สถานะโสดและแฟนสาวของสมาชิกคณะราษฎร ส่งผลต่อชีวิต-การปฏิวัติ 2475 อย่างไร?

ที่ 2 จากขวา-ประยูร ภมรมนตรี และสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ที่กรุงปารีส (ภาพจากปกนิตยสารไท-สัปดาห์)

สมาชิกคณะราษฎรมีทั้งครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตอย่าง ตั้ว ลพานุกรม ที่เป็นเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ และบางคนยังเป็นโสดในระหว่างปฏิบัติการปฏิวัติ ซึ่งสถานะโสดก็สามารถช่วยให้การปฏิวัติดำเนินไปอย่างราบรื่น ตบตารัฐบาลราชสำนักให้ดูเป็นกิจกรรมหาความสำราญของชายโสด ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

ครั้งหนึ่งเมื่อคณะราษฎรถูกสงสัยว่าจะก่อการปฏิวัติ เนื่องจากสงวน ตุลารักษ์ ขณะเดินทางด้วยรถไฟ เมาแล้วพูดจาโวยวายว่าจะยึดทรัพย์พวกเจ้า ทำให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจกองปราบที่แต่งกายเป็นชาวบ้านได้ยิน จึงให้สายลับสะกดรอยตาม แต่เมื่อบรรดาคณะราษฎรไหวตัวทันจึงเดินทางไปบาร์ซ่วนหลี ที่เป็นร้านเหล้าแบบตะวันตกบนถนนพาหุรัดข้างวังบูรพา ให้การวางแผนเป็นเรื่องเที่ยวสังสรรค์ [1]

หรือกรณีของ ประยูร ภมรมนตรี ที่มีหน้าที่ติดต่อประสานงานภายในเครือข่ายสมาชิกและเป็นหนุ่มโสด เขาก็ได้ให้หญิงสาวนั่งบนรถด้วยเต็มคันรถ เพื่อตบตาตำรวจให้ดูเหมือนว่ามาหาความสำราญทางเพศและใช้หญิงสาวบางคนสืบเอาความภายในราชสำนัก

อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้หญิงเต็มคันรถตระเวนรอบพระนคร ก็ได้สร้างความข้องใจให้กับพจน์ พหลโยธิน ว่าประยูรมีท่าทีไม่เอาจริงเอาจัง จนกระทั่งเทพ พันธุมเสน ต้องอธิบายเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด [2]

ไม่เพียงเท่านั้น บ้านสมาชิกที่ยังเป็นโสดยังมีประโยชน์อย่างมากในการปฏิวัติ เพราะมักประชุมกันที่บ้านส่วนตัวของหนุ่มโสด บ้านประยูรจึงเป็นที่ประชุมบ่อยครั้ง [3] น้อยครั้งที่จะไปประชุมหารือวางแผนกันที่บ้านเทพเพราะมีภรรยาแล้ว [4]

ในการประชุมแต่ละครั้งกำหนดสมาชิกไม่เกิน 8 คน เพื่อไม่ให้เอิกเกริก และให้นำเครื่องมือเล่นพนันไปด้วยทุกครั้ง เพราะหากโดนจับจะได้อ้างว่าเป็นการลักลอบมั่วสุมเล่นพนัน [5]

สมาชิกคณะราษฎรหนุ่มโสดก็มักมีหญิงคนรักและสาวๆ ซึ่งพวกเธอก็ช่วยเหลือให้การปฏิวัติสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี แม้แต่การเลื่อนวันปฏิวัติที่เลื่อนมาเป็นวันที่ 24 ก็เพราะคู่รักที่เป็นหญิงรับใช้ในราชสำนักช่วยคอยแจ้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มเจ้านาย ประยูรบันทึกไว้ว่า

 “…ได้ประชุมรวบรัดนัดยึดอำนาจกันในวันที่ 22 มิถุนายน แต่แล้วต้องเลื่อนไป 1 วัน เพราะเหตุคุณข้าหลวงที่เป็นแฟนของพวกเรากระซิบว่า คืนวันที่ 22 กรมพระนครสวรรค์ฯ เสด็จไปประทับที่เมืองนนทบุรี รุ่งขึ้นวันที่ 23 จึงจะกลับมาบรรทมที่ตำหนักท่าน้ำ…การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเกิดขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 24” [6]

เช่นเดียวกับการรับมือกับกลุ่มเจ้าปฏิปักษ์การปฏิวัติ ส่วนหนึ่งก็เพราะได้หญิงสาวที่สมาชิกคณะราษฎรกำลังจีบอยู่บอกความลับ ทำให้ล่วงรู้การเคลื่อนไหวโต้กลับของราชสำนัก แสง จุละจาริตต์ ขณะที่ยังโสดได้ไปที่บ้านหญิงสาวที่จีบกันอยู่ในคืนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งเธอล่วงรู้ความเป็นไปภายในราชสำนัก และได้เปิดเผยว่าพระองค์เจ้าบวรเดชได้ยกกำลังทหารหัวเมืองมาอยู่ที่ดอนเมือง ในวังกำลังต่อหีบไม้เพื่อใส่ของใช้สำหรับเตรียมอพยพ เจ้านายที่บวชอยู่ที่วัดก็สึกออกมากลางดึก

และเมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคม พจน์ได้ส่งชลอ ศรีศรากร และลาภ หัสดินทร ไปสืบเหตุการณ์ที่นครราชสีมา ก็ถูกจับตัวไว้แล้วทั้งคู่ แสง จุละจาริตต์ จึงรีบไปบ้านพักที่โรงทหาร เพื่อรายงานจรูญ เสรีเริงฤทธิ์ แล้วเดินทางไปพบพจน์ คณะราษฎรจึงสามารถปราบปรามกลุ่มกบฏได้ทันการณ์ [7]

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดห้องประชุมครั้งแรกของ “คณะราษฎร” 7 ผู้ก่อตั้งพูดคุยเรื่องอะไรกัน?

เชิงอรรถ :

[1] ประยูร ภมรมนตรี, บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปก พ.ศ. 2475 ว่าด้วย กําเนิด ความมุ่งหมาย การปฏิวัติ ความสําเร็จและความผิดพลาด (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2517), น. 64.

[2] ประยูร ภมรมนตรี, ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า (กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2518), น. 127.

[3] จรูญ กุวานนท์, ชีวิตการต่อสู้ของบุคคลสําคัญ, น. 182-186. ประยูร ภมรมนตรี, บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าด้วย กําเนิด ความมุ่งหมาย การปฏิวัติ ความสําเร็จและความผิดพลาด น. 65-66.

[4] นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 (พระนคร: โรงพิมพ์อักษณไทย, 2514), น. 22-23.

[5] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475(กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2543), น. 53-54.

[6] ประยูร ภมรมนตรี, บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าด้วย กําเนิด ความมุ่งหมาย การปฏิวัติ ความสําเร็จและความ ผิดพลาด, น. 70-71.

[7] แสง จุละจาริตต์, “แด่ท่านผู้มีพระคุณ,” ใน อนุสรณ์งานพระราชทาน เพลิงศพ พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร 21 ธันวาคม 2526 (กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์, 2526), น. 110-111


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากหนังสือ หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง เขียนโดย ชานันท์ ยอดหงษ์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเมษายน 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565