ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระรอด” เป็นหนึ่งในพระเครื่องชุดเบญจภาคี ประกอบด้วย พระสมเด็จวัดระฆัง, พระรอด ลำพูน, พระซุ้มกอ กำแพงเพชร, พระผงสุพรรณ และพระนางพญา พิษณุโลก ซึ่งในบรรดาพระเครื่องชุดเบญจภาคี พระรอดถือเป็นพระที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือ ประมาณ 1,300 กว่าปี
การสร้าง “พระรอด” เกิดขึ้นที่ วัดมหาวันวนาราม (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน) ในสมัยพระนางจามเทวี เมื่อราว พ.ศ. 1200 เศษ พระนางจามเทวีโปรดให้สร้างวัดสําคัญประจำทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ วัดดอนแก้ว, วัดพระคง, วัดประตูลี้ และวัดมหาวันวนาราม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง
ในการสร้างวัดมหาวันฯ ยังได้สร้างพระรอดขึ้นด้วย ตามตำนานเชื่อว่า นารทฤาษี หรือที่เรียกกันว่า ฤาษีนารทะ หรือฤาษีนารอด ฤาษีผู้ดูแลวัดมหาวันฯ เป็นผู้สร้างพระรอด และมหาเจดีย์ที่วัดมหาวันฯ ครั้งนั้นมีการสร้างพระรอดจำนวนมากในรูปแบบ (พิมพ์) ต่างๆ บรรจุไว้ภายในพระมหาเจดีย์
คำว่า “รอด” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก “รอท” ชื่อ “นารทฤาษี”
พระรอด ลำพูน กับการแตกกรุ
พิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) เซียนพระชื่อดังในวงการเคยกล่าวถึงพระรอดว่า “พระรอดเป็นพระที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน โดยตรง เพราะพระรอดแตกกรุในวัดมหาวันที่เดียว ไม่เคยมีใครพบพระรอดในกรุอื่นเลย…”
การแตกกรุของ “พระรอด” เกิดขึ้นหลายครั้งพอสรุปได้ดังนี้
ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2435 มหาเจดีย์ที่ฤาษีสร้างขึ้นถูกฟ้าผ่าพังลง พระรอดที่บรรจุในเจดีย์จึงกระจัดกระจายออกมา มีการนำส่วนหนึ่งบรรจุกลับเข้าไปในพระเจดีย์ที่บูรณะใหม่ อีกส่วนมีผู้นำไปบูชา เรียกว่าพระรอดกรุเก่า
ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2451 เจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าเมืองลำพูน เห็นว่า บริเวณฐานเจดีย์ที่บูรณะใหม่มีต้นโพธิ์โผล่ขึ้นมาทําให้ฐานร้าว จึงปฏิสังขรณ์ฐานพระเจดีย์ ครั้งนี้พบพระรอดอีกชุดหนึ่ง ประมาณ 1 กระซ้าบาตร (ตะกร้าบรรจุกับข้าวตักบาตร) จึงนำไปแจกจ่ายบรรดาญาติ
ครั้งที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องจากครั้งที่ 1 และ 2 จนเกิดประเพณี “ขุดหาพระรอดในฤดูแล้ง” ระหว่างเดือนสี่-เดือนหก ของปี สถานที่ขุดก็คือบริเวณโดยรอบวัด เมื่อขุดได้พระรอด พื้นที่การขุดก็ขยายกว้างออกไปเรื่อย จนพื้นที่ของวัดเต็มไปด้วยหลุมบ่อ วัดมหาวันฯ จึงประกาศห้ามไม่ให้ขุดหาพระรอดอีกต่อไป
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2498 พบพระรอดจำนวน 200 องค์ ในบริเวณกุฏิเจ้าอาวาสที่มีการบูรณะ
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2506 มีการรื้อพื้นกระเบื้องพระอุโบสถเพื่อปูใหม่ ทำให้พบพระรอดจำนวนหนึ่ง มีการนำออกมาเช่าบูชาในพื้นที่เช่นเคย แต่ยังมีการส่งออกไปยังตลาดพระเครื่องในกรุงเทพฯ ด้วย พระรอดที่มีสภาพสมบูรณ์เวลานั้นเช่ากันที่องค์ละ 1,000 บาท ส่วนองค์ที่มีตำหนิก็ยังมีราคาหลักร้อยขึ้นไป
เหตุที่พระรอด ลำพูน ในพระเครื่องชุดเบญจภาคีเป็นที่นิยมในวงการก็ด้วยความศรัทธาในพุทธคุณ พระรอดนั้นได้ฉายาจากวงการพระเครื่องว่า “เทพแห่งนิรันตราย” เพราะเชื่อกันว่า ผู้ที่สวมพระรอดไว้กับตัวแล้วจะไม่ “ตายโหง” (ตายผิดธรรมดาด้วยอาการร้ายแรง) ดังชื่อพระว่า “รอด” ซึ่งร่ำลือกันมาตั้งแต่ ปี 2506 ทำให้ราคาเช่าบูชาปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 หลัก และไม่ใช่ว่าหาได้ง่ายๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าเรื่องโจรขุดกรุพระดังเมืองกำแพงเพชร
- “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” พระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง สู่ต้นแบบ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) บรรยาย, กองบรรณาธิการข่าวสด เรียบเรียง. พระกำแพงซุ้มกอ และพระรอด ลำพูน, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2556.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 สิงหาคม 2567