“พระสมเด็จวัดระฆังฯ” พระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง สู่ต้นแบบ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม”

“พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่ง ที่มีต้นแบบจาก “พระสมเด็จวัดระฆังฯ”
“พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่ง ที่มีต้นแบบจาก “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” (ภาพประกอบจาก “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และพระผงสุพรรณ” สนพ.มติชน)

“พระสมเด็จวัดระฆังฯ” พระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง สู่ต้นแบบ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม”

“พระสมเด็จวัดระฆังฯ” คือ พระเครื่องซึ่งเด่นเรื่องพุทธคุณ และเป็นหนึ่งในพระเครื่องที่พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอย่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นผู้สร้างและปลุกเสก จึงเป็นศรัทธาและนิยมกันในวงการผู้สะสมพระเครื่อง และเป็นต้นแบบของ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่งใน “เบญจภาคี”

พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วง (ต้นตระกูลธนโกเศศ) มาเป็นโยมอุปัฏฐาก วัดบางขุนพรหม (ปัจจุบันคือ วัดใหม่อมตรส) ได้ปรึกษากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่สนิทคุ้นเคย ว่าต้องการจะสร้างพระไว้ให้คนรุ่นหลัง เพื่อบรรจุในพระเจดีย์ที่จะสร้างขึ้นในการบูรณะวัด การสร้างพระนั้นถือเป็นมหากุศลยิ่งอย่างหนึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเห็นด้วย และคอยให้ความช่วยเหลือในการสร้างพระครั้งนี้

Advertisement

พระเครื่องที่สร้างก็คือ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” นั่นเอง

พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์ต่างๆ (ภาพประกอบจาก “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และพระผงสุพรรณ” สนพ.มติชน)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านเห็นว่า ควรสร้างเป็นพระเนื้อผง เหมือนที่ท่านเคยสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ (มีชื่อเสียงมีการเช่าบูชากันตั้งแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังไม่สิ้น) โดยท่านจะให้ยืมแม่พิมพ์ที่สร้างพระวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นที่นิยม มีอยู่ 4 พิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์เกศบัวตูม และฐานแซม ทั้งยังให้ผงวิเศษหลายชนิดที่ท่านปลุกเสกจากการร่ำเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร

จำนวนในการสร้างครั้งนั้น ต้องการสร้างให้ครบพระธรรมขันธ์ คือ 84,000 องค์ สันนิษฐานว่าจำนวนที่สร้างจริงคงไม่เกิน 10,000 องค์ หากการสร้างพระในปริมาณมากนี้ แม่พิมพ์แค่ 4 อัน คงไม่พอ เสมียนตราด้วงจึงให้ช่างสิบหมู่ ที่เคยแกะแม่พิมพ์ให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ทำแม่พิมพ์เพิ่มขึ้น โดยให้เลียนแบบพิมพ์เก่าของท่าน

การสร้าง พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ครั้งแรกจึงมีทั้งหมด 12 พิมพ์ ประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์ฐานแซม, พิมพ์ฐานคู่, พิมพ์สังฆาฏิหูช้าง, พิมพ์สังฆาฏิไม่มีหู, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์อกโผล่, พิมพ์ปรกโพธิ์ และพิมพ์ไสยาสน์

ทว่า การสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมนั้นมีปริมาณมาก มีผู้ร่วมการกดพิมพ์หลากหลาย ด้วยน้ำหนักมือที่ต่างกัน และความเอาใจใส่ที่ต่างกัน จึงผิดเพี้ยนไปบ้าง พอสร้างเสร็จก็ไปใส่ไว้ในกรุ ถูกความร้อน ความชื้น แร่ธาตุในดิน พระที่ตอนสร้างถอดพิมพ์มาสวย อาจจะบิดเบี้ยวโค้งงอ

ขณะที่การสร้าง “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างจำนวนน้อย ด้วยความประณีต พิถีพิถัน พระที่ออกมาทุกองค์แทบจะเหมือนกันหมด โดยท่านสร้างด้วยตนเอง แต่ละวันจึงสร้างเพียงไม่กี่องค์ ตากแห้งแล้วแจกเลย ไม่มีความเสียหายจากการลงกรุ ที่สำคัญคือพระสมเด็จวัดระฆังฯ มีทั้งมวลสาร ปูน ผงวิเศษ แต่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ใช้ปูนเป็นตัวนำหลัก

“พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” จึงสวยสู้ “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” ไม่ได้ ทั้งที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน

พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าของพระพุทธนวราชบพิตร  ถัดลงมามีข้อความเขียนว่า พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดกำแพงเพชร (ภาพจาก สมุดภาพกำแพงเพชร, จังหวัดกำแพงเพชรจัดพิมพ์)

ต่อมาในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบ ก็เกิดความวิตกหวาดกลัวว่าเมื่อเกิดสงครามจะเกิดภัยพิบัติต้องหาของป้องกันตัว โดยเฉพาะพระเครื่องที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้าง แต่พระสมเด็จวัดระฆังฯ ก็มีราคาหายากจากเหตุที่กล่าวข้างต้น

เผอิญองค์พระเจดีย์ที่บรรจุ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม มีโพรงอากาศขนาดเท่าข้อมือ จึงมีผู้ลักลอบขโมยพระออกจากกรุ หรือพระเจดีย์ออกมาจำหน่ายหวังผลกำไร มีการแข่งขันราคากันมาก เกิดการแย่งชิงกันชุลมุนวุ่นวาย พ.ศ. 2500 ทางวัดจึงประชุมกันเพื่อเปิดกรุเป็นทางการในปีนั้น จากนั้นจึงเปิดให้เช่าบูชาพระที่สมบูรณ์ก็เช่าไปองค์ละ 1,000 บาท ซึ่งเวลานั้น ทองคำราคาบาทละ 300-400 บาท

ทำให้ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ใน พระเครื่อง ชุด “เบญจภาคี”

อ่านเพิ่มเคิม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) บรรยาย, กองบรรณาธิการข่าวสด เรียบเรียง, พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และพระผงสุพรรณ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2567