ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
เกิดอะไรขึ้นเมื่อภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เขียนบทโดย ปรีดี พนมยงค์ ฉายที่ฟิลิปปินส์
บทความเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งจากบันทึกของนายดำริห์ โปรเทียรณ์ ซึ่งพิมพ์ในหนังสือ “เพื่อเป็นอนุสรณ์” แจกเป็นบรรณาการในการฌาปนกิจศพ คุณแม่เติม โปรเทียรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม จังหวัดพระนคร วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2512
ในการคัดมาลงพิมพ์ครั้งนี้ ทางกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมได้จัดย่อหน้าใหม่หลายแห่ง / กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
อย่างที่มิได้มีการคาดฝันอีกเช่นเคย อยู่ๆ ก็ได้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เคยนับถือกันมา ได้มาพบข้าพเจ้าที่ที่ทำงานและแจ้งความประสงค์ที่จะให้ข้าพเจ้าไปประเทศฟิลิปปินส์อีก ในฐานะพ่อค้า แต่มีเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองที่ค่อนข้างสำคัญแฝงไปด้วย ข้าพเจ้าก็ได้ตอบตกลงอย่างง่ายดายทันที ทั้งนี้ก็เพราะเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ให้คนในประเทศนั้นเข้าใจเสียใหม่ว่าข้าพเจ้ามิได้เป็นผู้ผิด ดังที่อาจจะมีบางคนเข้าใจกัน และจะได้ทำงานให้แก่ชาติ เพราะตอนนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะเกิดอยู่แล้ว ข้าพเจ้าได้พยายามที่จะปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายไปเป็นอย่างดีที่สุด กล่าวคือ
ประการแรก ข้าพเจ้าได้เข้าพบท่านข้าหลวงใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งท่านก็ได้ให้การต้อนรับแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างดีและสมเกียรติยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อการเจรจาความเมืองระหว่างท่านข้าหลวงใหญ่ฯ กับข้าพเจ้า (มีนายทหารอเมริกันชั้นผู้ใหญ่หลายนายร่วมด้วย) จนเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้ว ก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกัน เสร็จแล้วก็มีการถ่ายรูป ทั้งเฉพาะท่านข้าหลวงใหญ่ฯ กับข้าพเจ้า (รูปยังมีอยู่) และหมู่ ได้ผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้นำสินค้าที่ข้าพเจ้าเอาไปด้วยออกให้ที่ประชุมชมกันเป็นการภายใน และนั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เรานี่เอง
จากนั้นข้าพเจ้าก็ได้พยายามที่จะเอาภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชั้นที่หนึ่งของกรุงมะนิลา (เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์) แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้งๆ ที่ท่านข้าหลวงใหญ่ฯ และกงสุลใหญ่ของกรุงสยามประจำฟิลิปปินส์จะได้ให้ความร่วมมือเป็นอันดี เพราะมีการติกันว่า มีการเมืองแทรกมากไป และบ้างก็ว่าไม่ถึงขั้น ฯลฯ อะไรทำนองนั้น
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องใช้อุบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเป็นการเสี่ยงอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องยอม “ไปตายเอาดาบหน้า” แบบไทย เพื่อให้งานได้ผลดั่งประสงค์
เมื่อได้ตัดสินใจแล้ว ข้าพเจ้าก็ประกาศที่จะซื้อโรงภาพยนตร์ชั้นที่หนึ่งในกรุงมะนิลาทันที โดยไม่ติดต่อนายหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อจะดูเบาะแส และในที่สุดก็ได้เค้าว่ามีโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในถนนสายใหญ่ของกรุงมะนิลา และกำลังอยู่ในระหว่างซ่อมแซมและปรับปรุงเพื่อให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และจวนจะเสร็จเรียบร้อยอยู่แล้ว อาจจะขาย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงส่งสาย (เพื่อน) ไปสังเกตเหตุการณ์ และเจรจาหยั่งเสียง และเมื่อได้ทราบว่ามีทางที่พอจะพูดกันได้ ข้าพเจ้าจึงเชิญท่านเจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งนั้น พร้อมด้วยภรรยาของเขารับประทานอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
ในการนี้ ข้าพเจ้าได้เชิญนักเรียนไทยชั้นผู้ใหญ่ทั้งหญิงชาย และพ่อค้าบางคน ที่ได้เคยรู้จักกันมากับข้าพเจ้า ทั้งนี้ก็เพื่อจะกระทำความสนิทสนม กรุยทางไปสู่การเจรจา เปลี่ยนจากการซื้อ (ดังประกาศ) เป็นการเช่าโรงภาพยนตร์นั้นฉายภาพยนตร์ที่ได้นำไป ดังกล่าวแล้ว
อันคนฟิลิปปินส์นั้น ข้าพเจ้ารู้เป็นอย่างดีว่าเป็นชนิดบุคคลที่ชอบยกย่องให้ใหญ่โต ดังนั้นในระหว่างการรับประทานอาหาร ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นแหวนเพชรของภรรยาเจ้าของโรงภาพยนตร์ เพราะนั่งอยู่ใกล้กัน ซึ่งเป็นเพชรเม็ดประมาณสัก 1 กะรัต เห็นจะได้ ข้าพเจ้าก็ชมว่าสวยงามมาก และจากนั้นก็ได้คุยกันแต่เรื่องเพชร ซึ่งข้าพเจ้ารับรองว่าจะหาให้ด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่ขนาดใหญ่กว่าและน้ำวิ่งดีกว่า ฯลฯ ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในกรุงเทพฯ และเมื่อข้าพเจ้าได้นำความสำเร็จในการฉายภาพยนตร์ในโรงของเขากลับไปเมืองไทย แล้วขากลับมาพร้อมด้วยภาพยนตร์เรื่องใหม่มาเข้าฉายในโรงของเขาอีก ซึ่งจะเป็นเวลาไม่ช้านัก ข้าพเจ้าจะนำเอาเพชรมาฝากตามสั่ง ซึ่งอย่างไรก็ตามได้กระทำความพอใจให้แก่คู่สามีภรรยาเป็นอันมาก และต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้รับความสะดวก ในการนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ชั้นที่หนึ่งโรงหนึ่งของกรุงมะนิลาสมปรารถนา และตามจังหวัดต่างๆ ทั่วไปในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ด้วยดีทุกประการ
ส่วนในด้านการโฆษณานั้น ข้าพเจ้าได้ทำอย่างมโหฬาร คือ ได้เช่ารถยนต์และแต่งรถนั้นเป็นรูปช้างศึกของสมัยโบราณ จ้างคนให้แต่งตัวเป็นพระเจ้าจักรพรรดิและจตุลังคบาท แห่โดยเปิดจานเสียงเพลงเชิด (ไทย) ตีฆ้องกลองที่ได้นำไปด้วย ลั่นไปหมดตามถนนสายต่างๆ ทั่วไปในกรุงมะนิลา ส่วนที่โรงภาพยนตร์ ก็ได้ประดับธงไทย ทั้งใหญ่เล็กสะพรึบสะพรั่งไปหมด คนขายและเก็บบัตรเข้าชมภาพยนตร์ของเรานั้นก็ให้แต่งตัวเป็นทหารไทยสมัยโบราณ ถือหอกดาบแบบไทย และได้ขอร้องให้นักเรียนไทยออกขายบัตรและตลอดจนชักชวนเพื่อนฝูงให้ไปชมกันอย่างทั่วถึง ซึ่งนักเรียนไทยแทบทุกคนก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอันดี
เมื่อได้วางงานทุกด้านจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้เดินทางกลับประเทศไทย และต่อจากนั้นไม่นานสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น
และภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ก็ได้ถูกทำลายสูญสิ้นไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระเจ้าช้างเผือก” กับการ “Strike” ความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกใส่มาเนียนๆ ในภาพยนตร์
- เปิดประวัติ ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก หนังของปรีดี ที่สะท้อนแนวคิดใต้รัฐธรรมยุด 2475
- หอภาพยนตร์ชี้ จุดไฟไหม้มี(เศษ)ฟิล์ม “เลือดชาวนา-พระเจ้าช้างเผือก” แต่สำเนาเก็บแล้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2561