“สามปอยหลวง” หนังฟิล์มสีเรื่องแรกของไทย สร้าง “เชียงใหม่” เป็นเมืองท่องเที่ยว

ภาพยนตร์ สามปอยหลวง อุ่นเรือน ผู้หญิง น้ำตก
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ เรื่อง สามปอยหลวง อุ่นเรือน ตัวละครสาวในเรื่องกำลังเล่นน้ำอยู่ริมน้ำตกแม่สา (เครดิตภาพจาก Thai Film Reviews)

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แต่ละจังหวัด กลายเป็นที่มาของภาพยนตร์ฟิล์มสีเรื่องแรก และยังเป็นภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเรื่องแรกของไทยด้วย นั่นก็คือ ภาพยนตร์ เรื่อง “สามปอยหลวง”

ย้อนไปในช่วงทศวรรษ 2480 รถไฟถือเป็นพาหนะหลักในการเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ รัฐบาลจึงขอให้กรมรถไฟสนองนโยบายในการผลิตสื่อ เชิญชวนให้คนไทยเที่ยวประเทศไทย เป็นการกระตุ้นการใช้สอยในประเทศ กรมรถไฟจึงร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ สร้างภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว นำเสนอประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเชียงใหม่ มีความพิเศษคือใช้ฟิล์มสีธรรมชาติในการถ่ายทำซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนในไทย เพื่อจะได้ถ่ายทอดทิวทัศน์อันสวยงามของเชียงใหม่ให้ผู้ชมได้เห็นอย่างเต็ม ๆ ตา ต่างจากภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ ที่เป็นฟิล์มภาพขาวดำ

เนื้อเรื่องของ สามปอยหลวง ซึ่งกำกับโดยร้อยตรี ทองอิน บุณยเสนา กล่าวถึง ประเสริฐ กับ วลี หนุ่มสาวชาวกรุงที่พบกันโดยบังเอิญที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ขณะจองตั๋วรถไฟไปเที่ยวเชียงใหม่ ทั้งสองทำความรู้จักกันจนเกิดเป็นความรัก และได้ท่องเที่ยวด้วยกันขณะอยู่เชียงใหม่ แต่ต่อมาทั้งสองเกิดความเข้าใจผิดจนทะเลาะกัน ประเสริฐจึงหนีเข้าไปในป่าเพื่อสงบสติอารมณ์และได้พบกับ อุ่นเรือน สาวชาวไร่ผู้เรียบร้อยอ่อนหวาน เรื่องราวดำเนินไปจนกลายเป็นเรื่องรักสามเส้าของชายหนึ่งหญิงสอง

สามปอยหลวง ออกฉายเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2483 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 34,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากในยุคนั้น โดยทำเงินได้มากกว่าภาพยนตร์เรื่อง ทาร์ซาน จากฮอลลีวูดที่ออกฉายในช่วงเดียวกัน ความสำเร็จดังกล่าวทำให้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งในปี 2517 นำแสดงโดย ไพโรจน์ ใจสิงห์ และ นัยนา ชีวานันท์ และมีส่วนหนุนให้เชียงใหม่กลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ . (2566). ล้านนาที่เพิ่งสร้าง ภาคเหนือหลังปฏิวัติสยาม. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์

ดารุณี สมศรี. การสร้างภาพลักษณ์ความงามของเชียงใหม่ พ.ศ.2464-2500 วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีการศึกษา 2549 

วิวัฒนาการศาลาเฉลิมกรุง. เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก https://www.salachalermkrung.com/?c=evolution

ย้อนดูภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก”: สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม” (ตอนที่ 2). เข้าถึงเมื่อ 10 เมษายน 2566. จาก https://prachatai.com/journal/2008/01/15326


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 เมษายน 2566