พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูปที่พระราชทานให้แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ

พระพุทธนวราชบพิตร พระพุทธรูป
พระพุทธนวราชบพิตร ถ่ายจากด้านหลัง และด้านซ้าน-ขวา (ภาพจาก สมุดภาพกำแพงเพชร, จังหวัดกำแพงเพชรจัดพิมพ์)

พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อพระราชทานให้จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมานี้ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างเททองหล่อพระพุทธรูปในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามพระพุทธรูปนั้นว่า “พระพุทธนวราชบพิตร”

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 23 ซ.ม. สูง 40 ซ.ม. ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตรนั้น ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ไว้ 1 องค์ คือ พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน

พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าของพระพุทธนวราชบพิตร  ถัดลงมามีข้อความเขียนว่า พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดกำแพงเพชร (ภาพจาก สมุดภาพกำแพงเพชร, จังหวัดกำแพงเพชรจัดพิมพ์)

พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน เป็นพระพุทธรูปพิมพ์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงพระพิมพ์ 2 ส่วน คือ 1. ส่วนในพระองค์  2. ส่วนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้

ส่วนในพระองค์ มาจาก 5 ส่วนด้วยกันคือ

1. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาลจนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้

2. เส้นพระเจ้าซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ทุกครั้ง

3. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล

4. สีซึ่งขุดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์

5. ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง

ส่วนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นวัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถานหรือพระพุทธรูป อันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน, เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป, ผงธูป, น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมรุธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตัวอย่างเช่น

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ผงจากพระปรางค์ วัดมหาธาตุ, ผงและเปลวทองจากพระพุทธไตรรัตนายก วัดพนัญเชิง, ผงจากพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดหลวงสบสวรรค์ และเปลวทองจากพระมงคลบพิตร

จังหวัดชัยนาท ได้แก่ น้ำอภิเษกวัดพระบรมธาตุ, ผงจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ, น้ำอภิเษกจากวัดธรรมมูล, เปลวทองและเกสรดอกไม้จาก “หลวงพ่อธรรมจักร” วัดธรรมามูล และผงจากวิหารหลวงพ่อธรรมจักร วัดธรรมามูล

จังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ ทองคำเปลวผสมน้ำรักที่ขูดจากองค์พระพุทธชินราช เพื่อกระทำพิธีปิดทองใหม่เมื่อ พ.ศ. 2500, เกสรบัวหลวงจากที่บูชาพระพุทธชินราช

จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ดินใจกลางปราสาทพนมรุ้ง, ดินใจกลางปราสาทเมืองต่ำ, ดินจากศาลหลักเมือง, ดินจากศาลเทพารักษ์ เจ้าพ่อวังกรูด อำเภอสตึก และดินจากสังเวชนียสถานต่างๆ ในประเทศอินเดีย

จังหวัดภูเก็ต ได้แก่ ผงจากรอยพระพุทธบาท เกาะแก้ว หน้าหาดราไว, ผงธูปและเปลวทองจากพระพุทธรูปพระทอง วัดพระทอง, ผงธูปและเปลวทองที่บูชาอนุสาวรีย์หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง

เมื่อการจัดทำพระพุทธนวราชบพิตรแล้วเสร็จ ได้พระราชทานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2510

พระพุทธนวราชบพิตรที่พระราชทานไปแล้ว ประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีที่ต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัย ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธี (ยกเว้นพิธีที่กระทำในศาสนสถานที่มีพระประธาน หรือมีปูชนียวัตถุอื่นเป็นประธานอยู่แล้ว และพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ) หรือเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดนั้นๆ เพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธีหรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ก็ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้น เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

พระพุทธนวราชบพิตร, โรงพิมพ์พระจันทร์ พ.ศ. 2510

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ. ตามรอยพ่อ ก-ฮ , สำนักพิมพ์สารคดี. พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2555.

กองบรรณาธิการข่าวสด. พระดี คนดัง , สำนักพิมพ์มติชน  พ.ศ. 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2563