ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต” หรือ “เจ้าคุณนรฯ” อดีตมหาดเล็ก รัชกาลที่ 6 สู่พระสงฆ์ผู้สร้าง “เหรียญเจ้าคุณนรฯ” พระเครื่อง ชื่อดัง
พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์ พ.ศ. 2440-2514) คือ 1 ใน 4 มหาดเล็ก “คนโปรด” ของ รัชกาลที่ 6 ได้แก่ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา), พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ ณ อยุธยา), พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง และพระยานรรัตนราชมานิต
พระยานรรัตนราชมานิต ถวายงานรับใช้เป็นที่ถูกพระราชหฤทัย และเป็นที่โปรดปราน จึงเจริญก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น พ.ศ. 2457 ได้รับพระราชทานนามสกุล “จินตยานนท์”, พ.ศ. 2465 เป็นเจ้ากรมมหาดเล็กห้องที่พระบรรทม และได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นบรรดาศักดิ์จากจมื่นสรรเพธภักดี เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ถือเป็นพระยาพานทองที่อายุน้อยมาก คือมีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น, พ.ศ. 2467 ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นองคมนตรี, พ.ศ. 2468 ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนสูงสุด 700 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังทรงพระราชทานที่ดิน และเงินจำนวน 12,000 บาท สำหรับปลูกบ้านแทนการเช่าอยู่ ทั้งมีพระกรุณาโปรดให้สถาปนิกฝีมือดีจากอิตาลีมาออกแบบเพื่อทรงสร้างที่อยู่ให้แก่ พระยา นรรัตนราชมานิต (ซึ่งปล่อยที่ดินที่พระราชทานให้รกร้าง) ให้เหมือนกับคฤหาสน์ของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา แต่พระยานรรัตนราชมานิตปฏิเสธแม้จะทำให้พระองค์กริ้วก็ตาม
ด้านของพระยานรรัตนราชมานิตเองก็เอาใจใส่รับใช้รัชกาลที่ 6 เช่นกัน ตลอดทั้งรัชกาลไม่เคยกลับไปนอนที่บ้าน คงอยู่ค้างคืนในพระราชฐาน จะกลับบ้านเพียงเวลาออกเวรกลางวันเพื่อกินมือเย็นเท่านั้น เรียกว่า เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงตื่นพระบรรทม ลืมพระเนตรจะทอดพระเนตรเห็นพระยานรรัตนราชมานิตหมอบคลานเฝ้าคอยถวายงานแทบทุกครั้ง
เมื่อ รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต พระยานรรัตนราชมานิตเสียใจมาก จนเกรงกันว่าจะ “เสียสติ”
ขณะนั้น พระยานรรัตนราชมานิตอายุ 28 ปี ตัดสินใจอุปสมบทที่วัดเทพศิรินทราวาส ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 6 เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ เหมือนกับการ “บวชหน้าไฟ” ทั่วไป เพียงแต่กรณีของพระยานรรัตนราชมานิตไม่มีการ “สึก”
ตั้งแต่นั้นมาชื่อเรียกขานว่า “พระยานรรัตนราชมานิต” ก็ค่อยถูกแทนที่ด้วย “เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต” หรือ “เจ้าคุณนรฯ”
เจ้าคุณนรฯ เป็นพระสงฆ์ที่มักน้อยสันโดษ ถือวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ฉันอาหารวันละมื้อ ไม่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาในกุฏิ ท่านว่าธรรมชาติให้มาอย่างเพียงพอแล้ว ทั้งน้ำฝน และแสงแดด เมื่อหมดแสงจากดวงอาทิตย์ก็ไม่ต้องทำกิจอื่นใด แต่ควรทำสมาธิให้จิตใจสงบและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากของที่ได้จากบิณฑบาตแล้วไม่รับของถวายใดๆ และไม่รับแขกในกุฏิทุกกรณี ใครจะพบหรือสนทนากับท่านก็จะมีโอกาสเฉพาะช่วงที่ท่านออกจากกุฏิไปทำวัตรเช้า-เย็น (ซึ่งตลอด 46 พรรษา ท่านขาดทำวัตรเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น)
บรรดาญาติโยมที่ศรัทธาท่านบ้างก็ไปตัดพ้อกับท่านเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ เจ้าคุณนรฯ ก็ชี้แจงว่า เหตุที่ท่านอุปสมบทเพื่อถวายพระราชกุศลแด่ รัชกาลที่ 6 และศึกษาหลักธรรม จึงต้องการเวลาและความสงบเพื่อศึกษาธรรมะ ถ้ามัวแต่สาละวนคอยรับแขก หรือยุ่งกับเรื่องทางโลก อันไม่ใช่ธุรกิจของสงฆ์ จะทำให้ไม่มีเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม
อย่างไรก็ตามในช่วง พ.ศ. 2510-2514 เจ้าคุณนรฯ ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสนาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ได้อธิษฐานจิตปลุกพระเครื่อง หรือ “เหรียญเจ้าคุณนรฯ” หลายรุ่น ซึ่งจัดว่าได้รับความนิยมจากนักสะสมพระเครื่อง ด้วยมีพุทธคุณขึ้นชื่อว่า ช่วยให้ประสบความสำเร็จในอาชีพหน้าที่การงาน
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดเบื้องหลัง ปลอมพระพิมพ์ ปลุกพระเครื่อง ทำกันอย่างไร
- กำเนิด “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่งในเบญจภาคี
- “พระหูยาน” กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ปฐมกรุ “พระเครื่องยอดขุนศึก” เมืองละโว้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2556
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. “พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)” ใน, หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2563, น. 15.
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์. พระตำรวจสร้าง, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565