ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องนี้ถือเป็นความชาญฉลาดของช่างหริภุญไชย และความสามารถของผู้เขียน-อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ที่ค้นคว้าและอธิบายไว้อย่างครบถ้วนทั้งเหตุและผลว่า ทำไมรูปปั้นพระที่ “เจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี” จ. ลำพูน จึงมี “หนวด” ไว้ สรุปได้ดังนี้
สิ่งก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ “สถูป” หรือเจดีย์ ในการออกแบบสัดส่วนต่างๆ ขององค์เจดีย์ย่อมมีที่มาของแนวคิดหรือความหมายเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง การจะทำความเข้าใจในแนวคิดหรือความหมายเหล่านั้น จำเป็นจะต้องศึกษาเกี่ยวกับพระธรรมคัมภีร์ในศาสนานั้นๆ ก็อาจที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของผู้ก่อสร้างได้ว่า ต้องการที่จะให้รูปแบบที่ปรากฏออกมานั้นหมายถึงหรือได้แนวคิดมาจากอะไร
ที่ตัวจังหวัดลำพูน เคยเป็นที่ตั้งของบ้านเมืองสมัยโบราณก่อนการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองนั้นคือเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท “เจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี” มีรูปแบบคล้ายคลึงกับสถูปชื่อ “สัตตมหัลปราสาท” ที่เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา แสดงว่าหริภุญไชยได้มีการติดต่อทางศาสนากับศรีลังกามาแล้ว ก่อนสมัยที่เคยเข้าใจกันว่าคือสุโขทัยหรือเชียงใหม่
โดยทั่วไปมีการกำหนดอายุของเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวีว่า เป็นรูปแบบของศิลปกรรมหริภุญไชยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ลักษณะของเจดีย์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งองค์ตั้งแต่ชั้นฐานขึ้นไปหาส่วนยอด โดยถัดจากชั้นล่างสุดซึ่งเป็นชั้นฐานขึ้นไปจะเป็นชั้นเรือนธาตุ ที่ตั้งซ้อนลดหลั่นจากขนาดใหญ่ขึ้นไปหาเล็กจำนวน 5 ชั้น ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ส่วนปลายสุดชำรุดหักหายไป ซึ่งเป็นลักษณะอันเป็นที่มาของชื่อเจดีย์องค์นี้ว่า “กู่กุด”
ลักษณะการทำเรือนธาตุมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนๆ กันขึ้นไปเช่นนี้เอง ที่เหมือนกันกับสัตตมหัลปราสาทของศรีลังกา แต่ส่วนที่แตกต่างและเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเจดีย์หริภุญไชยก็คือ ในเรือนธาตุชั้นหนึ่งๆ แต่ละด้านมี 3 ซุ้ม มี 4 ด้าน จึงรวมเป็น 12 ซุ้ม และจำนวนเรือนธาตุที่ซ้อนกันอยู่มี 5 ชั้น จึงมีซุ้มรวมทั้งสิ้น 60 ซุ้ม แต่ละซุ้มประดิษฐานรูปพระยืนทำด้วยดินเผา ด้านหลังองค์พระทำเป็นแผ่นเรียบเพื่อติดกับผนังด้านหลังของซุ้ม ดังนั้น ลักษณะของรูปพระดินเผาในซุ้มจึงเป็นรูปปฏิมากรรมนูนสูง มิใช่ปฏิมากรรมลอยตัวที่ทำสัดส่วนทุกด้านตลอดทั้งองค์
โดยทั่วไปมักจะลงความเห็นว่า รูปพระทั้ง 60 องค์ในซุ้มทั้ง 60 ของเจดีย์กู่กุดนั้น เป็นพระพุทธรูปหรือรูปของพระพุทธเจ้าในอดีต แต่จากการที่ได้พิจารณาในคัมภีร์พุทธศาสนาต่างๆ ยังไม่พบเรื่องราวของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่จะมีความเกี่ยวข้องกับจำนวน 60 เพราะตัวเลข 60 นี้ น่าจะมีความหมายสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดแน่นอน
จากพุทธประวัติตอนหนึ่งมีว่า ในพรรษาแรกที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนะแห่งเมืองพาราณสี ในพรรษานี้พระองค์ได้เทศนาสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง 5 และพระยศกุลบุตรกับบรรดาสหายอีก 54 คน รวมเป็น 60 คน ทั้งหมดสามารถสำเร็จพระอรหันตผลเป็นพระอเสกขอริยบุคคล คือผู้รู้แจ้งจบไม่มีอะไรจะต้องเรียนรู้อีกแล้ว
ความหมายรูปพระ 60 องค์
จำนวนพระอรหันต์ทั้ง 60 องค์นี้ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับรูปพระทั้ง 60 ที่เจดีย์กู่กุด เพราะในพุทธประวัติความพื้นเมืองในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และมูลศาสนา เล่าเรื่องตำนานหริภุญไชยว่า ในพรรษาแรกแห่งการตรัสรู้นี้ เมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จมายังที่ที่จะเป็นที่ตั้งเมืองหริภุญไชยพร้อมพระอรหันตสาวกทั้ง 60 องค์ และตรัสพยากรณ์ว่าในอนาคตกาลพระธาตุของพระองค์จะมาปรากฏที่นี่ และพระพุทธศาสนาจะมารุ่งเรืองในเมืองแห่งนี้คือเมืองหริภุญไชยที่จะมีขึ้นในภายภาคหน้า
ดังนั้น รูปพระทั้ง 60 องค์จึงน่าจะมีความหมายถึง พระอรหันต์ 60 องค์ ที่มีอยู่ในเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาสู่แผ่นดินแห่งนี้ ตามพุทธประวัติความพื้นเมือง ส่วนสถูปทั้งองค์นั้นก็คือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่งเดียว
ทั้งหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์และหนังสือมูลศาสนา แต่งขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 ที่เมืองเชียงใหม่ หลังเวลาการสร้างเจดีย์กู่กุดมาก แต่ดังที่กล่าวแล้วแต่ต้นถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมหริภุญไชยที่มีความคล้ายกับสัตตมหัลปราสาทของลังกา แสดงว่าเมืองหริภุญไชยมีการติดต่อทางศาสนากับลังกามาก่อนแล้ว และที่แน่นอนว่าจะมากับพุทธศาสนาแบบลังกาก็คือ คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา อันเป็นแม่แบบการเขียนหนังสือสมัยโบราณทั้งหลายในสยามประเทศ
เรื่องเกี่ยวกับตำนานพระธาตุหริภุญไชย จึงน่าจะเป็นตำนานดั้งเดิมที่สืบมาแต่สมัยหริภุญไชย และกลายเป็นแนวคิดในการสร้างรูปพระอรหันต์ ดังกล่าวบนเจดีย์กู่กุด
ปัญหาทางประติมานวิทยา
ปัจจุบันมีแนวคิดทางประติมานวิทยาเกี่ยวกับการทำรูปพระพุทธเจ้าให้มีความแตกต่างไปจากรูปพระสาวกองค์อื่นๆ นั้น โดยทั่วไปสังเกตได้จากการทำ “พระเกตุมาลานูน” อยู่เหนือพระเศียรว่าเป็นเครื่อง หมายของพระพุทธรูป หากเป็นรูปสาวกองค์อื่นๆ จะไม่มีการทำส่วนนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับคำอธิบายของผู้เขียนที่เสนอว่า รูปพระ 60 องค์ บนเจดีย์กู่กุดนี้คือรูปพระอรหันต์ 99 องค์ในพรรษาแรกแห่งการตรัสรู้ เพราะรูปพระทั้ง 50 องค์นั้นต่างก็มีพระเกตุมาลาทั้งสิ้น
มีข้อความที่น่าสนใจในคัมภีร์มหาวงศ์ตอนที่บุคคลทั้ง 60 ได้สำเร็จอรหัตผลเป็นพระอเสกขอริยบุคคลแล้ว คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า “…ในโลกนี้มีพระอรหันต์ขึ้น 61 พระองค์…” และหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวเช่นเดียวกันในเรื่องราวตอนนี้ว่า “…เป็นอันว่าในต้นปีแห่งการตรัสรู้ได้มีพระอรหันต์ในโลก 61 องค์ คือ พระสัมมาสัมพุทธ 1 พระปัญจวัคคีย์ 5 พระยศะเถระ 1 พระเถระสหายของพระยศะเถระ 54”
การที่คัมภีร์มหาวงศ์และหนังสือซินกาลมาลีปกรณ์กล่าวตอนนี้ โดยนับรวมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าด้วยกับพระอรหันต์ทั้ง 60 นั้น แสดงให้เห็นแนวคิดของฝ่ายลังกาวงศ์ว่า การดำรงสภาวะแห่งพระอรหันต์ผู้เป็นอเสกขอริยบุคคลนั้น พระอรหันต์ทั้ง 60 ผู้สําเร็จโดยการชี้นำจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับองค์พระศาสดาผู้สำเร็จเองนั้นไม่มีความแตกต่างกันเลย
จากแนวคิดเกี่ยวกับการดำรงสภาวะอันเป็นนามธรรมนี้ สามารถนำมาใช้เป็นคำอธิบายได้ว่า เหตุใดช่างชาวหริภุญไชยจึงได้ทำรูปพระอรหันต์ 60 องค์ให้มีพระเกตุมาลาเหมือนกับการทำพระพุทธรูปอันเป็นรูปของพระพุทธเจ้า
มาถึงตอนนี้ยังมีปัญหาค้างอยู่ที่จะต้องอธิบายคือ การที่ช่างหริภุญไชยได้สร้างรูปลักษณะพระอรหันต์ให้มีพระเกตุมาลาเหมือนกันพระพุทธรูป ย่อมทำลายสื่อความหมายสำคัญที่จะทำให้คนทั่วไปทราบความแตกต่างทางรูปธรรมระหว่างรูปพระพุทธเจ้ากับรูปพระอรหันต์
ในการนี้ ช่างชาวหริภุญไชยได้แก้ปัญหาโดยการเพิ่มสัญลักษณ์ที่ไม่มีในพระพุทธรูปให้แก่รูปพระอรหันต์คือ “หนวด”
หนวดของพระหริภุญไชยจะทําเป็นรอยขีดมีลีลาสะบัดที่ปลายเส้น ขีดอยู่เหนือริมฝีปากบน แยกออกได้อย่างชัดเจนจากเส้นที่ขีดรอบริมฝีปากที่เป็นเส้นพรายปาก การทำหนวดให้แก่รูปเคารพจะพบบนปฏิมากรรมทั้งที่เป็นรูปพระโพธิสัตว์ของมหายาน รูปเทวดา เทพ ชั้นสูง รวมทั้งรูปของพระจักรพรรดิ ฯลฯ
ดังนั้น หนวดจึงเป็นรูปสัญลักษณ์ของเกียรติยศอย่างหนึ่ง แต่ไม่มีอยู่ในมหาปุริสลักษณะของพระพุทธองค์ ดังนั้น การใส่หนวดให้แก่รูปพระอรหันต์เพื่อแสดงความแตกต่างกับรูปพระพุทธเจ้า จึงเป็นความฉลาดของช่างหริภุญไชยที่ทําเช่นนั้น
ขยายผลการศึกษา
เพื่อให้คำอธิบายในเรื่องนี้ครอบคลุมปัญหาเกี่ยวกับพุทธศิลปะหริภุญไชยได้หมด จึงจะเสนอต่อไปในรูปของการเสนอข้อมูลบางอย่าง พร้อมการตั้งคำถามขึ้น 2 ข้อ ซึ่งคำตอบจะเป็นการอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีอยู่ในคำถามทั้ง 2 ข้อนั้น ดังนี้
- รูปแบบของพระอรหันต์บนเจดีย์กู่กุดทั้ง 60 องค์ ได้รับการกำหนดให้เป็นรูปแบบมาตรฐานของศิลปะหริภุญไชย แต่ปฏิมากรรมรูปพระที่พบในที่อื่นๆ ที่เรียกกันว่าพระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชยนั้นล้วนแล้วแต่มีหนวด ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นคำอธิบายของผู้เขียนที่ผ่านมา ปฏิมากรรมเหล่านั้นก็มิใช่พระพุทธรูปอย่างที่เคยเข้าใจกัน หากแต่เป็นรูปพระอรหันต์ เมื่อเป็นเช่นนี้มิหมายความว่าหริภุญไชยไม่มีการทำพระพุทธรูป คงทำแต่รูปพระอรหันต์ทั้งสิ้นหรือ
- เกี่ยวกับปฏิมากรรมรูปพระรูปอื่นๆ ของหริภุญไชย อันเป็นรูปแบบศิลปะที่ถือตามแบบรูปพระบนเจดีย์กู่กุดนั้น มีข้อมูลที่สำคัญและน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ไม่มีองค์ใดเลยที่เป็นประติมากรรมลอยตัวที่ทำสัดส่วนรอบองค์ แต่จะทำเหมือนกับที่เจดีย์กู่กุดทั้งสิ้น คือเป็นปฏิมากรรมนูนสูง ทำสัดส่วนด้านหน้าและด้านข้างรวม 3 ด้าน ด้านหลังเป็นแผ่นเรียบแสดงถึงการที่จะนำไปติดกับผนังทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้มิหมายความว่าศิลปะหริภุญไชยไม่มีการสร้างรูปพระลอยตัว เห็นได้รอบสำหรับตั้งเป็นประธานในโบสถ์วิหารเลยหรือ
ทั้งสองข้อเป็นคำถามที่มีความสัมพันธ์กันที่อาจอธิบายได้ว่า รูปแบบศิลปะหริภุญไชยที่ถือตามรูปพระบนเจดีย์กู่กุดเป็นมาตรฐาน เป็นรูปแบบสำหรับการสร้างรูปพระอรหันต์เท่านั้น ดังนั้น รูปพระทั้งหลายในศิลปะหริภุญไชยที่เรียกกันว่าเป็นพระพุทธรูปเป็นการเข้าใจผิด เพราะที่ถูกเป็นรูปพระอรหันต์ทั้งสิ้น และเป็นรูปสำหรับสร้างติดกับผนังบนเจดีย์โบสถ์วิหารทั่วไป ซึ่งถ้าจะใช้คำพูดในความหมายของการออกแบบก็จะเป็นส่วน “ตกแต่ง” มิใช่ส่วนที่เป็น “ประธาน” ส่วนที่เป็นประธานนั้นคือ พระพุทธรูปในศิลปะหริภุญไชยอีกรูปแบบหนึ่ง และเป็นพระพุทธรูปสร้างแบบลอยตัว
สรุป
รูปพระในซุ้มเจดีย์กู่กุดได้รับการกำหนดให้เป็นรูปแบบมาตรฐานของพุทธศิลปะหริภุญไชย ดังนั้น รูปพระอื่นๆ ที่พบที่ จ. ลำพูน และใกล้เคียงที่มีความคล้ายคลึงกับรูปพระบนเจดีย์กู่กุด จึงได้รับการเรียกว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชยทั้งสิ้น
จากสังเกตการณ์ของผู้เขียนพบว่า รูปพระเหล่านี้มีการทำหนวด ซึ่งไม่เคยพบในการทำรูปพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป อีกทั้งจำนวนทั้งหมดของรูปพระเหล่านี้ทำเป็นรูปนูนสูงทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าในการติดตั้งต้องติดรูปพระเหล่านี้กับผนัง ซึ่งโดยตำแหน่งการติดตั้งเช่นนี้ โดยทั่วไปจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นประธาน จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รูปพระเหล่านี้จะมิใช่พระพุทธรูปอย่างที่เคยเข้าใจกัน
ในการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธประวัติและพระพุทธประวัติ ความพื้นเมืองซึ่งมีอยู่ในตำนานของหริภุญไชย สามารถนำมาสร้างคำอธิบายได้ว่ารูปพระเหล่านี้เป็นรูปพระอรหันต์ทั้งสิ้น
พระพุทธรูปหริภุญไชยนั้นมีแน่นอน แต่สร้างเป็นอีกรูปแบบหนึ่งต่างไปจากรูปพระในซุ้มเจดีย์กู่กุด (ซึ่งก็คือรูปพระอรหันต์) พระพุทธรูปศิลปะหริภุญไชยตามแนวคิดในบทความนี้คือ พระพุทธรูปที่ถูกจัดโดยเข้าใจผิดให้อยู่ในกลุ่มศิลปะล้านนา (หลังสมัยหริภุญไชย) หรือที่แต่เดิมเรียกว่าพระเชียงแสนรุ่นแรก รุ่นหลังบางองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- พระพุทธชินราช พระพุทธรูปงามที่กษัตริย์ตั้งแต่กรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ ทรงศรัทธา
- พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูปที่พระราชทานให้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
- พระพุทธเสรฏฐมุนี หล่อจากกลักฝิ่น และนัยจากพระพุทธรูปที่ประกอบขึ้นจากสิ่งเสพติด
ข้อมูลจาก :
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พระมีหนวด,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2538.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2561