ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ร้อยเอกโทมัส ลาวน์ดส์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษเข้ามาเจรจาเรื่องปัญหาความปลอดภัยบริเวณพรมแดน และปัญหาเรื่องโจรปล้นผู้ร้ายข้ามแดน เดินทางถึง เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2414
ในวันแรกที่มาถึง ร้อยเอกโทมัส ลาวน์ดส์ สนใจสำรวจสภาพเมืองเชียงใหม่ และได้เดินสำรวจฝั่งขวาแม่น้ำปิง เขาบันทึกว่า
“สภาพเมืองเชียงใหม่เท่าที่เห็นจากภายนอก กระผมคิดว่า เปลี่ยนแปลงน้อยมากจากครั้งที่ร้อยเอกแมกคลายด์เขียนบรรยายไว้ในปี 1836/2379 กำแพงป้องกันก็ยังเหมือนเดิม บางทีผนังกำแพงอาจดูดีขึ้นกว่าก่อนเพราะเพิ่งซ่อมเสริมเมื่อไม่นานมานี้ ประตูเมืองปิดในเวลากลางคืน และแต่ละประตูมียามเฝ้า ซึ่งก็ไม่ค่อยจะตื่นอยู่สักเท่าไรนัก มีปืนที่ดี ๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหาได้ตั้งบนกำแพงไม่ หากแต่วางไว้ในเพิงใกล้วังหรือที่อื่น ๆ อย่างไรก็ดี กระผมเห็นมีรถลากปืนอยู่เพียงคันเดียว
จำนวนบ้านเรือนภายในกำแพง ชวนให้กระผมคิดว่า น่าจะลดลงตั้งแต่ปี 1836/2379 เพราะร้อยเอกแมกคลายด์ ตามที่ได้ทราบจากข้าราชการเชียงใหม่ บอกว่า มีอยู่ 704 หลังคาเรือน แต่เขาคิดว่า นั่นเป็นการประเมินต่ำไป กระผมเองได้ถามเจ้าหน้าที่หลายคน ซึ่งต่างสารภาพว่า ไม่ทราบ ยกเว้นรายเดียวที่บอกว่า มีอยู่ 200 หลังคาเรือน พอกระผมแสดงความประหลาดใจออกมา เขาก็กลับบอกว่า พวกเรือนเล็กเรือนน้อยไม่นับเข้ามาด้วย กระผมคิดว่า จำนวนครัวเรือนควรอยู่ระหว่าง 600 ถึง 700 หลังภายในเมือง และมีจำนวนมากกว่านั้นมากภายนอกเมืองเลียบสองฝั่งแม่น้ำ”
ส่วนสภาพอากาศของเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น ลาวน์ดส์อธิบายว่า
“อากาศที่นี้ดูเหมือนดีต่อสุขภาพจริง ๆ ลูก ๆ ของหมอแมกกิลวารีนั้นแข็งแรงและสดชื่นเหมือนเด็กในอังกฤษ เขาว่ามีฤดูหนาวในเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ กระผมขอยืนยันว่าอากาศร้อนจริง ๆ ในเดือนเมษายน แต่เป็นความร้อนที่ดีต่อสุขภาพและไม่ทำให้ล้มทรุด”
ทั้งนี้ หมอแมกกิลวารีในที่นี้คือ Daniel McGilvary มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้าไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2410
ในด้านเศรษฐกิจและการค้าของเมืองเชียงใหม่ ลาวน์ดส์บันทึกไว้ว่า
“ตลาดนัดจัดกันเป็นเวลาสามวัน สลับกันระหว่างในและนอกกำแพงเมือง บนถนนจากตะวันออกไปตะวันตก มีคนตั้งแผงค้าขายน้อยมาก ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายของแบกะดินกันในที่กลางแจ้ง เนื้อหมูมีให้ซื้อเป็นปกติ แต่การค้าเนื้อได้หยุดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เจ้าหลวงสั่งห้ามฆ่าวัวควาย เพราะทำให้เกิดการลักวัวควาย เป็ดและสัตว์ปีกอื่น ๆ ไม่ได้นำมาขายที่ตลาดกัน แต่หาซื้อได้ในราคาไม่ถูกนักตามเรือนนอกเมือง ปลาสดก็หายาก พวกผักที่มีอยู่ทั่วไปในตลาดของเรามีอยู่อุดมสมบูรณ์ที่เชียงใหม่ พูดถึงผลไม้ กระผมเห็นเพียงมะม่วง กล้วย มะพร้าว และ kanazothees (ไม่ทราบว่าเป็นผลไม้อะไร)
ช่วงเช้าสี่ห้าวันที่ผ่านมานี้ มีคนเอาปลวกชนิดหนึ่งมาขายที่ตลาดเป็นปริมาณมาก พวกเขาว่ามันมีรสน่าลิ้มลองมาก คนชั้นล่างใช้ชีวิตอย่างง่ายมาก พวกพม่าถึงหยันเย้ยพวกเขาว่า แค่มีพริกสักเม็ดหนึ่งกับไข่สักฟองหนึ่งก็พอที่จะกินกับข้าวกันได้ทั้งครอบครัวใหญ่ มีแผงขายของห้าหกแห่งที่มีสินค้าแพรพรรณและสิ่งอื่น ๆ ขาย แต่จำนวนของที่ขายทั้งหมดที่นี่ไม่เพียงพอที่จะใส่ในแผงขายของที่ดี ๆ หน่อยที่มะละแหม่ง กระผมได้สอบถามราคาของดู พบว่าราคาสิ่งของต่าง ๆ พอกับที่มะละแหม่ง อาจมีบางอย่างที่ถูกกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ
สำหรับสถานที่ใหญ่อย่างที่นี่ ความต้องการสินค้าดูน้อยเสียเหลือเกิน แต่ก็เพราะพวกเขาไม่ใช่พวกพม่า ซึ่งเป็นชาติที่ชอบแต่งเนื้อแต่งตัว ผู้ชายเกือบทั้งหมดสวมโสร่งสีน้ำเงิน ข้างผู้หญิงเกือบทั้งหมดสวมผ้านุ่งลายแถบสีทึม ๆ ผู้ชายไม่ใช้ผ้าโพกศีรษะ มีผู้หญิงไม่กี่คนที่พกผ้าเช็ดหน้า เครื่องอัญมณีเห็นอยู่น้อยมากในตลาด เงินตราเชียงใหม่ที่ร้อยเอกแมกคลายด์บรรยายไว้ไม่มีให้เห็นเลย ราชสำนักเชียงใหม่ยังออกเงินนี้อยู่ เพราะจำเป็นต้องใช้เสียสินไหมในศาล กระผมเข้าใจว่า กำไรได้มาจากการประทับตรานั่นเอง
เงินทอนราคาต่ำ ๆ เป็นที่ขาดแคลนมาก พวกเขารับเงินเหรียญ 2 และ 4 แอนนา แต่ไม่เอาเหรียญทองแดงของเรา ดังนั้น เงินทอนเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงมาในรูปของหมากพวกหนึ่ง เกลือ หรือ ใบชา เกลือนั้นส่งมาจากกรุงเทพฯ โดยนำขึ้นมากับเรือและขายที่นี่ในอัตราแปดชั่งต่อรูปีหนึ่ง ตอนล่องกลับ เรือจะบรรทุกเอายาสูบ ยางไม้ และเมล็ดธัญพืช
วัวราคาถูกตั้งแต่ 7 ถึง 14 รูปี นำมาใช้เป็นวัวต่างไม่ใช่เพื่อใช้ไถนา จริง ๆ แล้ว กระผมเห็นเกวียนเพียงเล่มเดียวที่นี่ ซึ่งบรรทุกของถวายแก่พระภิกษุ แต่กลับกลายเป็นว่า คนลาก พวกเขาขับวัวต่างให้เดินไปเป็นแถวเดียวแบบอินเดีย ตัวดีที่สุดที่นำแถวนั้น เขาประดับประดาด้วยเบี้ยและขนนก วัวนำขบวนที่ฉลาด มีราคาสูงถึง 30 รูปีทีเดียว แม่วัวซื้อขายกันในราคาระหว่าง 6 ถึง 7 รูปี ควายซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์สีขาวเกือบทั้งหมดราคาถูกกว่าที่มะละแหม่งมาก แต่ก็ซื้อขายกันหลายราคา ราคาช้างนั้นพอ ๆ กับที่มะละแหม่ง ม้าหายากในเวลานี้ บางทีอาจเป็นผลมาจากการห้ามพวกเงี้ยวยูนดอนเข้ามาที่นี่ ม้าดี ๆ ที่กระผมเห็นในเมืองนี้เป็นม้าที่พวกทำป่าไม้สักนำมาจากมะละแหม่ง กระผมไม่ได้เห็นล่อหรือฬาเลยแม้แต่ตัวเดียวที่เชียงใหม่”
นี่เป็นบางส่วนจากบันทึกของลาวน์ดส์ ทว่าข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือส่วนที่บันทึกเกี่ยวกับเจ้าเมืองและเจ้านายเมืองเชียงใหม่ ตำแหน่ง-หน้าที่ในการบริหาร ขุนนาง ข้าราชการ ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องจากลาวน์ดส์เป็นข้าราชการ มีความคุ้นกับระบบราชการที่มีประสิทธิภาพของตะวันตกมากกว่า เขาจึงบันทึกเรื่องลักษณะนี้อย่างละเอียด และมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการในล้านนา ในขณะที่มีความเห็นอกเห็นใจ และวิพากษ์วิจารณ์คนระดับล่างในลักษณะแฝงอารมณ์ขันเล็กน้อย
ลาวน์ดส์พำนักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2414 รวมเป็นเวลา 24 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ทิศสําคัญของ เมืองเชียงใหม่ และสุโขทัย
- หน้าตาเมืองเชียงใหม่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
- “สามปอยหลวง” หนังฟิล์มสีเรื่องแรกของไทย สร้าง “เชียงใหม่” เป็นเมืองท่องเที่ยว
อ้างอิง :
วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2553). เอกสารลำดับที่ 32 จดหมายเหตุร้อยเอกโทมัส ลาวน์ดส์ (Catain Thomas Lowndes) เกี่ยวกับนครเชียงใหม่ใน ค.ศ. 1871/พ.ศ. 2414. ใน “100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 5”. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564