เผยกลศึก “พระเจ้าตาก” ปราบซ่อง “โจรสลัด”

พระเจ้าตาก ทรงม้าสู้ศึก ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก
ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

หลังกรุงศรีอยุธยาแตก ก็ได้เกิดก๊กต่างๆ ขึ้นหลายก๊ก ซึ่ง “พระเจ้าตาก” ก็ทรงปราบปรามก๊กทั้งหลายเหล่านั้น รวมทั้งทรงปราบซ่อง “โจรสลัด” ด้วย 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับการยกย่องจากพระปรีชาสามารถในการรบทางบก ตั้งแต่ช่วงรับราชการในกรุงศรีอยุธยา แต่ในมุมมองของเหล่านายทหารกองทัพเรือ ส่วนหนึ่งก็ยอมรับในพระปรีชาสามารถในการทัพทางทะเลด้วย ช่วงเวลาก่อนกู้กรุงศรีอยุธยาไปจนถึงช่วงหลังการปราบดาภิเษกแล้ว ล้วนมีบันทึกเหตุการณ์การรบทางเรือ ทั้งจากพระราชพงศาวดาร หรือแม้แต่ร่องรอยในการบันทึกเรื่องราวอื่นนอกเหนือจากในพระราชพงศาวดาร ในอีกแง่หนึ่งพระองค์จึงเป็น “จอมทัพทางเรือ” ได้ด้วย

ช่วงสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากกับพวกฝ่าวงล้อมพม่า โดยออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยา เดินทัพมายังดินแดนเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อรวบรวมผู้คนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยา กำปล จำปาพันธ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อธิบายว่า ตลอดการเดินทัพออกจากอยุธยา พระเจ้าตาก รบกับพม่า 3 ครั้งเท่านั้น คือ ที่บ้านโพสาวหาญ, บ้านพรานนก และพม่าที่ยกมาจากปากน้ำเจ้าโล้ ท่ากระดาน ใกล้สำนักหนองน้ำ

ที่เหลือเป็นการรบกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น 7 ครั้ง จำนวนนี้มีกลุ่มที่อาจถือว่าเป็นกลุ่มที่มีนัยยะต่อเส้นทางการกู้กรุงศรีอยุธยาอย่าง นายทองอยู่นกเล็ก ที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) และ ขุนรามหมื่นซ่อง ที่บ้านประแสร์

นักเลงท้องถิ่นในพื้นที่เหล่านี้ บางครั้งถูกนิยามว่าภายหลังก็พัฒนาต่อมาเป็น “โจรสลัด” ตามคำศัพท์ในมโนทัศน์ของชาวยุโรปยุคล่าอาณานิคม ปลายคริสต์ศควรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคก่อนหน้านั้น กลุ่มคนที่ปล้นเรือสินค้าไปจนถึงขโมยสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตจากขบวนสินค้า มักมีสถานะเชิงบวก มีหน้ามีตาในสังคม สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมในย่านนี้ถือเอาขีดความสามารถในการใช้ความรุนแรงว่าเป็นที่มาของอำนาจบารมี หลายคนได้รับยกย่องเป็นผู้กล้าหาญ

กำพล อธิบายว่า การกระทำของโจรสลัดมักไม่พบข้อมูลในพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ห่างไกลศูนย์กลาง สำหรับกรณีพระเจ้าตาก พบร่องรอยในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระองค์อยู่บ้าง จากที่พระองค์ทรงเดินทัพจากอยุธยามาเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกในช่วงรวบรวมกำลังคนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยา ก่อนจะสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

ในย่านชายฝั่งตะวันออก มีโจรสลัดหลากหลายกลุ่มเข้ามาในพื้นที่ รวมไปถึงกลุ่มท้องถิ่น และกลุ่มที่รวมตัวเป็น “ซ่อง” คำภาษาจีนที่แพร่หลายในท้องถิ่น หมายถึงการรวมกลุ่มของคนที่มีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน มี “นายซ่อง” เป็นหัวหน้า ซ่องเหล่านี้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

เมื่อพระเจ้าตากเดินทัพมาถึงระยอง พระองค์ถูกขนาบระหว่างนายซ่องใหญ่คือ นายทองอยู่นกเล็ก และขุนรามหมื่นซ่อง เป็นสองกลุ่มที่คุมพื้นที่กว้างกว่าชุมนุมบางแห่งอีก

กำพล อธิบายว่า นายซ่องเหล่านี้มีลักษณะเป็นผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น มีอยู่ตั้งแต่ก่อนหน้าอยุธยาแตก โดยซ่องมีหลายรูปแบบ ทั้งซ่องที่ขึ้นกับทางการและไม่อ่อนน้อมต่อเจ้าเมืองท้องถิ่น

พระเจ้าตาก ปราบนายทองอยู่นกเล็ก บางปลาสร้อย

เขตอิทธิพลของนายทองอยู่นกเล็ก กินบริเวณตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง ลุ่มน้ำพานทองตอนล่าง เขาบางทราย เลียบชายฝั่งไปจนถึงอ่างศิลา เขาสามมุข และเกาะสีชัง

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา อธิบายนายทองอยู่นกเล็กว่า “เป็นนายซ่องสุมผู้คนอยู่ ณ เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริตหยาบช้า ข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่พึ่งมิได้” ขณะที่กำพลแสดงความคิดเห็นว่า เป็นนายซ่องที่เข้มแข็งรองจากขุนรามหมื่นซ่องที่ปากน้ำประแสร์ และเชื่อว่าค่ายของนายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งอยู่บริเวณเขาบางทราย เป็นพื้นที่ซึ่งยากแก่การโจมตีทั้งทางบกและทะเล

พระเจ้าตากย่อมเลือกที่จะจัดการกับนายทองอยู่นกเล็กก่อน โดยวางแผนว่าในยามยกทัพตีขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็กจะได้ไม่ลอบปล้นเมืองระยอง ซึ่งเป็นฐานของพระองค์ในเวลานั้น

พระองค์ยกทัพมาจากระยอง โดยแบ่งเป็น 2 กอง พร้อมกับเปิดการเจรจาต่อรองก่อน โดยอาศัยสหายที่รู้จักกับนายทองอยู่นกเล็กเป็นผู้เจรจา เวลานั้นนายทองอยู่นกเล็กอ่อนน้อมโดยดี แต่มีเงื่อนไขว่า รับรองสถานภาพเป็นเจ้าเมืองชลบุรี และตั้งลูกน้องเป็นขุนนางกรมการตามวัฒนธรรมอยุธยา พระองค์ยังต้องพระราชทานสิ่งของมีค่าหลายชนิด อาทิ เงินกว่า 2 ชั่ง และกระบี่บั้งเงิน

ตามความคิดเห็นของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กำพลมองว่า พฤติกรรมของนายทองอยู่นกเล็กเป็นเพียงการ “อยู่เป็น” ตีสองหน้า เมื่อได้รับรองแล้ว ก็ยังคงเป็นนายซ่องแอบปล้นสะดมทางทะเลต่อ ที่ไม่ยอมเปิดศึกกับพระเจ้าตากโดยตรงนั้น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเกรงฝีมือการรบของพระเจ้าตากที่เอาชนะพม่าหลายหน ทั้งที่สถานะของพระเจ้าตากในเวลานั้นเมื่อเทียบกับนายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นแต่เดิม พระเจ้าตากอาจดูด้อยกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ

“การอยู่เป็น” ของนายทองอยู่นกเล็กนี้ พระเจ้าตากน่าจะทรงทราบดี แต่เก็บเรื่องเอาไว้ ภายหลังจากตีขุนรามหมื่นซ่องและเมืองจันทบุรีได้ ระหว่างที่พระองค์จะยกทัพเรือจากจันทบุรีไปกู้กรุงศรี ทรงแวะมา “คิดบัญชี” จับกุมมาไต่สวนและประหารชีวิต โทษฐานประพฤติเป็นโจรสลัด

พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล เล่าถึงนายทองอยู่นกเล็กกับพวกว่า “พระยาอนุราฐ (ยศที่แต่งตั้งในภายหลังตามเงื่อนไข) คงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะด้วยสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลก็ถึงแก่กรรม…”

ขุนรามหมื่นซ่อง ปากน้ำประแสร์

นายซ่องผู้นี้เรียกได้ว่าเป็นตัวฉกาจ เป็นผู้มีอิทธิพลในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก กำพลอธิบายคำว่า “หมื่นซ่อง” ว่าเป็นสร้อยสมญานาม ไม่ใช่ชื่อตำแหน่ง เป็นชื่อจากลักษณะที่คุมหลายบ้านหลายซ่องตลอดลำน้ำคลองบ้านค่ายไปจนถึงปากน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่า มีผู้คนอาศัยหนาแน่น

ผู้เขียนหนังสือแสดงความคิดเห็นกรณีพระราชพงศาวดารบางฉบับระบุว่า พระเจ้าตากตีขุนรามหมื่นซ่องก่อนนายทองอยู่นกเล็กนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากพิจารณาในมุมนักยุทธศาสตร์ผู้ช่ำชองอย่างพระเจ้าตาก การตีที่ปากน้ำประแสร์และไล่ล่าไปถึงเมืองจันทบุรี โดยไม่ได้จัดการกับนายทองอยู่นกเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองระยองนั้น เป็นเรื่องยากจะเชื่อ

พระเจ้าตากยกทัพอ้อมไปตามลำน้ำจากคลองบ้านค่ายทางทิศเหนือของเมืองระยอง ผ่านบ้านเก่า บ้านค่าย ไปจนถึงบ้านทะเลน้อย ระหว่างทางก็เกลี้ยกล่อมชาวบ้านรายทางให้มาเข้าฟากพระองค์ด้วยแล้วจึงไปตีขุนรามหมื่นซ่องในภายหลัง ขณะที่พระเจ้าตากเกลี้ยกล่อมชาวบ้าน ขุนรามหมื่นซ่องนำบริวารมาลอบลักโค กระบือ หวังตัดกำลัง แต่มักถูกตีกลับไปเสมอ เมื่อเดินทัพมาถึงบ้านทะเลน้อย ใกล้กับปากน้ำประแสร์ พระองค์ก็รบขั้นตัดสินกับขุนรามหมื่นซ่อง

ยุทธวิธีที่ใช้ปราบขุนรามหมื่นซ่องต้องวางแผนนานนับเดือน แตกต่างกับกรณีที่ใช้กับนายทองอยู่นกเล็กซึ่งใช้กดดันนายซ่องโดยตรง เนื่องจากขุนรามหมื่นซ่องไม่ได้หวังเป็นใหญ่ จึงไม่อาจซื้อได้ด้วยผลประโยชน์ อีกทั้งขุนรามหมื่นซ่องยังเข้มแข็งกว่า เมื่อดำเนินการเกลี้ยกล่อมพวก แยกสลายมวลชนในละแวกพื้นที่ได้เพียงพอมั่นใจว่าจะไม่มีกลุ่มช่วยเหลือเป็นกำลังให้ขุนรามหมื่นซ่องแล้ว พระเจ้าตากทรงรบปราบปรามแบบเต็มรูปแบบ ยกทัพไปตั้งค่ายที่บ้านทะเลน้อย (วัดราชบัลลังก์ อำเภอแกลง จังหวัดระยองในปัจจุบัน) จนรบได้ชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม พระองค์สูญเสียทหารไทยจีนมากถึง 400 ราย ส่วนขุนรามหมื่นซ่องหลบหนีไปเมืองจันทบุรี โดยมี พระยาจันทบุรี ที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อนให้การต้อนรับ พระยาจันทบุรีก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยมีสาส์นเชิญให้เสด็จมาที่จันทบุรี เพื่อช่วยกันกู้กรุงศรีอยุธยา มาเป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้าตาก แต่งตั้งให้ขุนรามหมื่นซ่องเป็นนายทัพ และออกอุบายให้พระสงฆ์เชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง แต่พระเจ้าตากทรงทราบกลอุบาย สุดท้ายทั้งสองฝ่ายรบกัน พระยาจันทบุรีหลบหนีไปเมืองพุทไธมาศ ส่วนขุนรามหมื่นซ่องก็ไม่ได้ถูกพูดถึงอีก และไม่ปรากฏภาพฉากสุดท้ายในบันทึกทางประวัติศาสตร์

หลังจากได้เมืองระยองและจันทบุรี แต่พระเจ้าตากยังไม่มีกำลังพอยกทัพกลับไปกู้กรุงศรีฯ ก็ต้องยึดสำเภาของพ่อค้าจีน โดยยึดเมืองตราดที่เป็นแหล่งชุมนุมกองเรือสำเภาพ่อค้าต่างชาติที่ยังคอยดูสถานการณ์สงครามระหว่างอยุธยากับอังวะ พระองค์มีบัญชาให้พระพิชัยและหลวงราชนรินทร์เป็นแม่ทัพคุมเรือประมาณ 50 ลำ พระองค์นำทัพหลวงไปสมทบทางบก นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มองว่า การได้เมืองตราดเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้พระองค์มีศักยภาพกอบกู้กรุงศรีฯ

โดยรวมแล้ว ในช่วงก่อนปราบดาภิเษก ถือเป็นช่วงเวลาระหว่างการสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 ซึ่งพระองค์จำเป็นต้องรวบรวมกำลังผู้คน ยุทโธปกรณ์ และกำลังทรัพย์ เพื่อกู้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ต้องดำเนินการกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นในดินแดนเมืองท่าชายฝั่งทะเลทางตะวันออกด้วยยุทธวิธีที่แตกต่างกัน

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2314 พระปรีชาสามารถของพระองค์ปรากฏจากการบัญชาการกรีฑาทัพเรือ และกำลังพลจากกรุงธนบุรี ตีเมืองกัมพงโสม จนถึงเมืองพุทไธมาศ ตามความเห็นของ พลโท ศิริ ศิริรังษี ที่กล่าวระหว่างการสนทนาเมื่อ พ.ศ. 2528 ขณะยังดำรงตำแหน่งเป็นรองเสนาธิการทหารเรือ

รองเสนาธิการทหารเรือในสมัยนั้นอธิบายช่วงที่ยาตราทัพกลับ พระองค์ออกหมายรับสั่งแจ้งแก่ทหารทั้งปวง หมายรับสั่งที่รองเสนาธิการทหารเรือไทยยกมากล่าวอ้างนั้น มีเนื้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงความจัดเจนเรื่องลมฟ้าอากาศ ลักษณะคลื่นลมทะเลในฤดูต่างๆ และยังแสดงถึงความเข้าใจเรื่องขบวนเรือ และสัญญาณเดินเรือ โดยความชำนาญเหล่านี้เห็นได้จากภูมิหลังเรื่องการค้าขาย ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายว่า พระองค์เคยเป็นพ่อค้าทำการค้าขาย และมีชาวจีนเป็นพรรคพวกมาก่อน กลุ่มของพระองค์ย่อมมีความชำนาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศในแถบหัวเมืองเหนือ และยังเป็นผลสืบเนื่องมาถึงทักษะการรบ

ขณะที่ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ อดีตรองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ วิเคราะห์ในหนังสือ “ประวัติการทหารเรือ” ว่า พระองค์สามารถระบุจุดอ่อนในการใช้ปืนใหญ่ของญวนที่ไม่สามารถหันปากปืนใหญ่มายิงเรือไทย จึงกำหนดให้ทำการรบรวมกำลังตีเรือญวนในทิศที่ปืนใหญ่ของญวนยิงไม่ถนัด รีบแจวเรือเข้าในระยะประชิด โดยให้คนแจวลงมืออย่างเต็มกำลัง อันเป็นยุทธวิธีใกล้เคียงกับวิธีฝรั่งสมัยยุคเรือกรรเชียงเข้าตีเป็นกระบวนเรือ ทาสหัวเรือมุ่งเข้าสู่เรือข้าศึก ใช้ปืนใหญ่หน้าเรือหรือหัวเรือระดมยิงข้าศึก และหลบหลีกทางปืนของฝ่ายตรงข้าม เมื่อถึงระยะประชิดก็มีพลรบขึ้นตะลุมบอนบนเรือข้าศึกด้วยความห้าวหาญย่อมได้ชัยชนะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561

ศิริ ศิริรังษี, พลเรือโท. “ปฏิบัติการตามแนวลำน้ำของพระเจ้าตากสิน”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2529)

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2562