ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ผลิตผลทางการเกษตรไปจนถึงสมุนไพรนานาชนิดในไทยเป็นของขึ้นชื่ออย่างหนึ่ง แต่จะว่าไปแล้ว มีคำถามที่หลายคนสงสัยกันคือ สิ่งที่เรียกกันว่า “มะม่วงหาวมะนาวโห่” สรุปแล้ว คืออะไรกันแน่ เพราะมีคำอธิบายกันออกไปหลากหลายแนว
ในคอลัมน์ “รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น” ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 ผู้เขียนคอลัมน์อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ถึงสมุนไพรชนิดนี้ว่า
“เป็นชื่อที่เพี้ยนมาจาก มะม่วงไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า ต้นหนามแดง (ภาคกลาง) หรือ มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคกลาง) หรือ มะนาวโห่ (ภาคใต้) หรือ หนามขี้แฮด (เชียงใหม่)”
คอลัมน์เดียวกันนี้อธิบายต่อมาว่า มันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carissa carandas L. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae จัดเป็นผลไม้สมุนไพรชนิดหนึ่ง ลักษณะผลมีสีแดงเรียวเล็กคล้ายมะเขือเทศราชินี รสชาติของผลสุกหวานนุ่มลิ้น แต่ถ้ายังไม่สุกจะมีรสเปรี้ยวจี๊ดเข็ดฟัน มีธาตุเหล็กและวิตามินซีสูง เมื่อกัดไปแล้วจะมียางเหนียวๆ ฝาดคอ
คนโบราณมองว่าผลไม้ชนิดนี้มีคุณประโยชน์อย่างมาก มีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร มีสรรพคุณหลากหลาย ช่วยซ่อมแซมร่างกาย บำรุงร่างกายให้แข็งแรง และบรรเทาอาการต่างๆ แต่ด้วยลักษณะต้นที่มีหนาม คนที่ไม่รู้ข้อมูลจึงมักฟันทิ้งกันเป็นส่วนใหญ่ หลายปีที่ผ่านมาจึงกลายเป็นผลไม้หามารับประทานได้ยาก
ทั้งนี้ คำว่า “มะม่วงหาวมะนาวโห่” ถูกบอกเล่ากันว่า เป็นชื่อผลไม้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่สังข์ทอง รามเกียรติ์ นางสิบสอง และพระรถ-เมรี (นภาวัลย์ มาเหมาะโชค, 2556)
ในเรื่องนางสิบสองและพระรถ-เมรี ผลไม้ไปปรากฏอยู่ในตอนที่เมื่อพระเจ้ารถสิทธิ์รู้ว่า พระรถเป็นลูก นางยักษ์จึงคิดกำจัดด้วยการแสร้งทำเป็นป่วย ต้องกินผลไม้ชื่อ “มะม่วงไม่รู้หาว มะนาวไม่รู้โห่” ในเมืองที่นางเมรี ลูกสาวของตัวเองอยู่จึงจะหาย และขอให้พระรถนำมาให้ โดยแอบฝากสารสั่งไปถึงนางเมรีว่าเมื่อพระรถไปถึงเมืองเมื่อใดให้ฆ่าทิ้งเมื่อนั้น (นภาวัลย์ มาเหมาะโชค, 2556)
บังเอิญว่าฤาษีที่พระรถพบระหว่างทางได้แปลงสารกลายเป็นว่าเมื่อพระรถไปถึง ให้แต่งงานเมื่อนั้น พระรถและนางเมรีจึงได้แต่งงานที่เมืองนั้น (นภาวัลย์ มาเหมาะโชค, 2556)
พระรถ-เมรี จัดเป็นนิทานบรรพชนในหมู่ชนสองฝั่งโขงมาแต่ดึกดำบรรพ์ ปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ 1 หน้าแรกมีชื่อ นางกางรี คือ นางเมรี กับเจ้าพุทธเสน คือพระรถ หรือ รถเสน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2552)
กรมศิลปากรอธิบายไว้ว่า ผู้ที่ยกเรื่องพระรถ เมรี คือพระเถระชาวเชียงใหม่ นำไปแต่งไว้ในปัญญาสชาดกเรียก รสเสนชาดก “แต่เค้าโครงเรื่องของพระรถ เมรี นี้มีคล้ายคลึงกับนิทานพื้นบ้านชาติต่างๆ อาทิ อินเดีย ลังกา ไทยใหญ่ เขมร พม่า ลาว และอาหรับ เป็นต้น” กรมศิลปากรจึงบอกว่า พระรถ เมรี น่าจะมีต้นเค้าจากชาติอื่นที่ติดต่อสัมพันธ์กับไทย
สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายเพิ่มเติมว่า วรรณคดีเก่าที่สุดซึ่งอ้างถึงพระรถ เมรี คือ นิราศหริภุญไชย แต่งราว พ.ศ. 2060
เมื่อครั้งกรมศิลปากร ชำระสะสางต้นฉบับต่างๆ เกี่ยวกับพระรถ เมรี และพิมพ์รวมเล่มไว้ เรียกชื่อว่า ประชุมเรื่องพระรถ เผยแพร่เมื่อปี 2552 สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ในบทความของคอลัมน์ “สยามประเทศ” ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2552 หัวข้อเรื่อง “พระรถ เมรี มะงั่วหาว มะนาวโห่” มีใจความตอนหนึ่งว่า
“…คุณวัฒนะ บุญจับ กรุณาหาเล่มนี้ให้อ่านนับเป็นพระเดชพระคุณอย่างสูงยิ่ง เลยต้องรีบอ่าน (อย่างกระหายเพราะรอมานาน) เอาความรู้เรื่อง “มะม่วงหาว มะนาวโห่” ว่าแท้จริงคืออะไรแน่? มีอย่างเดียวหรือสองอย่าง เพราะข้องใจมานาน ถามใครๆ ก็อธิบายไม่ได้
แล้วได้รู้ความจริงตามฉบับอยุธยาว่าเป็นผลไม้มีสองอย่าง แต่ชื่อแท้จริงคือ “มะงั่ว” กับ “มะนาว” มีกลอนในหน้า 115 ว่า
ฉวยชักพระหักลูกมะงั่ว อกยิ่งกิ่งพัวอยู่สาขา
ฉวยชักหักลูกมะนาวมา หัวระรีระร่าตลาเป็น
มหาปรีชา พิณทอง บอกไว้ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทยอังกฤษ ว่า “งั่ว” คือ ส้มซ่า ลูกกลมใหญ่ มีรสส้มและหวาน
แต่พจนานุกรมของบรัดเลย์ว่า “มะงั่ว” เป็นชื่อต้นส้มอย่างหนึ่ง เปรี้ยวนัก เขาปลูกไว้ทำยา ผลโตเท่าลูกส้มโอย่อมๆ
หาว กับ โห่ หมายถึงพูดดังๆ หรือ ตะโกน มีบอกไว้ในกลอนหน้าเดียว กันว่า
ต้นโน้นโพ้นเล่าหมากงั่วนาว
หัวระรี่หมีฉาวรู้เจรจา
รู้โห่รู้ร้องทุกเวลา
เจรจาภาษาทุกสิ่งพรรณ…”
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดสูตร “ใช้น้ำมะม่วง(เบา) แทนน้ำมะนาว(ในน้ำยำ)” งานวิจัยหวังบรรเทาทุกข์เมื่อมะนาวแพง
- รู้จัก “มะม่วง” พันธุ์โบราณ นาม “พราหมณ์ขายเมีย”
-
ถกตำนาน สืบที่มา หาความหมายของ “มะม่วงหิมพานต์” พันธุ์ไม้หลายชื่อของชาวใต้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
น้าชาติ ประชาชื่น. “มะม่วงไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่”. ข่าวสด ฉบับวันที่ 15 มกราคม 2557.
นภาวัลย์ มาเหมาะโชค, ” ‘มะม่วงหาวมะนาวโห่’ ผลไม้วรรณคดีไทย”. ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2556.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พระรถ เมรี มะงั่วหาว มะนาวโห่”. มติชน ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2552.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2565