ตำนานการสร้างพระกริ่งในไทย “กริ่ง” คำนี้มาจากไหนกัน

พระกริ่ง และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงจัดให้มีการหล่อ “พระกริ่งปวเรศ”

คำว่า “พระกริ่ง” มิใช่เป็นเพราะเหตุที่ว่า เป็นองค์พระที่หล่อขึ้นแล้วบรรจุเมล็ดโลหะไว้ข้างใน และยกพระขึ้นเขย่าดูจะบังเกิดเสียงดังกริ่งๆ ขึ้น อย่างเดียวก็หาไม่ แต่หากคำว่า “กริ่ง” นี้มีความหมายที่มาแต่เหตุอื่นอีกต่างหากดังนี้ การที่หล่อพระกริ่ง นายช่างจะทำหุ่นต่างหากจากการหล่อพระชนิดอื่น ซึ่งเป็นรูปปั้นเป็นรูปพระเป็นองค์ๆ ไปโดยเฉพาะหุ่นของพระกริ่งนายช่างจะปั้นหุ่นเป็นรูปสัณฐานเหมือนกิ่งไม้มีแกนกลางสองข้างเป็นกิ่งเล็กน้อยขนาดเท่ากัน

และแต่ละกิ่งนั้นๆ จะประกอบหุ่นพระพุทธรูปมีขนาดเล็กใหญ่สุดแต่ความต้องการของผู้สร้าง (จะเล็กใหญ่ขนาดเท่ากัน) จำนวนพระพุทธรูปที่มีประจำตามสัณฐานของกิ่งนั้นจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใด ก็สุดแต่นายช่างจะกำหนด โดยมากเท่าที่เคยเห็น มักจะไม่เกิน 25 องค์ต่อ 1 กิ่ง ทั้งซ้ายขวาและส่วนยอดของกิ่ง ที่กล่าวจำกัดจำนวนนี้หมายถึงการสร้างเป็นเรือนร้อย หากสร้างเป็นจำนวนพันสัณฐานของกิ่งนั้นอาจจะเป็นพุ่มรอบและมีจำนวนถึง 50 องค์ก็ได้ เมื่อว่าตามลักษณะรูปร่างสัณฐานของการสร้างดังกล่าวมา ก็เห็นสมว่า พระชนิดนี้เรียกชื่อได้เพราะสมว่า “พระกริ่ง”

ทว่าคนทั้งหลายทั่วไปนิยมเรียกขานกันว่า “พระกริ่ง” ทั้งการเขียน ก็เขียนตามภาษาที่เรียกขานกัน โดยที่สุดแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงลิขิตเกี่ยวกับพระชนิดนี้ว่า “พระกริ่ง” ดังปรากฏตามลายพระหัตถ์เมื่อคราวโปรดพระราชทานพระเครื่องราง (พระกริ่ง) กับงาสารให้กับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ (กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) เมื่อคราวสถาปนาขึ้นทรงกรม…

คำที่เรียกเกี่ยวกับชื่อพระชนิดนี้ว่า “กิ่ง” หรือ “กริ่ง” ว่าอย่างไหนจะถูกกว่ากัน ผู้เขียนไม่ขอยืนยัน

แต่มีคำพูดในภาษาไทยเรา ซึ่งออกเสียงแม่กงเช่นเดียวกับคำว่า พระกริ่ง หรือพระกิ่งอยู่คำหนึ่ง หากแต่เวลาเขียนจะต้องมีอักษรกล้ำ คำนั้นได้แก่คำว่า “จริง” ในหนังสือสมุดข่อยซึ่งเป็นของเก่า เขียนคำนี้ตรงตัวที่เดียวว่า “จิง” เช่น ในหนังสือกฎหมายลักษณะผัว-เมีย ว่าด้วยการชำระคู่ความเกี่ยวด้วยการคบชู้สู่สาว ปรากฏตามคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ว่า “ได้รู้เห็นเป็นจิงเป็นจังว่า ออรอดได้สมคบกับอำแดงชื่นในฐานะชู้สาว ฯลฯ” แม้ในปัจจุบันนี้ คำว่า “จริง” นี้หากนำไปใช้เข้าคู่กับคำว่า จัง ก็คงเขียนว่า “เป็นจริงเป็นจัง” อยู่ตามเคย

ผู้เขียนเคยได้ยินอดีตเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺต วัดพระเชตุพนฯ) ท่านสนทนากับอดีตสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร (อยู่วัดสระเกศฯ) ว่า “ผมไม่ทราบว่า ตัว ร. ในคำว่า จริง นั้น มาจากไหน และเหตุใดในคำว่า จัง จึงไม่มีตัว ร. กล้ำบ้าง” อนึ่ง เคยทราบว่าบันทึกส่วนตัวของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตรูปนั้นในที่ทุกแห่งที่มีคำนี้อยู่ ท่านจะเขียนว่า “จิง” ทุกๆ คำ

ได้กล่าวถึงมูลเหตุที่คนทั้งหลายจะเรียกขานนามพระชนิดนี้ว่า พระกริ่ง ตามโลกโวหารสมมติมาพอสมควร ที่นี้หันมากล่าวถึงมูลเหตุที่จะเรียกว่า พระกริ่ง ตามธรรมโวหารสมมติบ้างว่ามีเค้ามูลเป็นมาอย่างไร

ผู้เขียนได้เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับตำราสร้างพระกริ่งพร้อมกับคำอธิบายนามพระกริ่งของอดีตสมเด็จพระอริยวงศาคต สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร วัดสุทัศนเทพวราราม) ท่านอธิบายว่า คำว่า “กริ่ง” นี้มาจากคำเต็มว่า “กึ กุสลํ” อธิบายความว่า เมื่อพระโยคาวจรเจ้าบำเพ็ญเจริญสมณธรรมด้วยดวงจิตแน่วแน่เป็นสมควรขยายความว่าดวงจิตนั้นผ่านพ้นบรรดากุศลธรรมทั้งปวงเป็นไปโดยลำดับ

จนวาระสุดท้าย ดวงจิตเป็นอุเบกขาญาณเวทนาแนบแน่นอยู่ด้วยปญถาวภิสังขารแล้ว กลับเปลี่ยนเป็นจิตที่ประกอบด้วยอเนญชาภิสังขาร จึงเป็นเหตุให้พระโยคาวจรนึกประหลาดเอะใจ เอ่ยเป็นคำปรารภแกมคำถามตัวเองว่า “กึ กุสลํ” นี่เป็นกุศลอะไร เพราะตั้งแต่ตั้งความเพียรตลอดมา ไม่เคยมีจิตเสวยคุณธรรมอันแปลกประหลาด ซึ่งผิดกับกุศลธรรมอื่นๆ ที่ผ่านพ้นมาเลย ฉะนั้น คำว่า “กึ กุสลํ” จึงเป็นชื่อของจิตที่ประกอบกับธรรมชาติ ที่ไม่หวั่นไหวเรียกว่า “อเนญชา” หมายถึง “นิพพุติ” แปลว่า ดับสนิท อันเป็นความหมายถึงพระนิพพานนั่นเอง

พระกริ่งนั้นเดิมเป็นของจีนซึ่งอาศัยอยู่ในทิเบต พากันนิยมสร้างขึ้น เรียกว่า “พระไภษัธคุรุ” ทำเป็นองค์เล็กก็มี ใหญ่ก็มี ความมุ่งหมายสร้างขึ้นเพื่อบำบัดปัดเป่าอันตราย โดยยกพระกริ่งขึ้นเขย่าพร้อมทั้งตั้งความปรารถนาให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ ต่อมาเมืองเขมรพากันสร้างตามอย่างบ้าง แต่โดยมากสร้างเป็นองค์เล็กๆ ใช้เป็นเครื่องราง พระปทุมสุริยวงศ์เป็นผู้สร้าง เลยขนานนามว่า “กริ่งพระปทุม” ต่อมาได้ยักย้ายสร้างขึ้นเป็นหลายขนาดและขนานนามว่า “กริ่งอุบาเก็ง” โดยถือว่าเป็นต้นกำเนิดจากทิเบตบ้าง

กริ่งอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระกริ่งชัยวัฒน์” พระกริ่งชนิดนี้เดิมมิได้จัดทำเป็นเหมือนรูปพระกริ่งธรรมดา เป็นแต่ว่ามีตำราซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรักษาไว้ (พระกริ่งชัยวัฒน์นี้เป็นของสูงสำหรับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ รัชกาลทรงหล่อไว้ประจำทุกๆ รัชกาล แต่ที่ว่าเดิมคำว่ากริ่งลงไปนั้น ทรงหล่อไว้สำหรับเป็นพระพุทธรูปเครื่องราง สำหรับประดิษฐานไว้บนหลังช้างเวลาเสด็จออกสงคราม)

อนึ่ง พระกริ่งชัยวัฒน์นี้ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณเทพ วิสุทธิเมธี (เจีย เปรียญ 9 ประโยค วัดพระเชตุพนฯ) จัดสร้างหล่อขึ้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ตามพระตำรับสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและขนานนามน้อมถวายพระกริ่งดังกล่าวนี้ว่า “กริ่งพระปรมา” เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติยศไว้ให้ปรากฏพระกริ่งชัยวัฒน์นี้จัดหล่อขึ้นครั้งนี้มีพุทธลักษณะแบบทวารวดีปางประทานพร พระหัตถ์ขวาทรงประหม้อน้ำมนต์ พระหัตถ์ซ้ายทรงบาตร ประทับนั่งขัดสมาธิเหนือพระแท่นบัวคว่ำ บัวหงาย เนื้อทองสัมฤทธิ์นวโลหะ

พระกริ่งรุ่นแรกที่หล่อขึ้นในประเทศไทย เฉพาะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และมีผู้นิยมกันทั่วไป ทั้งเล่าลือนับถือกันว่าทรงคุณวิเศษสามารถบำบัดโรคาพาธให้หายขาดได้ ตลอดจนสามารถที่จะตัดรุ้งให้ขาดจากกันได้ด้วย เรียกกันว่า “พระกริ่งปวเรศ” ซึ่งพระนามเต็มว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ท่านได้ทรงจัดหล่อขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาเจ้านายมีจำนวนจำกัดไม่แน่ชัดว่าเท่าใด

พุทธลักษณะหล่อครั้งแรกนั้น เป็นพระรูปขัดสมาธิเพชร พระกรซ้ายหงายฝ่าพระหัตถ์บนตัก พระกรขวาวางพระหัตถ์ไว้ที่พระเพลา ปลายพระหัตถ์ทรงชี้พระธรณีเป็นพยาน ประทับบนพระแท่นบัวคว่ำบัวหงาย 8 กลีบ ต่อมาทรงเห็นว่าจะเป็นการซ้ำแบบครู จึงทรงยักย้ายให้พระหัตถ์ซ้ายทรงประคองหม้อน้ำมนต์ และเพิ่มบัวหลังตรงจุดศูนย์กลางขึ้นอีก 1 บัว ผสมทองเนื้อสัมฤทธิ์ พระกริ่งปวเรศฯ นี้ เนื้อในขององค์พระเป็นสีจำปาอ่อน ผิวกลับดำ ทรงสร้างไว้ 2 คราว คราวแรกอุดฐานด้วยทองแดง คราวที่ 2 อุดฐานด้วยทองเหลือง มีเครื่องหมายกันปลอม ในยุคนี้การนิยมสร้างพระกริ่งยังไม่แพร่หลาย

มูลเหตุที่จะให้สร้างพระกริ่งแพร่หลายในยุคต่อมา ก็เมื่อในราวปีมะโรง พ.ศ. 2411 จัดสร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช (แพ วัดสุทัศน์ฯ) ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นเทพ นามว่า พระเทพโมฬี และพระกริ่งที่ทรงจัดหล่อขึ้นในคราวนั้น มีจำนวนจำกัด ตามประวัติว่ามีเพียง 9 องค์เท่านั้น เค้าเงื่อนของตำนานการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ ผู้เขียนได้รับคำบอกเล่าจากอดีตพระมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร วัดสุทัศนเทพวราราม) ผู้ได้รับตำราสร้างพระกริ่งรวมทั้งพิธีการหล่อ นับว่าเป็นรูปสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนได้ขอความกรุณาจากท่านคัดลอกพิธีการ เครื่องอุปกรณ์ ตลอดจนตราบางส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุการหล่อพระกริ่ง ดังจะนำมาลงให้ท่านผู้อ่านได้ทราบดังนี้

ตำราและพิธีการสร้างพระกริ่งเดิมทีเดียวเป็นสมบัติของพระพนรัตวัดป่าแก้ว สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวเสียกรุงแก่พม่าแล้ว ตำรานี้ได้ตกทอดมาเป็นสมบัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ วัดพระนคร เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ลง ตำรานี้ได้ตกทอดมาเป็นสมบัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศฯ ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ลง ตำรานี้ไม่แน่ชัดว่าได้ตกไปเป็นสมบัติของผู้ใดครอบครองไว้

จวบจนคราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑิต ในวัดสุทัศนเทพวราราม จังหวัดพระนคร) ได้อาพาธลงด้วยอหิวาตกโรคอย่างแรงอาการหนักมาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นทรงทราบ ได้เสด็จไปเยี่ยม และรับสั่งว่าได้เคยทรงเห็นสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ท่านทรงอาราธนาพระกริ่งทำน้ำพระพุทธมนต์แล้วประทานให้คนไข้ด้วยอหิวาตกโรคกินแล้วหายทุกคน พร้อมกับมีพระดำรัสใช้ให้มหาดเล็กไปนำเอาพระกริ่ง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศฯ ได้ทรงสร้างไว้ และประทานให้สำหรับประจำพระองค์มาอาราธนาทำน้ำพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) ฉัน ปรากฏว่าอาการอาพาธที่หนักนั้นทุเลาลงทันที และได้ฉันน้ำพระพุทธมนต์พระกริ่งตลอดมาจนอาการหายเป็นปกติ

สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ครั้งดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญนามว่า “พระศรีสมโพธิ” ได้เฝ้าปฏิบัติพยาบาลสมเด็จพระอุปัชฌาย์อยู่ใกล้ชิด ได้ทรงเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตลอด ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งนับจำเดิมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงครุ่นคิดและขวนขวายค้นคว้าหาตำราที่จะทรงจัดสร้างพระกริ่งนั้นให้จงได้

ได้ทรงค้นคว้าอยู่นานปี ก็ได้ความปรากฏชัดว่าตำราสร้างพระกริ่งนั้น ตกอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ (สามปลื้ม) จังหวัดพระนคร พระมงคลทิพยมุนี (มา อินทสโร) ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้น โดยได้รับสถาปนาดำรงตำแหน่งพระพุฒาจารย์ ในปีขาล พ.ศ. 2457 เจ้าอาวาสเป็นผู้รักษาตำรานั้นไว้ จึงทรงขอตำราและก็ได้สมพระประสงค์ ต่อจากนั้นพระองค์จึงทรงค้นคว้าหาโลหะแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งระบุไว้ในตำรา จัดการหลอมหล่อพระกริ่งขึ้นมีจำนวนจำกัดตามประวัติว่ามีเพียง 9 องค์ แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีนามว่า พระเทพโมลี เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411

รูปร่างลักษณะพรรณสันฐานองค์พระกริ่งที่หล่อขึ้นครั้งนั้นเป็นแบบเดียวกันกับของสมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศฯ ทรงหล่อ แต่ได้ดัดแปลงโดยตัวบัวด้านหลังออก และต่อๆ มาก็ได้ทรงจัดหล่อขึ้นเป็นหลายคราว อนึ่งวันที่ทรงหล่อนั้น พระองค์กำหนดเอาวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่าน พระกริ่งที่ทรงจัดหล่อมาตั้งแต่ต้นตลอดจนสิ้นพระชนมชีพของพระองค์มีประมาณไม่เกินจำนวน 1,500 องค์

…………

พระตำราดังกล่าวนี้ได้ตกทอดมาเป็นมรดก โดยอดีตสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นได้ประสิทธิ์ประสาทรงมอบหมายให้กับอดีตเจ้าคุณพระศรีสัจจญานมุนี (สนธิ์ ยติธโร วัดสุทัศนเทพวราราม) ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราช มีนามว่าพระมงคงราชมุนี ท่านเจ้าคุณมงคลราชฯ ได้จัดการหล่อพระกริ่งตามพระตำราดังกล่าวนี้ขึ้นอีกหลายคราว จวบจนถึงกาลมรณภาพลง พิธีการหล่อพระกริ่งดังกล่าวจึงยุติ….

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก เริง อรรถวิทย์. ความรู้เรื่องพิธีธรรมเนียมสงฆ์, คณะสงฆ์วัดชนะสงคราม พิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2564