เปิดเบื้องหลัง ปลอมพระพิมพ์ ปลุกพระเครื่อง ทำกันอย่างไร

พระพิมพ์
พระพิมพ์ดินดิบพบที่ถ้ำเขาประสงค์ ชาวบ้านหนองควาย อำเภอท่าชนะ สุราษฎร์ธานี มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนและออกไปสำรวจวัดร้างและโบราณสถานกับพ่อ [มานิต วัลลิโภดม] อยู่นี้ได้พบเห็นการปลอม พระพิมพ์ และ พระเครื่อง กันแล้ว เพราะการปลอมนั้นไม่ยาก เพียงแต่นำพระพิมพ์เก่าไปทำแม่พิมพ์ขึ้นใหม่แล้วกดพิมพ์ออกมาเท่านั้น แต่ในบางแห่งเวลาขุดกรุก็พบแม่พิมพ์พระพิมพ์รวมอยู่ด้วย ทำให้มีการใช้แม่พิมพ์เหล่านั้นเป็นแม่แบบต่อมาได้

แต่พระพิมพ์ปลอมจะพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จแค่ไหนนั้น เขามองกันที่เนื้อสนิม จึงเกิดมีผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์พระพิมพ์ พระเครื่อง กันมาก พ่อข้าพเจ้าก็นับเนื่องเป็นคนหนึ่งด้วย เพราะชอบเอากล้องส่องดูเนื้อพระพิมพ์ที่ได้มาจากกรุและไปเปรียบเทียบกับพระพิมพ์ที่เป็นของผู้อื่น เลยทำให้รู้ว่าอะไรใหม่หรือเก่า

แต่บางทีดูเนื้อก็แทบไม่ออก เพราะคนทำปลอมนิยมเอาบรรดาเศษชิ้นของพระพิมพ์ที่เคยพบตามกรุมาเป็นส่วนผสมของพระพิมพ์ที่ปลอมขึ้น เลยมาตรวจสอบด้วยวิธีอื่นๆ แทน

ข้าพเจ้าเลยสนใจที่จะรับรู้เรื่องพระเครื่องบ้าง แต่ไม่สนใจในการดูเนื้ออย่างผู้เชี่ยวชาญเขาสนใจกัน แต่สนใจรูปแบบและคุณสมบัติของพระเครื่องในเรืองที่เกี่ยวกับความเชื่อ เช่น แบบไหนมาจากไหน และมีคุณสมบัติในทางอยู่ยงคงกระพัน หรือเมตตามหานิยมอะไรทำนองนั้น รวมทั้งเรื่องราวในทางอภินิหารที่เกิดจากบรรดาพระพิมพ์พระเครื่องเหล่านั้น

เหตุนี้จึงทําให้ข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปลุกพระที่มักมีผู้ชอบปลูกกันในสมัยนั้น เป็นเรื่องไม่ยากอะไร คือคนปลุกต้องเป็นคนที่ไม่มีการสักอะไรในร่างกาย เพียงนําพระเครื่องที่ผูกห่อในผ้าเช็ดหน้าไปถือไว้แล้วนั่งบริกรรมว่านะโมเพื่อให้จิตว่าง

พระก็จะขึ้นมาด้วยการแสดงอาการต่างๆ ของผู้ปลุก เช่น ถ้าเป็นพระลำพูนเขียวก็จะขึ้นท่าร่ายรำเพลงหอกและการกระโดดที่โลดโผน, ถ้าเป็นพระอู่ทองที่มาจากกรุทางอยุธยาจะขึ้นเป็นท่าร่ายรำเพลงดาบแบบพรหมสี่หน้า หรือถ้าเป็นพระขุนแผนจะออกอาการเจ้าชูร่ายรำผัดหน้าทาแป้งหวีผมหรืออะไรทำนองนั้น คนปลุกจะแสดงอาการขึ้นลงตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้ดูกลัวก็จะหาทางเลิกได้โดยเข้าไปที่ตัวผู้ปลุกแล้วตบตรงข้างหู คนปลุกก็จะรู้สึกตัว

แต่สิ่งที่แปลกใจสำหรับการปลูกพระนี้ก็คือ ข้าพเจ้าสังเกตว่าคนปลุกพระจะไม่รู้ว่าพระเครื่องที่ตนจะปลูกนั้นเป็นแบบใด มีประวัติความเป็นมาอย่างใดเลย เพราะพระพิมพ์พระเครื่องจะถูกห่อผูกกับผ้าเช็ดหน้าไม่มีทางเห็นได้ อีกทั้งผู้ที่ต้องการให้ปลุกก็มักจะอำพรางไม่บอกผู้ปลุกว่า เป็นพระอะไรด้วย

พระแต่ละองค์เมื่อปลุกขึ้นมานั้นแสดงอาการที่แตกต่างกัน ข้าพเจ้าเคยลองเอาพระเครื่องที่ปลุกแล้วมาให้ปลุกใหม่โดยไม่บอกคนปลุกว่าเป็นพระอะไร ก็มีอาการแสดงออกเช่นเดียวกันกับการปลุกครั้งแรก เช่นพระอู่ทองมักจะปรากฏอาการการร่ายรำทำเพลงไหว้ครูที่เรียกว่าพรหมสี่หน้า เป็นต้น เลยอดคิดไม่ได้ ว่าใครเป็นคนใส่โปรแกรมนี้ไว้ในพระเครื่อง เขาทำกันอย่างไรจึงสื่อมายังคนปลุกพระได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “พระเครื่องในเมืองสยาม” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม (มติชน, 2537)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2564