ตามล่า มนุษย์หิมะ รวมข้อมูล-มุมมองมานุษยวิทยา หรือนักวิทย์ว่าเป็นแค่ “หมี”?

มนุษย์หิมะ มนุษย์ขน มนุษย์โบราณ ป่า คนป่า
"มนุษย์ขน" ที่วาดไว้ในหนังสือจีนโบราณ

“มนุษย์หิมะ” ที่ว่ากันว่าอาศัยอยู่ที่ ภูเขาหิมาลัย เริ่มเป็น “ข่าวฮือฮา” กันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใหม่ๆ และข่าวนี้ก็กระพือไปทั่วโลกทั้งฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก

จะว่าเป็นข่าวโคมลอยก็ไม่ได้ เพราะนักสํารวจ นักไต่เขา นักผจญภัยและชาวบ้านแถบภูเขาหิมาลัยทั้งด้านเหนือ ด้านใต้ก็มีหลักฐานยืนยันอ้างอิงพอสมควร เป็นต้นว่า ภาพรอยเท้ามนุษย์หิมะ ที่นํามาลงในหน้าหนังสือพิมพ์ให้ดูกันอย่างจะแจ้ง ตลอดทั้งคําให้สัมภาษณ์ของผู้ที่ได้ประสบพบเห็นมนุษย์หิมะมากับตาตนเองก็ได้ลงพิมพ์เป็นข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน

แต่จะเชื่อเรื่องนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถนําตัวมนุษย์หิมะมาเป็นหลักฐานเพื่อการพิสูจน์ได้ ฉะนั้น มนุษย์หิมะจึงมีสภาพเหมือน “สิ่งเป็นจริง” ที่ปรากฏอยู่ในความหลับ ๆ ตื่น ๆ ของผู้คนเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้

ภูเขาหิมาลัย ถิ่นมนุษย์หิมะ

ถิ่นของมนุษย์หิมะ ก็คือ ภูเขาหิมาลัย ประเทศที่มนุษย์หิมะปรากฏตัวให้ผู้คนพบเห็นก็คือ อินเดีย เนปาล และจีน เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์หิมะจะแพร่ออกมาจากประเทศเหล่านี้เป็นพักๆ โดยเฉพาะประเทศจีนมี “ข่าวฮือฮา” บ่อยกว่าประเทศอื่น ๆ

มีผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับมนุษย์หิมะที่พบเห็นกันแถบภูเขาหิมาลัยในทิเบต “คนป่า” ที่พบเห็นกันในป่าดงดิบ “เสินหนงเจี้ย” ในมณฑลหูเป่ยและเทือกเขาฉิน หลิ่งในมณฑลส่านซี

หนังสือและนิตยสารเหล่านี้ไม่เพียงแต่กล่าวถึง “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ในปัจจุบัน หากยังได้ยกเอาหลักฐานจากหนังสือโบราณมาอ้างอิงด้วยว่า ประเทศจีนสมัยเก่าก่อนก็เคยมีผู้คนเคยพบเห็น “คนป่า” “มนุษย์ขน” และ “ผีภูเขา” มาแล้ว แสดงว่าประเทศจีนเป็นถิ่นที่ “สิ่งมีชีวิตกึ่งคนกึ่งสัตว์” (ไม่รู้ ว่าเป็นตัวอะไร) เคลื่อนไหวอยู่อย่างกว้างขวางในแถบเขาสูงป่าลึกมาแต่โบราณกาล แม้ในปัจจุบันก็ยังเคลื่อนไหวอยู่

กล่าวเฉพาะระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศจีนก็มีผู้คนได้พบเห็น “สิ่งมีชีวิตที่น่าประหลาด” นี้ มากครั้งหลายหน ที่สําคัญคือ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2483 หวังเจ๋อหลิน เจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการชลประทาน แม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) แห่งประเทศจีน ได้เห็น “คนป่า” เพศหญิง ถูกชาวบ้านยิงตายบนทางหลวงระหว่างตําบลเจียงลั่วกับทุ่งราบเหนียงเหนียงแถบเทือกเขาฉินหลิ่ง

เผชิญหน้า “คนป่า” 

หวังเจ๋อหลินรายงานต่อเจ้าหน้าที่สถานพิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติปักกิ่งใน พ.ศ. 2499 ว่า “คนป่า” ที่ถูกยิงตาย รูปร่างใหญ่โต สูงประมาณ 2 เมตร ทั่วทั้งตัวเต็มไปด้วยขนสีแดงปนเทาและยาวประมาณ 1 นิ้วกว่า นมทั้งสองเต้าใหญ่มาก หัวนมแดงๆ คล้ายกับเพิ่งคลอดลูกไม่นาน ขนที่ใบหน้าสั้น ใบหน้าก็สั้นกว่าคนธรรมดา เบ้าตาลึก โหนกแก้มนูนและปากยื่น ผมยาวประมาณ 1 ฟุต ลักษณะคล้ายรูปปั้น “มนุษย์ปักกิ่ง” มาก แต่ขนยาวและดกกว่า….

เรื่องนี้จะว่าหวังเจ๋อหลินฟันเฟือนตาฝาดก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนมีความรู้ด้านชีววิทยา ย่อมจําแนกได้ว่า “สิ่งมีชีวิต” ที่ถูกยิงตายนั้นเป็นอะไรแน่ หมีควาย วานรเอปหรือ “คนป่า”?

ใน พ.ศ. 2483 คณะสํารวจภูเขาหิมาลัยของประเทศฝ่ายตะวันตกคณะหนึ่งที่อยู่ใต้การนําของ มร.ชิบตัน (Mr. Shipton) ก็ได้พบรอยเท้ามนุษย์หิมะบนภูเขาหิมาลัย

พ.ศ. 2515 คณะสํารวจฯ ฝ่ายตะวันตกอีกคณะหนึ่งก็ได้พบรอยเท้ามนุษย์หิมะอยู่รอบๆ เต็นท์พักแรมของพวกเขาบนภูเขาหิมาลัย พวกเขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า

“ขณะที่พวกเรานอนหลับอยู่นั้น ก็มีสัตว์ชนิดหนึ่งมาที่ค่ายพักของเรา และเดินไปเดินมาอยู่นอกเต็นท์ ชาวเนปาลยืนยันกับพวกเราอย่างไม่ลังเลสงสัยว่า นั่นเป็นรอยเท้า ‘มนุษย์หิมะ’”

ใน พ.ศ. 2505 ทหารรักษาชายแดนของจีนก็ได้พบ “คนป่า” ในป่าดงดิบ เขตสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน

ระหว่าง พ.ศ. 2519-2520 ชาวบ้านก็ได้พบ “คนป่า” ในป่าดงดิบ “เสินหนงเจีย” ในมณฑลหูเป่ยหลายครั้ง และในระยะเดียวกันนี้เอง คณะสํารวจป่าดงดิบเสินหนงเจี้ย ก็ได้พบหลักฐานเกี่ยวกับ “ผีภูเขา” บางอย่าง เช่น รอยเท้า อุจจาระ ขนและผมของมัน ทั้งยังได้สัมภาษณ์อัดเสียงชาวบ้านที่เคยพบเห็น “คนป่า” มากับตาตนเองไว้ด้วย

ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 ผังเกินเซิง หัวหน้ากองการผลิตที่ 6 อําเภอโจวจื้อ ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ไท่ไป๋ซาน ณ เทือกเขาฉินหลิ่ง ได้เผชิญหน้ากันกับ “คนป่า” ในโกรกเขาแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ต่อสู้อะไรกัน

ผังเกินเซิงบอกว่า “คนป่า” สูงประมาณ 7 ฟุตกว่า ไหล่กว้างกว่าไหล่คนธรรมดา หน้าผากไม่ยื่น เบ้าตาลึก รูจมูกเชิดขึ้น ปลายจมูกเหมือน ก้อนเนื้อกลมๆ ก้อนหนึ่ง ใบหน้าตอบ ใบหูเหมือนใบหูคน แต่ใหญ่กว่า ตากลมดําใหญ่กว่าตาคน ขากรรไกรล่างยื่น ออกมา ริมฝีปากบนและล่างแบะออก ผมสีน้ำตาลแก่ยาว ประมาณ 1 ฟุตปรกไหล่ แขนยาวมือใหญ่ ไม่มีหาง ขน ค่อนข้างสั้น โคนขาใหญ่ ขาท่อนล่างยาวกว่าโคนขา เดิน ด้วยสองขาตัวตรง เท้าใหญ่และยาว เท้าส่วนหน้ากว้าง ส่วนหลังแคบยาวประมาณ 1 ฟุตกว่า….

วันหนึ่งในฤดูร้อน พ.ศ. 2519 พนักงานร้านธัญญาหารของรัฐบาล 2 คน มีธุระเดินทางรอนแรมแล้วมาพักที่บ้านร้างแห่งหนึ่งในละแวกท่าเรือจังมู่ทางภาคใต้ของทิเบต ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,300 เมตร ตอนเที่ยงคืนพวกเขาต้องสะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงคลื่นไหวผิดปกติ

ทันใดนั้น สองหนุ่มก็มองเห็น “คนป่า” จากแสงจันทร์ที่ส่องลอดเข้ามา ดูรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนธรรมดา เห็นถนัดชัดตามาก เพราะ “คนป่า” ยืนอยู่ข้างเตียงและกําลังมองพวกเขาอยู่ “คนป่า” คนนี้เป็นเพศหญิงแน่นอน เพราะเต้านมใหญ่มาก ผมยาว และมีขนเต็มตัว

หนุ่มทั้งสองตกใจมาก แต่คิดว่าสองต่อหนึ่งคงพอสู้กันได้ จึงกระซิบบอกกันว่าควรจะทําอย่างไร แล้วทั้งสองก็ค่อย ๆ ลงจากเตียง พร้อมกับกางผ้าห่มนวมแล้วพุ่งเข้าใส่ “คนป่า” พร้อมกัน

แปลก! “คนป่า” ไม่ต่อต้าน จึงถูกชายทั้งสองตะครุบตัวไว้ในผ้าห่มนวม แล้วนําไปผูกไว้กับเสา ครูใหญ่เขาทั้งสองก็ม่อยหลับไป มารู้สึกตัวตื่นขึ้นก็ตะวันโด่งฟ้าแล้ว ทันใดพวกเขาก็มองไปที่เสาผูก “คนป่า” แต่ “คนป่า” หายตัวไปเสียแล้ว เชือกที่ผูกก็ขาดสะบั้น! “แม่นางเธอ” จากไปแล้วโดยไม่ได้ ล่ำลากัน

ไม่ว่าแถบภูเขาหิมาลัย ป่าดงดิบเสินหนงเจี้ยหรือ เทือกเขาฉินหลิ่ง ถึงปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังยืนยันว่า บางครั้ง บางคราว “คนป่า” จะมาปรากฏตัวให้เห็น เมื่อเผชิญหน้ากันจัง ๆ ถ้าเราหลีกทางไปเสียก็ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น น้อยนักที่จะมี ข่าวฮือฮา ว่่า “คนป่า” ทําร้ายชาวบ้าน!

เรื่องราวเกี่ยวกับ “มนุษย์หิมะ” “คนป่า” หรือ “ผีภูเขา” เป็นเรื่องยาวแต่ซ้ำซาก…ข่าวมาจากด้านต่าง ๆ อาจจะสรุปลักษณะพิเศษของ “สิ่งมีชีวิตอันน่าประหลาด” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ดังนี้ คือ

1. รูปร่างสูงใหญ่ประมาณ 2 เมตร
2. ขนยาวเต็มตัว
3. รูปร่างหน้าตาเหมือน “มนุษย์ปักกิ่ง”
4. เดินด้วยสองขาตัวตรง
5. กินผลไม้ ผักป่าและสัตว์ป่านกหนูเป็นอาหาร
6. ไม่รู้จักใช้ไฟ
7. ชอบเคลื่อนไหวตามลําพัง จับกลุ่มไม่เกิน 3 คน

ลักษณะพิเศษเหล่านี้ของ “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ได้สร้างความงุนงงให้ผู้คน สร้างปัญหาให้นักวิชาการโต้แย้งถกเถียงกันและท้าทายนักวิทยาศาสตร์ให้ติดตามพิสูจน์

มนุษย์หิมะ มีจริงหรือไม่?

นักวิชาการรัสเชียกลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า “คนป่า” ที่เทือกเขาฉินหลิ่งในมณฑลส่านซี อาจจะไม่ใช่ประเภทเดียวกันกับมนุษย์หิมะที่ภูเขาหิมาลัย มนุษย์หิมะมีลักษณะใกล้เคียงกับวานรยักษ์ “ไจแกนโทพิเธคคัส” (Gigantopithecus) ซึ่งมีชีวิตอยู่ทางภาคใต้ของประเทศจีนในยุคเควเทอร์นารี (Qua termary Period) ระหว่าง 1,000,000 ปีของยุคปัจจุบัน) และมีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งของจีนเห็นว่า ไจแกนโทพิเธคคัส รูปร่างใหญ่โตล่ำสัน กะโหลกศีรษะใหญ่ แต่แขนยาวและใหญ่กว่าแขนมนุษย์ปัจจุบันเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ความสูงก็ใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบันหรืออาจจะสูงกว่าเพียงเล็กน้อย

ตามความเห็นของนักวิชาการรัสเซียและนักวิชาการจีนเหล่านี้ ทําให้ผู้คนค่อนข้างจะแน่ใจว่า “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” มีจริง!

แต่บางคนว่า ไจแกนโทพิเธคคัสสูญพันธุ์ไปนานแล้ว! บางคนก็ค้านว่า ไม่แน่! แพนด้าซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกันกับใจแกนโทพิเธคคัส ก็ยังเห็นหลงเหลืออยู่ แล้วทําไมใจแกนโทพิเธคคัสจึงจะหลงเหลืออยู่ไม่ได้

ครับ เรื่องนี้ผมก็ออกจะงง ๆ อยู่เหมือนกัน และก็ชักจะสงสัยอยู่ว่า “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ในปัจจุบันจะมาตะเภาเดียวกันกับ นางเงือก” ที่เล่าลือกันในศตวรรษที่ 18 หรือเปล่า

ถ้าเราเอาทฤษฎีมานุษยวิทยาเข้าจับปัญหานี้ เราก็จะได้คําตอบที่แน่นอนว่า “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” (มนุษย์ขน) ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตอยู่จริง เพราะ

1. การสูญพันธุ์ต้องมีกระบวนการ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาของมัน ไจแกนพิเธคคัสเป็น “วานรมนุษย์” (anthropoid) ประเภทหนึ่ง ถ้าไม่สูญพันธุ์จะต้องมีวิวัฒนาการ ถ้ามันวิวัฒน์มาจนถึงปัจจุบัน มันจะไม่ใช่ใจแกนโทพิเธคคัส มันอาจจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงกว่านั้นและสูงกว่า “มนุษย์วานร” (ape-man)

2. จะพิสูจน์ว่า สิ่งอะไรมีอยู่จริงหรือไม่ จะต้องมีหลักฐานยืนยันที่เป็นวิทยาศาสตร์ จะอาศัยแต่ว่า ได้เห็นมา ได้ยินมา หรือได้ขนได้ผมเป็นหลักฐาน ถ่ายรูปรอยเท้าไว้เป็นหลักฐานและได้อุจจาระไว้เป็นหลักฐานเท่านี้ยังไม่พอ จะต้องได้ตัวจริงมา หรืออย่างน้อยจะต้องได้กะโหลกศีรษะมาเป็นหลักฐาน ยืนยันความเป็นจริง

3. ฟังคําเล่าลือในพื้นบ้านพื้นเมือง ไม่ควรเชื่อเสียทั้งหมดและก็ไม่ควรไม่เชื่อเสียทั้งหมด

ประการแรกหมายความว่า ให้มีท่าทีสงสัยไว้ก่อน อย่าให้คําเล่าลือหลอกได้ ประการหลังหมายความว่า อย่ามองข้ามคําเล่าลือ ในคําเล่าลืออาจจะมีเค้าเงื่อนที่เป็นประโยชน์แฝงอยู่ แต่การสรุปขั้นสุดท้ายจะต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นจริงและถูกต้อง

4. ทางการของจีนตั้งคณะสํารวจทางวิทยาศาสตร์ขึ้น ตามล่า “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-2520 ตลอดระยะเวลา 18 ปีไม่เคยจับ “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ได้เลย และในระยะหลัง ๆ ทางการจีนก็มิได้วางมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนถึงปัจจุบัน… มันนานพอที่จะลงความได้ว่า “มนุษย์หิมะ” และ “คนป่า” ก็คงจะเป็น แต่เพียงคําเล่าลือแบบ “นางเงือก” เท่านั้น

เพิ่มเติม ปลายปี 2560 ดร. ชาร์ล็อตต์ ลินด์ควิสต์ นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญวิวัฒนาการของหมี จากมหาวิทยาลัย แอทบัฟฟาโล ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยตรวจสอบดีเอ็นเอ จากตัวอย่างที่ถูกระบุว่าเป็นหลักฐานแสดงถึงการมีชีวิตอยู่ของ “เยติ” หรือ “มนุษย์หิมะ” หรือ “มนุษย์หิมาลัย” เพื่อนำไปเทียบเคียงกับดีเอ็นเอของหมี หวังไขปริศนาลึกลับเกี่ยวกับตำนานของเยติ

ผลการตรวจดีเอ็นเอจากหลักฐานเยติทั้งหมดพบว่า 8 ชิ้นเป็นชิ้นส่วนของหมีสีน้ำตาลหิมาลัย อีกชิ้นเป็นเขี้ยวและชิ้นส่วนขนของสุนัข

“สิ่งที่อ้างว่าเป็นเยติ ซึ่งได้จากที่ราบสูงทิเบต มีดีเอ็นเอตรงกันกับหมีสีน้ำตาลทิเบตส่วนที่อ้างว่าได้จากเทือกเขาด้านตะวันตกของหิมาลัย ดีเอ็นเอก็ตรงกับหมีสีน้ำตาลหิมาลัย ส่วนอื่นๆ ที่ได้จากระดับความสูงที่ต่ำลงมา ดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าเป็นหมีดำเอเชียเท่านั้น” ลินด์ควิสต์กล่าว

สรุปแล้วก็คือว่า “มนุษย์หิมะ” “คนป่า” และ “ไจแกนโทพิเธคคัส” ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตอยู่จริง! เพราะยังขาดหลักฐานที่จะวินิจฉัยออกมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาและเรียบเรียงจากบทความ “ตามล่า ‘มนุษย์หิมะ'” เขียนโดย สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2562