รัฐบาลจอมพล ป. จัดเก็บ “พาสีชายโสด” หวังเพิ่มประชากร

จอมพล ป. นั่งกับ จอมพลสฤษดิ์ บนบันได
ภาพเหตุการณ์ที่ จอมพลสฤษดิ์ นำคณะนักศึกษาเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาพหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

ปัจจุบัน “คนโสด” ในประเทศไทยเรียกได้ว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับตนเอง ไม่ค่อยผูกมัดหรือมีความสัมพันธ์เหมือนสมัยก่อน ทำให้รัฐบาลต่างงัดวิธีมากมายออกมาให้คนแต่งงานและมีลูกเพื่อเพิ่มประชากรให้กับประเทศ เช่น การลดหย่อนภาษีให้บุคคลที่มีบุตร การกระทำที่ว่านี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น แต่หากย้อนไปในสมัยยุคจอมพล ป. ก็มีนโยบายกระตุ้นประชาชนให้มีลูกเช่นกัน นั่นคือการเก็บ “พาสีชายโสด” หรือ “ภาษีชายโสด”

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก็การใช้ “ภาษี” เป็นเครื่องมือในเพิ่มอัตราการเกิดประชากร เรียกว่า “พระราชบัญญัติ พาสีชายโสด พุทธสักราช 2487” ตราไว้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2487  มีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

ชายสัญชาติไทยทีมีอายุตั้งแต่ 25-45 ปีบริบูรณ์ ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ขาดจากกันแล้ว นับเป็นชายโสดต้องเสียภาษี

โดยการเรียกเก็บภาษีนั้นกำหนดว่า “ผู้ใดเปนชายซึ่งหยู่ไนภาวะเปนโสดตลอดปีที่ล่วงมาแล้ว มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ไห้เจ้าพนักงานประเมินประเมินเรียกเก็บพาสี เรียกว่าพาสีชายโสดเปนเงิน 5 บาท หรือไนอัตราร้อยละ 10 ของพาสีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่หย่างไดจะมากกว่า และแจ้งจำนวนพาสีให้ผู้ยื่นรายการดังกล่าวซาบเช่นเดียวกับพาสีเงินได้”

อย่างไรก็ตามพาสีชายโสดมีข้อยกเว้นให้กับผู้ชายที่แสดงหลักฐานว่าตลอดปีภาษีที่ผ่านมาเขาอยู่ในกลุ่มบุคคลดังนี้ 1. เป็นพระภิกษุ 2.มีลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ 3. ต้องรับอาญาอยู่ในเรือนจำ 4. เป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง 5. ทำการสมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์  6. เป็นบุคคลวิกลจริต 7. รับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ได้รับการยกเว้นไม่เสียพาสีชายโสด

อย่างไรก็ตามภาษีคนโสดไม่ได้เรียกเก็บกับผู้หญิง

เหตุผลที่ไม่เรียกเก็บภาษีคนโสดกับผู้หญิงนั้นมีการอธิบายในบทความ “แนวทางปฏิบัติในการเพิ่มพลเมือง” ว่า เนื่องจากผู้หญิงโสดส่วนมากมีรายได้น้อยกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ผู้ชายถึงจะหน้าตาไม่ดีก็ยังหาภรรยาได้ง่าย แต่ถ้าผู้หญิงไม่สวยหรือายุมากสักหน่อย ก็ย่อมหาสามีได้ยากจึงได้เว้นเก็บภาษีผู้หญิงโสด (ประชาชาติ 27กุมภาพันธ์ 2485:5)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระราชบัญญัติ พาสีชายโสด พุทธสักราช 2487. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 6 เล่ม 61 วันที่ 18 มกราคม 2487

ก้องสกล กวินรวีกุล. การสร้างพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487, วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2561