รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าเรื่องโจรขุดกรุพระดังเมืองกำแพงเพชร

พระพิมพ์พระพุทธรูปปางลีลา (พระกำแพงเขย่ง) เนื้อดินเผา ศิลปะสุโขทัย จากวัดตะพานหิน สุโขทัย (ภาพจาก พระเครื่องในเมืองสยาม)

ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” อ้างอิงจาก “พระเครื่องในเมืองสยาม” ของศรีศักร วัลลิโดม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบรรยายถึงร่องรอยการ ขุดกรุพระ หาพระเครื่อง ที่เมืองกําแพงเพชร ไว้ว่า

“วัดตึกพราหมณ์ อยู่ไม่ห่างอาวาสใหญ่นัก ที่วัดตึกพราหมณ์นั้นมีเหลืออยู่แต่พระเจดีย์กับวิหาร ซึ่งตั้งรวมอยู่บนลานสูง มีบันไดขึ้นไป 4 หรือ 5 ขั้น ทั้งพระเจดีย์และวิหารไม่สู้โตนัก ในพระเจดีย์นั้น ได้บรรจุทุ่มเคลือบขนาดใหญ่ ชนิดที่เรียกกันว่าตุ่มนครสวรรค์นั้นไว้ 3 ตุ่ม ถูกต่อยทะลวงเสียแล้วทั้ง 3 ตุ่ม เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเหลืออยู่ในนั้นเลย ตุ่มนั้นใหญ่มาก คนผู้ใหญ่เข้าไปนั่งในนั้นได้คนหนึ่ง

วิธีบรรจุตุ่มนั้นตุ่ม 1 อยู่ตรงตัวระฆังพระเจดีย์ อีกสองตุ่มอยู่ในฐานองค์พระเจดีย์ที่ตรงระฆังก็เท่าตุ่มนั้นเอง คือตั้งตุ่มลงก่อนแล้วก่อแลงทับชั้นเดียว ปากตุ่มบนกับคอระฆังตรงกัน และก่อยอดซ้อนขึ้นไปบนนั้น ในตุ่มทั้ง 3 นั้นจะมีอะไรอยู่ก็ไม่ได้ความ แต่น่าจะเป็นพระพิมพ์ เพราะพระพิมพ์กําแพงเพชรเช่นชนิดที่เรียกกันว่าพระกําแพงเขย่งนั้น ก็ขุดได้จากเจดีย์สถานในเมืองโบราณนี้เอง เพราะเหตุนี้พระเจดีย์วัดตึกพราหมณ์จึงถูกทะลวงเสียป่น พื้นวิหารก็ขุดเสียหลายบ่อ จนชั้นพระประธานแลงในวิหารก็ถูกเจาะที่พระทรวงจนเป็นรูน่าสังเวชจริงๆ แต่การที่ถูกทําลายเช่นนี้มีทั่วไปในเมืองกําแพงเพชรและเมืองเก่าๆ อื่นๆ มีคนอยู่จําพวกหนึ่งซึ่งเคยหาเลี้ยงชีพในทางค้นหาทรัพย์ต่างๆ

พระวิเชียรปราการเล่าว่า คนจําพวกนี้ความที่ชํานาญจนบอกได้ว่าพระเจดีย์รูปอย่างไร จะมีตรุฝังที่ตรงไหน ตรงไปถึงก็ทําลายที่ตรงต้องการทีเดียว ไม่ต้องมัวเสียเวลาค้น วิธีทําลายก็ออกความคิดกันต่าง ๆ ถ้ามีกําลังน้อยๆ ใช้วิธีอาศัยแรงต้นไม้เป็นอย่างง่าย คือเอาหวายผูกโยงยอดพระเจดีย์ไปผูกติดกับยอดไม้ ซึ่งได้ถึงโน้มลงมาหาแล้วพอฟันต้นไม้ให้ล้มลง ต้นไม้ก็พาพระเจดีย์โค่นลงไปด้วยดังนี้ นับว่าอยู่ข้างจะช่างคิด ถ้าใช้ความคิดเช่นนี้ในที่อันควรจะน่าสรรเสริญหาน้อยไม่

…………..

ในเวลานี้เทศาภิบาลได้จัดการตรวจตราแข็งแรง คอยจับคนที่ทําลายเจดีย์และโบราณสถานต่างๆ…แต่ที่จะให้หมดทีเดียวเห็นจะยาก เพราะที่ทางก็กว้างใหญ่และไกลที่บ้านเรือนคนอยู่ การที่จะ รักษาให้กวดขันนักย่อมจะเป็นการยาก เมืองกําแพงเพชรต้องนับว่าเป็นเมืองเคราะห์ร้าย ที่มีชื่อเสียงเสียแล้วว่ามีพระพิมพ์ดีๆ มีอภินิหารต่าง ๆ กันสาตราวุธ ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเป็นต้น

ของชนิดนี้ถ้ายังมีคนที่อยากจะเป็นคน “เก่ง” อยู่ตราบใด ก็คงจะยังมีราคาอยู่ตราบนั้น นึกๆ ดูก็น่าขันที่เอาพระพุทธรูปผูกคอไปเพื่อป้องกันตนในการที่คิดมิชอบต่างๆ มีปล้นสะดมหรือตีรันฟันแทงเกะกะต่างๆ เป็นต้น จริงอยู่ผู้ที่นับถือพระพิมพ์หรือเครื่องรางต่างๆ เช่น ผ้าประเจียด แหวนพิรอด เป็นต้นนั้นอาจที่จะเป็นคนดีและอาจที่จะประสงค์ของนั้น ๆ ไปเพื่อป้องกันตัวในเวลาสงครามเป็นต้น ก็เป็นได้

แต่สมัยนี้เมืองเราก็สงบ ราบคาบไม่มีเสี้ยนหนามศัตรูมาเบียดเบียน เพราะฉะนั้นการที่คนดีๆ จะต้องการเครื่องรางจึงน้อยนักหนา ยังคงมีผู้ต้องการเครื่องรางหรือต้องการมีวิทยาอาคมกระทําตนให้คงแก่ฟันก็ยังมีอยู่ แต่ผู้ที่ใจพาลสันดานหยาบ ซึ่งต้องการแผ่อํานาจของตนเพื่อความพอใจของตนเท่านั้น และเพราะตนมีใจขลาดจึงต้องผูกเครื่องราง หรือสักยันต์จนเต็มไปทั้งเนื้อทั้งตัว เพื่ออุดหนุนให้ใจกล้าขึ้น ถ้าคนชนิดนี้ยังมีอยู่ต่อไปตราบใด พระกําแพงก็คงจะต้องเป็นสิ่งที่มีราคาอยู่ตราบนั้น…

ต่อมาในสมัยจอมพล ป. ถึงจอมพลสฤษดิ์ พฤติกรรมในการหาพระพิมพ์พระเครื่องก็ตามเปลี่ยนไปจากการลักลอบ ขุดเจาะพระเจดีย์ มาเป็นการเอาแทรกเตอร์หรือเครื่องทุ่นแรงอื่นที่จะใช้ไถหรือทําลายพระสถูปเจดีย์และวิหารกัน  การเปลี่ยนแปลงระลอกนี้ทําให้บรรดาวัดวาอาราม เป็นจํานวนมากตามเมืองเก่าๆ เช่น สุพรรณบุรี สรรค์บุรี อยุธยา ชัยนาท ต้องสูญหายไป เพราะถูกไถทําลายไปจนเรียกว่า “สิ้นซาก”

ส่วนวิธีการดูแลของทางการเวลานั้น อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม จากประสบการณ์ของคุณพ่อ (มานิต วัลลิโภดม) ว่า “วัดไหนที่ยังไม่ถูกขุดและพอจะจัดคนดูแลรักษาได้ก็จะทำ แต่วัดไหนที่ห่างไกลก็เพียงแต่มอบหมายให้คนในท้องถิ่นที่รู้จักมักคุ้นคอยรายงานมา

พอรู้ว่ามีการขดกรุก็จะรีบเข้าไปขุดต่อมันที เพราะการขุดกรุพระพิมพ์พระเครื่องสมัยนั้นต้องใช้เวลา ถ้าหากขุดเอาของไปได้ในเดียวก็ไม่ว่าอะไร เพราะทำอะไรไม่ได้ แต้ถ้าขุดยังไม่เสร็จ พ่อจะพาเจ้าหน้าที่ไปขุดต่อจนกระทั่งพบกรุแล้ว เอาของขึ้นมาเพื่เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ฯและส่งเข้ากรุงเทพฯต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศรีศักร วัลลิโดม. พระเครื่องในเมืองสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, กันยายน 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2564