาเตียน ทัพสยามเคลื่อนพลเข้าพิชิตเมืองบริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต่อ เพื่อไล่ล่าหมักเทียนตื๋อและพระอุทัยราชา แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก สยามส่งสาส์นถึงราชสำนักเหงวียนขอแบ่งกัมพูชาให้พระรามราชา (นักองค์ราม) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินสนับสนุน กับอีกส่วนให้พระอุทัยราชาที่ตระกูลเหงวียนสนับสนุน ที่ทรงเร่ง “ปิดดีล” แดนตะวันออก เพราะข่าวการสะสมกำลังของฝ่ายอังวะในล้านนาทำให้สยามต้องรีบตัดสินใจ เพราะไม่ต้องการทำศึกสองด้าน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้กัมพูชาและบริเวณปากแม่น้ำโขงถูกเฉือนแบ่งเป็นหลายส่วน ได้แก่ เมืองพระตะบอง โพธิสัตว์ อยู่ภายใต้อำนาจของสยามโดยตรง บริเวณเมืองกำปอด กำปงโสม มีพระรามราชาปกครองภายในการสนับสนุนของสยาม ทางใต้พนมเปญลงไป มีพระอุทัยราชาปกครองภายใต้อิทธิพลของญวน ฮาเตียนอยู่ในกำกับดูแลของพระยาพิพิธ พระยาราชาเศรษฐี (จีน) คนสนิทของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนสุดท้ายคือซีกตะวันออกของกัมพูชา อยู่ภายใต้การดูแลของอ๋องตระกูลเหงวียนโดยตรง

ติดตามความสัมพันธ์ “สยาม-เวียดนาม” กับสงครามยุครัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 จาก PODCAST นี้ : 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2550). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน.

ปรามินทร์ เครือทอง. (2557). ชำแหละแผนยึดกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุเจน กรรพฤทธิ์. (2562). รุกตะวันออก : ความสัมพันธ์ สยาม-เวียดนาม ก่อนอานามสยามยุทธ. กรุงเทพฯ : มติชน.

ปรามินทร์ เครือทอง. ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรี. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2566