19 เมษายน 1770 “เจมส์ คุก” พบทวีปออสเตรเลีย แต่ไม่ใช่ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ไปถึง!

เจมส์ คุก ขึ้นบก ชายฝั่ง ออสเตรเลีย
เจมส์ คุก ยกพลขึ้นบกที่อ่าวโบทานี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 1770 เพื่ออ้างสิทธิ์ชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียสำหรับบริเตนใหญ่ (ภาพจาก National Gallery of Victoria ใน Wikimedia Commons)

เจมส์ คุก (James Cook, ค.ศ. 1728-1799) หรือ “กัปตันคุก” เป็นนักสำรวจ นักเดินเรือ และนักทำแผนที่ชาวบริติช การขึ้นฝั่ง “ทวีปออสเตรเลีย” ของเขา และประกาศสิทธิเหนือดินแดนแห่งนี้ในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ได้เปลี่ยนออสเตรเลียให้เป็นปลายทางแห่งใหม่ของผู้คนจากทวีปยุโรป โดยเฉพาะคนในสังกัดอังกฤษ

เจมส์ คุก เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ เขามีเชื้อสายสก๊อต เติบโตมาด้วยความปรารถนาที่จะออกทะเล และมีโอกาสเดินเรือไปมหาสมุทรแปซิฟิก 3 ครั้ง เพื่อสำรวจและทำแผนที่แนวชายฝั่ง ซึ่งเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อนักเดินเรือรุ่นหลัง ๆ ที่ศึกษาภูมิศาสตร์ดินแดนแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

Advertisement

วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1770 คุกและลูกเรือของเขาล่องเรือมาพบชายฝั่งทวีปออสเตรเลียอันลึกลับในภารกิจพาคณะวิทยาศาสตร์ไปสังเกตการโคจรของดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) พร้อมคำสั่งลับจากทางการที่ให้เขาแสวงหาดินแดนแห่งใหม่ และประกาศครอบครองในพระปรมาภิไธยพระเจ้าจอร์จที่ 3 (Georg III, ค.ศ. 1760-1820) กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

29 เมษายน หรือ 10 วันต่อมา เจมส์ คุก ยกพลขึ้นบกพาลูกเรือขึ้นฝั่งครั้งแรกบริเวณอ่าวโบทานี (Botany Bay) หลังการสำรวจพื้นที่โดยรอบ คุกก็ประกาศอ้างสิทธิ์เหนือชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียให้เป็นของอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น

“กัปตันคุก” ยังเป็นผู้ค้นพบเกาะฮาวายและนิวซีแลนด์ด้วย เขาก่อนเสียชีวิตเพราะการต่อสู้กับชนพื้นเมืองฮาวาย เมื่อวันที่ 14 กุมพาพันธ์ ค.ศ. 1779 ชื่อเสียงและคุณูปการของคุกต่อจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้สาธารณชนจำนวนมากโศกเศร้าต่อการจากไปของเขา

เจมส์ คุก
ภาพเหมือน กัปตัน เจมส์ คุก โดยเซอร์ นาธาเนียล แดนซ์-ฮอลแลนด์ ราวปี 1775 ที่ National Maritime Museum (ภาพจาก Wikimedia Commons)

แต่คุกและลูกเรือไม่ใช่ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ค้นพบทวีปออสเตรเลีย เพราะจริง ๆ แล้ว “ชาวดัตช์” ล่องเรือมาถึงแผ่นดินแห่งนี้ก่อนพวกเขาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน! 

การค้นพบทวีปออสเตรเลียโดยชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) เกิดขึ้นหลังพวกเขาประสบความสำเร็จในการเดินเรือมาติดต่อซื้อเครื่องเทศโดยตรงกับอินดีสตะวันออกของโปรตุเกส สถานีการค้าในอินเดีย หลังจากนั้นไม่นาน เนเธอร์แลนด์ก็สามารถครอบครองตลาดการค้าได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ค.ศ. 1598 พวกเขาก่อตั้งสถานีการค้าของตนที่เกาะชวา (อินโดนีเซีย) และ 4 ปีต่อมาได้จัดตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ หรือ VOC (Vereenigde Oost-Indische Compagnie) ขึ้น

ช่วงเวลาดังกล่าว ชาวดัตช์ได้ยินคำเล่าลือในหมู่ชาวฮินดู เกี่ยวกับ “เกาะทองคำ” ทางทิศใต้และทิศตะวันออกของเกาะชวา วิลเลม ยานซ์ (Willem Jansz) กัปตันชาวดัตช์ จึงคุมเรือเดฟเกนจากเมืองบันดาในอินเดียออกค้นหาเกาะลึกลับ ราวปี 1605-1606

ตำนานเกี่ยวกับเกาะปริศนานี้ยังรู้จักกันในชื่อ “เทอร์รา ออสตราลิส อินคอตนิตา” (Terra Australis Incognita) เป็นความเชื่อสมัยกรีกโบราณที่ว่า โลกยังมีแผ่นดินทางใต้ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลอยู่อีกแห่ง

การเดินเรือครั้งนั้นทำให้ยานซ์และลูกเรือของเขาเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ค้นพบทวีปออสเตรเลีย จากการสำรวจชายฝั่งบริเวณคาบสมุทรเคปยอร์กทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป ภายหลังพวกเขาเรียกดินแดนนี้ว่า “นิวฮอลแลนด์” (New Holland) โดยเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งทางใต้ของเกาะนิวกินี

ชาวดัตช์จึงถูกยอมรับว่าเป็นชนชาติแรกที่ค้นพบทวีปออสเตรเลีย แม้ที่นั่นจะมีคน “อะบอริจินิส” (Aborigines) หรือชาวอะบอริจิน เป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งรกรากกันมาร่วมแสนปีมาแล้วก็ตาม

หลังจากคณะของยานซ์ ยังมีเรือชาวดัตช์และอังกฤษอีกหลายคณะที่เดินทางมาสำรวจบริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย เพียงแต่ไม่มีการบุกเบิกเพื่อการอยู่อาศัยหรือครอบครองอย่างเป็นทางการ กระทั่งอังกฤษส่งเจมส์ คุก มาสำรวจและประกาศครอบครองในนามกษัตริย์อังกฤษ

ทศวรรษต่อมา อังกฤษส่งกองเรือหมู่แรก ประกอบด้วยเรือ 10 ลำ เข้าประจำการตามฝั่งตะวันออก เพื่อใช้ดินแดนแห่งใหม่เป็นแหล่งระบายนักโทษ ซึ่งอยู่กันอย่างแออัดบนเกาะอังกฤษ เนื่องจากพวกเขาสูญเสียอาณานิคมอเมริกา ที่เคยเป็นแหล่งระบายนักโทษไปในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา (ค.ศ. 1775-1783)

อังกฤษเรียกนิคมนักโทษแห่งใหม่นี้ว่า “นิวเซาท์เวลส์” (New South Wales) เริ่มบุกเบิกและจัดตั้งเป็นอาณานิคมทั่วภาคพื้นทวีป โดยเรียกชื่อรวม ๆ อย่างเป็นทางการในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ว่า “ออสเตรเลีย” (Australia)

“ออสเตรเลีย” จึงเป็นทวีปสุดท้ายที่ชาวตะวันตกค้นพบในยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ ยุคที่การอ้างสิทธิในดินแดนต่าง ๆ ทำให้ชาวยุโรปพิชิตดินแดนทั่วทุกทวีป เกิดการละเมิดสิทธิ การเข่นฆ่า และทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมือง พร้อมอารยธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลไปทั่วทุกทวีป คู่ไปกับการแสวงหาผลประโยชน์และการสร้างความชอบธรรมให้แก่ชาติตน

เพราะเหตุนี้ การค้นพบและบุกเบิกทวีปออสเตรเลียของ “เจมส์ คุก” ในฐานะนักเดินเรือและนักสำรวจคนสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงถูกมองจากคนจำนวนหนึ่งว่าเป็นการรุกรานและนำไปสู่ความทุกข์ยากมาสู่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, ศาสตราจารย์. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Australian National Maritime Museum. James Cook. Retrieved April 19, 2024. From https://www.sea.museum/learn/school-excursions/teacher-resources/hmb-endeavour/james-cook-gentlemen-and-crew/james-cook

Royal Museums Greenwich. Captain James Cook timeline. Retrieved April 19, 2024. From https://www.rmg.co.uk/stories/topics/captain-james-cook-timeline


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2567