ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ปฐมพงษ์ สุขเล็ก |
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีบทบาทตั้งแต่เป็นขุนนางในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาช่วยป้องกันทัพพม่าในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 แต่เมื่อพระองค์ทรงคาดคะเนดูแล้วว่าเหลือกำลังกว่าที่จะต้านศึกครั้งนี้ไว้ได้ พระองค์ทรงได้รวบรวมไพร่พลตีฝ่าทัพพม่าไปตั้งหลักที่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกก่อนกรุงแตกเพียงไม่นาน เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายึดได้สำเร็จ หัวเมืองสำคัญต่างตั้งตนเป็นเจ้าแบ่งเป็นชุมนุมต่างๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงรวบรวมกำลังพลไทย-จีนและอาวุธยุทโธปกรณ์จากหัวเมืองตะวันออกยกทัพกลับเข้าตีค่ายนายทองอินซึ่งพม่าตั้งไว้ให้รักษาเมืองธนบุรี และตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นได้สำเร็จจึงปราบดาภิเษก และตั้งเมืองกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
วีรกรรมของพระองค์คือการทำศึกขับไล่ทัพพม่า และกู้เอกราชหลังจากสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ได้สำเร็จ ปราบปรามชุมนุมต่างๆ ให้ขึ้นต่อกรุงธนบุรีจนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง สถาปนาพระราชวงศ์ แต่งตั้งข้าราชมนตรี ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สถาปนาพระราชาคณะ ปฏิสังขรณ์พระอาราม ตลอดจนด้านงานศิลปะได้ให้การสนับสนุนกวีในราชสำนัก อีกทั้งพระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ไว้ 4 ตอน คือ ตอนพระมงกุฎ ตอนหนุมานเกี้ยววาริน จนถึงท้าวมาลีวราชมา ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความจนถึงทศกัณฐ์เข้าเมือง และตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษมณ์ต้องหอกกบิลพัสดุ์ จนถึงผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ
ช่วงปลายรัชกาลพระราชพงศาวดารได้บันทึกว่าพระองค์พระจริตฟั่นเฟือน เหล่าราษฎรได้รับความทุกข์ร้อน “ฝ่ายการแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่างๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสติ พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพระพุทธจักรและอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปกติเหมือนแต่ก่อน”
ผนวกกับเกิดกบฏพระยาสรรค์ กรุงธนบุรีจึงเป็นจลาจล ขณะนั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปกัมพูชา จึงรีบยกทัพกลับมาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี เมื่อมาถึงแล้วได้ปรึกษากับมุขมนตรีทั้งหลายเห็นว่าได้สร้างความเดือดร้อนต่อบ้านเมือง จึงรับสั่งให้สำเร็จโทษเสีย ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“โทษตัวจะมีเป็นประการใดจงให้การไปให้แจ้ง และเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวังถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสินขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้นอายุได้สี่สิบแปดปี”

จากเหตุการณ์สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชข้างต้นคือ ปีขาล จ.ศ. 1144 จดหมายเหตุโหรบันทึกว่า เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325 เป็นวันเดียวกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาใน พ.ศ. 2327 พระนามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกกล่าวถึงอีกครั้ง หลังจากที่พระองค์ได้รับการสำเร็จโทษแล้ว 2 ปี พระราชพงศาวดารได้บันทึกว่ารัชกาลที่ 1 และสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ มีดำรัสให้ขุดหีบศพขึ้นมาเพื่อทำพิธี ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
“ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ดำรัสให้ขุดหีบศพเจ้าตากขึ้นตั้งไว้ ณ เมรุวัดบางยี่เรือใต้ ให้มีการมหรสพและพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์”
ระยะเวลา 2 ปี ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตถึงได้รับการขุดหีบศพขึ้นมาทำพิธี เนื้อความในพระราชพงศาวดารไม่ได้ให้เหตุผลหรือความน่าจะเป็นใดๆ ในการขุดขึ้นมาทำพิธี อีกทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีขนบการขุดศพเจ้านายที่ได้รับการสำเร็จโทษขึ้นมาทำพิธี
จึงเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลงว่าเหตุผลใดคือความน่าจะเป็นที่รัชกาลที่ 1 ต้องรอเวลาถึง 2 ปี
คลิกอ่านเพิ่มเติม : สงสัย รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ก่อนขุดหีบศพพระเจ้าตากมาเผา?
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความเรื่อง รัชกาลที่ 1 รออะไรถึง 2 ปี ถึงขุดหีบศพพระเจ้าตากฯ มาเผา “หรือว่าพระเจ้าตากฯ ยังไม่ตาย” เรื่องเล่าจากช่องว่างทางประวัติศาสตร์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559