ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ยศของขุนนางไทยสมัยโบราณ ประกอบด้วย บรรดาศักดิ์-ฐานะหรือยศที่เปลี่ยนไปตามความดีความชอบ เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ ฯลฯ, ราชทินนาม–นามที่ต่อท้ายบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าพระยาจักรี พระยาราชสุภาวดี ฯลฯ, ตำแหน่ง–ตำแหน่งกับราชทินนามมักคู่กันไปไม่เปลี่ยน เช่น เจ้าพระยาจักรี ต้องมีตำแหน่งเป็นสมุหนายก, ดวงตรา–ตราประจำตำแหน่งนั้นๆ เช่น เจ้า พระยาอัครมหาเสนาบดีกลาโหม มีตราพระคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง สำหรับประทับหนังสือสั่งการ
ดังนั้นเมื่อได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จึงได้ราชทินนามตามตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแยกกันระหว่างราชทินนามฝ่ายพลเรือน กับฝ่ายทหาร หากบางครั้งก็มีการสลับข้ามกันบ้าง เช่น ราชทินนาม “พิบูลสงคราม”
ส.พลายน้อย ค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ใน “ขุนนางสยาม ประวัติศาสตร์ ‘ข้าราชการ’ ทหารและพลเรือน” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2548) ซึ่งขอสรุปเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอพอสังเขป
พระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ มีการกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ของ “เจ้าเมืองนครนายก” ว่า “พระพิบูลย์สงคราม” และบ้างครั้งก็มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิบูลย์สงคราม”
สมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2309 เมื่อพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นไปสะสมกำลังอยู่ที่ด่านโคกพระยา เวลานั้น “พระพิบูลย์สงคราม” เจ้าเมืองนครนายก กับหลวงนรินทร์ คุมกำลังอยู่ที่เมืองนครจันทึก กรมหมื่นเทพพิพิธได้ไปชักชวนพระยานครราชสีมาให้ช่วยรบพม่า แต่พระยานครราชสีมาเป็นอริกับ “พระพิบูลย์สงคราม” อยู่ จึงส่งคนมาลอบฆ่าพระพิบูลย์สงคราม
สมัยรัตนโกสินทร์ ทำเนียบเจ้าเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกว่าเมืองนครนายกเป็นเมืองจัตวา เจ้าเมืองชื่อ “พระพิบูลย์สงคราม” ศักดินา 3,000 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2477 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอินทรคชลักษณ์ (เกรียว คชนันทน์) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนครนายก และโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิบูลย์สงคราม” ภายหลังเมื่อย้ายตำแหน่งไปเป็นข้าหลวงเกษตร ก็เปลี่ยนราชทินนามเป็น “พระยาธัญญาภิบาล” ขณะที่ราชทินนามในสมัยหลังๆ ก็เปลี่ยนเป็น “พิบูลสงคราม” ที่ไม่มี “ย์”
ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกที่ได้รับพระราชทานราชทินนามนี้เป็นคนสุดท้ายก็คือ พระพิบูลสงคราม (เจริญ ปริยานนท์) เริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ เวรเดช ในกรมมหาดเล็กแล้ว ได้เป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2454 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิบูลสงคราม” แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยานายกนรชนวิมลภักดี” ซึ่งปกติแล้วแม้เลื่อนเป็น “พระยา” ยังใช้ราชทินนามเดิมได้ เพราะยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกอยู่ตามเดิม
การเปลี่ยนราชทินนามในเวลานั้น จะเป็นเพราะราชทินนามทางฝ่ายทหารขาดแคลน และเห็นว่าราชทินนาม “พิบูลสงคราม” เหมาะกับทหาร จึงได้เปลี่ยนราชทินนามทางฝ่ายพลเรือนใหม่ หรือจะมีเหตุผลอื่นก็ไม่ทราบได้
หากปรากฏว่านายทหารคนแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พิบูลสงคราม” ก็คือร้อยเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ซึ่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ถือศักดินา 400 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ภายหลังเมื่อเป็นจอมพลและเลิกใช้บรรดาศักดิ์ จึงนำราชทินนามมาเป็นนามสกุลว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2564