ที่มา | พระเครื่องในเมืองสยาม |
---|---|
ผู้เขียน | ศรีศักร วัลลิโภดม |
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้การเล่น “พระเครื่อง” หรือพูดอย่างตรง ๆ ว่าการซื้อขายพระเครื่องนั้น เกิดการขยายตัวกันอย่างมากมายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไม่มียุคไหนสมัยไหนเสมอเหมือนก็ว่าได้ จนทําให้เกิดความพิศวงอย่างไรพิกลในความเป็นไปของสังคมไทยในทุกวันนี้
เพราะมองด้านหนึ่งก็คือความรุดหน้าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่พัฒนาไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีแบบไฮเทค อันเป็นเรื่องของความทันสมัยทันโลกที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ แต่เหตุไฉนบ้านเมืองจึงเต็มไปด้วย วัตถุที่เป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นสัญลักษณ์ของความงมงายไร้เหตุผล อันมักพบเห็นในสมัยที่บ้านเมืองยังล้าหลังและด้อยการศึกษา
จากปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นนี้ทําให้คิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เกิดความไม่สมดุลขึ้นในระบบวัฒนธรรมของคนไทยสมัยนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะนํามาวิเคราะห์ เพื่อทําความรู้จักและเข้าใจสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมไทยในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง
แต่การที่จะทําความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ทางสังคมในเรื่องพระเครื่องนี้ ก็จําเป็นต้องย้อนอดีตกันพอสมควรทีเดียว
ถ้ามองเพียงแค่วัตถุ พระเครื่อง กับ พระพิมพ์ ก็คืออย่างเดียวกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องของอายุพระเครื่องเป็นของเกิดใหม่ มีอายุเก่าแก่ที่ไม่เกินสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่พระพิมพ์คือของขนานแท้ แต่ดั้งเดิมที่อาจย้อนหลังขึ้นไปถึงพุทธศตวรรษที่ 10 หรือที่ 11 ได้
เมื่อมาถึงตรงนี้ก็อาจมีผู้โต้แย้งได้ว่า พระเครื่องที่มีมาแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีตั้งแยะ เช่น พระรอด พระเปิม พระหูยาน อะไรต่ออะไรอีกมากมายที่มีอายุอยู่แต่สมัยลพบุรีขึ้นไป
ข้าพเจ้าก็ใคร่อธิบายในที่นี้ว่าแท้จริงแล้ว พระเหล่านั้นคือพระพิมพ์ แต่มาถูกกําหนดให้เป็นพระเครื่องกันในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง
ขณะนี้เราไม่อาจทราบได้ว่าสมัยเมื่อมีการสร้างพระเหล่านี้ขึ้นนั้น ผู้ที่สร้างเขาเรียกว่าอะไร แต่ที่เรียกว่าพระพิมพ์ก็เพราะดูจากการที่เป็นของผลิตมาจากแม่พิมพ์เป็นสําคัญ เพราะพระเหล่านี้มักพบรวมอยู่กับแม่พิมพ์ และการที่เขาพิมพ์พระดังกล่าวนี้ขึ้นมาก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการบุญเป็นสําคัญ ดังเห็นได้จากการฝังหรือเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนา หาได้เอามาเก็บไว้เป็นของส่วนตัวในบ้านเรือนไม่
สิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าเป็นเรื่องของการทําบุญได้ดีก็คือ มีกล่าวในศิลาจารึกในสมัยอยุธยาว่า สร้างพระเท่าจํานวนวันเกิด แล้วฝังในพระเจดีย์เพื่อการต่ออายุของตัวเอง หรือไม่ก็เพื่อการต่ออายุของพระพุทธศาสนา โดยการทําพระพิมพ์เป็นเรือนพันเรือนหมื่นฝังในพระเจดีย์ ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงที่บรรดาพระพิมพ์ที่เรียกเป็นพระเครื่องทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนเป็นของที่ได้มาจากการขุดกรุพระเจดีย์แทบทั้งสิ้น พระพิมพ์บางกรุพบเป็นจํานวนมากเรือนพันเรือนหมื่นทีเดียว มีทั้งพิมพ์ – เล็ก ๆ พิมพ์ใหญ่และรูปแบบต่าง ๆ กัน ที่เป็นเช่นนี้ก็ เพราะมุ่งหวังเอาจํานวนปริมาณเป็นสําคัญ
การขุดกรุนี้มีทั้งผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย ที่ว่าผิดกฎหมายเพราะเป็นการลอบลักขุดกรุโดยคนร้าย แต่ที่ไม่ผิดกฎหมายนั้นเพราะเป็นการกระทําโดยผู้ที่ถือกฎหมาย เช่น พวกข้าราชการและคนในเครื่องทั้งนี้ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่ขุดพระมาให้ประชาชนเช่าด้วย
ความหมายของพระเครื่องที่เรียกกันอยู่นี้คงมาจากคําว่าเครื่องรางของขลังนั่นเอง หรือจะเรียกรวม ๆ เอาว่าพระเครื่องรางก็ได้
เครื่องราง เป็นของที่มีมานาน อาจคู่มากับพัฒนาการของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาก็ว่าได้ เพราะเรื่องของความเชื่อเป็นสถาบันอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ของคนเรา เป็นสิ่งจําเป็นในการป้องกันภัยอันเกิดจากการกระทําของสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ด้วยวิธีการที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์
ในสังคมไทยการนําพระพิมพ์มาเป็นเครื่องรางที่เรียกว่าพระเครื่องนี้ เป็นของที่เกิดทีหลังก็เพราะไม่พบหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด ดังเห็นได้ง่าย ๆ จากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่คาบลูกคาบดอกกันระหว่างสมัยอยุธยากับกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อกล่าวถึงการใช้คาถาอาคมในการสู้รบของขุนแผน พลายงาม พลายชุมพล ตลอดจนคนอื่นที่เป็นคู่ต่อสู้ ดังเช่น การเตรียมตัวของพลายชุมพลตอนปลอมตัวเป็นมอญใหม่เพื่อไปรบกับพระไวยว่า “ใส่เสื้อลงยันต์ย้อมว่านยา”
เรื่องเสื้อลงยันต์นี้ลักษณะเหมือนกับเสื้อกั๊ก คือ ไม่มีแขน เป็นของมีมาช้านาน ดังปรากฏให้เห็นในภาพสลักของทหารขอมในกองทัพบนผนังระเบียงคดที่ ปราสาทบายนในประเทศกัมพูชา เป็นต้น ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดไทยแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมาก็แสดงรูปทหารที่ใส่เสื้อลงยันต์ดังกล่าวเช่นกัน นอกจากภาพสลักนครวัดและภาพจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ก็ยังมีข้อมูลในพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ตอนที่โกษาปานไปฝรั่งเศสได้มีการแสดงความอยู่ยงคงกระพันโดยให้ทหารไทยยืนแอ่นอกให้ทหารฝรั่งเศสยิ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่มีการกล่าวถึงพระพิมพ์และพระเครื่องแม้แต่น้อย
แต่ข้อความที่เด่นชัดเห็นจะได้แก่การสู้รบของทหารไทยกับพม่าตอนใกล้จะเสียกรุงที่กล่าวถึง นายฤกษ์ซึ่งเป็นอาจารย์ทางอยู่ยงคงกระพัน อาสานํากองทหารไทยนั่งเรือไปขับไล่พม่าที่มาตั้งค่ายล้อมกรุงอยู่ที่วัดท่าการ้องริมลําน้ำเจ้าพระยา นายฤกษ์แต่งกายใส่เสื้อสงยันต์โพกผ้าประเจียดและมีเครื่องรางต่าง ๆ รำป้ออยู่ที่หัวเรือท้าทายพม่าให้ออกมาสู้รบ ปรากฏว่า พม่าไม่สู้ด้วยแต่เอาปืนยิงนายฤกษ์ตกน้ำตาย กองทหารไทยก็เลยถอยเรือกลับ ข้อความที่กล่าวถึง เครื่องรางของขลังของนายฤกษ์นั้นไม่มีเรื่องของพระเครื่องแต่อย่างใด
เท่าที่กล่าวมานี้ก็พอเห็นว่าความเชื่อเรื่องพระเครื่อง เป็นสิ่งไม่พบเห็นในสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และก็ไม่น่าจะมีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ๆ ด้วย ถ้าจะให้เดากันตามความรู้ความเข้าใจของข้าพเจ้าในขณะนี้ก็เชื่อว่าคงเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมาเพราะสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีกันแล้ว
แต่ก่อนที่จะมาพูดกันถึงเรื่องพระเครื่องในที่นี้ก็ควรที่จะตั้งคําถามก่อนว่า ทําไมจึงไม่มีพระเครื่องในสมัยอยุธยาและก่อนหน้านี้ขึ้นไป
ข้าพเจ้าอยากเสนอในที่นี้ว่า สมัยก่อนที่จะมีพระเครื่องนั้น คนไทยไม่นิยมเอา พระพุทธรูป เข้าบ้าน เพราะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่บริสุทธิ์ควรอยู่ที่วัด ไม่ใช่ในบ้านเรือน การนําเข้ามาอาจทําให้เป็นอัปมงคลได้
นั่นก็คือ คนในสมัยก่อนนั้นเน้นกาลเทศะในเรื่องอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และอะไรที่สาธารณ์
โดยเหตุนี้เวลาสํารวจและศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีแต่สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นไป จึงไม่พบเห็นบรรดาวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เป็นสามัญชนเลย แม้กระทั่งบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นวังของกษัตริย์และเจ้านาย ยกเว้นแต่ว่าวังหรือพระราชวังนั้นจะถูกยกให้เป็นวัด เช่น พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ตอนสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์เป็นตัวอย่าง ทํานองตรงข้ามเรามักจะพบว่า ในเขตวัดหรือบริเวณศาลเจ้าที่อยู่ตามชายหมู่บ้านมักเป็นที่มีผู้นําเอาวัตถุที่เกี่ยวกับความเชื่อที่แตกหักหรือ ชํารุดมาวางไว้ในลักษณะที่สะสมเสมอ เพราะไม่กล้าที่จะทําลายเลยต้องถวายวัดหรือถวายเจ้าไป
ข้าพเจ้าคิดว่าจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 เอง ความเชื่อในเรื่องไม่เอาพระเข้าบ้านเรือนก็น่าจะยังสืบเนื่องอยู่จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 จึงมีการเปลี่ยนแปลง เพราะอิทธิพลแนวคิดใหม่ ๆ ที่มาจากทางตะวันตก ดังจะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 4 เองก็ทรงมีบทบาทหลายอย่างในการเปลี่ยนแปลงประเพณีพิธีกรรมบางอย่าง โดยทรงอ้างเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ประกอบ ดังเช่นที่ทรงอธิบายเรื่องพระบรมธาตุปาฏิหาริย์ว่าเป็น ปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นต้น
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าในสมัยนี้เองที่มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปและรูปเคารพที่ศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามที่ร้างและจากที่ต่าง ๆ มา ยังกรุงเทพฯอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพวกเจ้านายและขุนนางก็มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งอันที่จริงการย้ายพระพุทธรูปและของศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็เคยมีมาแล้ว เช่นในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่โปรดให้ย้ายพระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัยและเมืองอยุธยามาเก็บไว้ที่วัดโพธิ์เป็นต้น แต่นั้นก็ไม่ใช่เป็นการเอาของเข้าบ้านแต่อย่างใด ครั้นครั้งรัชกาลที่ 4 นี้คงมีการนําเอาของเหล่านี้เข้าวังและเข้าบ้านกันแล้ว และระยะนี้เองก็เกิดความนิยมในเรื่อง เล่นของเก่ากันขึ้น
จริงอยู่ที่บางท่านอาจจะเอาเข้ามาในบ้านเรือน เพื่อการเคารพบูชา โดยจัดสร้างห้องหับให้เป็นหอพระขึ้นและมีโต๊ะหมู่บูชาสําหรับตั้งอย่างสวยงาม แต่หลาย ๆ คนก็มองเห็นว่าเป็นของเก่าที่มีราคาค่างวดตามไปด้วย ก็คงจะทึกทักเอาในที่นี้ว่าการเล่นของเก่า คือสาเหตุสําคัญที่ทําให้มีการเอาพระเข้าบ้านกันขึ้น
แต่สิ่งที่สัมพันธ์กับการเล่นของเก่าที่สําคัญ ก็คือ การขุดกรุพระเจดีย์ร้างและโบสถ์ร้างกันขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่ก่อนเป็นการขุดเพื่อหาสมบัติ คือเอาแก้วแหวนเงิน ทอง พระพุทธรูป ก็เอา เพราะมีพวกใจบาปหยาบช้าที่มักเอาไปหลอมทําโลหะขายอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้ไม่หลอมสู้เอาไปขายแก่พวกนักเล่นของเก่าดีกว่าพระที่นําไปขายหรือลักไปขายเหล่านี้เรียกกันว่า พระบูชา เพราะเอาไปบูชาก็ได้หรือเอามาเก็บไว้เป็นของเก่าก็ได้ แต่การขุดกรุแต่ละทีนั้นหาได้แต่พระบูชาและแก้ว แหวนเงินทองเท่านั้นไม่ ยังพบพวกพระพิมพ์รวมอยู่ด้วย ก็เกิดเป็นพระเครื่องเป็นผลตามมา เพราะฉะนั้นการขุดกรุแต่ละครั้งจึงมุ่งที่แสวงหาพระพิมพ์และพระเครื่องเป็นสําคัญ
เหตุที่พระพิมพ์กลายเป็นพระเครื่องไปก็ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในระบบการทําเครื่องรางของขลังขึ้นในช่วงเวลานั้นหรือก่อนหน้านี้ นั่นก็คือเกิดความนิยมในเรื่องพระกริ่งขึ้น นัยว่ามาจากทางพวกเขมรก่อน เช่นพระกริ่งตั๊กแตน เป็นต้น ทําให้ต่อมามีการทําพระกริ่งแบบไทยขึ้นคือ พระกริ่งปวเรศเป็นต้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือในเรื่องอยู่ยงคง กระพันและการตัดรุ้งขาด เป็นต้น
ในเรื่องนี้อาจมีบางท่านโต้แย้งได้ว่าการเกิดพระเครื่องขึ้นในระยะนี้จะเกี่ยวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังขึ้นให้คนมีไว้บูชา
ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจเพราะว่าพระพิมพ์สมเด็จวัดระฆังนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์สร้างแล้วบรรจุ ไว้ในกรุเช่นเดียวกันกับประเพณีการสร้างพระพิมพ์ที่มีมาแล้วในอดีต แต่ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ยอมรับว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์นั้นท่านมีความคิดริเริ่มแปลกๆ ที่อาจสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาให้คนเชื่อได้ โดยเฉพาะการสร้างพระพิมพ์สมเด็จนั้น มีผู้กล่าวว่าท่านพยายามสร้างให้ครบ 84,000 องค์ เพื่อสืบพระ พุทธศาสนา เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “พระเครื่องในเมืองสยาม” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม (สำนักพิมพ์มติชน, 2537)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2562