“พระเจ้าช้างเผือก” กับการ “Strike” ความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกใส่มาเนียนๆ ในภาพยนตร์

พระเจ้าจักรา ขี่ ช้าง ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก

พระเจ้าช้างเผือก ผลงานอำนวยการสร้างและผลิตภาพยนตร์โดย ปรีดี พนมยงค์ ถ่ายทำเสร็จในปี พ.ศ. 2483 เรื่องราวกล่าวถึงสงครามระหว่าง พระเจ้าจักรา แห่งอาณาจักรอโยธยา กับพระเจ้าหงสา กษัตริย์จากชาติใกล้เคียง แม้จะมีลักษณะเหมือนภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ แต่เนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยปรีดี

ปรีดีนำสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ภายใต้กระแสชาตินิยมที่กำลังถูกสร้างในไทย ดังนั้น เนื้อหาของภาพยนตร์จึงย่อมมีลักษณะของการปลูกฝังแนวคิดแบบชาตินิยมในความหมายใหม่ลงไป กล่าวคือ ไม่ใช่ชาตินิยมที่อิงกับบารมีของกษัตริย์ดั่งอาณาจักรในอดีตที่ปกครองพื้นที่ในลักษณะ “รัฐแสงเทียน” (Mandala) แต่เป็นชาตินิยมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเขตแดน ประวัติศาสตร์ชาติ อำนาจอธิปไตย หรือสถานะของประชาชนในฐานะพลเมือง คือ ระบอบประชาธิปไตย รวมถึงกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

หนึ่งในฉากที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นสมัยใหม่ในภาพยนตร์ คือฉากที่กล่าวถึง “การประท้วง” หรือ “การนัดหยุดงาน” (ในภาพยนตร์ใช้คำว่า Strike) ปรากฎในฉากที่สมุหราชมณเฑียรท้วงพระเจ้าจักราว่า การไม่มีมเหสี 365 คน จะนำมาสู่การ Strike ซึ่งแนวทางปฏิบัติในลักษณะของการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิใดๆ บางประการ เป็นสิ่งที่ยังไม่ปรากฎในช่วงเวลาของภาพยนตร์ที่ดำเนินในสมัยอยุธยา

แม้ “การประท้วง” จะปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์โลกอยู่แล้ว แต่ช่วงเวลาที่ “Strike” กลายเป็นคำคุ้นหูคุ้นตาของชาวโลกก็เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มต้นในอังกฤษช่วงทศวรรษที่ 18 โดยการ Strike เป็นสิ่งที่เกิดในอังกฤษบ่อยครั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 จากเหล่าแรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างหรือรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่แรงงานเหล่านั้นทำได้ก็มีเพียงการประท้วงหรือกระทำในสิ่งที่จะทำให้นายจ้างเดือดร้อนนั่นคือการนัดหยุดงาน

ทั้งอุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ พนักงานการรถไฟ กระทั่งอุตสาหกรรมทอผ้า ทั้งหมดล้วนมีประวัติที่แรงงานนัดหยุดงานประท้วงมาแล้วทั้งสิ้น ต่อมาหลังจากที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ สิ่งที่มาพร้อมกันนั้นก็คือ แรงงานและการประท้วง ในช่วงศตวรรษที่ 20 การประท้วงของแรงงานกลายเป็นเรื่องปกติในโลก และกลายเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทประชาธิปไตยที่เติบโตในหมู่ชาติฝั่งเสรีซึ่งเริ่มก่อร่างขึ้น นำโดยอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

พร้อมกันกับกระแสการประท้วงของเหล่าแรงงานนั้น การประท้วงในประเด็นอื่นๆ เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การประท้วงเพื่อเสรีภาพ การต่อต้านสงคราม หรือการต่อต้านผู้นำ ก็กลายเป็นเรื่องปกติ (Norm) ของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งกระแสดังกล่าวนี้ก็ได้ไหลเข้ามาที่สยาม ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ด้วยเช่นกัน

กระนั้นแล้ว ด้วยความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ในช่วงแรก ค่านิยมของความเป็นประชาธิปไตย ยังไม่ได้ถูกปลูกฝังลงไปในหมู่ประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งในระหว่างที่ประชาชนสยามยังคงปรับตัวอยู่นั้น รัฐบาลคณะราษฎรก็พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ชาวสยามได้รู้จักกับสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

สิ่งดังกล่าวนี้สะท้อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ภาพยนตร์จากนิยายซึ่งเขียนโดยปรีดี หนึ่งในจุดเด่นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือการผสมผสานระหว่างเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นบริบทของเนื้อเรื่อง และความเป็นสมัยใหม่ ที่ถูกใส่เข้าไปในภาพยนตร์อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความรู้สึกประทับใจให้กับผู้ชมในยุคร่วมสมัย ที่ได้เห็นถึงความสร้างสรรค์ในการผสมผสานนี้

เห็นได้จาก Strike ประเด็นหนึ่งที่ถูกใส่เข้ามาผ่านฉากที่กล่าวไปตอนต้น คือส่วนที่ชี้ให้เห็นว่า การกระทำของกษัตริย์ หรือผู้นำนั้นถูกตั้งคำถามได้ และแนวทางที่จะเรียกร้องมาซึ่งการตอบข้อสงสัยนั้น ก็คือ การประท้วง ดังที่พระสมุหราชมณเฑียรได้กล่าวไป ว่าพระเจ้าจักรานั้นสามารถถูกตั้งคำถามได้

กล่าวได้ว่า การ Strike คือความเป็นสมัยใหม่ที่ถูกใส่เพิ่มเติมไปในภาพยนตร์ ที่ถึงแม้จะปรากฏแค่เพียงจุดเล็กๆ เป็นบทพูดไม่กี่วินาที แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองและความคาดหวังของปรีดี รวมถึงรัฐบาลคณะราษฎร ที่นอกจากจะต้องการปลูกฝังความเป็นชาติไปสู่ประชาชนแล้ว ยังต้องการปลูกฝัง “ความเป็นสมัยใหม่” ซึ่งในบริบทนี้ก็คือ “การเรียนรู้ถึงระบอบประชาธิปไตย” และแน่นอนว่า การ Strike ก็คือหนึ่งในการกระทำที่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ให้เป็นที่ประจักษ์ไปสู่สายตาคนดู และในใจของราษฎรนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

เกิดอะไรขึ้นเมื่อภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” เขียนบทโดยปรีดี พนมยงค์ ฉายที่ฟิลิปปินส์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2566