ต้นกำเนิด “พระเครื่อง” เมื่อคนเดือดร้อนไม่มั่นคง และวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้

พระเครื่อง พระนางพญา เครื่องรางของขลัง
พระนางพญา พระพิมพ์หรือ พระเครื่อง รุ่นแรกๆ (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

สิ่งที่น่าจะมีอิทธิพลที่ทำให้เกิด “พระเครื่อง” หลาย ๆ รูปแบบในสังคมไทย แท้จริงก็คือ “พระกริ่ง” ซึ่งนับเป็น “พระเครื่อง” หรือ “เครื่องรางของขลัง” ขนาดแท้

พระกริ่ง เป็นผลผลิตของระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ ลัทธิตันตริก ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายานที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยลพบุรีลงมา ก่อนที่สังคมส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้จะปรับเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่ได้อิทธิพลมาจากลังกา

ลักษณะโดดเด่นของลัทธิตันตริกคือให้ความสำคัญแก่ความต้องการต่าง ๆ ในโลกนี้อยู่ ต่างกับการมุ่งเน้นสละสิ่งที่เป็นโลกีย์ในโลกนี้ แต่แสวงหาการหลุดพ้นในโลกหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

ทั้งนี้เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนธรรมดายังต้องการและแสวงหาความสุขในโลกนี้อยู่ ฉะนั้นความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ก็ยังคงดำรงอยู่คู่กัน และจะมีเพิ่มพูนขึ้นเมื่อใดที่ผู้คนในสังคมเกิดความรู้สึกเดือดร้อนและไม่มั่นคงที่ไม่อาจอธิบายหรือหาคำตอบจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ในขณะเดียวกันการที่ไม่เข้มงวดในเรื่องการแสวงหาความสุขทางโลกียะ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่แบ่งแยกระหว่างความ “ศักดิ์สิทธิ์” และ “ความสาธารณ์” เบาบางลงไปแล้วโน้มเข้ามาผสมผสานกันได้

ด้วยเหตุนี้ พระกริ่ง จึงเป็นเรื่องของพุทธรูปหรือรูปเคารพในทางพุทธศาสนาที่คนนำเข้าบ้านได้ หรือนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เป็น เครื่องรางของขลัง

อย่างไรก็ตาม พระกริ่งที่น่าจะเป็นต้นเค้าที่แท้จริงของพระเครื่อง ก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากบรรดาเครื่องรางของขลังในระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ทั่ว ๆ ไป นั่นคือการเป็นวัตถุทาง “ไสยขาว” มากกว่า “ไสยดำ”

“ไสยขาว” คือความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่เน้นเรื่องความดี และการแก้ไขป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของไสยดำที่เป็นไสยศาสตร์ ที่เน้นการทำลายและการกระทำที่ผิดศีลธรรม เพราะฉะนั้น ไสยขาวจึงเป็นเรื่องที่พระสงฆ์จะเกี่ยวข้องได้ คืออาจเล่าเรียนและสั่งสอนบรรดาศิษย์ได้ เพราะอาจช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไสยดำ และการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากผีสางเทวดาได้

ดังนั้น การเกิดพระกริ่งขึ้นคือการนำเอาพุทธคุณมาผนวกกับเรื่องของไสยขาวนั่นเอง และนี่คือต้นเค้าที่มาของการเกิดพระเครื่องขึ้น นับเป็นพัฒนาการในระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่เรียกว่าไสยขาวโดยแท้

พระพิมพ์ พระพุทธรูปปางลีลา เครื่องรางของขลัง
พระพิมพ์พระพุทธรูปปางลีลา (พระกำแพงเขย่ง) เนื้อดินเผา ศิลปะสุโขทัย จากวัดสะพานหิน สุโขทัย (ภาพจาก “พระเครื่องในเมืองสยาม”)

ทั้ง พระกริ่ง และ พระเครื่อง ที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างจากบรรดาวัตถุเคารพหรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ของไสยขาวที่มีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์ ผ้าประเจียด แหวนลงอาคม หรือตะกรุด ในลักษณะที่ไม่ต้องเรียนรู้และระมัดระวังในเรื่องกฎเกณฑ์ให้เคร่งครัด จึงเหมาะกับคนทั่วไปที่จะนำติดตัวไปในที่ต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะเพียงแต่ตั้งจิตอธิษฐานหรือบริกรรมและสวดอ้อนวอนขอความคุ้มครองก็เพียงพอ จึงอาจนับเนื่องเป็นวัตถุทางศาสนาก็ได้ หรือไสยศาสตร์ก็ได้ในเวลาเดียวกัน

แต่ปัญหาที่จะต้องอธิบายต่อไปเมื่อมาถึงตรงนี้ก็คือ ทำไมเพิ่งมาเกิดในตอนนี้คือประมาณรัชกาลที่ 4 ลงมา ก่อนหน้านี้ขึ้นในสมัยกรุงเทพตอนต้น ๆ หรือสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงไม่มี

คำอธิบายในที่นี้ก็คือ ในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 นั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมไทยช่วงหนึ่งทีเดียว อันเนื่องมาจากการมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ในบ้านเมือง นอกจากนั้น ยังมีการติดต่อกับภายนอกทางด้านตะวันออกและตะวันตกอย่างกว้างขวาง ทำให้ความรู้และความคิดของคนมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก

ความเชื่อในเรื่องพระกริ่ง ก็น่าจะได้มาจากชาวเขมรหรือพระสงฆ์เขมรก็ได้ เพราะของส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นพระของพวกเขมร อีกทั้งภาพพจน์ของชาวเขมรในสายตาคนไทย มันเป็นเรื่องของผู้มีความรู้ในเรื่องลี้ลับและเชี่ยวชาญในคุณไสย จนไม่ใคร่เป็นที่ไว้วางใจของคนทั่วไป ดูแล้วสอดคล้องกับคำกล่าวที่มีการแต่งเป็นโคลงกลอนที่เรียกว่า “โค ขะ ละ สุ”  ที่มักได้ยินผู้ใหญ่บางคนกล่าวถึงไปบ่อย

คำว่า “โค” หมายถึงคนโคราช  “ขะ” หมายถึงคนเขมร “ละ” หมายถึงคนละครหรือคนนครศรีธรรมราช หรือบางทีหมายถึงคนใต้ทั้งหมด ส่วน “สุ” หมายถึงคนเมืองสุพรรณบุรีนับเป็นทัศนคติของคนเมืองในกรุงเทพมหานครที่ไม่ไว้วางใจคนต่างเมืองต่างแดนร่วมสมัยที่ตนสังสรรค์ด้วยโดยแท้

การนับถือพระกริ่งหรือพระเครื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อในเรื่องการไม่เอาพุทธรูปเข้าบ้าน มาเป็นการอนุโลมให้เข้าบ้านได้นั้น มีผลพวงอย่างมหาศาลไปถึงเรื่องการเล่นของเก่าที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวต่างประเทศทางตะวันตก และการขุดกรุสมบัติเก่าตามวัดร้างและโบราณสถานต่าง ๆ เพราะพระพุทธรูปที่พบตามกรุสมบัติ นอกจากนำเข้าบ้านไปเป็นพระพุทธรูปบูชาแล้ว ยังกลายเป็นศิลปะวัตถุหรือของเก่ามีค่าควรแก่การสะสมอีกด้วย ดังนั้น บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าคหบดี จึงนิยมการสะสมของเก่าอย่างแพร่หลาย

ผลที่ตามมาก็คือ เกิดร้านค้าของเก่าขึ้นในสมัยหลัง ๆ ลงมา เช่นร้านค้าวัตถุโบราณในเวิ้งนาครเขษม เป็นต้น

ส่วน พระพิมพ์ เป็นเรื่องของที่พบควบคู่ไปกับพระบูชาและสมบัติในกรุ ในขั้นแรกเป็นของไม่มีราคาค่างวด เพราะไม่ปรากฏอยู่ในบรรดาของเก่าที่ขายกันตามร้านค้าของเก่า  แต่ต่อมาเนื่องจากอิทธิพลของพระกริ่งที่คนถือเป็นเครื่องรางของขลัง พระพิมพ์เหล่านี้จึงกลายเป็นพระเครื่องในสายตาของบรรดาเกจิอาจารย์ที่รอบรู้เรื่อง เครื่องรางของขลัง

เท่าที่ทราบ พระพิมพ์รุ่นแรก ๆ ที่นับถือกันว่าเป็นพระเครื่องก็คือ พระรอดและพระลำพูนที่พบในภาคเหนือ รวมทั้งพระพิมพ์สมัยลพบุรีที่พบในเมืองลพบุรีและบ้านเมืองใกล้เคียง

โดยเฉพาะพระรอดลำพูนนั้นพบที่วัดมหาวัน มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องทำให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ เลยกลายเป็นของหายาก ถึงขนาดในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้พิมพ์ขึ้นใหม่แล้วหว่านโดยลงในเขตวัดมหาวัน ทำให้คนรุ่นหลังขุดคุ้ยหากันเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

พระพิมพ์รุ่นแรก ๆ

เรื่องพระพิมพ์กลายเป็นพระเครื่องนี้พ่อข้าพเจ้าคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม เคยเล่าให้ฟังว่า

พวกเกจิอาจารย์นิยมพระพิมพ์แบบสมัยลพบุรีลงมา เพราะเชื่อว่าผ่านการปลุกเสกมาแล้ว อันเนื่องมาจากเป็นเรื่องในลัทธิตันตริกในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้นเอง ถ้าเป็นพระพิมพ์รุ่นก่อน เช่น พระศรีวิชัยและแบบทวารวดีนั้น เขาไม่นิยมกัน บางท่านยังเชื่อว่าเป็นพระพิมพ์ที่ทำขึ้นเนื่องในการเผาศพพระเถระผู้ใหญ่หรือบุคคลสำคัญอีกด้วย คือเมื่อเผาแล้วก็เอาอัฐิและเถ้าถ่านมาป่นผสมกับดินแล้วพิมพ์เป็นรูปพระ บรรจุในเจดีย์หรือตามทางที่เป็นศาสนสถาน เหตุนี้เมื่อนำพระพิมพ์ดินดิบเหล่านั้นไปละลายน้ำจึงมักพบเศษกระดูกละเอียดเจือปนอยู่ด้วย

พระพิมพ์แบบลพบุรีที่กลายเป็นพระเครื่องจนเป็นที่นิยมและมีการแสวงหากันมากก็คือ พระหูยาน, พระนารายณ์ทรงปืน,  และพระซุ้มนครโกษา เป็นต้น ค่านิยมในเรื่องพระพิมพ์ที่ผันแปรเป็นพระเครื่องนี้ แพร่หลายอย่างรวดเร็วขยายจากพระพิมพ์แบบลพบุรีและสมัยลพบุรี ลงมาถึงพระพิมพ์แบบอื่น ๆ ที่พบตามวัดโบสถ์ในท้องถิ่นต่าง ๆ เกือบทั่วประเทศ ทำให้เกิดการลักลอบขุดกรุเพื่อหาพระพิมพ์ พระเครื่องกันอย่างเอิกเกริก แต่ส่วนใหญ่จะแสวงหากันในบรรดาจังหวัดทางภาคกลางและภาคเหนือเป็นสำคัญ

พระรอดกับพระลำพูน

ทางภาคเหนือ ลำพูนเป็นเมืองที่มีพระพิมพ์หลายรูปแบบ นับตั้งแต่พระรอดที่มีขนาดเล็กไปจนถึงพระลำพูนและพระเปิมที่มีขนาดกลาง และขนาดใหญ่ตามลำดับ นอกจากขณะที่แตกต่างกันแล้วก็มีสีอีกด้วย เช่น ลำพูนสีเขียว ลำพูนสีแดง เป็นต้น นอกนั้นก็มีอีกหลายแบบ แต่ในสมัยที่นิยมกันแรก ๆ และนั้นไม่ใคร่มีใครเล่นกัน บางแบบมีขนาดใหญ่และรูปแบบทางศิลปะสมัยลพบุรี

เหตุนี้บรรดาเกจิอาจารย์จึงถือว่าพระพิมพ์ทางลำพูนเป็นสมัยลพบุรี และการเป็นของในสมัยลพบุรีและแบบลพบุรีนี้มีความหมายมากมาย เพราะเป็นของเนื่องในลัทธิตันตริกทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพทางไสยศาสตร์ตามที่กล่าวมาแล้ว

พระรอดและพระลำพูน นอกจากพบที่ลำพูนแล้วยังพบในบริเวณจังหวัดใกล้เคียงทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ และแพร่ด้วย จึงทำให้มีการขุดหาตามพระสถูปเจดีย์ร้างหลาย ๆ แห่งในจังหวัดเหล่านี้ แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ พระรอด พระลำพูน รวมไปถึงพระเปิมนั้นเป็นพระแบบเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงขนาดเท่านั้น แต่ผู้นิยมพระเครื่องกลับให้ความสำคัญกับพระรอด ซึ่งเป็นพระพิมพ์แบบเล็กมากที่สุด ทั้งนี้คงเนื่องจากชื่อที่ตั้งว่าเป็น “พระรอด” คือ รอดพ้นจากภยันตรายต่าง ๆ นั่นเอง นี่ก็นับได้ว่าเป็นการแปลงภาพพิมพ์ให้เป็นพระเครื่องอย่างหนึ่งทีเดียว

พระร่วง กับ พระนางพญา

ทางอุตรดิตถ์, พิษณุโลก, สุโขทัย, กำแพงเพชร ก็มีพระพิมพ์มากมายหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกแบบที่คนเลือกเป็นพระเครื่องสำคัญ พระที่ถูกเลือกแล้วจะมีชื่อ, มีการอธิบายรูปลักษณะ, ความเป็นมา และคุณภาพต่าง ๆ

พระพิมพ์ที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็คือพระร่วง ซึ่งก็มีหลายแบบ แต่แบบที่คนนิยมคือแบบพระยืน มีทั้งทรงเครื่องและไม่ทรงเครื่อง มีการเเบ่งชื่อย่อยต่าง ๆ กันออกไป เช่น พระร่วงเปิดโลก, พระร่วงรางปืน เป็นต้น ส่วนพระร่วงแบบนั่งมานิยมกันทีหลังเมื่อแบบยืนหายากแล้ว

แต่พระพิมพ์นั่งที่นิยมกันจนบางทีล้ำหน้าพระร่วงก็ได้แก่ พระพิมพ์นางพญา ที่พบในกรุวัดนางพญาอยู่ใกล้วัดพระศรีรัตน มหาธาตุเมืองพิษณุโลก พระพิมพ์นางพญาเป็นพระนั่งในกรอบรูปสามเหลี่ยม ส่วนใหญ่เป็นพระที่ทำด้วยดินเผานับเป็นพระโด่งดังไม่น้อยหน้าพระรอดเลย

พระขุนแผน ถึง พระหูยาน

ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสุพรรณบุรี-สรรคบุรี กับ กลุ่มลพบุรี-อยุธยา

กลุ่มสุพรรณบุรี-สรรคบุรี มีพระพิมพ์ที่เป็นที่นิยมเป็นพวกพระผงสุพรรณกับพระขุนแผน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระนั่ง มีอะไร ๆ ที่คล้าย ๆ กันกับทางกำแพงเพชรและสุโขทัยหลาย ๆ อย่าง เช่น นิยมสร้างพระพิมพ์ด้วยดินเผามากกว่าใช้โลหะ อีกทั้งรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน

พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อชิน ศิปละเชียงแสน ขุดได้ที่พระเจดีย์ใหญ่ วัดพระศรีสรรเพชญ พรระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก “พระเครื่องในเมืองสยาม”)

โดยเฉพาะพระผงสุพรรณนั้นมีชื่อเสียงมาก และมีการอธิบายว่าสร้างขึ้นจากการผสมขององค์ประกอบหลายอย่าง เช่นเกสรดอกไม้, ว่าน และวัตถุมงคลอื่น ๆ อีกมากมาย ในขณะที่พระขุนแผนนั้นมีชื่อเสียงเรื่องเมตตามหาเสน่ห์ มีทั้งที่ทำด้วยดินเผาและโลหะที่เรียกว่า “ชิน” อีกทั้งมีหลายรูปแบบแต่ว่ามีลักษณะร่วมกันคืออยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเดียวกัน

แต่กลุ่มลพบุรี-อยุธยา มีประเพณีที่คล้ายกันในเรื่องการทำภาพพิมพ์คือนิยมใช้โลหะผสมที่เรียกว่าชิน ซึ่งผู้รู้ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นชินตะกั่ว และชินเงิน แต่จะแตกต่างกันในเรื่องคุณภาพ คือชินเงินดีกว่าแข็งแรงกว่าและเงามากกว่า ส่วนชินตะกั่วนั้นอ่อนและมีเนื้อด้าน สำหรับพระพิมพ์ดินเผามีน้อยมาก

นอกจากนั้นพุทธลักษณะของพระพิมพ์กลุ่มนี้ยังมีลักษณะแข็งและค่อนข้างดุ อันเนื่องมาจากได้รับอิทธิพลศิลปะขอมนั่นเอง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายรูปแบบเพราะบรรดาพระสถูปเจดีย์ที่ลพบุรีและอยุธยานั้น เมื่อรวมกันเข้าแล้วคงมีมากกว่าที่อื่นในประเทศไทยทีเดียว

พระพิมพ์ที่ถูกเลือกเป็นพระเครื่องสำคัญของทางลพบุรี พระหูยานและพระนารายณ์ทรงปืน ตามดังที่กล่าวมาในตอนต้น

แต่ทางอยุธยาระยะแรก ๆ นั้นไม่ค่อยมีอะไรโด่งดังที่รู้จักกันมากคือพระปรุหนังที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กับพระพุทธชินราชในซุ้มเรือนแก้วและมีพระสาวกขนาบข้างเป็นของหายากและเลื่องลือในด้านความศักดิ์สิทธิ์มาก นอกจากนั้นก็มีพระกำแพงห้าร้อยจากกรุวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่มีผู้แสวงหากันมากอยู่พักหนึ่งก็เงียบหายไป แต่สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ บรรดาพระพิมพ์อยุธยานั้น ส่วนใหญ่มักเป็นพระพิมพ์เนื้อโลหะ เช่น ชินเงินและชินตะกั่วมากกว่าจะเป็นดินเผา ที่มีส่วนผสมของผงต่าง ๆ ของทางสุพรรณบุรี, สุโขทัย, กำแพงเพชร และที่อื่น ๆ

เรื่องการสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อโลหะดังกล่าวนี้ คงเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่บรรดานักเลงเล่นพระเครื่องให้ความสนใจน้อยก็เป็นได้ เพราะดูแล้วไม่เกิดความนุ่มนวลและสีสันเท่าพระพิมพ์ที่ทำด้วยดินเผา โดยเฉพาะภาพพิมพ์ที่ทำด้วยชินตะกั่วนั้นดูด้านและผุพังได้ง่าย

นอกจากนี้แล้ว รูปแบบของพระพิมพ์ของอยุธยายังค่อนข้างแข็งกระด้างไม่สวยงาม ขาดคุณสมบัติทั้งเรื่องเมตตาและเสน่ห์ที่คนเล่นพระทางอยุธยามักมองไปในเรื่องคุณสมบัติทางอยู่ยงคงกระพันเป็นสำคัญ เช่น พระอู่ทอง พระนาคปรก และหลวงพ่อโบ้ อะไรทำนองนั้น

ในส่วนตัวข้าพเจ้ากลับพระพิมพ์ของทางอยุธยาแตกต่างไปจากบรรดานักเลงเล่นพระเครื่องในเรื่องที่ว่า การที่ทางอยุธยาเน้นพระพิมพ์ที่เป็นโลหะ ก็เพราะทางเมืองหลวงมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าเมืองอื่น ๆ จึงใช้สิ่งของที่แข็งแรงและคงทนกว่า โดยเฉพาะพระพิมพ์ที่พบจากกรุวัดสำคัญสำคัญนั้น ทำด้วยชินเงินเป็นส่วนมาก บางกรุเช่น กรุวัดราชบูรณะที่พบในสมัยหลัง ๆ นั้น มีทั้งพระพิมพ์ชินเงินที่อาบปรอท และพระพิมพ์ที่มีการปิดทองด้วย ทำให้มองดูเป็นของใหม่อยู่เสมอ

เรื่องการอาบพระพิมพ์ด้วยปรอทนี้น่าสังเกตคงเป็นสิ่งที่ได้มาจากทางจีนก็เป็นได้ เพราะเรื่องของวัดราชบูรณะนั้น เป็นเรื่องของสมเด็จพระนครินทร์ราชาธิราช ผู้ทรงติดต่อคุ้นเคยค้าขายกับจีน ของที่พบหลายอย่าง นับแต่รูปภาพเขียนสีรูปคนจีนในกรุ พระแสงดาบที่มีลักษณะเหมือนกั้นหยั่นของจีน และที่สำคัญคือพระพิมพ์ในซุ้มเจดีย์ที่นอกจากอาบปรอทปิดทองแล้วยังมีอักขระภาษาจีนกำกับไว้ด้วย พระพิมพ์แบบนี้รวมทั้งพระพิมพ์ใบขนุนที่ปิดทองเป็นของที่มีผู้แสวงหากันมาก โดยมากเป็นพ่อค้าที่เชื่อว่าจะให้พุทธคุณเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยจากไฟไหม้

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องการอาบพระพิมพ์ด้วยปรอทนี้ก็มีต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะพบพระพิมพ์หลายแบบโดยเฉพาะที่เรียกว่าพระโคนสมอ ที่มีการทำด้วยโลหะและดินเผานั้นมีการอาบปรอทมากกว่าใคร ๆ พระพิมพ์โคนสมอนี้มีทั้งพบตามกรุ และ

พระเครื่อง พระพิมพ์ เครื่องรางของขลัง
พระพิมพ์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพระโคนสมอ (ภาพจาก “พระเครื่องในเมืองสยาม”)

ตามแผงไม้ที่มีผู้สร้างเพื่อการทำบุญตามวัด

แต่ก่อนนักเลงเล่นพระไม่นิยมกันเท่าใด แต่พอมามีกรณีเรื่อง พล.ต.ท. ประชา บูรณธนิต ถูกคนร้ายยิงแต่ไม่เข้าแถวนครปฐมก็เกิดนิยมกันใหญ่ เพราะพระเครื่องที่ท่านติดตัวไปตอนถูกยิงนั้นเป็นพระโคนสมอชิน

ข้าพเจ้าคิดว่าการนำเอาปรอทมาอาบพระพิมพ์นี้น่าจะมีความสำคัญอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกทำให้เกิดความเงางามและสีเหลือบเป็นสีเขียว น้ำเงิน หรืออื่น ๆ ดูแปลกใหม่ดี นับเป็นสิ่งที่รับมาจากทางจีน จนเป็นที่นิยมกัน ส่วนอย่างที่สอง คุณสมบัติที่ออกสีเหลือบและเงางามของปรอทนี้ ทำให้คนคิดถึงเรื่องของวัตถุกายสิทธิ์ คือเป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจในตัวอย่างเหล็กไหลเป็นต้น

ความเชื่อในเรื่องของกายสิทธิ์นี้น่าจะมาจากคนจีน คงเข้ามาพร้อม ๆ กับเรื่องยาอายุวัฒนะที่กินแล้วไม่ตายไม่แก่อะไรทำนองนั้นทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การเล่นแร่แปรธาตุอยู่ยุคหนึ่งทีเดียว ความเชื่อในเรื่องความเป็นกายสิทธิ์ของปรอทคงเกิดขึ้นภายหลังเช่นกัน

โดยเหตุนี้จึงปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า แสนตรีเพชรกล้าแม่ทัพของเจ้าเมืองเชียงอินทร์เมื่อตอนเตรียมตัวมารบกับขุนแผนและพลายงามนั้น เอาพระปรอทแซมไว้กับผ้าโพกศีรษะ โดยนับเป็นของขลังอย่างหนึ่งในบรรดาอีกหลาย ๆ อย่าง

เมื่อตอนที่ข้าพเจ้ายังเด็กในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังแลเห็นมีผู้เอาลูกอมปรอทเป็นเครื่องรางป้องกันตัวรวมอยู่ในบรรดาของขลังอื่น ๆ ด้วย

พระสมเด็จวัดระฆัง

ส่วนในกรุงเทพ-ธนบุรีนั้นมีการสร้างพระพิมพ์ของตนเอง แม้ว่าจะเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาแต่สมัยอยุธยาและสมัยก่อน ๆ ก็ตาม แต่ก็สร้างลักษณะพระพิมพ์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวเองโดยไม่เอาแบบอย่างจากทางอยุธยาหรืออื่น ๆ

ความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ก็คือการสร้างพระพิมพ์ด้วยดินหรือผงที่เป็นส่วนผสมของสิ่งที่เป็นมงคลต่าง ๆ ทำให้ภาพพิมพ์จำนวนมากมีสีขาวอมเหลืองแบบงาช้าง จนบางคนคิดว่าผสมดินสอพองและมีตั้งอิ้วเป็นน้ำยาประสานก็มี โดยเฉพาะตั้งอิ้วนั้นเป็นของจีน เลยสะท้อนให้เห็นถึงการนำสิ่งของใหม่ ๆ ที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวัตถุในสมัยนั้นมาใช้

พระพิมพ์เหล่านี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วนำไปบรรจุในกรุตามพระเจดีย์ในวัด อย่างเช่นการสร้างพระพิมพ์ที่มีมาแล้วแต่ก่อนก็คงนับเนื่องในการกุศลเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ แต่เผอิญประวัติความเป็นมาของวัด, พระพิมพ์ และพระสงฆ์ที่เป็นผู้สร้างนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่ได้รับคำบอกเล่ากันต่อ ๆ มา ก็เลยเป็นเหตุให้มีผู้รู้จักความเป็นมาได้เมื่อมีการขุดกรุหรือเปิดกรุแจกพระขึ้นมาก็สามารถบอกเล่าและอธิบายได้สะดวก แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างเรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาให้กับคนอย่างมากมายทั้งที่ความจริงอาจมีเพียงอยู่เล็กน้อย

พระพิมพ์หรือพระเครื่องใดที่มีประวัติและเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้สร้างดังกล่าวนี้ มักจะมีผู้นิยมอย่างแพร่หลาย จนเป็นยุทธวิธีของบรรดานักเล่นพระเครื่อง และนักขายพระเครื่องที่ต้องการโฆษณาของตนที่มีโดยไม่ยาก จึงเกิดหนังสือพระเครื่องรวมทั้งวารสารกับนิตยสารพระเครื่องรายเดือน รายสัปดาห์ กันอย่างดาษดื่น เช่นทุกวันนี้

ในกรุงเทพธนบุรีพระพิมพ์ที่กลายมาเป็นพระเครื่องมีชื่อเสียงโด่งดังจนกลายเป็นยอดพระเครื่องของชาติบ้านเมืองไปก็คือ “พระสมเด็จวัดระฆัง” ที่แทบทุกคนรู้จักเป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ผู้เป็นพระมหาเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้น

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ พระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังนี้เป็นของที่พบในกรุ จึงเกิดมีหลายกรุ และหลายรุ่น (เท่าที่รับฟังมา) เพื่อบรรจุในกรุก็คงไม่ใช่พระที่สร้างขึ้นมาแจกอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นโดยเจตนารมณ์ของผู้สร้างคงไม่ได้มุ่งหวังให้เป็นเครื่องรางของขลังแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดสมเด็จวัดระฆังจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ควรแสวงหา คงหาคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้ในที่นี้ แต่อยากจะสันนิษฐานว่าคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติ และบุคลิกภาพของ สมเด็จพุฒาจารย์ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสำคัญ

บุคลิกภาพของสมเด็จพุฒาจารย์เป็นพระสงฆ์ที่รอบรู้ทั้งในด้านความรู้ทางศาสนาและปฏิบัติธรรมวิปัสสนา แต่ที่สำคัญมีความกล้าหาญ มีความเป็นตนเอง และมีความคิดริเริ่มที่จะสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นความกล้าหาญของท่านที่เห็นชัดคือการที่จะคัดค้านรัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นประมุขของบ้านเมืองในราชกิจที่อาจจะขัดกับความชอบธรรม ดังเช่นเล่ากันว่า สมเด็จพุฒาจารย์จุดตะเกียงส่องทางไปเฝ้ารัชกาลที่ 4 ในพระบรมมหาราชวังเป็นต้น  การสร้างคาถาหรือบทสวดชินบัญชรขึ้นมา ให้คนได้สวดเพื่อความเป็นศิริมงคลและความปลอดภัย ก็นับเป็นสิ่งใหม่ที่มีผู้นับถือและสวดกันมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พระเครื่องในเมืองสยาม โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (สำนักพิมพ์มติชน, 2537)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562