ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“จตุคามรามเทพ” หรือ “จตุคามฯ” คือเครื่องรางของขลังหนึ่งที่เชื่อถือว่าช่วยให้ผู้ครอบครองพ้นภยันตราย, ประสบโชคลาภ, ความก้าวหน้าในอาชีพ ฯลฯ แต่ “จตุคาม” ต่างจากเครื่องรางของขลังอื่นที่ไม่ต้องใช้เวลายาวนานในการสร้างชื่อเสียงเรื่องฤทธานุภาพ, ไม่ต้องอ้างอิงบารมีของพระเกจิในเรื่องพุทธานุภาพ, ไม่ต้องอาศัยจำนวนที่มีให้เช่าบูชาอย่างจำกัดเป็นเงื่อนไขในการสร้างราคา
ประมาณปี 2530 “จตุคาม” แจ้งเกิดในวงการวัตถุมงคล เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็สามารถเป็นหนึ่งในสุดยอดวัตถุเมื่อราวๆ ปี 2550 ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 10,000 ล้านบาท (ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเวลานั้น)
กระแสความนิยมของจตุคาม เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ขณะนั้นกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม และบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด จึงร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “จตุคามรามเทพ : สังคม ศรัทธา และมูลค่าการตลาด” (26 เมษายน 2550)
โดยเชิญ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์-มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, อ.ศรีศักร วัลลิโภดม-บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารเมืองโบราณ, อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์-คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสรณ์ จงศรีจันทร์-ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.เดนท์สุ ยังก์ แอนด์ รูบิแคม จำกัด ฯลฯ มาปะทะสังสรรค์ และอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมครั้งนั้น และผู้เขียนเรียบเรียงเนื้อหาเป็นบทความ (ใช้ชื่อเช่นเดียวกับชื่อการเสวนา) เผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” (ฉบับเดือนมิถุนายน 2550) ซึ่งในที่นี้ขอเก็บความบางส่วนมานำเสนอ
ปรากฏการณ์ของจตุคาม
อ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ อธิบายถึงภาพรวมของเครื่องรางว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมเดียวในโลกที่เชื่อถือในเครื่องรางที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ สามารถที่จะเอื้ออำนวยให้ชะตาชีวิตของคนให้บรรลุผลสำเร็จในทางโลก และมีฤทธานุภาพป้องกันภัยทั้งที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือเหนือธรรมชาติ
แต่สังคมไทยอาจเป็นสังคมเดียวในโลกที่พัฒนาเครื่องรางขึ้นไปเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง มีเรื่องการซื้อขายทำกำไร มีตำราคู่มือเพื่อบอกว่าเครื่องรางนั้นเป็นของแท้หรือไม่? เก่าแก่เพียงใด? ฯลฯ ที่สำคัญเรื่องเครื่องรางในสังคมไทยได้ยกระดับขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรม
เครื่องรางซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดยังคงเป็นพระเครื่องจากสำนักต่างๆ จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2530 เริ่มมีการสร้างองค์จตุคามรามเทพ ความนิยมศรัทธาของประชาชนขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของเครื่องรางที่เคยให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้า หรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา มาเป็นเทพที่รักษาองค์พระบรมธาตุ
อาจารย์ฉลองยังกล่าวอีกว่า “ก่อนที่กระแสจตุคามรามเทพจะพุ่งสูงขึ้น ในอุตสาหกรรมพระเครื่องตั้งแต่ซื้อขายพระเก่าพระใหม่ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (การผลิตกล่อง, การโฆษณา ฯลฯ) มีมูลค่าประมาณ 15,000–20,000 ล้าน เมื่อรวมกับจตุคามรามเทพก็มีมูลค่า 25,000-30,00 ล้านบาท
ถ้าคิดเทียบกับ GDP ของประเทศไทย [ปี 2550] ซึ่งถ้าผมจำไม่ผิดก็จะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ตกอยู่ประมาณ 1.5% ของ GDP นี่เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตมากทีเดียวและกำลังเติบโต ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องรางในสังคมไทยทุกวันนี้ยังน่าสนใจว่าถูกยกระดับขึ้นมาเป็นศาสตร์ แล้วก็เป็นสิ่งที่มีตลาด เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์…”
ชนชั้นกลาง คือ แฟนคลับจตุคาม
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “คนชั้นกลาง” คือ ผู้เลื่อมใสศรัทธาหลักของจตุคาม ด้วยองค์ประกอบ 3 ข้อของลัทธิความเชื่อจตุคามรามเทพ คือ 1. อุดมการณ์ที่มุ่งเน้นเรื่องการค้าขาย และความร่ำรวย 2. หลักจริยธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามความเชื่อของชนชั้นกลางที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และ 3. อุดมคติชีวิตที่เน้นเรื่องบริโภคนิยม ซึ่งจะเห็นได้จากชื่อรุ่นในการผลิตจตุคาม แต่ละครั้ง เช่น รุ่นทวีโภคทรัพย์ รุ่นมั่งมีทรัพย์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นอุดมการณ์ในชีวิตของคนชั้นกลาง
หากสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ “คำอธิษฐาน” ซึ่งอาจารย์ให้ความเห็นว่า “…สมัยก่อนเวลาขออะไร เราไม่กล้าที่จะไปบอกหรอกว่า ผม ข้าพเจ้า ต้องใช้ ‘ลูกช้าง’ ซึ่งมันไม่มีความหมาย มันเล็กมาก เจ้าหรือผียิ่งใหญ่มาก เราไม่สามารถจะไปพูดถึงตัวเองในฐานะที่เท่าเทียมได้…แต่จตุคามรามเทพเป็นเทพองค์พ่อ…พวกเราเองนั่นแหละ
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นับถือกับจตุคามรามเทพ คือความสัมพันธ์แบบพ่อลูก อย่างเดียวเลยที่เวลาพวกคุณไปไหว้พระบรมรูปทรงม้า เราเรียกรัชกาลที่ 5 ว่า เสด็จพ่อ ร.5…ไม่ใช่ว่าเรากำเริบหรืออยากจะไปเป็นเจ้า แต่เราอยากสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งที่เรานับถือแบบคนที่เสมอภาคกัน ไม่ใช่ลูกช้างอย่างหนึ่ง…ซึ่งอันนี้ผมว่ามันเป็นวิธีคิดแบบของคนชั้นกลางนะ…”
ระหว่างไสย-พุทธ
ด้าน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่ความไม่มั่นคงเกิดขึ้นในในชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จะมีการเสาะหาที่พึ่งทางจิตใจ กรณีของจตุคามรามเทพก็เช่นเดียวกัน [ช่วงปี 2547-2550 เกิดเหตุการณ์รุนแรงในไทยหลายครั้ง เช่น สึนามิ, ไข้หวัดนกระบาด, เหตุการณ์เสียชีวิตหมู่ที่ปัตตานีและนราธิวาส, รัฐบประหาร 2549 ฯลฯ ] หรือที่ผ่านมาในช่วงสงครามอินโดจีน ความไม่มั่นคงในชีวิตจากสงครามทำให้เกิดการสร้างพระเครื่องขึ้นเพื่อช่วยเรื่องอยู่ยงคงกระพัน หรือเมตตามหานิยม
“พระพุทธศาสนาให้ความหมายคนในสังคมไทยว่ามองที่โลกหน้าไม่ใช่โลกนี้ แต่ความจำเป็นเกิดขึ้นแล้วในโลกนี้คือผี ฉะนั้นศาสนาที่เรานับถือ มี 2 ระดับ คือระดับผี และระดับพุทธ แต่ว่าพุทธอยู่เหนือทุกอย่าง ไปดูที่วัดสิครับทั้งไทยและพม่า พระบรมธาตุอยู่สูงสุด ผีเป็นผู้อุปถัมภ์คอยดูแลพิทักษ์รักษา แนวคิดอันนี้ก็อยู่ในจตุคามฯ เอาผีเอาเทพมารักษาพุทธศาสนา ทำให้มันสอดคล้องกันจนได้…
แต่การเคลื่อนไหวกระแทกสังคมทุนนิยมที่รุกล้ำเข้ามา กำลังดึงผีให้สร้างความเป็นกลุ่มก้อน เป็นปัจเจกชนชั้นกลาง ต้องการเป็นปัจเจก อยากรวยอยากจน ตัวใครตัวมัน นั่นคือไสยศาสตร์ เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์จตุคามรามเทพจึงอิงผีแต่ไม่บูชาผี กลับพยายามจะใช้ผีให้เป็น เพื่อความร่ำรวยของตนเอง…
นี้คือการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากพุทธมาเป็นผี…พระพุทธศาสนาให้ความหมายกับในสังคมไทยเพื่อมองที่โลกหน้า แต่ผีที่เกิดขึ้นคือความจำเป็นเดือดร้อนในโลกนี้…การที่เขาปลุกจตุคามรามเทพขึ้นมา ถ้าบอกว่า ‘มีกูแล้วมึงไม่จน’ อันนี้เป็นไสยศาสตร์ มันเกื้อตัวเอง แต่ถ้าบอกว่า ‘มีกูแล้วมึงไม่โกง’ อันนี้เป็นศาสนา…” อ.ศรีศักรกล่าว
การตลาด จตุคาม
คุณสรณ์ จงศรีจันทร์ กล่าวในมุมมองของนักการตลาดว่า จตุคาม เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของความเชื่อและศรัทธา เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละระดับที่ Maslow กำหนดไว้ (ความต้องการทางกาย, ความมั่นคง, ความรักและการยอมรับ, การยกย่องจากผู้อื่น และการรู้จักตนเอง) ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย บารมี เกียรติยศ ศักดิ์ศรี
เมื่อนำหลักการการสร้างแบรนด์ของบริษัท คือ DREK ที่ย่อมาจาก D-differentiation R-relevance E-esteem และ K-knowledge พบว่า จตุคามจะมีทั้ง 4 ด้าน คือ D-differentiation คือ ความแตกต่างจากกลิ่น ส่วนผสม พิธีการ รูปแบบทรงกลมมหาเสน่ห์ R-relevance ความจำเป็นต้องมีไว้ครอบครอง E-esteem ความนิยมชมชอบของประชาชน และ K-knowledge ความรู้
โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อเริ่มผลิตครั้งแรกใน พ.ศ. 2530 ถึงปัจจุบัน [2550] ระยะเวลาเพียง 20 ปีนั้น มีการผลิตจตุคามออกสู่ท้องตลาดมากกว่า 300 รุ่น ขณะที่สินค้าชั้นนำทางการตลาด เช่น รถเบนซ์เองทุก 5-7 ปี จึงจะมีการผลิตรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด หรือเบียร์ไฮเนเก้นที่ผ่านประมาณ 100 ปี มีการเปลี่ยนขวดเพียงแค่ 7 ครั้งเท่านั้น
“ความกระจัดกระจายในการผลิตจตุคามฯ นั้นเปรียบได้กับไก่คอขาดที่ต่างคนต่างวิ่ง ปลายทางคือการครอบครองจตุคามฯ ซึ่งข้อดีคือกระจายสินค้าได้มาก สินค้ามีความหลากหลาย แต่ระยะยาวอาจไม่ดีนัก มูลค่าของจตุคามฯ อาจลดลงตามความศรัทธาที่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าจตุคามฯ ผลิตจากแหล่งผลิตเพียงแหล่งเดียวจะยั่งยืน เพราะสามารถควบคุมหลายๆ อย่างได้ เช่น ถ้าราคาตก อาจจะหยุดผลิตเป็นระยะเพื่อให้เกิดการขาดแคลน ราคาก็จะกลับมา” คุณสรณ์กล่าว
จตุคาม อาจเกิดจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ เนื่องจากการบ้านการเมือง จตุคาม อาจเป็นไสยศาสตร์หรือพุทธ หากครั้งหนึ่งจะด้วยฤทธานุภาพหรือแผนการตลาดก็ดีของจตุคาม ได้สร้างความมั่นคงด้านจิตใจแก่ผู้ครอบครอง ความมั่นคั่งด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิต เกินหน้าเครื่องรางอื่นๆ ในยุคเดียวกัน ภายใต้สโลแกนที่ว่า “มีกูไว้ไม่จน”
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิดพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พระเครื่องดังหนึ่งในเบญภาคี
-
ต้นกำเนิด “พระเครื่อง” เมื่อคนเดือดร้อนไม่มั่นคง และวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2566