“พระหูยาน” กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ปฐมกรุ “พระเครื่องยอดขุนศึก” เมืองละโว้

พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี พระเครื่องยอดขุนศึก เมืองละโว้
พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

“พระหูยาน” กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปฐมกรุ “พระเครื่องยอดขุนศึก” เมืองละโว้

ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีการขุดค้นพบ พระหูยาน ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 พระเครื่องดังกล่าวมีลักษณะโดดเด่นที่พระกรรณ (ใบหู) กล่าวคือ พระกรรณยาวลงมาจรดกับพระอังสา นักสะสมพระเครื่องจึงขนานนามชื่อพิมพ์ทรงเครื่อง เพื่อง่ายต่อการเรียกขานว่าพระหูยาน ซึ่งพบเห็นทั้งสิ้น 3 พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก  

Advertisement

พระหูยานสามารถแบ่งแยกตามลักษณะของบัวฐานอาสนะได้ 2 แบบ คือ บัวชั้นเดียว และบัวสองชั้น ทั้งยังเรียกแบ่งแยกกันในพุทธลักษณะองค์พระปฏิมากร เป็นพิมพ์หน้ายักษ์ พิมพ์หน้านาง พิมพ์หน้าพระ ก็ตามแต่จะเรียกกัน แต่โดยพุทธลักษณะของพิมพ์ทรงพระหูยานมีเพียง 3 ประเภท คือ ประเภทบัวชั้นเดียว มี 3 ขนาด พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก, ประเภทบัวสองชั้น มีเพียงขนาดเดียว, ประเภทพิมพ์พิเศษ

(ซ้าย) พระหูยานพิมพ์ใหญ่ กรุเก่า (กลาง และขวา) พระหูยานพิมพ์กลาง เนื้อชินเงิน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539)

 พุทธลักษณะของพระหูยานเป็นพระเครื่องสกุลช่างลพบุรี รูปองค์พระปฏิมากร ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ประทับบนอาสนะบัวเล็บช้าง 5 กลีบ ลักษณะเกสรบัวเป็นจุดไข่ปลา เรียงรายอยู่บนกลีบบัวทั้ง 5 กลีบ

พระเกศา เป็นแบบผมหวี เส้นเรียวเล็ก เรียงอย่างเป็นระเบียบ ไรพระศก หรือไรพระเกศา เป็นเส้นลวดกลมเรียวเล็กวาดโค้งตามพระนลาฏ (หน้าผาก) พระเกศมาลามุ่นขมวดเป็นรูปคล้ายดอกบัวตูม พระขนง (คิ้ว) ทำเป็นเส้นลวดกลมเรียวแบบปีกกา วาดจากพระกรรณ (หู) ข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่ง

พระเนตร เป็นเม็ดกลมยาวรีคล้ายเม็ดงา กรอบพระเนตร เป็นเส้นนูนรี พระนาสิก (จมูก) เป็นสันนูนโด่ง พระหนุสั้นงุ้มออกมาด้านหน้า พระกรรณยาวจรดพระอังสา (บ่า) เป็นลักษณะโดดเด่นจนเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระเครื่อง

พระโอษฐ์ (ปาก) แบะกว้างแบบพระพุทธรูปลพบุรี

เส้นกรองพระศอ ปรากฏเป็นเส้นคล้ายคลึงไหปลาร้าของคน ผ้าสังฆาฏิเป็นแผ่นพาด และปรากฏรอยขอบของจีวรเป็นเส้นเรียวเล็ก พระอุระผึ่งผาย ลำพระองค์วาดเว้า เห็นหน้าท้องที่นูนเล็กน้อย

ด้านหลังองค์พระเป็นแอ่งเว้าลงไป มีทั้งแบบหลังลายผ้า และหลังตัน

พระหูยานบัวชั้นเดียว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539)

พระหูยานแห่งกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี นับเป็นปฐมกรุของพระหูยาน ซึ่งต่อมามีการค้นพบอีกมากมายหลายกรุ ทั้งในเมืองลพบุรี และเมืองอื่น ๆ สำหรับกรุในเมืองลพบุรี นอกจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว ยังพบพระหูยานจากกรุวัดปืน กรุวิหารกรอ กรุวัดอินทรา กรุตาพริ้ง กรุตาอิน กรุถ้ำมหาเถร กรุวัดเจาะหู กรุยอดปรางค์ กรุวัดกำแพง กรุวัดราชบูรณะ

แต่ละกรุมีคุณสมบัติในพิมพ์ทรงเป็นของตนเอง คล้ายคลึงกันในพิมพ์ทรง หากแต่ในรายละเอียดนั้นผิดเพี้ยนไปจากกันบ้าง

ในบรรดาพระหูยานเหล่านั้น เห็นต้องยกให้พระหูยานแห่งกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นหนึ่งในตระกูลพระหูยาน โดยเฉพาะยิ่งในบรรดาพระเครื่องยอดนิยมของเมืองลพบุรี พระหูยานเป็นรองก็แต่เพียงพระร่วงหลังลายผ้าเท่านั้น

แตกกรุออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.. 2450 และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.. 2508 เรียกขานกันในวงการว่ากรุเก่าและกรุใหม่

สันนิษฐานว่า มีการสร้างพระหูยานขึ้นในราวพุทธศักราช 1913-1931 ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร แต่มีนักสะสมพระเครื่องบางท่านกล่าวว่ากรุเก่านั้นสร้างขึ้นในราวสมัยลพบุรีตอนปลาย ส่วน กรุใหม่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระราเมศวร แต่ทั้งสองกรุเหมือนกันในพุทธลักษณะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีพระเครื่องยอดขุนศึก เมืองละโว้’” เขียนโดย สรพล โศภิตกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2565