“ลักปิดลักเปิด” โรคประจำของนักเดินเรือ ทำไมจึงพบมากในหมู่กะลาสี?

กะลาสี ล้มป่วย บน เรือ
ภาพวาดกะลาสีเรือล้มป่วยโดย Gustave Doré จากหนังสือ The Rime of the Ancient Mariner โดยโรคลักปิดลักเปิดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในทะเลมากกว่าพายุ เรืออับปาง การสู้รบ และโรคอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน

โรคลักปิดลักเปิดคือภาวะขาดวิตามินซีทำให้ร่างกายมีสภาพอ่อนแรง ปวดตามข้อ เลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน เหงือกอักเสบ ฟันโยก และตาโปน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ โรคนี้พบมากในหมู่ กะลาสี” ในยุคแห่งการค้นพบ (Age of Discovery, Age of Exploration) พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากจากโรคนี้

การเกิดโรคลักปิดลักเปิดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับโรค ทั้งในแง่ของสาเหตุและวิธีการรักษา แม้จะพอมีเอกสารโบราณที่กล่าวถึงวิธีการป้องกันโรค แต่ก็ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ที่เป็นเอกภาพ และไม่ได้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ในขณะเดียวกันผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงก็เก็บรักษายาก เนื่องจากอาหารจำพวกนี้เน่าเสียง่ายจึงไม่เหมาะกับการเดินเรือระยะไกล โดยอาหารหลักของชาวเรือมักเป็น ขนมปังแห้ง และเนื้อเค็ม

การเดินเรือของชาวยุโรปในยุคโบราณก่อนยุคแห่งการค้นพบ (ศตวรรษที่ 15-17) จะเดินเรือไม่ไกลจากชายฝั่งมากนัก เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีและทักษะที่ใช้เดินเรือบนทะเลเปิดเท่าใดนัก โรคลักปิดลักเปิดจึงไม่ได้เป็นปัญหา กะลาสีไม่ขาดวิตามินซี เพราะมีการหยุดพักเติมเสบียงได้อย่างสะดวก

ทางด้านชาวจีนที่มีการเดินเรือทางไกลมาก่อนก็จัดการกับโรคนี้โดยการนำขิงสดไปปลูกบนเรือ และใช้กะหล่ำปลีดอง ในขณะที่ชาวนอร์สซึ่งเดินเรือในทะเลเปิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ก็มีความรู้อยู่แล้วว่า ผักต่าง ๆ เช่น กะหล่ำปลี หญ้าลักปิดลักเปิด และหญ้าเซเลรี่ป่า สามารถรักษาโรคนี้ได้ พวกเขาจึงปลูกไว้ในสวน ทั้งยังเก็บเบอร์รี่ประเภทต่าง ๆ มาหมักกับนมของกวางเรนเดียร์สำหรับใช้ดื่มในฤดูหนาวเพื่อป้องกันโรคลักปิดลักเปิดอีกด้วย

เฮนริค โฮเยอร์ (Henrik Høyer) นักกายภาพเยอรมันที่อยู่ในอาณาจักรนอร์เวย์ ในศตวรรษที่ 16 ได้บันทึกว่า ในนอร์เวย์ปลูกผลไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Cloudberries ซึ่งแต่เดิมพบได้ตามภูเขาสูงที่มีอากาศหนาว จึงเป็นที่มาของชื่อเบอร์รี่แห่งท้องฟ้า” เขากล่าวว่า ชาวนอร์เวย์จะนำเบอร์รี่ประเภทนี้มาทำแยมทุกปี ทำให้แม้ในฤดูหนาวที่มีอาหารไม่เพียงพอก็ยังสามารถป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้

กลับกันทางฝั่งนักเดินเรือหน้าใหม่อย่างชาวยุโรปตะวันตก เช่น สเปน โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ กลับต้องเผชิญกับสภาวะการเสียชีวิตโดยโรคลักปิดลักเปิดขณะเดินเรือทางไกล วาสโก ดา กาม่า นักสำรวจชาวโปรตุเกสผู้เดินทางไปสู่ทวีปเอเชียผ่านแหลมกู้ดโฮปได้สำเร็จในปี 1497 ก็สูญเสียลูกเรือราว 100 คนจาก 160 คนจากโรคลักปิดลักเปิด นักวิชาการคาดการณ์ว่า โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในทะเลมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้ทางทะเล โจรสลัด เรือล่ม ภัยธรรมชาติ และโรคอื่น ๆ รวมกันเสียอีก

ภาพวาด อาการ โรคลักปิดลักเปิด
ภาพวาดแสดงอาการโรคลักปิดลักเปิด โดย Henry W. Mahon ศัลยแพทย์ประจำเรือ Barrosa ซึ่งเป็นเรือนักโทษของอังกฤษ เมื่อปี 1841

กระทั่งต้นศตวรรษที่ 17 เริ่มตีพิมพ์ตำราที่กล่าวถึงการใช้ มะนาว” ในฐานะยารักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และมีนักเดินเรือบางกลุ่มแจกจ่ายน้ำมะนาวให้แก่ลูกเรือเพื่อบรรเทารักษาอาการของโรค ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ

ในปี 1747 เจมส์ ลินด์ (James Lind) ศัลยแพทย์ชาวสก๊อตประจำเรือหลวงซาลส์เบอรี่ (Salisbury) ตีพิมพ์ผลการทดลอง โดยให้อาหารแก่ผู้ป่วยโรคลักปิดลักเปิดแตกต่างกัน และผลสรุปพบว่า กะลาสีที่ได้ผลไม้รสเปรี้ยวมีสุขภาพที่แข็งแรงและหายจากอาการของโรคลักปิดลักเปิด จากนั้นเป็นเวลากว่า 40 ปี กองทัพเรืออังกฤษจึงเริ่มบังคับให้แจกจ่ายน้ำมะนาวให้แก่ลูกเรือ

อย่างไรก็ตาม เหล่าพ่อค้านายเรือและเจ้าหน้าที่ราชนาวีมักไม่เห็นด้วยกับการปลูกพืชผักผลไม้รสเปรี้ยวบนเรือ เนื่องจากเสียพื้นที่ในห้องบรรทุกสินค้าเพื่อการดังกล่าว รวมไปถึงต้นทุนสำหรับการตระเตรียมผลไม้ทั้งสดและแปรรูปนั้นสูงมาก ทำให้เจ้ากองนายเรือและพ่อค้าต่างไม่ค่อยยินดีที่จะลงทุนเพื่อให้คุณภาพชีวิตของกะลาสีดีขึ้นเท่าไรนัก

อีกปัจจัยเกี่ยวข้องกับความคุ้นชินที่แตกต่างในชนชั้น กล่าวคือ ลูกเรือทั่วไปมักคุ้นเคยกับอาหารบนเรือที่เป็นขนมปังแข็งและเนื้อเค็ม เมื่อได้เทียบท่าก็จะกินเนย เนื้อสัตว์ และเบียร์ มากกว่าที่จะกินผลไม้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง โดยปกติทานอาหารที่หลากหลายมากกว่า จึงได้ทานผลไม้และผักเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อเทียบท่าก็ยินดีที่จะลองรสอาหารท้องถิ่นซึ่งมีความแปลกใหม่จากการใช้ มะขาม มะนาวเขียว ซึ่งมีวิตามินซีสูง โรคนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ในหมู่เจ้าหน้าที่ประจำเรือ

กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) อาจเป็นกัปตันของกองเรืออังกฤษคนแรกที่ให้ความสำคัญกับการจัดการโรคลักปิดลักเปิดกับลูกเรือของเขา วิธีการของกัปตันคุกไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการให้ความสำคัญกับความสะอาดในเรืออย่างจริงจัง และเตรียมผักและผลไม้สด ทั้งยังทำเครื่องดื่มจากหญ้าเซเลรี่ และหญ้าลักปิดลักเปิด ผสานกับการเข้าเทียบท่าบ่อย ๆ เพื่อเติมเสบียงทดแทน นอกจากนี้ยังมีกะหล่ำปลีดองสำรองไว้ด้วย

ดังนั้น ตลอดการเดินทางไปสู่ออสเตรเลียครั้งแรกราว ๆ 3 ปี กัปตันคุกไม่เคยเสียลูกเรือให้กับโรคลักปิดลักเปิดเลยแม้แต่คนเดียว

ความรู้ทางการแพทย์ในยุคปัจจุบันทำให้เรารู้ว่า วิตามินซีเพียงจำนวนไม่มาก ก็สามารถรักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิดได้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กูเตอร์ เพนนี่. “กรดแอสคอร์บิก”. ใน เรื่องราวการค้นพบ 17 โมเลกุลสำคัญ ที่มีบทบาทต่อชีวิตมวล มนุษยชาติ, แปลโดย ดร. ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย, 42–57. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.

https://www.pobpad.com/author/nutthamon-lekhajirakul. “โรคลักปิดลักเปิด”. Pobpad, 3 เมษายน 2018. https://www.pobpad.com/โรคลักปิดลักเปิด.

Luigi M. De Luca, และ Kaare R. Norum. “Scurvy and Cloudberries: A Chapter in the History of Nutritional Sciences”. The Journal of Nutrition 141, ฉบับที่ 12 (2011): 2101–5.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2566